18 มิ.ย. 2022 เวลา 09:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ข่าวเงินเฟ้อมาแรงมากๆช่วงนี้ ไม่พูดถึงคงไม่ได้ นอกจากจะเกี่ยวกับนักลงทุนอย่างเราๆแล้ว คนไม่ลงทุนก็ได้รับผลกระทบด้วยนา.. มาค่ะ อิชั้นจะเล่าให้ฟัง 🧐
💡 หากคุณเป็นนักลงทุน น่าจะเคยได้ยินว่าคนที่เริ่มอยากลงทุน ก็เพราะคิดว่าการฝากเงินในบัญชีธนาคารนั้นทำให้เงินที่เรามีอยู่นั้นเติบโตไม่ทันเงินเฟ้อ.. หรือแปลว่า ฝากเงินในธนาคารให้ดอกเบี้ยน้อยยยซะจนสู้ค่าครองชีพที่ขึ้นเอาๆแต่ละปีไม่ได้ เอาเงินไปลงทุนด้านอื่นๆที่ให้ผลตอบแทนที่มากกว่าจะรู้สึกคุ้มค่ากว่า
💡 แต่หากคุณเป็นคนทั่วไปที่ยังไม่ได้เริ่มลงทุน หรือแม้แต่ยังไม่เคยสนใจ ในปีนี้เรื่องเงินเฟ้อจะกลายเป็นเรื่องใกล้ตัว และได้รับผลกระทบโดยตรงชัดเจนขึ้นจากการใช้ชีวิตประจำวัน
เริ่มจาก.. เงินเฟ้อคืออะไร 🤔
เงินเฟ้อคือภาวะที่ราคาสินค้า และบริการเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จะเห็นได้จากตอนนี้ค่าน้ำมัน ค่าอาหาร วัตถุดิบต่างๆเพิ่มสูงขึ้น ในปริมาณที่เท่าเดิม
ถ้าจะเปรียบเทียบให้เห็นภาพก็คือเรามีเงินเท่าเดิม แต่ซื้อสินค้าได้น้อยลง เช่นจากที่ทานก๋วยเตี๋ยวได้อิ่มที่ราคา 50 บาท แต่ตอนนี้ปริมาณอาจจะลดลง ด้วยราคาที่ต้องจ่าย 50 บาทเท่าเดิม
แล้วเงินเฟ้อเกิดจากอะไร..
รอบนี้สัญญาณชัดเจนมากว่ามาจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งดำเนินมาซักระยะแล้ว และยังไม่มีทีท่าว่าจะจบง่ายๆ และยังไม่รู้ว่าจะจบแบบไหน ทำให้ราคาน้ำมันขึ้นนำมาก่อนเป็นอันดับแรก และเมื่อน้ำมันขึ้น ก็ทำให้ราคาสินค้าอื่นๆขึ้นตามเช่นกัน เพราะส่วนนึงของการขายสินค้าแทบทุกชนิดคือการขนส่งนั่นเอง
อธิบายให้เห็นภาพมากขึ้นก็คือ ยกตย.ราคาน้ำมันที่ลิตรละ 29 บาท แต่เมื่อขึ้นเป็นลิตรละ 34 บาท หากการขนส่งสินค้าแต่ละวันใช้น้ำมัน 50 ลิตร แปลว่าแพงขึ้น 5 บาทต่อลิตร
(5 บาท x 50 ลิตร = 250 บาทต่อการขนส่ง 1 เที่ยว)
และหากขนส่งวันละ 20 เที่ยว ก็เท่ากับว่าค่าขนส่งเพิ่มขึ้น 250 บาท × 20 เที่ยว = 5,000 บาทต่อวัน !!
ซึ่งนั่นก็คือส่วนนึงของต้นทุนราคาสินค้า ทำให้เจ้าของสินค้าต้องขอขึ้นราคาสินค้า หรือไม่ก็ลดปริมาณสินค้า ทางใดทางหนึ่งนั่นเอง
ผลกระทบนี้ต่อเนื่องมาเป็นลูกโซ่ และกระทบถึงตัวเราแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายด้านการเดินทาง ค่าอาหาร เนื้อสัตว์ ผัก หรือแม้กระทั่งบะหมี่สำเร็จรูป เรียกว่าทุกอย่างเลยทีเดียว แต่เงินเดือนหรือรายรับไม่ขึ้นตามนี่สิ 😅
ล่าสุดรายงานตัวเลขอัตราเงินเฟ้อของประเทศไทยในเดือนพค.ที่ผ่านมา แจ้งว่าอัตราเงินเฟ้อเติบโตที่ 7.1% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 64 ซึ่งถือเป็นอัตราการขยายตัวของอัตราเงินเฟ้อในประเทศไทยที่สูงที่สุดในรอบ 13 ปี
ซึ่งจะทำให้เกิดการนำนโยบายทางการเงินมาใช้ก็คือใช้กลไก ‘การขึ้นดอกเบี้ย’ เพื่อเข้ามาช่วยชะลอภาวะเงินเฟ้อ
แต่ข้อควรระวังของการใช้กลไก ‘ขึ้นดอกเบี้ย’ ก็คือ มันเป็นการชะลอการเติบโตของเศรษฐกิจ ซึ่งถ้าหากใช้ในประเทศที่อยู่ในภาวะเศรษฐกิจกำลังเติบโตดี ก็จะมีผลเพียงแค่ชะลอการเติบโตนิดหน่อย
แต่ถ้าใช้ในประเทศที่เศรษฐกิจเพิ่งจะเริ่มฟื้นตัวจะกลายเป็นว่าทำให้เศรษฐกิจถดถอยแทนนั่นเอง
โดยสรุปแล้ว
เงินเฟ้อ --> ราคาสินค้าแพงขึ้น --> ขึ้นดอกเบี้ย --> คนเป็นหนี้ต่องจ่ายดอกเบี้ยสูงขึ้น --> หนี้เสียมากขึ้น
⚠️ ผลกระทบต่อประชาชน : ราคาสินค้า ค่าครองชีพแพงขึ้น ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ถ้าไม่หารายได้เพิ่ม ก็ควรต้องใช้จ่ายอย่างประหยัด อย่าสร้างหนี้
⚠️ ผลกระทบต่อคนทำธุรกิจ : ดอกเบี้ยสินเชื่อสูงขึ้น และทำให้อาจเป็นหนี้มากขึ้น ถ้าไม่มีจ่ายก็อาจจะต้องปิดหรือเลิกกิจการ
ซึ่งจริงๆสภาวะแบบนี้ก็จะเกิดขึ้นเป็นปกติของวงจรเศรษฐกิจอยู่แล้ว หากเราเข้าใจและเตรียมพร้อมอยู่เสมอ ก็จะใช้ชีวิตได้อย่างสบายใจ เอาตัวรอดได้อย่างสบายๆ
อ่านจนจบแล้วมีใครโดนผลกระทบจากเงินเฟ้อด้านไหน.. ยังไงบ้าง.. เล่าสู่กันฟังในคอมเม้นนี้ได้นะคะ
หากใครยังไม่รู้.. ต้องรู้แล้วนะคะ จะถือเป็นความรู้รอบตัวก็ได้ ดีกว่ารู้แค่เรื่องจะกินอะไร ไปเที่ยวไหน ใครชวนคุยแล้วตอบได้จะดูเท่ขึ้นมาเยอะเลยค่ะ 😆
เงินเฟ้อคืออะไร
โฆษณา