16 มิ.ย. 2022 เวลา 06:45 • หุ้น & เศรษฐกิจ
การโต้กลับของหมี...
คอลัมน์ : Investment-Focus
โดย : ดร. สมชัย อมรธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ
ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน และลูกค้าสัมพันธ์ บลจ.กรุงไทย
ผลตอบแทนโดยรวมของสินทรัพย์ประเภทต่างๆ ในรอบเดือน ถือว่าไม่ได้แย่เหมือนในเดือนก่อนๆ หน้านั้น แม้ว่าในเดือน พ.ค. มักจะเกิดแรงขายจาก “Sell in May”
ดัชนีตลาดหุ้นทั่วโลก (MSCI ACWI) ปรับตัวลดลงเพียง 0.1% MoM โดยดัชนีหุ้นขนาดใหญ่ในสหรัฐ (S&P500) ปิดเท่ากับตอนสิ้นเดือนก่อนหน้า ส่วนหุ้นยุโรป (Eurostoxx600) ลดลง 1.6% MoM ในด้านเอเชีย มีแรงขายในหุ้นประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ค่อนข้างชัดเจน หลังจากที่ Outperform ตลาดอื่นในช่วงที่ผ่านมา และมีแรงซื้อกลับเข้าที่กลุ่มประเทศเอเชียเหนือ
โดยเฉพาะจีนที่ได้รับอานิสงส์จากการกลับมา “เปิดเมือง” อีกครั้ง ส่งผลให้ดัชนี Shanghai Composite บวกกลับมาได้ถึง 4.6% ในเดือนก่อน ส่วนสินทรัพย์ที่ยังให้ผลตอบแทนดีต่อเนื่องคือกลุ่มน้ำมันดิบที่ยังเดินหน้าปรับตัวเพิ่มขึ้นอีกเกือบ 10% ในเดือนที่ผ่านมา
แม้ว่าทั้งเดือนผลตอบแทนตลาดอาจจะขยับไม่มาก แต่หากพิจารณาในช่วงระหว่างเดือน ตลาดหุ้นถือว่ายังมีความผันผวนมากต่อเนื่อง ดัชนี S&P500 ปรับตัวลดลงมากสุดถึง 9.0% ในช่วงระหว่างเดือน ก่อนที่จะดีดกลับมาปิดทรงตัวในช่วงปลายเดือน รวมไปถึงดัชนี NASDAQ ที่ระหว่างเดือนลดลงถึง 8.7% ก่อนที่จะปรับตัวดีขึ้นโดดเด่นจนมาปิดที่ติดลบเพียง 2.1% นับเป็นการโต้กลับของ “ตลาดหมี” ที่โดดเด่นในช่วงท้าย ๆ เดือน
ทั้งนี้ ตลาดการเงินเผชิญกับหลากหลายปัจจัยลบที่เข้ามากดดันในช่วงต้นเดือน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นปัจจัยเดิมๆ เช่น การขึ้นดอกเบี้ยของเฟด หรือความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับชาติตะวันตกที่มีสินค้าพลังงานเป็น “ตัวประกัน”อีกทั้ง ในเดือน พ.ค. ก็มีปัจจัย “Sell in May” ก็เข้ามากดดันความเชื่อมั่นอีกด้วย ทำให้นักลงทุนยังคงขายสินทรัพย์เสี่ยงต่อเนื่องในช่วงต้นเดือน
จุดกลับตัวช้อนซื้อ
แต่ในช่วงท้ายเดือน เริ่มมีปัจจัยบวกเข้ามาสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นการคลายความกังวลเรื่องเงินเฟ้อหลังจากตัวเลขในสหรัฐ ที่เริ่มปรับลดลง รวมไปถึงท่าทีของเฟดที่ระบุว่าจะขึ้นดอกเบี้ย 0.5% ในช่วงอีก 2 การประชุมข้างหน้า ไม่ใช่ 0.75% ตามที่ตลาดมีความกังวลแต่อย่างใด
อีกทั้ง การที่ตลาดมี “ความกลัวขั้นสุดขีด”(Extreme Fear) กับหลายตลาดปรับตัวลดลงจากจุดสูงสุดประมาณ 20% แล้ว ซึ่งในอดีตบ่อยครั้งที่เป็นจุดกลับตัวของตลาด ทำให้มีนักลงทุนเริ่มเข้ามา “ช้อน” ซื้อสินทรัพย์เสี่ยงในหลายตลาด สร้างภาพที่ดีขึ้นในช่วงท้ายเดือน
คำถามคือ การเคลื่อนไหวของตลาดในช่วงปลายเดือนที่ผ่านมาเป็นจุดเริ่มต้นของการฟื้นตัวอย่างยั่งยืน หรือเป็นเพียง Bear-market rally
ทั้งนี้ เราอาจจะให้น้ำหนักกับคำตอบหลังเสียมากกว่า เพราะหากมองไปข้างหน้ายังมี “ความไม่แน่นอน” อีกหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ที่เริ่มมีการเกริ่นออกมาว่าอาจต้องปรับเพิ่มขึ้นมากกว่าระดับ “Neutral” หากยังควบคุมเงินเฟ้อไม่ได้ หรือว่าการ “ทะเลาะ” กันระหว่างรัสเซียกับชาติตะวันตก จะผลักดันให้ยุโรปเผชิญสถานการณ์ลำบากเพียงใดในด้านพลังงาน ซึ่งนักลงทุนยังต้องติดตามประเด็นเหล่านี้อย่างใกล้ชิด
ทั้งนี้ เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่าการ “จับจังหวะ” หาก “จุดต่ำสุด”ของตลาดหุ้นนั่นไม่ใช่เรื่องง่าย แต่หากพิจารณาปัจจัยแวดล้อม แม้ว่าเรายังจะเผชิญ “ความไม่แน่นอน” อยู่ดังที่กล่าวข้างต้น แต่ในด้าน Valuation ของตลาดนั้นก็ได้ปรับตัวลดลงมาแล้ว จากระดับที่เรียกว่า “แพงมาก”ในช่วงปีก่อน แม้ว่าจะไม่ใช่ราคาที่ “ถูกมาก” ดังที่พบในช่วงที่เกิดวิกฤติ แต่ก็ถือเป็นราคาที่ “สมเหตุสมผล” มากขึ้น
อีกทั้ง ตลาดได้ “รับรู้” หลายๆ ปัจจัยลบไปค่อนข้างมากแล้ว ไม่ว่าจะเรื่องภาวะเงินเฟ้อ การขึ้นดอกเบี้ยของเฟด หรือเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอลง ทำให้เรามีการปรับมุมมองการลงทุนระยะสั้น (Tactical) ของหุ้นกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว (DM) ขึ้นมาเป็น “Neutral” จากที่ “Underweight” ไว้ก่อนหน้านี้
อีกทั้ง Yield ต่างประเทศเริ่มทรงตัว ทำให้เราปรับมุมมองระยะยาว (Structural) ของตลาดตราสารหนี้ต่างประเทศขึ้นมาเป็น “Slightly Underweight” จากเดิมที่ “Underweight” แต่เรายังคงเฝ้าระวังความผันผวนของตลาดตราสารหนี้ต่างประเทศที่ยังอยู่ในระดับที่สูงมากอยู่
เพิ่มความระวัง สินค้าโภคภัณฑ์
สำหรับกลยุทธ์การลงทุนของ Asset Allocation ในเดือน มิ.ย. 2565 เรายังคงน้ำหนักการลงทุนในตราสารทุนโดยรวมไว้ที่เดิม แต่เน้นในเรื่องการกระจายความเสี่ยงมากขึ้น โดยลดความกระจุกตัวจากการลงทุนในประเทศญี่ปุ่น โดยหันไปถือครองหุ้นโลกมากขึ้น ซึ่งไม่เพียงมีสัดส่วนการลงทุนในญี่ปุ่นอยู่ด้วย แต่รวมถึงประเทศต่างๆ เช่น สหรัฐ หรือกลุ่มยุโรป สะท้อนมุมมองที่กลับมา “Neutral” กับหุ้นในตลาดประเทศที่พัฒนาแล้ว
โดยเรามองว่าตลาดเหล่านั้นได้ “รับรู้” ปัจจัยต่างๆ ไปค่อนข้างมากแล้ว แต่หากมองไปข้างหน้าก็ยังมีปัจจัยเสี่ยงอีกหลายด้านดังที่กล่าวข้างต้น ทำให้การลงทุนที่กระจุกตัวอาจจะยังไม่เหมาะสมในสถานการณ์เช่นนี้
เรายังคงมีการถือครองการลงทุนในกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับสินค้าโภคภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มพลังงาน, กลุ่มเหมืองแร่ หรือกลุ่มเกษตรและอาหารอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามนักลงทุนอาจต้องมีความระมัดระวังในการลงทุนมากขึ้น หลังจากหุ้นกลุ่มดังกล่าวได้ปรับตัวดีขึ้นมากแล้วในปีนี้
ขณะที่น้ำหนักการลงทุนในจีนยังคงไว้ที่เดิม โดยคาดว่าจีนน่าจะได้รับประโยชน์การคลาย “ล็อกดาวน์” และนโยบายภาครัฐมีท่าทีผ่อนคลายมากขึ้นในช่วงถัดไป
ขอขอบคุณ : ทันหุ้น
โฆษณา