16 มิ.ย. 2022 เวลา 12:12 • นิยาย เรื่องสั้น
EP. 13 : ต้องเดินต่อหลังพายุสิ้น
จาก “โกนเซิน” (CONSON) สู่ “เตี้ยนหมู่” เป็น “ไลออนร็อก” และตามด้วย “คมปาซุ” และ “หมาเหล่า” ชื่อพายุแต่ละลูก ในระยะเวลาเพียงแค่เดือน กันยายน ถึง ตุลาคม 2564 ที่มาติด ๆ กันเป็นระลอกไม่ห่างกันนัก ส่งผลให้พื้นที่รับน้ำอย่างผืนเกษตรของชาวนาต้องรองรับสิ่งที่เรียกว่า “พายุ” มาปีแล้วปีเล่า
พื้นที่เกษตรอย่างตำบลโพธิ์กระสังข์ อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ ก็คงเป็นพื้นที่รับน้ำเฉกเช่นพื้นที่อื่น ๆ เช่นกัน และที่สำคัญคือพื้นที่ดังกล่าวกลับไม่ได้มีพื้นที่ชลประทานหรือคลองส่งน้ำแต่อย่างใด เมื่อน้ำป่าที่มาจากเทือกเขาหรือพายุมาแต่ละลูก ย่อมส่งผลต่อผืนนาที่ปลูกข้าวทั้งเพ
  • แต่ชาวนาในเขตพื้นที่ดังกล่าวนี้ ก็ได้แต่ยินยอมและรับสภาพความเป็นจริงเช่นนี้ทุกปีไป ไม่รู้จะอวดครวญไปเพื่อการใด แต่ก็ปรับตัวถือว่าเมื่อมีน้ำมา ย่อมมีสิ่งที่มากับน้ำอย่างปลา กุ้ง หอย เป็นต้น พอได้เป็นอาหารหล่อเลี้ยงครอบครัวไป
24 ตุลาคม 2564 ที่สิ้นสุดพายุหมาเหล่าไปได้ไม่กี่วัน จึงหยิบจับอุปกรณ์เครื่องบินบังคับไร้คนขับไปเก็บภาพมุมสูงยลโฉม ภายหลังการจากไปของพายุแต่ละลูก ซึ่งใช่ว่าจะไม่มีอีก สภาพที่เห็นคือน้ำลดลงพอสมควร ต้นข้าวสีเขียวขจีกำลังตั้งรำเตรียมออกรวงชูช่อสวยงามให้เจ้าของแปลงนาตัวเองได้ยลโฉม
  • หลังจากยลภาพมุมสูง ก็เก็บแล้วลงลุยแปลงนา หักข้าวพันธุ์ที่แปลกปลอม หรือที่ภาษาถิ่นเรียกว่า “แกม” ที่หมายถึงแปลกปลอม หรือปนมาจากข้าวที่เราปักดำลงไปอย่างไรซ์เบอร์รี่ที่มีสีดำม่วง สีที่ชัดเจนทำให้คัดได้ง่าย เดินไปกอไหนที่มีลำต้นหรือลวงสีเขียวสดนั่นแสดงว่า ข้าวพื้นบ้านหรือข้าวประจำถิ่นอย่าง ข้าวหอมมะลิ เป็นแน่
  • โดยที่วันต่อมา หลานตัวน้อยก็อยากมาสนุกอีก เลยได้ให้ช่วยเก็บเด็ดต้นที่ปนออกด้วย ถือว่าเป็นการเสริมวิธีคิดให้ความสนุกกับการได้เรียนรู้วิถีไปในตัวด้วย
ในขณะที่พายุห่างหายจากลาทิ้งช่วง ทำให้น้ำลดลงพอสมควร ต้นข้าวสูงขึ้นพ้นคันแทนาแล้ว อีกทั้งพืชอย่างหญ้าแฝกที่ได้ปลูกกันดินสไลด์ ดินไหลก็สูงขึ้นเช่นกัน เลยได้ถือโอกาสตัดหญ้าในคันนาและหญ้าแฝกให้โล่งเตียน พอได้ดูเห็นต้นข้าวได้เด่นชัดบ้าง ดูแลกันไปตามสภาพที่ลูกชาวนาเราจะดูแลได้เพื่อบำเรอความสุขทางอารมณ์ของเราเองต่อไป ในขณะที่พายุได้ซาทิ้งช่วงในขณะนี้
[ บันทึกเมื่อ 16 มิถุนายน 2565 ]
โฆษณา