17 มิ.ย. 2022 เวลา 03:30 • ธุรกิจ
Ko-fi แพลตฟอร์ม ที่ช่วยให้ครีเอเตอร์ มีรายได้ โดยใช้คอนเซปต์ เลี้ยงกาแฟ
ไม่ว่าจะเป็น ศิลปิน, นักเขียน, นักพูดพอดแคสต์, นักคอสเพลย์ หรือครีเอเตอร์สายไหนก็ตาม
ต่อให้ทำผลงานออกมาดีแค่ไหน แต่หากขาดรายได้ ก็อาจทำให้หลายคนต้องถอดใจ และเลิกทำในสิ่งที่รัก
แต่จะเป็นอย่างไร ถ้าหากมีช่องทางให้เราได้ทำในสิ่งที่ตัวเองรัก พร้อมกับสร้างรายได้ให้กับตัวเองไปด้วย
2
โดยในตอนนี้ มีแพลตฟอร์มที่ชื่อว่า Ko-fi ที่ให้คนที่ชื่นชอบในผลงานของเรา สามารถ “ซื้อกาแฟ” เพื่อสนับสนุนเราได้
1
แล้ว การเลี้ยงกาแฟ จะช่วยให้ครีเอเตอร์ หารายได้จาก Ko-fi ได้อย่างไร ?
ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
Ko-fi เป็นสตาร์ตอัปจากอังกฤษ ที่มีจุดเริ่มต้นมาจากคุณ Nigel Pickles ผู้ก่อตั้ง Ko-fi
โดยในขณะที่เขาทำงานเป็นนักพัฒนา แล้วเจอกับโปรเจกต์การเขียนโคดที่ยากมาก ๆ จนทำให้เขาเกือบจะส่งงานไม่ทัน
จนกระทั่งเขาได้รับความช่วยเหลือจาก ผู้ใช้งานคนหนึ่ง บนเว็บไซต์ของนักเขียนโปรแกรมอย่าง Stack Overflow ทำให้เขารู้สึกขอบคุณ และซาบซึ้งสำหรับการช่วยเหลือในครั้งนี้เป็นอย่างมาก
แต่สิ่งที่เขาทำได้ ก็มีแค่การกด Upvote ซึ่งคล้าย ๆ กับการกดไลก์บนเฟซบุ๊กเท่านั้น
จุดนี้เองที่ทำให้ คุณ Pickles รู้สึกว่า แค่การกด Upvote นั้น มันยังไม่เพียงพอ กับความรู้สึกที่เขาต้องการจะตอบแทนคนคนนี้
ด้วยเหตุนี้เอง คุณ Pickles จึงได้ทำการพัฒนาแพลตฟอร์ม Ko-fi ร่วมกับคุณ Simon Ellington หนึ่งในหุ้นส่วนคนปัจจุบัน
โดยที่มาของชื่อ Ko-fi เป็นการเล่นคำกับคำว่า “Coffee” ที่แปลว่า กาแฟ เพราะในโลกของความเป็นจริง เราก็มักจะแสดงความขอบคุณให้แก่กัน ด้วยอะไรง่าย ๆ อย่าง การเลี้ยงกาแฟสักแก้ว
ดังนั้น การทำงานของแพลตฟอร์ม Ko-fi ก็จะทำหน้าที่เป็น “ตัวกลาง” ให้ครีเอเตอร์ ไม่ว่าจะเป็น นักวาด, นักเขียน หรือนักคอสเพลย์ ให้สามารถนำผลงานของตนมาแสดง เพื่อขอรับเงินสนับสนุน
1
ที่สำคัญคือ ในแพลตฟอร์ม Ko-fi จะไม่เรียกว่าเป็นการบริจาค (Donate) เหมือนแพลตฟอร์มการระดมทุนทั่วไป
2
แต่จะใช้คำว่า “Buy Me a Coffee”
ซึ่งเปรียบเสมือนกับการเลี้ยงกาแฟ เพื่อเป็นการขอบคุณเหล่าครีเอเตอร์
5
โดยการช่วยเหลือครีเอเตอร์ในรูปแบบของค่ากาแฟนี้เอง เป็นการทำให้ครีเอเตอร์รู้สึกว่า ตนไม่ได้กำลังแบมือขอเงินจากผู้สนับสนุน
แต่กำลังได้รับกำลังใจ หรือคำขอบคุณจากผู้ที่ชื่นชอบในผลงานของตน
1
ซึ่งเงินค่ากาแฟนี้ อาจจะเป็นในรูปแบบของเงินที่ผู้คนจ่ายให้กับครีเอเตอร์โดยตรง เพื่อให้กำลังใจ หรือเหล่าครีเอเตอร์จะตั้งเป้าขอรับการสนับสนุนเป็นค่าอุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อพัฒนาผลงานให้ดีขึ้นก็ได้ เช่น แล็ปท็อปเครื่องใหม่ หรือชุดคอสเพลย์ชุดใหม่ เป็นต้น
ในขณะที่ผู้สนับสนุนเองก็ได้ทราบว่าเงินที่ตนเองจ่ายให้กับครีเอเตอร์นั้น จะช่วยพัฒนาตัวผลงานของครีเอเตอร์อย่างไร เช่น ถ้าหากครีเอเตอร์มีอุปกรณ์ที่ดีขึ้น ผู้สนับสนุนก็มีโอกาสจะได้เห็นผลงานที่มีคุณภาพสูงขึ้นด้วย
นอกจากค่ากาแฟแล้ว เหล่าครีเอเตอร์ยังสามารถหารายได้ผ่าน Ko-fi ด้วยวิธีอื่น ๆ ได้อีก ดังนี้
- ลงขายสินค้าของตัวเอง
- รับจ้างผลิตผลงาน
- สมัครเป็นสมาชิกกับครีเอเตอร์ เพื่อเข้าถึงคอนเทนต์พิเศษ
แล้ว Ko-fi แตกต่างจากแพลตฟอร์มการระดมทุนอื่นอย่างไร ?
เรื่องแรกเลยก็คือ Ko-fi จะ “ไม่คิดค่าธรรมเนียม” ใด ๆ จากเงินค่ากาแฟที่มีคนจ่ายให้กับเหล่าครีเอเตอร์
โดยในปี 2021 มีคนจ่ายเงินค่ากาแฟให้ครีเอเตอร์ รวมทั้งแพลตฟอร์ม Ko-fi เป็นจำนวนกว่า 1,300 ล้านบาท และบริษัทไม่ได้ทำการหักค่าธรรมเนียมเลยแม้แต่บาทเดียว..
1
นอกจากนี้ เมื่อเทียบกับแพลตฟอร์มการระดมทุนของครีเอเตอร์ที่คล้ายกันอย่างแพลตฟอร์ม Patreon แล้ว Ko-fi จะมีความยืดหยุ่นมากกว่า
เนื่องจากในแพลตฟอร์ม Ko-fi ผู้สนับสนุนสามารถเลือกจ่ายเงินให้กับครีเอเตอร์ที่ถูกใจเป็นรายครั้ง หรือรายเดือนก็ได้ ซึ่งแตกต่างจากแพลตฟอร์ม Patreon ที่จะต้องเป็นการสนับสนุนแบบรายเดือนเท่านั้น
 
แล้วรายได้ของ Ko-fi มาจากไหน ?
แหล่งรายได้หลักของ Ko-fi มาจาก 2 ช่องทาง คือ
1. หักค่าธรรมเนียม 5% จากการขายสินค้า และการรับจ้างผลิตผลงานของครีเอเตอร์
2. ค่าสมัครสมาชิก หรือ Ko-fi Gold
โดยครีเอเตอร์จะจ่ายเงินประมาณ 200 บาทต่อเดือนให้กับ Ko-fi เพื่อแลกกับการไม่ต้องโดนหักเงิน 5% จากยอดขาย หรือรายได้จากการรับจ้างผลิตผลงาน
รวมถึง ครีเอเตอร์ยังสามารถ เพิ่มลูกเล่นต่าง ๆ บนโพรไฟล์ของตนได้ เช่น
- เปลี่ยนจาก Buy Me a Coffee เป็น Tea, Pizza, Beer หรืออะไรก็ได้ที่ต้องการ
- สามารถโพสต์ภาพ ที่มีคุณภาพสูงขึ้น เพื่อให้ผู้สนับสนุนดาวน์โหลดรูป ที่มีความละเอียดได้มากขึ้น
อีกเรื่องที่น่าสนใจ ก็คือ การสนับสนุนครีเอเตอร์ ยังไม่ได้จำกัดแค่การโพสต์บนแพลตฟอร์มของ Ko-fi เท่านั้น
โดย Ko-fi ได้ออกแบบให้ครีเอเตอร์สามารถนำลิงก์ไปแปะไว้ตามโพสต์ในแพลตฟอร์มต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น Twitter, YouTube หรือ Instagram เพื่อให้แฟนคลับจากแพลตฟอร์มอื่น ๆ สามารถตามมาช่วยสนับสนุนครีเอเตอร์ได้อย่างสะดวกมากขึ้น
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ
ผู้ที่ออกแบบหน้าเว็บไซต์ของ Ko-fi ในปัจจุบัน ให้ใช้งานง่าย และมีปุ่มต่าง ๆ ที่หน้าตาเป็นมิตร
รวมถึงการครีเอตคำต่าง ๆ ที่อยู่บนหน้าเว็บไซต์ เช่น Buy Me a Coffee แทนการใช้คำว่า Donate แบบเดิม ๆ ก็คือ นักออกแบบชาวไทย “คุณตั๊ง-ธนนท์ วงษ์ประยูร”
3
Sponsored by JCB
JCB แบรนด์ผู้ให้บริการเครือข่ายบัตรเครดิตจากประเทศญี่ปุ่น - พิเศษเฉพาะผู้ถือบัตรเครดิต JCB พบกับโปรโมชั่นในไทยและต่างประเทศมายมาย สิทธิประโยชน์ที่ครอบคลุมทุกไลฟ์สไตล์ ทั้ง กิน เที่ยว ช้อป ติดตามความพิเศษที่เป็นเอกสิทธิ์เฉพาะคุณได้ที่ www.facebook.com/JCBCardThailandTH และ LINE Official Account : @JCBThailand (https://bit.ly/JCBTHLine)
#JCBใช้ได้ทุกที่ทุกเวลา #JCBThailand #JCBOwnHappinessOwnStory
โฆษณา