ดังนั้นเมื่อจู่ ๆ นายอีลอน มัสก์ ในฐานะผู้บริหารสูงสุดขององค์กรมาออกคำสั่งให้พนักงานทุกคนที่เคยได้รับอนุญาตให้ work from home ตั้งแต่เริ่มระบาดของไวรัสเมื่อสองปีกว่ามาแล้วต้องเข้ามาทำงานที่บริษัทไม่น้อยกว่าสัปดาห์ละ 40 ชั่วโมง จึงทำให้เป็นข้อคิดสะกิดใจของนักธุรกิจทั่วโลกว่าเกิดอะไรขึ้น
ประการแรก นับตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโคบ้า กิจการของนายอีลอน มัสก์เป็นกิจการระดับแนวหน้าของโลกที่ออกคำสั่งให้พนักงาน work from home คือให้ทำงานที่บ้านของตนเองได้โดยไม่ต้องเข้ามาที่บริษัทเลย ยกเว้นพนักงานที่มีหน้าที่จำเป็นที่ไม่อาจทำงานแบบ work from home ได้ ก็ต้องทำงานที่บริษัทตามปกติ
ประการที่สอง ผลจากการออกคำสั่งให้พนักงาน work from home นั้นทำให้กิจการแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม คือกลุ่มพนักงานทั่วไปที่ถูกสั่งให้ work from home ซึ่งมีปริมาณ 80% ของพนักงานทั้งหมด และมีพนักงานอีก 20% ที่มีความจำเป็นต้องทำงานที่บริษัท เพราะลักษณะงานไม่สามารถทำงานแบบ work from home ได้
จึงทำให้พนักงานแบ่งออกเป็นสองพวก และพนักงานที่ต้องมาทำงานที่บริษัทรู้สึกและเข้าใจว่าตัวเองไม่มีอภิสิทธิ์หรือสิทธิ์ที่จะทำงานแบบ work from home แต่ต้องทำมานั่งทำงานที่บริษัท ความรู้สึกนี้ค่อยๆ ก่อเกิดเป็นความไม่สบายใจ ไม่พอใจ และเห็นว่าเป็นการทำงานที่ต่ำต้อยด้อยค่า ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลง
ประการที่สาม สำหรับพนักงานที่ทำงานแบบ work from home ในระยะเริ่มแรกก็ทำงานได้ดี แต่พอนานวันเข้าก็ใช้เวลาในเวลาทำงาน ๆ อย่างอื่น หรือทำกิจกรรมส่วนตัว แม้กระทั่งทำกิจการส่วนตัว หรือทำกิจการร่วมกับผู้อื่น หรือรับงานไซด์ไลน์มาทำ แล้วติดอกติดใจในการทำงานแบบนี้ ไม่อยากให้มีการเปลี่ยนแปลงการทำงานแบบ work from home ต่อไป
ก็เป็นวิสัยของปุถุชน เมื่อมีกิจกรรมหรือกิจการอื่นเข้ามาแทรกหรือแม้แต่การใช้เวลาไปเพื่อความสุขส่วนตัวและครอบครัวก็มีความติดอกติดใจและต้องการทำงานแบบ work from home ตลอดไป ในขณะที่การทำงานในหน้าที่ก็เริ่มด้อยคุณภาพลง เริ่มล่าช้า ไม่เสร็จตามกำหนดเวลา ซึ่งกระทบต่อการทำงานกับพนักงานคนอื่น จึงยิ่งทำให้ประสิทธิภาพการทำงานลดน้อยถอยลงโดยลำดับ จนเกิดเป็นปัญหาขององค์กรขึ้น
ประการที่สี่ เมื่อมีการพบปัญหาเหล่านั้นก็มีการสั่งให้ลดเวลาการ work from home ลง แต่ปรากฏว่าพนักงานที่ work from home ส่วนใหญ่ไม่ยอมรับคำสั่ง และไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนั้น ยังคงทำงานแบบ work from home ต่อไปโดยไม่ไยดี บางคนก็ถือโอกาสลาออกจากงานไปเสียเลย ทำให้เกิดปัญหาในการถ่ายโอนงาน
จากนั้นจึงมีคำสั่งชนิดเด็ดขาดไม่มีการต่อรองใด ๆ ให้พนักงานทุกคนที่ work from home กลับเข้ามาทำงานที่บริษัทไม่น้อยกว่าสัปดาห์ละ 40 ชั่วโมง โดยผ่อนผันสำหรับหน้าที่งานบางอย่างที่มีความจำเป็นให้ทำงานแบบ work from home ได้สัปดาห์ละไม่เกิน 8 ชั่วโมง แต่ต้องได้รับการตรวจสอบและพิจารณาอย่างละเอียดและได้รับการอนุญาตก่อน
การออกคำสั่งดังกล่าวได้เกิดขึ้นเมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว และคาดหมายว่าจะมีพนักงานที่ทำงานแบบ work from home ลาออก 30-40% หรืออาจจะถึง 65% ซึ่งแน่นอนว่าย่อมเกิดผลกระทบระยะสั้นแก่องค์กรโดยรวม
นั่นคือตัวอย่างและปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วในสหรัฐอเมริกา และเมื่อเป็นระบบความคิดในการมองเห็นปัญหาและในการแก้ไขปัญหาของคนระดับนายอีลอน มัสก์ จึงเป็นเรื่องที่มองข้ามไม่ได้ เพราะประเทศไทยของเราก็มีการ work from home ในลักษณะเดียวกันเป็นจำนวนมากขึ้น และในสักวันหนึ่งปัญหาที่เคยเกิดขึ้นในกิจการของนายอีลอน มัสก์ และในสหรัฐอเมริกาก็อาจเกิดขึ้นกับกิจการต่าง ๆ ของประเทศไทยก็ได้
และปัจจุบันนี้ก็มีเรื่องราวปรากฏว่าพนักงานที่ work from home ในประเทศไทยก็เริ่มมีพฤติกรรมและเหตุการณ์ไม่ต่างกันกับการ work from home ในสหรัฐ ดังนั้นเมื่อนายอีลอน มัสก์ ได้เห็นปัญหานี้และได้แก้ไขปัญหานี้แล้วเป็นครั้งแรก จึงควรที่องค์กรธุรกิจทั้งหลายในประเทศไทยจึงควรที่จะพิจารณาศึกษาและกำหนดแผนการแก้ไขเสียตั้งแต่เนิ่น ๆ.