15 มิ.ย. 2022 เวลา 11:50 • ธุรกิจ
สรุป ค่าการกลั่นน้ำมัน แบบเข้าใจง่าย ๆ
ประเด็นที่คนส่วนใหญ่ให้ความสนใจกันมากในขณะนี้ คงหนีไม่พ้นเรื่อง “ราคาน้ำมันแพง”
1
ล่าสุด คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ได้เห็นชอบให้ปรับขึ้นราคาจำหน่ายน้ำมันดีเซล เป็น 35 บาทต่อลิตรแล้ว เนื่องจากเริ่มพยุงราคาไม่ไหว ทั้งจากราคาตลาดโลกที่ยังอยู่ในระดับสูง และกองทุนน้ำมันก็ติดลบหนักกว่า 9 หมื่นล้านบาท
2
แต่อีกปัจจัยหนึ่งที่เริ่มมีคำถามขึ้นมา ก็คือ “ค่าการกลั่นน้ำมัน”
โดยเกิดข้อสงสัยว่า ธุรกิจโรงกลั่นน้ำมัน อาจคิดกำไรจากค่าการกลั่นสูงเกินไป จนทำให้น้ำมันสำเร็จรูปมีราคาแพง
1
ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ เป็นอย่างไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
หากเรามาดู Value Chain ของอุตสาหกรรมน้ำมัน ซึ่งประกอบไปด้วย
1
- กลุ่มต้นน้ำ ที่ดำเนินธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม
- กลุ่มกลางน้ำ ที่ดำเนินธุรกิจขนส่งและกักเก็บน้ำมัน และผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม
- กลุ่มปลายน้ำ ที่ดำเนินธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันและผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ให้เป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป รวมถึงจัดจำหน่ายไปยังกลุ่มลูกค้าต่าง ๆ
3
ซึ่งธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันนั้นจัดอยู่ในกลุ่มปลายน้ำ โดยมีวัตถุดิบที่สำคัญ คือ “น้ำมันดิบ” ที่จัดซื้อมาจากกลุ่มต้นน้ำ ทำให้ต้นทุนของโรงกลั่นน้ำมัน จะเปลี่ยนแปลงไปตามความเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันดิบ
9
จากนั้น พอเข้าสู่กระบวนการกลั่น ก็จะได้ออกมาเป็นน้ำมันสำเร็จรูปประเภทต่าง ๆ เช่น น้ำมันดีเซล, น้ำมันเบนซิน, น้ำมันก๊าด, น้ำมันเตา, น้ำมันเครื่องบิน และก๊าซปิโตรเลียมเหลว
2
ซึ่งราคาขายน้ำมันสำเร็จรูปแต่ละประเภท จะขึ้นอยู่กับภาวะตลาด ไม่ว่าจะเป็น อุปสงค์ในการใช้น้ำมันสำเร็จรูปที่มีคุณภาพแตกต่างกันไป หรืออุปทานของกำลังการผลิตภาพรวมในประเทศหรือภูมิภาค
2
โดยส่วนต่างระหว่าง ราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่โรงกลั่นผลิตได้ กับต้นทุนราคาน้ำมันดิบที่จัดหามากลั่น จะถูกเรียกว่า “Gross Refining Margin” หรือ “ค่าการกลั่นน้ำมัน” ซึ่งสะท้อนอัตรากำไรขั้นต้นของโรงกลั่นน้ำมัน
4
หากราคาน้ำมันสำเร็จรูป เพิ่มขึ้นในสัดส่วนที่สูงกว่าราคาน้ำมันดิบ ค่าการกลั่นก็จะสูง
หากราคาน้ำมันสำเร็จรูป เพิ่มขึ้นในสัดส่วนที่ต่ำกว่าราคาน้ำมันดิบ ค่าการกลั่นก็จะต่ำลง หรือกระทั่งติดลบ
นอกจากนั้น แต่ละบริษัทจะมีค่าการกลั่นที่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนราคาน้ำมันดิบที่จัดซื้อ, เทคโนโลยีที่ใช้ในการกลั่น, กำลังและสัดส่วนการผลิตน้ำมันสำเร็จรูป
2
แล้วสถานการณ์ ค่าการกลั่นน้ำมัน ในประเทศไทย เป็นอย่างไร ?
2
ในระหว่างเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม ปี 2565 ประเทศไทยมีการจัดหาน้ำมันดิบเฉลี่ยราว 1,053,000 บาร์เรลต่อวัน โดยเป็นการจัดหาจากในประเทศ 8% และนำเข้าจากต่างประเทศ 92%
3
ซึ่งการนำเข้าน้ำมันดิบจากต่างประเทศ แบ่งเป็น
ประเทศตะวันออกกลาง 60% จากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, ซาอุดีอาระเบีย, กาตาร์, คูเวต และอื่น ๆ
ประเทศตะวันออกไกล 12% จากมาเลเซีย, เวียดนาม, อินโดนีเซีย และอื่น ๆ
ประเทศอื่น ๆ 28% จากสหรัฐอเมริกา, แองโกลา, รัสเซีย และอื่น ๆ
5
ถ้าคำนวณราคาน้ำมันดิบดูไบ ณ วันที่ 13 มิ.ย. 65 อยู่ที่ 116 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล จะเทียบเท่าประมาณ 25.5 บาทต่อลิตร
แต่ราคานี้ไม่ใช่ต้นทุนในการจัดหาน้ำมันดิบทั้งหมด เพราะมันยังต้องรวมกับค่าใช้จ่ายในการขนส่งทางเรือ, ค่าประกันภัย และการเจรจาเชิงพาณิชย์กับแหล่งผู้ผลิต
4
รวมทั้งผู้ค้าส่วนใหญ่ มักมีการจัดซื้อน้ำมันดิบล่วงหน้า ซึ่งการนำไปเปรียบเทียบกับราคาน้ำมันสำเร็จรูป เพื่อคำนวณค่าการกลั่นแบบตรงวันกันนั้น อาจทำให้เข้าใจผิด เพราะเวลาที่ซื้อ กับเวลาที่กลั่นเป็นน้ำมันสำเร็จรูป มันเป็นคนละเวลากัน
1
ทั้งนี้ ในประเทศไทย มีธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันรายใหญ่อยู่ 7 แห่ง ได้แก่
2
- บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)
- บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน)
- บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน)
- บริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน)
- บริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)
- บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
- โรงกลั่นน้ำมันฝาง
3
โดยทุกรายมีกำลังการกลั่นน้ำมันรวมทั้งหมดประมาณ 1,245,000 บาร์เรลต่อวัน และมีอัตราการผลิตอยู่ที่ราว 85% ของกำลังการกลั่น
มาลองดูราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่ขายออกจากโรงกลั่น เฉลี่ยทุกราย ณ วันที่ 13 มิ.ย. 65
2
- ดีเซล อยู่ที่ 39.7317 บาทต่อลิตร
- เบนซิน แก๊สโซฮอล์ 95 อยู่ที่ 33.7185 บาทต่อลิตร
- เบนซิน แก๊สโซฮอล์ 91 อยู่ที่ 33.2884 บาทต่อลิตร
- น้ำมันเตา ชนิดที่ 1 อยู่ที่ 24.9522 บาทต่อลิตร
- น้ำมันเตา ชนิดที่ 2 อยู่ที่ 22.3060 บาทต่อลิตร
- ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) อยู่ที่ 28.6570 บาทต่อกิโลกรัม
2
จะเห็นได้ว่า น้ำมันสำเร็จรูปแต่ละชนิด มีราคาขายหน้าโรงกลั่นไม่เท่ากัน ซึ่งถ้านำมาคิดส่วนต่างกับต้นทุนของราคาน้ำมันดิบ ตามสัดส่วนการผลิต ก็จะได้เป็นค่าการกลั่นน้ำมันภาพรวมของประเทศ
1
โดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ได้มีการประมาณการค่าการกลั่นน้ำมัน เฉลี่ยทุกราย ดังนี้
ปี 2562 อยู่ที่ 1.18 บาทต่อลิตร
ปี 2563 อยู่ที่ 0.70 บาทต่อลิตร
ปี 2564 อยู่ที่ 0.89 บาทต่อลิตร
2
ปี 2565
เดือนมกราคม อยู่ที่ 1.35 บาทต่อลิตร
เดือนกุมภาพันธ์ อยู่ที่ 1.58 บาทต่อลิตร
เดือนมีนาคม อยู่ที่ 2.80 บาทต่อลิตร
เดือนเมษายน อยู่ที่ 5.16 บาทต่อลิตร
เดือนพฤษภาคม อยู่ที่ 5.27 บาทต่อลิตร
วันที่ 1-13 มิ.ย. 65 อยู่ที่ 5.56 บาทต่อลิตร
8
ที่ผ่านมา ค่าการกลั่นน้ำมันในประเทศไทย อยู่ในระดับต่ำมาหลายปี นับตั้งแต่เกิดวิกฤติโควิด 19 แต่พอมาระยะหลัง ตลาดเกิดความผันผวนอย่างหนัก จากสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ค่าการกลั่นน้ำมัน พุ่งสูงขึ้นจากราว 1 บาทต่อลิตร เป็น 5 บาทต่อลิตร
1
อย่างไรก็ตาม ค่าการกลั่นน้ำมัน เป็นเพียงแค่อัตรากำไรขั้นต้น ซึ่งต้องนำไปหักลบกับต้นทุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ค่าพนักงาน ค่าบำรุงรักษา ค่าดอกเบี้ยและภาษี ถึงจะกลายเป็นอัตรากำไรสุทธิบรรทัดสุดท้าย
4
นอกจากนั้น ในประเทศไทยยังมีกฎหมายที่กำหนดให้โรงกลั่นน้ำมัน ต้องเก็บสำรองน้ำมันดิบ ไม่น้อยกว่า 5% ของปริมาณการจำหน่าย หมายความว่า ในอนาคต เมื่อราคาน้ำมันกลับตัวเป็นขาลง สต็อกน้ำมันดิบราคาแพงที่ซื้อมาเก็บไว้ก่อนหน้านี้ อาจทำให้โรงกลั่นขาดทุนจากการสต็อกน้ำมันได้เช่นกัน
1
สรุปแล้ว ค่าการกลั่นน้ำมัน มีการขึ้นลงเป็นไปตามวัฏจักร และกลไกตลาดน้ำมันแต่ละประเภท อีกทั้งมันยังไม่ใช่กำไรสุทธิของธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันเสียทีเดียว
1
แต่ในขณะเดียวกัน ราคาน้ำมันก็ถือเป็นส่วนสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ เนื่องจากมันจะส่งผลกระทบต่อทั้งต้นทุนการผลิตสินค้า การเดินทาง การขนส่ง รวมไปถึงค่าครองชีพของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่เกิดภาวะเงินเฟ้อสูงเช่นนี้
นี่คงเป็นโจทย์อันท้าทายของภาครัฐ ที่ต้องพยายามหาวิธีบริหารจัดการพลังงาน และคิดมาตรการช่วยเหลือทุกภาคส่วน โดยที่ตลาดยังแข่งขันกันอย่างมีประสิทธิภาพ นั่นเอง..
1
หนังสือ BRANDING THE NATION หนังสือที่เล่าถึงการสร้างแบรนด์ของแต่ละประเทศที่ทำให้ แต่ละประเทศเป็นแบบทุกวันนี้
เช่น ทำไมเยอรมนีเป็นประเทศแห่งรถยนต์ ทำไมฝรั่งเศสเป็นประเทศแห่งแบรนด์หรู สั่งซื้อเลยที่
โฆษณา