22 มิ.ย. 2022 เวลา 05:00 • ธุรกิจ
กฎหมายด้านฉลากสำหรับสินค้าอาหารในชิลี
รูปแบบการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไปในปัจจุบัน ประเภทของอาหารที่มีความหลากหลายมากขึ้น รวมถึงการรับประทานอาหารที่ปรับเปลี่ยนตามกิจวัตรประจำวันของผู้บริโภค ซึ่งผู้บริโภคบางส่วนมีการบริโภคเกินความต้องการของร่างกาย หรือบริโภคอาหารที่ไม่สมดุล
โดยได้รับสารอาหารอย่างใดอย่างหนึ่งมากเกินไป อาทิ อาหารที่ให้พลังงาน น้ำตาล โซเดียม ไขมันสูง ซึ่งสารอาหารดังกล่าวเป็นสาเหตุหลักของการนำไปสู่ภาวะน้ำหนักเกิน (โรคอ้วน) และเสี่ยงต่อการเป็นโรคอื่น ๆ ตามมา เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคคอเลสเตอรอลในเลือดสูง โรคหัวใจ เป็นต้น
การบริโภคอาหารที่ไม่สมดุลดังกล่าวนอกจากจะเป็นผลเสียต่อสุขภาพกายแล้ว ยังส่งผลต่อสุขภาพจิต ส่งผลกระทบทางอ้อมต่อคุณภาพของพลเมืองและเศรษฐกิจของประเทศในแง่ของประสิทธิภาพในการทำงานของประชากรที่ลดลง รวมถึงรัฐบาลอาจต้องรับภาระค่ารักษาพยาบาลเพิ่มขึ้นของประชากรที่มีปัญหาสุขภาพจากการบริโภคอาหารที่ส่งผลเสียต่อร่างกาย
วัตถุประสงค์
จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขชิลี ระบุว่าอัตราการเสียชีวิตของชาวชิลีในประชากรผู้ใหญ่ในทุก 11 คน มีผลสืบเนื่องหรือมีสาเหตุเกี่ยวข้องจากการมีภาวะน้ำหนักเกิน และของประชากรในวัยเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 6 ปี เป็นโรคอ้วนที่มีสัดส่วนสูงถึง 1 ใน 3
รัฐบาลชิลีตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงต้องการควบคุม/ป้องกันสาเหตุที่นำไปสู่การเกิดปัญหานี้ โดยออกกฎหมายว่าด้วยการติดฉลากและโฆษณาประชาสัมพันธ์สินค้าอาหารฉบับที่ 20606 ขึ้น โดยกฎหมายฉบับนี้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 26 มิถุนายน 2559 ที่ผ่านมา
 
สาระสำคัญ
กฎหมายว่าด้วยการติดฉลากและโฆษณาประชาสัมพันธ์สินค้าอาหารฉบับนี้ เป็นการเพิ่มความเข้มข้นของมาตรการในการติดฉลาก และข้อกำหนดในการโฆษณาประชาสัมพันธ์สำหรับผลิตภัณฑ์อาหารที่ให้พลังงาน/ มีปริมาณน้ำตาล/ มีปริมาณโซเดียม/ มีปริมาณไขมันอิ่มตัว สูงเกินความจำเป็นของร่างกาย โดยสรุปสาระสำคัญ ดังต่อไปนี้
การติดฉลาก
1. กำหนดให้ผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูป (Packaged Food) ทุกชนิด (อาหารและเครื่องดื่ม) ที่ให้พลังงาน/ มีปริมาณน้ำตาล/ มีปริมาณโซเดียม/ มีปริมาณไขมันอิ่มตัวสูงเกินกว่าเกณฑ์สารอาหารที่รัฐบาลกำหนดต้องแสดงสัญลักษณ์ทางโภชนาการเพิ่มเติมบนบรรจุภัณฑ์
เพื่อให้ผู้บริโภคได้ทราบข้อเท็จจริงและตระหนักก่อนตัดสินใจซื้อสินค้านั้น โดยเรียกสัญลักษณ์นี้ว่า “High Level of Critical Nutrient” หรือชื่อย่อ “Hi-in Sign” หรือภาษาไทย “สัญลักษณ์แสดงสารอาหารเกินเกณฑ์” บนบรรจุภัณฑ์
2. มีผลบังคับใช้สำหรับผลิตภัณฑ์อาหารทุกชนิด (อาหารและเครื่องดื่ม) ทั้งที่ผลิตภายในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศ
3. ไม่มีผลบังคับใช้กับผลิตภัณฑ์อาหารที่ต้องนำมาแบ่งบรรจุ อาหารปรุงสำเร็จ เช่น ฟาสฟู้ดส์ ผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อใช้ในการควบคุมน้ำหนัก ผลิตภัณฑ์อาหารสำหรับใช้เลี้ยงทารก ผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อใช้ทางการแพทย์ ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมและผลิตภัณฑ์อาหารสำหรับนักกีฬา
4. การแสดงสัญลักษณ์ High-in Sign บนบรรจุภัณฑ์ รัฐบาลกำหนดให้มีลักษณะเป็นรูปกรอบแปดเหลี่ยม พื้นสีดำ กรอบสีขาว และมีเส้นทึบสีดำล้อมรอบอีกหนึ่งชั้น ภายในกรอบมีข้อความเป็นภาษาสเปน ตัวอักษรพิมพ์ใหญ่ สีขาว
ระบุว่า “ALTO EN AZÚCARES” (น้ำตาลสูง) “ALTO EN CALORÍAS” (พลังงานสูง) “ALTO EN GRASAS SATURADAS” (ไขมันอิ่มตัวสูง) “ALTO EN SODIO” (โซเดียมสูง) และด้านล่างของข้อความเหล่านี้ มีข้อความภาษาสเปน ตัวพิมพ์เล็กสีขาวระบุว่า “Ministorio de Salud” (กระทรวงสาธารณสุข)
5. ขนาดของสัญลักษณ์ฯ ต้องให้มีความสอดคล้องกับขนาดและพื้นที่ด้านหน้าของบรรจุภัณฑ์ (Main Face Area of the Packaging)
การโฆษณาประชาสัมพันธ์
ข้อกำหนดสำหรับผลิตภัณฑ์อาหารที่ต้องติดสัญลักษณ์ High-in Sign บนบรรจุภัณฑ์ สรุปได้ดังนี้
1. ห้ามมิให้ทำการโฆษณาประชาสัมพันธ์และจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดใดๆ ที่มุ่งหรือเจาะกลุ่มเป้าหมายเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 14 ปี
2. ห้ามทำรายการส่งเสริมการขาย ลดราคา รวมทั้งแจก/ แถมสินค้าอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับสินค้าอาหารหรือเครื่องดื่มหลัก เพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจให้เกิดการซื้อ เช่น การแถมของเล่น สติกเกอร์ เกม ตุ๊กตาในสินค้าช็อกโกแลตบางยี่ห้อ หรือชุดแฮปปี้มีลของแมคโดนัลด์
3. ห้ามวางจำหน่ายหรือโฆษณาประชาสัมพันธ์ใดๆ ในสถานที่สำหรับเด็กก่อนวัยเรียน (pre school) เช่น สถานรับเลี้ยงเด็ก เนิสเซอรี่ ฯลฯ และสถาบันการศึกษาตั้งแต่ระดับเตรียมอนุบาล – ประถมศึกษา
การบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการติดฉลากและโฆษณาประชาสัมพันธ์สินค้าฉบับใหม่ของชิลี ประสบผลสำเร็จในการสร้างความตระหนักเกี่ยวกับการบริโภคอาหารของประชาชน โดยนิตยสาร The Lancet Planetary Health ได้ตีพิมพ์บทความเกี่ยวกับผลการศึกษาก่อนและหลังการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการติดฉลากและโฆษณาประชาสัมพันธ์สินค้า ระบุว่าผู้บริโภคในชิลีมีการตระหนักก่อนตัดสินใจซื้อสินค้าอาหารและเครื่องดื่มมากขึ้นกว่าเดิม
นอกจากนี้ พบว่าชาวชิลีบริโภคอาหารที่ให้พลังงานสูงลดลง 3.5%
บริโภคน้ำตาลลดลง 10.2%
บริโภคไขมันอิ่มตัวลดลง 3.9%
และบริโภคโซเดียมลดลง 4.7%
โดยสินค้าที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว คือ สินค้าหมวดน้ำผลไม้ที่มียอดจำหน่ายลดลง 47% รองลงมา ได้แก่ เครื่องดื่มที่มีสารให้ความหวานเป็นส่วนผสม เครื่องปรุงรสและซอส ซีเรียลอาหารเช้า และขนมหวาน โดยมียอดจำหน่ายลดลงที่ 31%, 33%, 11% และ 8% ตามลำดับ
การบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว ส่งผลให้ประชาชนชาวชิลีให้ความใส่ใจต่อการบริโภคอาหารมากขึ้น ประกอบกับสถานการณ์หลังการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ทำให้การรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ จำนวนผู้บริโภคที่ใส่ใจต่อสุขภาพในชิลีที่เพิ่มขึ้น ก็ยังมีการขยายจำนวนของผู้บริโภคที่เลือกรับประทานเฉพาะอาหารที่ปราศจากส่วนประกอบจากสัตว์ (Vegan) จึงไม่น่าแปลกใจที่สินค้าอาหารเพื่อสุขภาพ (Healthy Food) มียอดจำหน่ายเพิ่มขึ้น
โดยห้างสรรพสินค้าและห้างค้าปลีกต่าง ๆ มีการขยายพื้นที่วางจำหน่ายสินค้าในหมวดเพื่อสุขภาพมากขึ้น ถือเป็นโอกาสที่ดีของสินค้าอาหารเพื่อสุขภาพ รวมถึง Plant-Based Food ของไทย
เนื่องจากไทยเป็นแหล่งวัตถุดิบในการผลิตอาหาร และผู้ประกอบการไทยมีความสามารถในการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารให้มีความหลากหลาย ทั้งนี้ ตลาดสินค้าอาหารในชิลียังคงต้องการอาหารเพื่อสุขภาพที่มีความหลากหลาย มีคุณภาพ รสชาติอร่อย รวมทั้งเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย
ซึ่งหากผู้ประกอบการไทยท่านใดที่มีสินค้าเพื่อสุขภาพและต้องการขยายตลาดมายังประเทศชิลี สามารถติดต่อมายัง สคต. ณ กรุงซันติอาโก ได้ที่ thaitrade@ttcsantiago.cl เพื่อ สคต.ฯ จะได้จัดกิจกรรมการจับคู่เจรจาธุรกิจออนไลน์ (Online Business Matching: OBM) ให้กับผู้ส่งออกไทยและผู้นำเข้ารายสำคัญของชิลีในกลุ่มสินค้าเพื่อสุขภาพให้สัมฤทธิ์ผลต่อไป
โฆษณา