16 มิ.ย. 2022 เวลา 14:00 • ธุรกิจ
สรุปเรื่องต้องรู้ก่อนเลิกธุรกิจ
“นี่เธอ…เราเลิกกันเถอะ” แค่ไม่รักก็บอกเลิกกันมันง่ายแบบนี้จริงๆ ไหม
สำหรับคู่รักหนุ่มสาวเลิกกันยากมั้ย Zero to Profit ไม่มั่นใจ แต่สำหรับคนทำธุรกิจแล้วจดทะเบียนเลิกธุรกิจ บางทีอาจยุ่งยากกว่าบอกเลิกสาวๆ เป็นสิบๆ เท่าเสียอีก
สรุปเรื่องต้องรู้ก่อนเลิกธุรกิจ
แล้วยิ่งถ้ามีอดีตที่คาราคาซัง ฝังใจกันมานาน ตอนเลิกบริษัทเนี่ย ขอบอกไว้เลยว่าต้องระวังตัวดีๆ เพราะบางทีอาจจะต้องเสียภาษีหรือค่าปรับต่างๆ แบบไม่ทันตั้งตัว
 
ทีนี้มีเรื่องอะไรบ้างที่เราต้องรู้ก่อนตัดสินใจจดทะเบียนเลิกบริษัท เราลองมาดูกันค่ะ
1. ผู้ถือหุ้นตกลงที่จะเลิกร่วมกันไหม
ตอนเริ่มก่อตั้งบริษัท กฎหมายบอกว่าต้องมีผู้ถือหุ้นอย่างน้อย 3 คน และเมื่อเลิกบริษัทเช่นกันเราจะเลิกคนเดียวไม่ได้ ต้องให้ผู้ถือหุ้นไม่ต่ำกว่า 3 ใน 4 ของหุ้นทั้งหมดตกลงปลงใจเลิกบริษัทด้วยกันนะ
ผู้ถือหุ้น
ถ้าสมมติเราแบ่งสัดส่วนหุ้นไว้แล้ว พอจัดประชุมเพื่อเลิกบริษัท มีผลโหวตไม่ต่ำกว่า 75% ก็สามารถเลิกบริษัทได้สบายๆ แต่เมื่อไรก็ตามผลโหวตไม่ถึง ชีวิตก็มักจะมีเรื่องกลุ้มใจว่า เอ..แล้วเราจะเลิกยังไงล่ะ
เพราะการเลิกบริษัทโดยไม่บอกกล่าวผู้ถือหุ้นทุกคนล่วงหน้า อาจมีความผิด เผลอๆ อาจโดนฟ้องกลับ งานเข้าหนักกว่าเดิมอีกนะ
ที่สำคัญในขั้นตอนก่อนและหลังลงมติเพื่อเลิกบริษัทต้องมีการประกาศหนังสือประชุมให้เรียบร้อย ซึ่งแนะนำว่าควรศึกษาขั้นตอนและระยะเวลาให้ดีๆ เลยนะ
2. ยื่นงบครบทุกปีไหม
หลายคนคงมีคำถามในใจว่า การยื่นงบการเงินให้ครบทุกปีตั้งแต่เปิดบริษัทมามีความสำคัญอะไร ในเมื่อเราไม่ได้ดำเนินการอะไรในบริษัทมาตั้งแต่ต้นแล้ว
ยื่นงบให้ครบถ้วน
คำตอบคือ เพราะกฎหมายกำหนดให้เรานำส่งงบการเงินทุกๆปี แม้ไม่มีการทำธุรกิจก็ตาม ฉะนั้น ถ้าเราไม่ส่งงบการเงิน ไม่มีผู้ตรวจสอบตรวจรับรองงบปีก่อนหน้า สุดท้ายแล้วงบเลิกก็จะไม่มีคนรับรองในที่สุด
สุดท้ายแล้วก็เลยกลายเป็นคำตอบที่ว่า ถ้าในปีที่ผ่านๆ มายังไม่ได้ยื่นงบการเงิน ก่อนจดทะเบียนเลิก ต้องกลับไปแก้ไขอดีต ทำบัญชีย้อนหลังและยื่นงบการเงินให้ครบถ้วนแก่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าด้วยนะจ๊ะพี่จ๋า
3. ยื่นภาษีครบไหม
นอกจากงบการเงินแล้วยังมีเรื่องภาษีที่เป็นของคู่กัน แต่ทว่าธุรกิจแต่ละแบบก็จะมีภาษีที่แตกต่างกัน เราต้องศึกษาก่อนว่าเราเกี่ยวข้องกับภาษีอันไหน และเราได้ยื่นภาษีครบถ้วนหรือไม่
ยื่นภาษีให้ครบถ้วน
1) ภาษีมูลค่าเพิ่ม ถ้าใครจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มก็ต้องยื่นทุกเดือน
2) ภาษีหัก ณ ที่จ่าย ต้องยื่นในเดือนที่มีการจ่ายเงินและหัก ณ ที่จ่าย
3) ภาษีเงินได้ ต้องยื่นประจำทุกครึ่งปีและสิ้นปี
4) ภาษีธุรกิจเฉพาะ กรณีมีเงินให้กู้ยืมแก่บุคคลภายนอกแล้วได้รับชำระดอกเบี้ย เราก็ต้องยื่นภาษีตัวนี้ด้วยเช่นกัน
ส่วนใหญ่แล้วภาษีตัวที่เจ้าของธุรกิจมักลืมยื่น กรณีที่เปิดบริษัทแล้วไม่ได้ทำอะไรกับมันเลย คือ ข้อ 3 และ 4
4. เลขในงบเคลียร์หรือยัง
สิ่งที่เพิ่มเติมนอกเหนือไปจากการยื่นงบการเงินอีกเรื่องนึงคือว่าถ้ารู้ว่าจะเลิกบริษัทแน่นอน อย่าลืมใช้เวลาก่อนไปจดทะเบียนเลิก เคลียร์ตัวเลขค้างคาต่างๆ ในงบการเงินออกให้หมดเพราะเมื่อจดเลิกแล้ว เราจะกลับไปแก้ไขความผิดพลาดในอดีตบ่ได้แล้วเด้อ เช่น
เคลียร์ตัวเลขคงค้างในงบการเงิน
- ลูกหนี้ ต้องเรียกรับชำระให้ครบ
- สินค้า/อุปกรณ์ ขายออกไปให้หมด เพราะถ้าขายไม่หมดสุดท้ายจดเลิกอาจถูกสรรพากรประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มได้
- เจ้าหนี้ เป็นหนี้ใครอย่าลืมจ่ายชำระคืน และนำส่งภาษีให้ครบถ้วน
- กำไรสะสม กำไรสะสมที่จ่ายเงินปันผลก่อนเลิก ผู้ถือหุ้นจะจ่ายภาษี ณ อัตรา 10% แต่ถ้ามีค้างอยู่ตอนเลิกผู้ถือหุ้นต้องเสียภาษีด้วยอัตราก้าวหน้านะจะบอกให้
ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่เจ้าของธุรกิจจะต้องรู้และปฏิบัติให้ถูกต้องตาม step เพื่อหลีกเลี่ยงค่าใช้จ่ายหรือภาษีที่ไม่ควรจะจ่าย
สุดท้ายถ้าเราทำทุกอย่างเต็มความสามารถจนถึงกระบวนการเลิกจริงๆ เราจะได้ไม่เสียใจกับประสบการณ์ที่ผ่านมา
และ Zero to Profit ขอเป็นกำลังใจให้สำหรับการเริ่มต้นใหม่อีกครั้งในอนาคตค่ะ
ปรึกษาปัญหาบัญชีธุรกิจ หาโปรแกรมบัญชีที่ใช่สำหรับธุรกิจคุณ ติดต่อ
Line: @zerotoprofit หรือ https://lin.ee/36U1ks0Y
ติดตาม Zero to Profit ได้ที่
โฆษณา