Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Nakvat Hakimov
•
ติดตาม
17 มิ.ย. 2022 เวลา 12:49 • การศึกษา
จังหวัดสตูล
โดย Nakvat Hakimov ,อดีตนักศึกษาภาควิชามลายูศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
จังหวัดสตูล (Wilayah Satul หรือ Wilayah Setul) เป็นจังหวัดของประเทศไทยที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศไทย อยู่ทางตอนล่างสุดของชายฝั่งอันดามันของประเทศไทย
1
คฤหาสน์กูเด็นซึ่งครั้งหนึงเคยเป็นศาลากลางของสตูล
- ประวัติศาสตร์ -
ประวัติศาสตร์ของจังหวัดสตูล ก่อนจะเป็นจังหวัดสตูล พื้นที่ดังกล่าวอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐสุลต่านเกอดะห์(Kesultanan Kedah)มาตั้งแต่ก่อนปี ค.ศ.1530 ที่ปรากฎอาณาเขตของเกอดะห์ครอบคลุมจังหวัดสตูลในปัจจุบันบนแผนที่ในเวลานั้น
ก่อนหน้านั้นเมืองแรกๆที่ปรากฎในอาณาเขตปัจจุบันของจังหวัดสตูลในปัจจุบัน คือ เมืองลากู(Lagu) ซึ่งปรากฎในแผนที่ตะวันตกราวปี ค.ศ. 1407 หรือ 350ปีก่อนจะมีเมืองสตูล ซึ่งเมืองลากูที่ว่าก็คืออำเภอละงูในปัจจุบัน อย่างไรก็ตามไม่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์หรือบันทึกใดสามารถระบุได้ว่า เมืองลากู หรือ ละงู นั้นมีจุดเริ่มต้นมาจากช่วงเวลาใด แต่จัดได้ว่า ลากู ถือเป็นเมืองแรกเริ่มประวัติศาสตร์ก่อนหน้าจะเป็นสตูล
สตูลปรากฎขึ้นในหน้าประวัติศาสตร์ในช่วงระหว่างศตวรรษที่18-19 โดยเป็นตำบลหนึงของรัฐเกอดะห์ที่รู้จักกันในชื่อ Mukim Setul
เซอตุลมัมบังเซอการา ตั้งอยู่ทางเหนือสุดของรัฐสุลต่านเกอดะห์
ก่อนที่ในปี ค.ศ.1808 จะยกสถานะเป็น เซอตุลมัมบังเซอการา(Kerajaan Setul Mambang Segara) ที่คนไทยรู้จักในฐานะ นครีสโตยมำบังสาครา(Negeri Setul Mambang Segara)
อันเป็นรัฐมลายูเล็กๆ ที่ก่อตั้งขึ้นช่วงการแบ่งแยกรัฐเกอดะห์(Partition of Kedah) โดยมี "ยัง มูเลีย" ตุนกู บิซนู อิบนี อัล-มาร์ฮุม ซุลตัน อับดุลละฮ์ อัล-มุการ์รัม ชะฮ์(YM Tunku Bisnu ibni al-Marhum Sultan 'Abdu'llah al-Mukarram Shah) หรือที่รู้จักกันในชื่อ พระยาอภัยนุราชฯ (ตนกูบิศนู) เป็นเจ้าผู้ครองสตูลคนแรก
เซอตุลมัมบังเซอการา มีเจ้าผู้ครอง 5คน โดย "ยัง มูเลีย" ตุนกู บาฮารุดดิน บิน กู เมะฮ์(YM Tunku Baharuddin bin Ku Meh) หรือที่รู้จักกันในชื่อ มหาอำมาตย์ตรี พระยาภูมินารถภักดี เป็นเจ้าผู้ครองสตูลคนสุดท้าย
ตามสนธิสัญญาแองโกล-สยามปี ค.ศ.1909 (Anglo-Siamese Treaty of 1909) เซอตุลมัมบังเซอการาได้ถูกประกาศแยกจากรัฐเกอดะห์อย่างเด็ดขาด และ ภายในปี ค.ศ.1916 เซอตุลมัมบังเซอการาก็ถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรสยาม โดยสตูลถูกรวมให้เป็นส่วนหนึ่งของมณฑลภูเก็ต(Monthon Phuket)
1
ในปี ค.ศ.1933 ภายหลังการปฏิวัติสยามปี ค.ศ.1932(Siamese revolution of 1932) การจัดการปกครองท้องถิ่นแบบมณฑลได้ถูกยกเลิกและสตูลได้รับการยกสถานะเป็นจังหวัดหนึงแห่งราชอาณาจักรสยาม/ราชอาณาจักรไทย มาจนถึงปัจจุบัน
1
- จังหวัดสตูลในปัจจุบัน -
จังหวัดสตูลในปัจจุบัน เป็นจังหวัดเล็กๆ ทางภาคใต้ของประเทศไทย มีพรมแดนทางเหนือติดกับจังหวัดตรัง ,ทางตะวันออกติดกับจังหวัดสงขลา และ ทางใต้ติดกับรัฐเปอร์ลิสของประเทศมาเลเซีย ขณะที่ทางตะวันตกของสตูลเป็นทะเลอันดามัน
1
จังหวัดสตูลในปัจจุบันเป็นหมุดหมายสำคัญสำหรับการท่องเที่ยวชายฝั่งและหมู่เกาะทางทะล บนทะเลอันดามัน ,อุตสาหกรรมท่องเที่ยวกลายเป็นอุตสาหกรรมหลักของจังหวัดสตูลไปโดยปริยาย มีนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศเข้ามาท่องเที่ยวในจังหวัดสตูล
1
- ประชากรศาสตร์ของจังหวัดสตูล -
จังหวัดสตูล มีประชากรในปี ค.ศ.2021 ราว 324,835คน โดยส่วนใหญ่พลเมืองในสตูลมีชาติพันธุ์เป็นชาวไทยเชื้อสายมลายู(Thai Malays)เป็นส่วนใหญ่ โดยคิดเป็นราว 70-80% ของประชากรในจังหวัดสตูล
1
ชาติพันธุ์รองลงมาคือ ชาวไทยสยาม(Thai siamese) คิดเป็นราว 20% ของประชากรในจังหวัดสตูล และท้ายสุดคือ ชาวไทยเชื้อสายจีน(Thai Chinese) ซึ่งถือเป็นชนกลุ่มน้อยในจังหวัดสตูลที่เป็นกลุ่มชนการค้าและมักอาศัยอยู่ในเขตตัวอำเภอเมืองสตูล นอกจากนี้ตามหมู่เกาะของจังหวัดสตูล ยังมีชาวอูรักลาโว้ย(Orang Laut)อาศัยอยู่ตามเกาะในจังหวัดสตูล เป็นชนกลุ่มน้อยบนทะเลของจังหวัดสตูล
1
อย่างไรก็ตามด้วยนโยบายการแผลงเป็นไทย(Thaification) ของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ทำให้ชาวไทยเชื้อสายมลายูในสตูล ได้ถูกผสมกลมกลืนเข้ากับวัฒนธรรมไทยและหลงลืมรากเหญ้าดั่งเดิมของตน ผลของนโยบายดังกล่าว ยังทำให้ภาษามลายูสตูล(Bahasa Melayu Setul) กำลังจะเป็นภาษาที่กำลังจะตาย จากสาเหตุที่คนรุ่นใหม่ไม่สามารถสื่อสารภาษามลายูท้องถิ่นของตนได้อีกต่อไป
1
สำหรับศาสนา ,ในปี 2017 ระบุว่า 76.77% ของชาวสตูล เป็นชาวมุสลิม ,รองลงมาคือ ชาวพุทธ 23.02% และ ศาสนาอื่นๆ 0.21%. โดยศาสนาอิสลามในจังหวัดสตูลมีพื้นฐานมาจากการที่ดั่งเดิมแล้ว คนสตูลเป็นชาวมลายู และเนื่องจากในช่วงหนึง ผู้นำโลกมลายูได้หันไปนับถือศาสนาอิสลาม ทำให้ชาวมลายูทั้งหลายโดยเฉพาะในคาบสมุทรมลายูหันไปนับถือศาสนาอิสลามตามผู้นำ ไม่ว่าจะเป็นเหล่ารายา หรือ เจ้าผู้ครองเมืองต่างๆ
แม้จะมีความแตกต่างทางศาสนาและชาติพันธ์ุหลักของประชากรส่วนใหญ่ในประเทศไทย แต่จังหวัดสตูลถือเป็นเพียงจังหวัดเดียวใน5จังหวัดชายแดนใต้ ที่มิได้มีความตึงเครียดทางชาติพันธุ์ ศาสนาและสถานการณ์รุนแรงเกิดขึ้นแต่อย่างใด
1
สาเหตุหลักมาจาก ชาวมลายูสตูล มีประวัติศาสตร์และชาติพันธุ์ย่อยที่แตกต่างจากชาวมลายูปาตานีในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งชาวมลายูปาตานีถือเป็นอีกชาติพันธุ์หนึง ส่วนชาวมลายูสตูลถือเป็นชาติพันธุ์ย่อยของชาวมลายูเกอดะห์ ความแตกต่างทั้งประวัติศาสตร์และชาติพันธุ์ ทำให้ชาวมลายูสตูลกับชาวมลายูปาตานี มิได้มีความเกี่ยวข้องกัน
1
- ชาวมลายูและภาษามลายูในสตูล -
ชาวมลายูสตูล(Melayu Setul) เป็นชาติพันธ์ุมลายูย่อยจากชาติพันธุ์ชาวมลายูเกอดะห์(Melayu Kedah) ,ชาวมลายูสตูลถือเป็นชาติพันธ์ุหลักของจังหวัดสตูล โดยส่วนใหญ่ของชาวมลายูสตูลนับถือศาสนาอิสลาม แต่มิได้หมายความว่า ชาวมลายูสตูลทุกคนจะนับถือศาสนาอิสลาม มีบางส่วนที่นับถือพระพุทธศาสนา
ในขณะเดียวกันชาวไทยสยามเองก็หันมานับถือศาสนาอิสลามได้ด้วยเช่นกัน ดังนั้นในสตูล ศาสนากับเชื้อชาติจึงไม่ใช่ประเด็นเดียวกันเหมือนในปาตานี
1
สำหรับภาษามลายูสตูล(Bahasa Melayu Setul) จัดเป็นสำเนียงย่อยของภาษามลายูเกอดะห์(Bahasa Melayu Kedah) อย่างไรก็ตามภาษามลายูสตูลถูกพิจาณาจากอดีตนักศึกษามลายูศึกษา นายนัควัต ง๊ะสมัน ว่าเป็นภาษาที่กำลังจะตาย เนื่องจากเยาวชนรุ่นใหม่ไม่สามารถที่จะสื่อสารภาษามลายูได้เลย
1
ในระยะเวลาเพียง100ปี ชาวสตูลได้หลงลืมภาษามลายูสตูลจากนโยบายการแผลงเป็นไทย(Thaification) ของจอมพล ป. พิบูลสงครามที่กล่าวไปข้างต้น ในปัจจุบันมีเพียงเขต ตำบลเจ๊ะบิลัง ตำบลตำมะลัง ตำบลตันหยงโป และตำบลบ้านควน ที่ยังมีประชากรที่สามารถสื่อสารด้วยภาษามลายู แต่ในหมู่เด็กรุ่นใหม่ความสามารถในการสื่อสารภาษามลายูลดลง และในอนาคตเด็กรุ่นต่อไป อาจไม่สามารถสื่อสารภาษามลายูได้อีกต่อไป
1
ภาษาที่เข้ามาถูกแทนที่ภาษามลายูสตูล ก็คือ ภาษาไทยถิ่นใต้ ที่ปรากฎกลายเป็นภาษาท้องถิ่นของชาวสตูลแทนภาษามลายูสตูล อย่างไรก็ตาม ภาษาไทยถิ่นใต้ของชาวสตูลเอง ก็มีการยืมศัพท์จากภาษามลายูมาหลายคำ ซึ่งสามารถเห็นได้ชัดจากภาษาไทยถิ่นใต้สำเนียงควนโดน
ปัจจุบันยังไม่มีหน่วยงานใดๆ ที่เข้ามาทำการอนุรักษ์ภาษามลายูสตูล ก่อนที่ภาษามลายูสตูลจะกลายเป็นภาษาที่ตาย ภายในกลางศตวรรษที่21 ที่คาดการณ์ว่า ภาษามลายูสตูลอาจจะหายไป หากปราศจากการอนุรักษ์อย่างจริงจัง
1
- หน่วยการปกครองของจังหวัดสตูล -
จังหวัดสตูลแบ่งเขตปกครองเป็น 7 อำเภอ 36 ตำบล 257 หมู่บ้าน โดยประกอบด้วยอำเภอดังต่อไปนี้
1.อำเภอเมืองสตูล
2.อำเภอควนโดน
3.อำเภอควนกาหลง
4.อำเภอท่าแพ
5.อำเภอละงู
6.อำเภอทุ่งหว้า
7.อำเภอมะนัง
ขณะที่การปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดสตูล มีเทศบาลเมืองเพียง1แห่ง คือ เทศบาลเมืองสตูล ซึ่งตั้งอยู่ในตำบลพิมาน ของอำเภอเมืองสตูล ขณะที่มีเทศบาลตำบลทั้งหมด 6 เทศบาล ได้แก่
1.เทศบาลตำบลกำแพง ตั้งอยู่ในอำเภอละงู
2.เทศบาลตำบลคลองขุด ตั้งอยู่ในอำเภอเมือง
3.เทศบาลตำบลควนโดน ตั้งอยู่ในอำเภอควนโดน
4.เทศบาลตำบลเจ๊ะบิลัง ตั้งอยู่ในอำเภอเมือง
5.เทศบาลตำบลฉลุง ตั้งอยู่ในอำเภอเมือง
6.เทศบาลตำบลทุ่งหว้า ตั้งอยู่ในอำเภอทุ่งหว้า
- เศรษฐกิจจังหวัดสตูล -
จังหวัดสตูล เป็นจังหวัดเล็กๆ การพึ่งพาทางเศรษฐกิจหลักของจังหวัดสตูลอยู่กับ ภาคเกษตรกรรม ภาคการประมง ภาคการท่องเที่ยว และ ภาคการบริการ เป็นแหล่งรายได้หลักของจังหวัดสตูล
ในภาคการเกษตรกรรม พืชเศรษฐกิจหลักของจังหวัดสตูล คือ ยางพารา และ ปาล์มน้ำมัน อย่างไรก็ตามก็มีการปลูกพืชชนิดอื่นๆ อย่าง ลองกอง เงาะ มังคุด เป็นต้น
ภาคการประมง เป็นอีกอุตสาหกรรมที่โดดเด่นในจังหวัดสตูล เนื่องจากมีชายฝั่งติดกับทะเลอันดามันยาวถึง 144.8 กิโลเมตร มีป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์ มีการออกเรือหาปลา มีการออกเก็บหอยตามพื้นชายฝั่งและป่าชายเลน
,สิ่งที่เห็นได้ชัดว่าการประมงเป็นอุตสาหกรรมคู่จังหวัดสตูลมาอย่างยาวนานคือชุมชนชาวประมงที่ปรากฎตั้งแต่อำเภอทุ่งหว้าจนถึงอำเภอเมืองใกล้ชายแดนมาเลเซีย และหมู่บ้านตามเกาะต่างๆ ได้สะท้อนภาพของชุมชนชาวประมงในจังหวัดสตูล ,อาหารทะเลของสตูลได้กลายเป็นสินค้าส่งออกหลักของจังหวัดสตูล
สำหรับภาคการท่องเที่ยว ด้วยความที่จังหวัดสตูลมีเกาะมากมาย ทำให้จังหวัดสตูลเป็นหมุดหมายสำคัญสำหรับการท่องเที่ยวของชาวต่างชาติและรวมถึงชาวไทยด้วยกัน เกาะหลีเป๊ะ ได้กลายเป็นเกาะท่องเที่ยวหลักของสตูล มีรีสอร์ทเกิดขึ้นมากมายบนเกาะ ทั้งยังสามารถเดินทางเชื่อมต่อทางเรือกับหมู่เกาะในจังหวัดตรัง จังหวัดกระบี่และจังหวัดภูเก็ตได้
นอกจากการท่องเที่ยวทางทะเล บนแผ่นดินเอง สตูลยังมีน้ำตก มีถ้ำมากมายสำหรับการท่องเที่ยวของคนทั้งภายในและภายนอกพื้นที่ การท่องเที่ยวสร้างรายได้เฉลี่ยต่อปีให้จังหวัดสตูล ประมาณ 2.5ล้านบาท
และสุดท้ายคือ ภาคบริการ ประกอบไปด้วยการขนส่ง ธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร ภาคการก่อสร้าง และ ห้างร้าน ก็เป็นหนึ่งในภาคบริการสำคัญของจังหวัดสตูล ที่เป็นแหล่งรายได้และแหล่งอาชีพของชาวสตูลส่วนหนึ่ง โดยจังหวัดสตูลมีร้านอาหารทะเลขึ้นชื่อหลายแห่ง มีโรงแรมและรีสอร์ทหลายแห่ง เช่นเดียวกับการมีห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่สามแห่งคือโลตัส สาขาสตูล,บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ สาขาสตูล และ สยามแม็คโคร สาขาสตูล
- การศึกษาในจังหวัดสตูล -
ด้านการศึกษาของจังหวัดสตูล จังหวัดสตูลประกอบด้วยโรงเรียนประเภทต่างๆดังต่อไปนี้
1.โรงเรียนประถม สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสตูล จำนวน 159โรง
2.โรงเรียนมัธยม สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาสงขลา สตูล จำนวน 12โรง
3.โรงเรียนในส่วนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
- เป็นโรงเรียนของเทศบาลเมืองสตูล 5 โรง
- เป็นโรงเรียนขององค์การบริหารส่วนจังหวัดสตูล 1 โรง
- เป็นโรงเรียนของเทศบาลตำบลคลองขุด 1 โรง
- เป็นโรงเรียนขององค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งบุหลัง 1โรง
4.โรงเรียนเอกชน ในจังหวัดสตูลมีโรงเรียนเอกชนในระบบ 40 โรง และโรงเรียนนอกระบบ 239 โรง ,โดยโรงเรียนเอกชนในจังหวัดสตูลแบ่งประเภทออกเป็นสองประเภท คือ
- โรงเรียนเอกชนประเภทสอนสามัญ
- โรงเรียนเอกชนประเภทสอนศาสนาควบคู่สามัญ
นอกจากนี้จังหวัดสตูลมีวิทยาลัยภายในจังหวัด ทั้งหมด 5แห่งคือ
- วิทยาลัยเทคนิคสตูล
- วิทยาลัยชุมชนสตูล
- วิทยาลัยการอาชีพละงู
- วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสตูล
- วิทยาลัย Tecnology Andaman Anatolian College Satun
ขณะที่จังหวัดสตูลยังไม่มีมหาวิทยาลัย แต่มีวิทยาเขตของมหาวิทยาลัยต่างจังหวัด คือ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา วิทยาเขตสตูล
ประชากรเยาวชนเกือบทั้งหมดของสตูลสามารถเข้าถึงการศึกษาขั้นพื้นฐานได้
- การสาธารณสุขในจังหวัดสตูล -
จังหวัดสตูล ประกอบด้วยโรงพยาบาล 7 โรงพยาบาล โดยเป็นโรงพยาบาลหลัก คือ โรงพยาบาลสตูล และ เป็นโรงพยาบาลอำเภอ 6 โรง ได้แก่ โรงพยาบาลละงู โรงพยาบาลควนโดน โรงพยาบาลท่าแพ โรงพยาบาลทุ่งหว้า โรงพยาบาลควนกาหลง และ โรงพยาบาลมะนัง
1
สตูลมีโรงพยาบาลหลักเพียงแห่งเดียว ยังไม่มีโรงพยาบาลทางเลือก อย่างโรงพยาบาลเอกชน อย่างไรก็ตามจังหวัดสตูลก็มี คลินิกและร้านเภสัช กระจายอยู่ทุกอำเภอ
1
- ภูมิประเทศและภูมิอากาศของจังหวัดสตูล -
จังหวัดสตูลเป็นจังหวัดที่ล้อมรอบด้วยภูเขาทั้งจากทิศเหนือ ทิศตะวันออกและทิศใต้ ซึ่งในทางทิศเหนือและทิศตะวันออกเฉียงเหนือเป็นเทือกเขาบรรทัดและทางทิศใต้รวมถึงทิศตะวันออกเฉียงใต้เป็นเทือกเขาสันกาลาคีรี
พื้นที่ของจังหวัดสตูลเป็นพื้นที่ลาดเอียงลงสู่ทะเลด้านทิศตะวันตกและทิศใต้ ขณะที่มีที่ราบแคบ ๆ ขนานไปกับชายฝั่งทะเล ถัดจากที่ราบลงไปเป็นพื้นที่ป่าชายเลนน้ำเค็มขึ้นถึง อุดมไปด้วยป่าแสมและป่าโกงกาง
จังหวัดสตูลไม่มีแม่น้ำไหลผ่าน คงมีแต่ลำน้ำสั้น ๆ ต้นน้ำเกิดจากภูเขาทางทิศเหนือและทิศตะวันออกของจังหวัด
สำหรับภูมิอากาศของจังหวัดสตูล พื้นที่จังหวัดสตูลได้รับอิทธิพลจากมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดผ่านอ่าวไทย และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้จากมหาสมุทรอินเดีย ลักษณะภูมิอากาศเป็นแบบร้อนชื้น มี 2 ฤดู คือ
1.ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม อุณหภูมิอยู่ระหว่าง 21.6-39.5 องศาเซลเซียส
2.ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงเดือนกุมภาพันธ์ อุณหภูมิอยู่ระหว่าง 21.9-38.8 องศาเซลเซียส
และแม้ว่าจังหวัดสตูลไม่ได้มีนิคมอุตสาหกรรม ทว่าอากาศของจังหวัดสตูลในช่วงหลังกลับปนเปื้อนฝุ่นและสารพิษบนอากาศ ที่ลอยมาจากนิคมอุตสาหกรรมในเขตจังหวัดสงขลาและประเทศมาเลเซีย รวมถึงฝุ่นควันจากไฟป่าในอินโดเนเซีย ทำให้คุณภาพอากาศของจังหวัดสตูลลดลงพอสมควรเมื่อเทียบกับช่วงทศวรรษที่แล้ว และมีแนวโน้มที่จะลดลงต่อไป เนื่องจากยังมีการขยายตัวของนิคมอุตสาหกรรมในจังหวัดสงขลาต่อไป
- บทสรุป -
จังหวัดสตูล ถือเป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีมนต์เสนห์ เมื่อหลายคนพูดถึงก็อาจถึงชายฝั่งทะเล หมู่เกาะต่างๆ ที่ผู้คนต่างมาท่องเที่ยว แต่ข้างในจังหวัดสตูลยังมีอีกหลายสิ่งที่ผู้คนไม่รู้
1
ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์ที่มาของชุมชนในจังหวัดสตูลที่มีมาก่อนการมีอยู่สตูลของเมืองลากู หรือ อำเภอละงูในปัจจุบันที่ยังเป็นที่ถกเถียงและหาที่มาว่าเมืองเริ่มต้นช่วงไหนในประวัติศาสตร์ไมได้
นอกจากนี้สังคมสตูลยังเป็นสังคมมุสลิมที่อยู่อาศัยอย่างสงบกับชุมชนศาสนาอื่น และ ยังเป็นจังหวัดที่มีชาติพันธุ์มลายูเป็นชาติพันธุ์หลัก มนต์เสนห์ทำให้จังหวัดสตูล เป็นจังหวัดหนึงที่น่าสนในแง่ของการศึกษาพื้นเพความเป็นมา และ อัตลักษณ์ของจังหวัดสตูลที่แตกต่างจากจังหวัดทั้งหมดในภาคใต้ตอนล่าง
ทำให้เราอาจพูดได้เต็มปากว่าจังหวัดสตูลนั้นไม่เหมือนใคร และ นั้นคือความน่าสนใจที่ทำให้ครั้งหนึงผู้เขียน เคยยกจังหวัดสตูลเป็นเนื้อหาในการศึกษาของภาควิชามลายูศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
เรียบเรียง - Nakvat Hakimov ,อดีตนักศึกษาภาควิชามลายูศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ที่มา
-
https://ms.wikipedia.org/wiki/Wilayah_Satun
-
https://en.wikipedia.org/wiki/Satun_province
-
https://ms.wikipedia.org/wiki/Kerajaan_Setul_Mambang_Segara
-
https://en.wikipedia.org/.../Kingdom_of_Setul_Mambang_Segara
-
https://en.wikipedia.org/wiki/Anglo-Siamese_Treaty_of_1909
-
https://en.wikipedia.org/wiki/History_of_Kedah
-
https://en.wikipedia.org/wiki/Kedah_Sultanate
-
https://th.wikipedia.org/.../%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%87
...
-
https://th.wikipedia.org/.../%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A2
...
-
http://www.nfcsatun.org/about-nfc/database-farmland.html
ประวัติศาสตร์
2 บันทึก
3
1
2
3
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย