18 มิ.ย. 2022 เวลา 08:20 • ท่องเที่ยว
ปลายฝนต้นร้อน
อะจิไซ ดอกไม้เปลี่ยนฤดูกาล
ปลายเดือนพฤษภาคม 14 ปีที่แล้ว
เราลงจากสถานีคิตะ-คามากุระ (Kita-Kamakura) ด้วยความมั่นใจ แล้วออกเดินไปยังวัดเมเงทสึอิน (Meigetsuin Temple) ซึ่งใช้เวลาสิบนาทีแบบไม่รีบร้อน ด้านหน้าของวัดขนาดย่อมแห่งนี้มีพวงพุ่มดอกอาจิไซหนาแน่น แม้ทั้งหมดที่เห็นจะยังมีแต่กิ่งใบ ไร้ดอกกลมๆ หลากสี หากก็ยังหวังใจว่าด้านในน่าจะสะพรั่งมิใช่น้อย
อะจิไซในวัดเมเงทสึอิน สถานีคิตะ คามากุระ ปลายเดือนมิถุนายน
เงิน 300 เยนค่าเข้าวางลงตรงเคาน์เตอร์ แลกกับบัตรเล็กๆ เตือนใจว่าครั้งหนึ่งเราเคยเหยียบย่างเข้ามาที่นี่ เพื่อจะผิดหวังกับความชอุ่มด้านใน ไร้สีฟ้าสีม่วงของอะจิไซที่ปรารถนาจะได้เห็นมาแรมปี สวนหินแบบญี่ปุ่นเล็กๆ จัดวางอย่างลึกซึ้งเมื่อเดินลัดเลาะสะพานและแนวอะจิไซไร้ใบเข้าไป ช่วยทุเลาความหม่นหมองลงไม่น้อย ผนวกความตั้งใจแรงกล้าครั้งใหม่ว่าหนหน้าต้องมาให้ล่ากว่านี้ อะจิไซสะพรั่งสวนจะได้เต็มสองตาเสียที
ปลายเดือนมิถุนายน 12 ปีที่แล้ว
อากาศแปรปรวน ฝนตกปรอยๆ ผู้คนดูร้อนรน เดินๆแล้วก็เหนียวตัว นี่คงเป็นคำนิยามของโตเกียวในช่วงปลายเดือนมิถุนายน ช่วงเวลาที่ท้องฟ้าอึมครึม ครอบโตเกียวไว้ด้วยความมัวซัว เครื่องปรับอากาศในขบวนรถไฟเย็นกว่าอุณหภูมิปกตินิดเดียวเพราะเขาไม่อยากให้คนในบ้านเมืองไม่สบายด้วยภาวะอากาศเปลี่ยนแปลงฉับพลัน
เรา..กับการมาอยู่โตเกียวคนเดียวในช่วงเวลาสั้นๆ เดินด้วยความเหน็ดเหนื่อย ง่วงนอน อบอ้าว คงเพราะอากาศทำให้ทุกอย่างดูไม่สบายเนื้อสบายตัว กินอาหารก็ไม่ค่อยหมด แต่ดื่มน้ำหมดเป็นขวดๆ แล้วก็เข้าห้องน้ำทุกครึ่งชั่วโมง หากนั่นไม่ใช่ปัญหาของการมาญี่ปุ่น ที่นี่มีห้องน้ำแทบจะทุกระยะห้าสิบเมตร แถมสะอาดสะอ้านไว้ใจได้เกือบทุกแห่งเสียด้วย
อยู่โตเกียววันที่สาม ผู้คนเบียดเสียดเยอะแยะจนต้องขอหนีไปสูดอากาศนอกเมืองสักครู่ ไม่งั้นอาจจะโดนโตเกียวบีบอัดความรู้สึกจนระเบิดรุนแรง ตัดสินใจไปดูดอกอะจิไซที่คามากุระ นั่งรถไฟสายเอโนะเด็นไปดูสองข้างทางที่รายล้อมด้วยสีฟ้า สีม่วง ของกลุ่มดอกไม้ที่รวมตัวกันเป็นช่อเบ้ง
ทีแรกก็เหมือนว่าจะราบรื่นดี แต่พอลงสถานีฟุจิซาวะซึ่งเชื่อมสถานีของเอโนะเด็นเอาไว้ก็ต้องตกใจกับขบวนแถวที่รอซื้อบัตรเอโนะคุง ตั๋วรถไฟวันเดียวขึ้นได้ทุกเที่ยว เท่านั้นยังไม่พอ เดินไปเข้าแถวคนที่รอขึ้นรถยิ่งน่าตกใจกว่า เยอะอะไรกันขนาดนั้น
ใครๆ ก็อยากมาชื่นชมอะจิไซหลากสีที่คามากุระ เพราะเดินทางง่าย บริเวณไม่กว้าง แต่อิ่มอารมณ์
อุตส่าห์มาแล้วก็ต้องไปให้ตลอด ยืนห้อยโหนมาเกือบครึ่งชั่วโมง เห็นสองข้างทางปลูกอะจิไซกันสวยงามพรึ่บพรั่บ ใจก็กระหยิ่มว่าเดี๋ยวคงได้ไปอ้อล้อแนบแก้มให้หน้าเราดูเรียวเล็กซักหน่อย ที่ไหนได้ พอลงสถานีฮาเสะ เดินไปวัดฮาเสะเดระ (Hasedera Temple) ที่ใครๆก็ต้องมาชื่นชม เห็นคิวยาวเหยียด นึกว่าคิวอะไร อ๋อ มันคือคิวเข้าแถวซื้อตั๋วเข้าวัด!!??
มาฮาเสะเดระหลายครั้งในชีวิตยังไม่เคยเจออะไรแบบนี้ ก็ยังไม่รู้สึกว่าเป็นไร เข้าคิวไปซื้อตั๋วก็ได้ จ่าย 300 เยนแล้วก็เดินเข้าไป ตอนรับบัตรพิมพ์เลข 19 ก็ยังไม่กระไร แถมดีใจซะอีกที่ได้เห็นดอกไอริสงดงามอยู่กลางน้ำ อย่างนี้ไม่ต้องไปไกลถึงโอคุทามะก็ได้นี่นา ชื่นชมดอกไอริสหลายสี หลายดงแล้วก็ค่อยๆเดินไปหาอะจิไซอย่างมีความสุข
ยิ่งขึ้นไปคนก็ยิ่งเยอะ เห็นบนเขาสะพรั่งไปด้วยอะจิไซหลากสีก็หมายมั่นปั้นมือว่าฉันจะไปยืนทำหน้าสวยอยู่ตรงไหนดีถึงจะเกิด ที่ไหนได้ ไปยืนตรงทางเข้า เห็นป้ายบอกไว้ว่า คนที่มีบัตรคิวหมายเลข 15 ให้รออีก 15 นาที เบอร์ต่อไปก็นับไปอีกเท่าตัว พอค่อยๆ กระเถิบไปเห็นหมายเลข 19 ของตัวเองก็ต้องตะลึง เพราะเขียนไว้ชัดเจนว่ารออีกสองชั่วโมงนะจ๊ะ!
มองไปรอบๆ เห็นผู้คนอุ่นหนาฝาคั่งนั่งรอ ยืนรอ กันอย่างอดทน บ้างก็ไปเกาะรั้วมองทะเลโชนันท่ามกลางฟ้ามัวซัวอย่างไม่อินังขังขอบกับความยาวนาน ความอดทนรอคอยของคนญี่ปุ่นนั้นช่างน่าชื่นชม แต่เรารอไม่ไหวแล้ว เพราะมีสิ่งอื่นที่ต้องไปทำในโตเกียว เราแค่แวะมาสูดอากาศ ได้เห็นอะจิไซไกลๆ ก็ไม่เป็นไร งั้นถ่ายอะจิไซในกระถางข้างหน้านี่ให้หนำใจก็แล้วกัน ต่างกันแค่จำนวน ความสวยคงไม่ต่างกันหรอกใช่ไหม (ปลอบตัวเองสุดๆ)
ถึงในใจจะพยายามสงบนิ่ง แต่ก็อุตส่าห์หมายมาดว่าสักวันหนึ่ง ฉันต้องมายืนอยู่ท่ามกลางอะจิไซบานสะพรั่งรายล้อมให้ดูเหมือนนวลนางกลางทุ่งดอกไม้สีม่วงฟ้าให้จงได้
ดอกไม้ในหน้าเกาลัด
ญี่ปุ่นไม่มีฤดูฝน หากช่วงเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคมมักจะมีฝนตกอยู่เนืองๆ คนญี่ปุ่นเรียกภูมิอากาศเช่นนี้ว่า “ทซึยุ (tsuyu) มีความหมายว่า “ฝนที่ตกลงมาในหน้าเกาลัด”
ดอกไม้ในหน้าเกาลัด รูปทรงบางดอกละม้ายหัวใจ อ่อนหวานพริ้มเพรามิใช่น้อย
ในช่วงเวลาครึ้มฟ้าครึ้มฝนขะมุกขะมัวนี้เอง ดอกอะจิไซสีม่วงอมฟ้า บางทีก็อมน้ำเงิน กลายเป็นสัญลักษณ์ตัวแทนของทซึยุ ให้ความรู้สึกงดงามราวอยู่ท่ามกลางความฝัน เพราะยามที่พวงพุ่มสะพรั่งเต็มต้น สวยมหัศจรรย์เสมือนภาพวาด ชุบชูความสลัวรางให้ชัดเจนแจ่มใสกระจ่างตา
อะจิไซ มีถิ่นกำเนิดในประเทศญี่ปุ่น จากนั้นเผยแพร่ไปยังประเทศจีน และส่งต่อจากจีนไปยังยุโรปตามลำดับราวปี พ.ศ. 2332 ได้รับการพัฒนาสายพันธุ์และเปลี่ยนชื่อเป็น “ไฮเดรนเยีย” จากนั้นก็ส่งกลับมาทวีปเอเชียอีกครั้ง
ในเดือนมิถุนายนซึ่งฝนตกมากที่สุดในรอบปี ดอกอะจิไซจะเบ่งบานหลากหลายสีสัน ทั้งน้ำเงิน ฟ้า ชมพู ม่วง เส้นผ่าศูนย์กลางดอกไม้ราว 15 เซ็นติเมตร และเมื่ออะจิไซร่วงหล่น ญี่ปุ่นก็ถึงเวลาต้อนรับฤดูร้อนอย่างเต็มตัว นับเป็นดอกไม้ที่กำเนิดมาเพื่อเปลี่ยนฤดูกาลนั่นเอง
ในความหมายของดอกไม้ อะจิไซทุกสีเป็น “ดอกไม้แห่งหัวใจด้านชา” ว่ากันว่าไม่ควรมอบดอกไม้ชนิดนี้ให้แก่ผู้ใด นอกจากอยากจะตัดพ้อผู้รับว่า เขาหรือเธอ ช่างเป็นคนใจด้านชาเสียเหลือเกิน แต่ในอีกความหมายหนึ่ง ก็ว่า อะจิไซ หรือ ไฮเดรนเยีย หมายถึง “คำขอบคุณ” …Thank you for understanding...ขอบคุณที่เข้าใจกัน
มีข้อสงสัยว่าเหตุใดอะจิไซจึงมีหลายสี เหตุผลก็คือ อะจิไซค่อนข้างอ่อนไหวต่อความเป็นกรดด่างของดิน และสามารถสะสมธาตุอะลูมินัมจากดินที่เป็นกรดได้ ทำให้สีต่างกันตามพื้นที่ปลูก หากดินเป็นด่างอ่อนๆ อะจิไซจะเป็นสีม่วง ม่วงแดง หรือชมพู หากดินเป็นกรดอ่อนๆ จะเป็นสีฟ้า สีคราม สีน้ำเงิน หากดินเป็นกลาง จะเป็นสีขาว
กลางเดือนมิถุนายน 10 ปีมาแล้ว
ท้องฟ้าในคามากุระที่เคยขะมุกขะมัวมาหลายวัน พลันเหลือบสีทองระเรื่อของดวงอาทิตย์ที่ผลุบโผล่เป็นระยะหลังม่านเมฆ ทะเลโชนันกรีดเสียงราวยินดีเมื่อเราเดินย่ำทรายสีน้ำตาลขุ่น พลางล่าถอยเมื่อฟองฟอดสีขาวของยอดคลื่นถาโถมเข้ามาแตกกระจาย ณ ปลายเท้า
อากาศแบบนี้ชวนให้คิดถึงดอกอะจิไซที่วัดเมเงทสึอิน (Meigetsuin Temple) ป่านนี้จะบานสะพรั่งหรือยังหนอ
ความงามของฤดูฝน ที่เมเงทสึอิน มาเวลาทีใช่ ก็จะเจอดอกไม้ที่ใช่
เท้าไวเท่าความคิด แม้เหลือเวลาอีกแค่ชั่วโมงเดียวจะห้าโมงเย็น เรากระโดดขึ้นรถไฟจากสถานีคามากุระ กลับไปหนึ่งป้าย ลงสถานีคิตะคามากุระ เดินเอื่อยเฉื่อยราว 10 นาที ก็มาถึงบริเวณทางเข้าวัดเล็กๆ แต่ฝังใจไม่ลืมเรื่องอะจิไซยังไม่บานหลายปีก่อนของเรา
แต่วันนี้ชะรอยจะไม่เหมือนวันนั้น เพราะระหว่างทางเดินเต็มไปด้วยผู้คน สองฟากฝั่งทั้งบ้านคนและกำแพงหินถูกสีฟ้า ม่วง น้ำเงิน ของอะจิไซยึดพื้นที่ไปเกือบหมด พลิกภาพจำที่เคยตอกตรึงด้วยความผิดหวังไปในพริบตา
อะจิไซยามเติบโตสะพรั่งเต็มวัยนั้นงดงามบาดตา เราพยายามหักใจจากอะจิไซเต็มกำแพงด้านนอกเข้าไปชื่นชมความแอร่มด้านใน จ่ายเงิน 300 เยนพร้อมกับปล่อยให้คำเตือนว่า อีก 15 นาทีจะปิดวัดแล้วลอยผ่านแก้วหูอย่างไม่ไยดี เพราะมัวแต่ตะลึงกับอะจิไซนับพันที่ตระการตาทุกหย่อมหญ้า ทุกกอ ทุกพุ่ม จัดวางเหมาะเจาะตามราวสะพาน เบิกบานแจ่มจ้าไปตามทางเดินขึ้นบันได เสมือนกำลังก้าวเข้าสู่สรวงสวรรค์อะจิไซ ยังไงยังงั้น
เต็มไปด้วยอะจิไซในฝัน ที่เฝ้ารอคอยมาหลายฝน
ตามปกติวัดเมเงทสึอินก็สวยสงบอยู่แล้ว แต่การที่อะจิไซเบ่งบานทุกสีอวดประชันเต็มบริเวณ ยิ่งส่งผลให้เข้าใจกระจ่างแจ้งว่าเหตุใดวัดนี้จึงได้ชื่อว่า Ajisai-dera หรือวัดแห่งอะจิไซ จริงอยู่ว่าอะจิไซก็มีปลูกหลายแห่ง แต่การได้เข้าถึงอย่างใกล้ชิด แนบแก้มกับขนาดของดอกไม้ซึ่งใหญ่โตพอๆกับหน้าเรา แทบไม่มีคิวให้ต้องรีบเร่ง (คงเพราะมาเย็นย่ำแล้ว) ก็แสนจะสุขใจนักหนากว่ามิใช่หรือ
เราคงอิ่มใจจนไม่ใส่ใจเสียงเตือนของเจ้าหน้าที่วัดคนที่หนึ่งว่าถึงเวลาปิดแล้ว ยังคงชื่นชมแต่ละดอก แต่ละพุ่ม (ทั้งที่แทบไม่ต่างกัน) แต่ละแถว แต่ละแนวอย่างรื่นรมย์ เจ้าหน้าที่คนที่สองเข้ามาเตือนก็แล้ว ก็ยังนึกว่าไม่เป็นไร พอเจ้าหน้าที่คนที่สามส่งเสียงดัง (แต่สุภาพมาก) อีกคนเท่านั้นแหละ ก็รำลึกได้ว่าถึงเวลาต้องไปจริงๆเสียแล้วนี่นา
มองไปทางไหนก็มีแต่อะจิไซ ฤดูฝนปีนี้ชื่นบานเหลือเกิน
ถึงจะไม่เคยโดนเจ้าหน้าที่วัดปิดประตูใส่หน้ามาก่อน ความละอายใจนั้นก็อยู่เพียงชั่ววูบ เพราะอะจิไซเต็มกำแพงด้านนอกยังรอให้เคล้าเคลียอีกเยอะ ว่าแล้วเราก็ดับความรู้สึกผิดนั้นไปง่ายๆ แล้วหันไปพินิจพิจารณาอะจิไซที่ไม่ต้องมีกฎกติกามากำหนดอย่างละเลียดชม ราวไม่กังวลถึงความมืดดำของสนธยาเอาเสียเลย
ก็กว่าจะได้เจออะจิไซในฝันแบบนี้ กินเวลายาวนานมาตั้งเท่าไหร่ล่ะเนอะ
ด้านนอกก็มีแต่อะจิไซสะพรั่ง รอให้ก้าวออกไปละเลียดชม
Ajisai Guide
ช่วงเวลาที่อะจิไซสะพรั่งงดงามในวัดเมเงทสึอิน และวัดฮาเสะ แห่งคามากุระ คือกลางเดือนมิถุนายนถึงต้นกรกฎาคม อย่างไรก็ดี ควรหลีกเลี่ยงวันเสาร์อาทิตย์ เนื่องจากมหาชนล้นหลามจนอาจถอดใจไม่ดู ควรจะไปให้ถึงเช้าที่สุด (ประมาณแปดโมงครึ่งช่วงวัดเปิด) หรือใกล้ปิด คือราวสี่โมงเย็น ฝูงชนจะเบาบางไปเยอะ
โฆษณา