15 มิ.ย. 2022 เวลา 02:53 • ปรัชญา
อิสระชน
ผมเป็นคนหนึ่งที่มีเป้าหมายในชีวิตที่เชื่อมโยงกับคำว่าอิสระภาพเป็นอย่างมาก
เป้าหมายในชีวิตอันดับ 1 ของผมคือการมีอิสระภาพจากทุกข์(ทางใจ) หมายถึงการเป็นอิสระจากตัณหา เพราะตัณหาเป็นเหตุแห่งทุกข์
ชีวิตในโลกไม่มีทางที่จะมีอิสระได้อย่างแท้จริง ไม่ว่าจะพยายามแค่ไหนก็มีเครื่องพันธนาการบางอย่างอยู่ดี อันนี้ต้องยอมรับความจริงและทำหน้าที่ของตัวเองต่อไป แต่จิตใจสามารถหลุดพ้นอิสระจากทุกข์ได้ ถ้าเราปฎิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้าโดยเฉพาะคำสอนที่เกี่ยวกับอริยสัจ 4
อริยสัจ 4 เป็นศาสตร์ที่มีเฉพาะในพระพุทธศาสนา ถือเป็นหัวใจสำคัญที่สุดที่พระพุทธเจ้าเป็นผู้ค้นพบ อริยสัจ 4 ประกอบด้วยธรรม 4 อย่างดังต่อไปนี้
ทุกข์ หน้าที่ต่อทุกข์คือการรู้ ตัวทุกข์ก็คือสิ่งที่ประกอบขึ้นมาเป็นตัวเราทั้งกายใจ ทางพุทธศาสนาสามารถแบ่งได้หลายรูปแบบ แต่ที่เป็นที่นิยมคือการแบ่งเป็นขันท์ 5 คือ รูป(ร่างกาย) เวทนา(ความรู้สึกสุขทุกข์เฉย ๆ) สัญญา(ความจำได้หมายรู้) สังขาร(ความปรุงดี ปรุงชั่ว) วิญญาณ(ความรับรู้) สิ่งที่เราต้องทำคือการดูสังเกตุการทำงานของมันจนเข้าใจถ่องแท้
สมุทัย หน้าที่ต่อสมุทัยคือการละ สมุทัยคือตัณหาซึ่งจริง ๆ แล้วตัวตัณหาก็อยู่ในกองทุกข์เหมือนกันคือเป็นส่วนหนึ่งของตัวสังขาร อันนี้เราต้องละด้วยการรู้ทุกข์
นิโรจน์ หน้าที่ของนิโรจน์คือทำให้แจ้ง นิโรจน์ในศาสนาพุทธคือนิพพาน ความพ้นจากทุกข์(ทางใจ) เป็นเป้าหมายสูงสุดของศาสนาพุทธ
มรรค หน้าที่ของมรรคคือการทำให้เจริญ มรรคเป็นกระบวนการวิธีปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ มีองค์ 8 คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สรุปรวบย่อกันเป็น ศีล สมาธิ ปัญญา สิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องมือสำคัญเพื่อความพ้นทุกข์
ตัวที่ขัดขวางการเรียนรู้ในพระพุทธศาสนาคือความคิด ความคิดจะเกิดขึ้นได้ต้องนำประสบการณ์ในอดีตของคนนั้น ๆ มาผสมเจือปน จึงทำให้เกิดการตีความไปในหลากหลายรูปแบบ
สิ่งที่จะช่วยให้สามารถเรียนรู้หลักธรรมของพระพุทธศาสนาได้ดีคือเรียนรู้วิธีการปฏิบัติที่ถูกต้องแล้วลองลงมือปฎิบัติ วิธีการตรวจสอบวิธีปฏิบัติที่ถูกต้องนั้นยากพอสมควร ต้องเอามาเทียบเคียงว่าขัดกับพระไตรปิฎกไม่ ถ้าไม่ขัดจึงจะใช้ได้
พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนให้เราชื่อคำสอนของท่าน ถ้าเรามีเป้าหมายในชีวิตคือความพ้นทุกข์ ท่านจะเชิญชวนให้ลองมาปฏิบัติดู จนเห็นสัจธรรมด้วยตนเองครับ
โฆษณา