22 มิ.ย. 2022 เวลา 23:00 • ธุรกิจ
ภาวะเงินเฟ้อสนับสนุนการขยายตัวสินค้าอาหารแช่แข็งในสหรัฐฯ
ปัจจัยด้านภาวะเงินเฟ้อในตลาดสหรัฐฯ ที่ปรับตัวสูงที่สุดในรอบ 40 ปีส่งผลทำให้ผู้บริโภคชาวอเมริกันในตลาดมีพฤติกรรมการเลือกซื้อสินค้าอาหารเปลี่ยนแปลงไป โดยผู้บริโภคในตลาดมีแนวโน้มหันไปเลือกซื้อสินค้าอาหารแช่แข็งซึ่งมีราคาจำหน่ายในตลาดถูกกว่าอาหารสดเพิ่มมากขึ้น
Mr. Adnan Durrani ตำแหน่งประธานกรรมการบริหาร บริษัท Saffron Road ผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าอาหารเพื่อสุขภาพแบบแช่แข็งในสหรัฐฯ กล่าวว่า ยอดจำหน่ายสินค้าของบริษัทขยายตัวเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมาเนื่องจากผู้บริโภคในตลาดเริ่มปรับพฤติกรรมการเลือกซื้อสินค้าอาหารตามแนวโน้มสภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน ซึ่งทำให้ยอดจำหน่ายของบริษัทขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดทุกเดือนในช่วงหกเดือนที่ผ่านมา
โดย Mr. Durrani ยังกล่าวว่า ยอดจำหน่ายสินค้ากลุ่มอาหารแช่แข็งเฉลี่ยในปีนี้ขยายตัวเพิ่มขึ้นสูงกว่ากลุ่มอาหารสดถึงร้อยละ 230 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ไม่เกิดขึ้นบ่อยนัก เนื่องจากในช่วงภาวะตลาดปกติกลุ่มสินค้าอาหารสดมักจะมียอดจำหน่ายขยายตัวสูงกว่ากลุ่มสินค้าอาหารแช่แข็งมาโดยตลอด
ทั้งนี้ ปัจจัยที่ทำให้ยอดจำหน่ายสินค้าอาหารแช่แข็งขยายตัวมากขึ้นส่วนหนึ่งเป็นเพราะสินค้าอาหารแช่แข็งสามารถเก็บรักษาคุณภาพความสดของอาหารได้นานสามารถยืดอายุอาหารได้ยาวเป็นปี
อีกทั้ง ในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบรุนแรงต่อระบบการขนส่งและห่วงโซ่อุปทานทำให้การขนส่งสินค้าเกิดความล่าช้า ผู้บริโภคบางส่วนมีความกังวลต่อคุณภาพของสินค้าอาหารสดที่ต้องเสียเวลาในการขนส่งนานขึ้นทำให้อาหารมีอายุการเก็บรักษาที่สั้นลง
แนวโน้มดังกล่าวเป็นไปในทิศทางเดียวกับรายงานวิจัยตลาดของ บริษัท Mordor Intelligence ที่ระบุว่าปัจจัยด้านการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลดีต่อการขยายตัวของตลาดสินค้าอาหารแช่แข็ง อีกทั้ง สถาบันอาหารแช่แข็งอเมริกัน (The American Frozen Food Institute) ยังได้รายงานอัตราการขยายตัวของตลาดสินค้าแช่แข็งในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 21 ในปี 2563 ด้วย
ในส่วนของสินค้าอาหารทะเลแช่แข็ง บริษัท IRI และ บริษัท 210 Analytics ผู้วิจัยพฤติกรรมผู้บริโภคในตลาดสหรัฐฯ รายงานว่า ในเดือนที่ผ่านมายอดจำหน่ายสินค้าอาหารทะเลแช่แข็งในสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.8 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ในขณะที่ยอดจำหน่ายสินค้าอาหารทะเลสดกลับหดตัวลงถึงร้อยละ 11.8 ในช่วงเวลาเดียวกัน
Ms. Anne-Marie Roerink ตำแหน่งประธานผู้ก่อตั้งบริษัท 210 Analytics กล่าวว่า สินค้าอาหารแช่แข็งและสินค้ากระป๋องมีจุดแข็งเหนือสินค้าอาหารสดด้านอายุการเก็บรักษา โดยสินค้าอาหารสดมักจะมีอายุการเก็บรักษาที่ค่อนข้างสั้นแต่สินค้าอาหารแช่แข็งและอาหารกระป๋องสามารถเก็บรักษาไว้ได้ยาวนานกว่ามาก
อีกทั้ง ปัจจัยด้านราคาสินค้าอาหารแช่แข็งและอาหารกระป๋องยังมีราคาจำหน่ายในท้องตลาดถูกกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับสินค้าอาหารสดด้วย
Mr. Durrani ยังได้กล่าวเสริมว่า กลุ่มสินค้าอาหารแช่แข็งยังเป็นกลุ่มสินค้าที่สนับสนุนแนวคิดด้านความยั่งยืน (Environment, Social และ Governance หรือ ESG) ด้วย ข้อมูลจากสภาปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ (The Natural Resources Defense Council หรือ NRDC) รายงานว่า
เกือบร้อยละ 40 ของสินค้าอาหารสดในสหรัฐฯ มักจะไม่ได้รับการบริโภคและถูกทิ้งกลายเป็นขยะ โดยส่วนใหญ่ (ร้อยละ 87) เป็นสินค้ากลุ่มผักผลไม้สดและขนมปัง ซึ่งปัจจุบันผู้บริโภคในตลาดเริ่มให้ความสำคัญกับปัญหาด้านขยะอาหาร (Food Waste) มากขึ้น และได้พยายามหาแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยการเลือกบริโภคสินค้าอาหารแช่แข็งจะช่วยลดการก่อขยะอาหารและถือเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่ได้ผลวิธีหนึ่ง
นอกจากนี้ ปัจจัยด้านอัตราเงินเฟ้อที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นในสหรัฐฯ ยังส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าอาหารในตลาดด้วย Mr. Steve Reed นักเศรษฐศาสตร์ สำนักสถิติแรงงานสหรัฐฯ (Bureau of Labor Statistics หรือ BLS) รายงานว่า
โดยเฉลี่ยราคาจำหน่ายสินค้าอาหารในสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.4 ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2523 ในภาพรวมราคาจำหน่ายปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคในตลาดปรับตัวเพิ่มขึ้นราวร้อยละ 1 เมื่อเทียบกับราคาในเดือนที่ผ่านมา (month-over-month)
ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่าสินค้าอาหารแช่แข็งกลุ่มพรีเมียมที่เน้นประโยชน์ต่อสุขภาพก็ได้รับอานิสงส์มียอดจำหน่ายเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาผู้ประกอบการบางรายจะตัดสินใจปรับเพิ่มราคาสินค้าเพื่อสะท้อนต้นทุนค่าใช้จ่ายที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น
เช่น ค่าวัตถุดิบ ค่าขนส่ง ค่าน้ำมัน ค่าบรรจุภัณฑ์ และค่าใช้จ่ายอื่นที่เกี่ยวข้องก็ตาม แต่ผู้บริโภคในตลาดยังคงสนใจเลือกซื้อสินค้าอาหารแช่แข็งพรีเมียมเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการปรับเพิ่มของราคาสินค้าอาหารในตลาดปัจจุบันอาจจะส่งผลทำให้ผู้บริโภคชาวอเมริกันลดการเลือกซื้อสินค้าอาหารลง รวมถึงอาจจะทำให้ผู้บริโภคหันไปเลือกซื้อสินค้าลดราคา สินค้าอาหารแบรนด์ร้านค้าเพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายได้
อีกทั้ง ยังน่าจะทำให้ผู้บริโภคในตลาดลดการรับประทานอาหารตามร้านอาหารลงได้ ข้อมูลจากสมาคมร้านอาหารแห่งชาติ (The National Restaurant Association) รายงานราคาอาหารตามร้านอาหารในสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 7.2 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวที่สูงที่สุดในรอบหนึ่งปีนับตั้งแต่ปี 2524
การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลต่อการขนส่งและระบบห่วงโซ่อุปทาน อีกทั้งปัญหาต้นทุนสินค้าที่เพิ่มขึ้นจากราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นจากภาวะสงครามระหว่างรัสเซีย - ยูเครนทำให้ราคาสินค้าทุกกลุ่มในตลาดปรับตัวสูงขึ้นจนก่อให้เกิดภาวะเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ที่รุนแรงที่สุดในรอบ 40 ปี ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจภายในประเทศ
ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจดังกล่าวยังส่งผลทำให้ผู้บริโภคในตลาดมีพฤติกรรมการเลือกซื้อสินค้าอาหารเปลี่ยนแปลงไปด้วย ผู้บริโภคชาวอเมริกันบางส่วนเริ่มรู้สึกถึงผลกระทบของภาวะเงินเฟ้อในตลาดและระมัดระวังการใช้จ่ายเงินมากขึ้นโดยเฉพาะการเลือกซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่ราคาสินค้าปรับตัวเพิ่มสูงระหว่างร้อยละ 10 – 20 (ขึ้นอยู่กับประเภทสินค้า)
เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ทำให้ผู้บริโภคเริ่มสนใจเลือกซื้อสินค้าราคาถูก เช่น สินค้าแบรนด์ร้านค้า สินค้าอาหารแช่แข็ง และสินค้าอาหารกระป๋องเพิ่มมากขึ้นเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย
แนวโน้มดังกล่าวน่าจะเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยที่มีความชำนาญและเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารแช่แข็งและอาหารกระป๋องมาเป็นเวลานาน โดยตลาดสหรัฐฯ ยังถือเป็นตลาดส่งออกสินค้าอาหารแปรรูปศักยภาพของไทยด้วย
นอกจากนี้ ปัจจัยด้านการดำเนินมาตรการโควิดเป็นศูนย์ (Zero Covid) ของจีนซึ่งเป็นคู่แข่งรายสำคัญในตลาดที่ยังไม่สามารถผลิตและส่งออกสินค้าได้เต็มศักยภาพซึ่งอาจจะขยายวงกว้างออกไปเป็น “ปัญหาความมั่นคงทางด้านอาหาร”ยังน่าจะช่วยสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยสามารถขยายตลาดส่งออกสินค้าอาหารแช่แข็งและอาหารกระป๋องไปยังอีกหลายพื้นที่ทั่วโลกได้มากขึ้นในปีนี้ด้วย
ทั้งนี้ ในช่วงระหว่างเดือนมกราคม – มีนาคม 2565 สหรัฐฯ นำเข้าสินค้าแช่แข็งเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 7.84 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือขยายตัวเพิ่มขึ้นสูงถึงร้อยละ 44.04 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยสินค้านำเข้าหลัก ได้แก่ กุ้งแช่แข็ง (ร้อยละ 19.81) เนื้อวัวแช่แข็ง (ร้อยละ 12.44) ปูแช่แข็ง (ร้อยละ 5.96) มันฝรั่งตัดแต่งหรือ เฟรนช์ฟราย (ร้อยละ 4.66) ปลาแซลมอน (ร้อยละ 4.56) เป็นต้น
โดยนำเข้าจากแคนาดา (ร้อยละ 10.10) เม็กซิโก (ร้อยละ 9.67) อินเดีย (ร้อยละ 8.12) บราซิล (ร้อยละ 5.98) และเอกวาดอร์ (ร้อยละ 5.70) ตามลำดับ
ส่วนไทยส่งออกไปตลาดสหรัฐฯ เป็นมูลค่าทั้งสิ้น 86.68 ล้านดอลลาร์สหรัฐคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1.11 เป็นอันดับที่ 19 สินค้าส่งออกไทยที่สำคัญ ได้แก่ กุ้ง (ร้อยละ 44.39) ปลาทูน่า Skipjack (ร้อยละ 11.84) ปลาหมึก (ร้อยละ 7.77) ข้าวโพดหวาน (ร้อยละ 4.68) และผลไม้แช่แข็ง (ร้อยละ 4.31) ตามลำดับ
ปัญหาด้านราคาค่าระวางขนส่งสินค้าในตลาดโลกที่ยังไม่กลับสู่ภาวะปกติ เมื่อรวมกับต้นทุนพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นจากภาวะสงครามส่งผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ต่อการส่งออกสินค้าไทยไปยังตลาดสหรัฐฯ เนื่องจากมีระยะทางขนส่งที่ค่อนข้างไกลเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งในภูมิภาคอเมริกาโดยเฉพาะการขนส่งสินค้าด้วยตู้คอนเทนเนอร์แช่แข็งที่มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง
ดังนั้น หากผู้ประกอบการไทยสามารถควบคุมต้นทุนการผลิตให้อยู่ในระดับต่ำเมื่อรวมค่าขนส่งแล้วยังสามารถแข่งขันกับคู่แข่งในตลาดได้ก็น่าจะช่วยให้ไทยสามารถรักษาส่วนแบ่งตลาดในสหรัฐฯ ได้
นอกจากนี้ การพัฒนายกระดับการผลิตสินค้าให้มีความน่าสนใจเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคในตลาดปัจจุบันที่นอกจากจะให้ความสำคัญกับปัจจัยด้านราคาและคุณภาพแล้ว ยังสนใจปัจจัยด้านประโยชน์ต่อสุขภาพ สิ่งแวดล้อม ชุมชน ตลอดจนให้ความสำคัญกับการเลือกสินค้าจากผู้ประกอบการที่เชื่อถือได้
ดำเนินกิจการด้วยความโปร่งใส ดูแลสวัสดิการแรงงานอย่างเป็นธรรมและเสมอภาค และการเลือกใช้แหล่งวัตถุดิบการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ (Traceable Resource) ก็น่าจะช่วยส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของสินค้าอาหารไทยในตลาดได้มากขึ้นด้วย
แม้ว่า ในแต่ละปีสหรัฐฯ มีความต้องการนำเข้าสินค้าเนื้อสัตว์บกแช่แข็ง เช่น เนื้อวัว เนื้อไก่ และเนื้อหมูค่อนข้างมาก แต่สหรัฐฯ ยังคงนโยบายห้ามนำเข้าสินค้าอาหารที่มีส่วนประกอบของเนื้อสัตว์บกจากไทย โดยเด็ดขาดเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดต่อในปศุสัตว์ที่อาจจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมปศุสัตว์ในประเทศได้
ดังนั้น หากหน่วยงานภายรัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องของไทยสามารถสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพของเนื้อสัตว์บกไทยโดยเฉพาะเนื้อสัตว์ทดแทนอื่นและสามารถเจรจากับรัฐบาลสหรัฐฯ ให้อนุญาตนำเข้าสินค้าเนื้อสัตว์จากไทยได้ก็น่าจะส่งผลดีต่อผู้ประกอบการไทยในในอนาคต
โฆษณา