Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
All about News
•
ติดตาม
18 มิ.ย. 2022 เวลา 08:54 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์
รูดม่านปิดฉากเตรียมทุบ "วิกตรังรามา" ความทรงจำสุดท้ายโรงหนังสแตนด์อะโลน
รายงานพิเศษ เรื่องโดย.. นายวิกหนัง ภาพโดย.. ปกรณ์กานต์ ทยานศิลป์ และพยุงศักดิ์ ช่องลมกรด
อ่านในรูปแบบเว็บไซต์ได้ที่
https://www.allaboutnewsth.com/2022/06/Trang-Rama.html
กลายเป็นเรื่องทอล์คออฟเดอะทาวน์ในจังหวัดตรัง เมื่อมีกระแสข่าวออกมาว่า ในอีกไม่ช้าจะมีการทุบรื้ออาคาร "โรงหนังตรังรามา" หรือที่ชาวตรังเรียกกันติดปากว่า "วิกตรังรามา" ที่ตั้งตระหง่านอยู่บนถนนวิเศษกุล ตำบลทับเที่ยง อำเภอเมืองตรัง ภายในเขตเทศบาลนครตรังมานานปลายสิบปี เนื่องจากเป็นอาคารร้างมานานหลายปี
ย้อนไปก่อนหน้านี้ โรงหนังตรังรามาได้หยุดฉายอย่างเป็นทางการไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2554 หลังจากนั้นความคึกคักหน้าโรงหนังตรังรามา ได้เงียบหายไปอย่างสิ้นเชิง
เฟซบุ๊กแฟนเพจ @Trang ที่นี่จังหวัดตรัง ซึ่งมีสมาชิก 188,996 คน ได้โพสต์ภาพ เสมือนเป็นการอำลาโรงหนังเก่าแก่แห่งสุดท้ายของจังหวัดตรังแห่งนี้
พร้อมข้อความระบุว่า “ตรังรามา ตรงนี้เป็นที่ของเอกชน ด้วยความทรุดโทรม แว่วๆ มาว่าเขายื่นเรื่องขอรื้อเพื่อปรับปรุงพื้นที่ทำอย่างอื่น เลยขอบันทึกไว้เพื่อเป็นความทรงจำ จำไม่ได้ว่าตรังรามาสร้างขึ้นเมื่อไหร่ แต่เป็นโรงหนัง Stand alone แห่งสุดท้ายที่เหลืออยู่ของตรัง ก่อนปิดกิจการ"
"ที่นี่มีความทรงจำดีๆ เกิดขึ้นมากมากมาย ร้านขนมหน้าโรงหนัง ซื้อน้ำอัดลมใส่ถุง ผลไม้ ไข่นกกระทา รวมทั้งขนมจุกจิกทั้งหลายก่อนเข้าไปกินในโรงหนัง ตั๋วฉีกเป็นกระดาษ เลือกที่นั่งไม่ได้ เรื่องไหนคนเยอะ ลุ้นอาจต้องนั่งเก้าอี้เสริมสีแดง เสียงแตกของลำโพงเวลาถึงฉากระเบิด เครื่องบินหรือยานอวกาศบินผ่าน บางวันแอร์เสีย ต้องเปิดพัดลมตัวใหญ่ๆ แทน"
“ตรังรามา ผู้มาก่อนกาล ต้นแบบของระบบ 4D ดูเรื่องแบทแมน มีค้างคาวตัวจริงๆ บินไปบินมา รถแห่โปรแกรมภาพยนตร์ขับวนไปรอบเมืองพร้อมเสียงประกาศ และโปสเตอร์ที่วาดกับมือ รอบไหนคนแน่น เข้าจอดรถใต้ถุนแต่ละทีลำบากยากเย็น ขาออกก็ใช่ย่อย สมัยก่อนไม่มีห้าง ไม่มีคาเฟ่ โรงหนังคือจุดรวมของวัยรุ่น ถึงไม่ได้มาดูหนังเราก็ขี่รถวนแล้ววนอีกทั้งวันทั้งคืน หลายคนโดดเรียนมาดูหนัง จนครูต้องมาดักที่หน้าโรง"
"หลายคนเริ่มต้น..ความรักที่นี่ ตรังรามา หยุดฉาย 28 กุมภาพันธ์ 2554 เรื่องสุดท้ายที่ฉาย หน้ากากแตนอาละวาด ของเจย์ โชว์ ... ทุกอย่างย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา แด่ความทรงจำสีจางๆ” เพจ @ Trang ที่นี่จังหวัดตรัง ระบุ
หลังจากที่โพสดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไป มีสมาชิกเข้ามากดถูกใจกว่า 8 พันคน แสดงความคิดเห็น 767 รายการ และมีการแชร์ออกไปถึง 1.5 พันครั้ง
กระแสข่าวดังกล่าวได้เกิดขึ้น หลังจากเจ้าของอาคารโรงหนังตรังรามาได้ไปติดต่อขอคำปรึกษาจากสำนักการช่าง เทศบาลนครตรัง กรณีการขออนุญาตทุบอาคารโรงหนังตรังรามา เพื่อเตรียมการเรื่องการขออนุญาตรื้อถอนอาคารตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร
สาเหตุจากการต้องแบกรับภาระในการดูแล ตลอดจนอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่มีการคำนวณในอัตราใหม่ทั่วประเทศ ทำให้ที่ดินที่มีอาคารร้างไม่ได้ใช้ประโยชน์ต้องจ่ายภาษีแพงมาก ซึ่งเป็นภาระแก่เจ้าของอาคาร อีกทั้งตลอดเวลาที่ผ่านมาก็ไม่มีผู้ติดต่อขอเช่าต่อ เนื่องจากอาคารได้ถูกออกแบบไว้สำหรับเป็นโรงภาพยนตร์ขนาดใหญ่ถึง 800 ที่นั่ง
กระแสการทุบทิ้งโรงหนังตรังรามาจึงเป็นที่พูดถึงอย่างแพร่หลาย ทั้งในกลุ่มช่างภาพและศิลปินในจังหวัดตรัง มีการนำภาพของโรงหนังตรังรามาอดีตในแต่ละมุมมองแต่ละช่วงเวลา มาโพสต์ผ่านเฟซบุ๊กและแฟนเพจกันอย่างแพร่หลาย
นายสัญญา ศรีวิเชียร นายกเทศมนตรีนครตรัง กล่าวว่า ขณะนี้ เจ้าของอาคารโรงหนังตรังรามายังไม่ได้ยื่นเรื่องขออนุญาตทุบอาคารอย่างเป็นทางการ แต่ราว 2 เดือนก่อน เจ้าของอาคารได้มาติดต่อที่สำนักการช่างเพื่อขอคำปรึกษากรณีการขออนุญาตทุบอาคารโรงหนัง โดยส่วนตัวแล้วก็รู้สึกเสียดายหากมีการทุบทิ้งจริง แต่เป็นทรัพย์สินของเอกชนคงจะห้ามไม่ได้
"หากเทศบาลนครตรังมีเงินคงจะซื้อเก็บไว้ เพื่อทำเป็น Theater (โรงละคร, โรงมหรสพ) ของเทศบาล สำหรับจัดกิจกรรม การแสดงศิลปะต่างๆ และส่งเสริมการท่องเที่ยว"
"ผมมีความผูกพันธ์กับโรงหนังตรังรามาเช่นเดียวกัน รวมทั้งในอดีตที่ที่จังหวัดตรังมีโรงหนังเฉลิมรัฐ ศรีเมือง ตรังรามา เด็กวัยรุ่นในเมืองตรังนิยมดูหนัง เพราะถือเป็นแหล่งบันเทิงเดิมในสมัยนั้น ซึ่งตอนนี้ตรังรามาถือเป็นโรงหนังโรงสุดท้าย ที่ยังคงรูปแบบและเอกลักษณ์ของโรงหนังและมีตัวอาคารอยู่
“ผมก็เสียดายนะ แต่มันก็ทรุดโทรมมาก เอกชนคงจำเป็นต้องตัดสินใจ แต่อยากฝากไปบอกว่าให้เสนอขายแก่เทศบาลอาจจะในราคา 70-80 ล้าน เพราะถ้าราคาสูงมาก เทศบาลก็ซื้อไม่ได้ เพราะไม่สมเหตุสมผลต่อการประเมินตามระเบียบราชการ” นายสัญญากล่าว
ด้านนายตรีชาติ เลาแก้วหนู รองคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง กล่าวว่า ในแง่ของสถาปัตยกรรม อาคารโรงพนังตรังรามาเป็นสถาปัตยกรรมแบบ อาร์ทเดคโค่(Art Decoration) จัดอยู่ในอิทธิพลการออกแบบในยุคเรเนซองส์ (Renaissance) ที่สะท้อนถึงอิทธิพลของสถาปัตยกรรมตะวันตกที่เข้ามาในประเทศไทย
"เราจะเห็นสถาปัตยกรรมแบบอาร์ทเดคโค่ อยู่ในหลายแหล่งสถาปัตยกรรมในจังหวัดตรัง เช่น สมาคมฮากกา ธนาคารกรุงเทพ สาขาสี่แยกสถานีรถไฟตรัง เป็นยุคใกล้เคียงกันกับตรังรามา เป็นอิทธิพลในการออกแบบอาคารสาธารณะ ซึ่งเป็นที่นิยมกันในสมัยนั้น"
"อาคารตรังรามามีความโดดเด่นด้านสถาปัตยกรรมมาก เนื่องจากมีความเป็นอาร์ทเดคโค่ที่ชัดเจน มีโครงสร้างเป็นเสาสูงชะลูดขึ้นไปรับน้ำหนักหลังคาแบบเรียบ และมีหลังคาหน้าจั่วซ่อนอยู่ด้านในสวยงามมาก"
นายตรีชาติกล่าวว่า หลายสถาปัตยกรรมในจังหวัดตรังและในเมืองเก่าหลายเมืองที่ทุบทิ้งไป ถือเป็นความท้าทายด้านการอนุรักษ์ เพราะไม่มีกฎหมายควบคุม สะท้อนให้เห็นว่าเราขาดมาตรการด้านกฎหมายที่จะรักษามรดกทางสถาปัตยกรรมเหล่านี้ไว้
"ถ้าเป็นเมืองเก่าที่มีกระบวนการจัดทำแผนอนุรักษ์ จะมีการกำหนดนโยบายที่ชัดเจน ออกเป็นเทศบัญญัติ หรือกฎหมายเฉพาะพื้นที่ เช่น ภูเก็ต มีกฎหมายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและศิลปกรรม ในย่านเมืองเก่าภูเก็ต มีการควบคุมความสูงและรูปร่างหน้าตาของอาคาร"
ส่วนเมืองเก่าของตรังเพิ่งประกาศเขตพื้นที่เมืองเก่าตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.)ไปเมื่อปี 2564 ขึ้นกับสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และมีการตั้งคณะอนุกรรมการเมืองเก่าตรังตามการประกาศไปแล้ว โดยสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดตรัง มีผู้ว่าราชการจังหวัดตรังเป็นประธาน
แต่เป็นเพราะเพิ่งตั้งคณะอนุกรรมการ จึงยังไม่มีข้อเสนอแนะเชิงมาตรการออกมาดูแลอนุรักษ์แหล่งมรดกสถาปัตยกรรมในพื้นที่
ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา หลังอาคารเก่าทั่วประเทศโดนรื้อถอนไปเยอะ ในส่วนของตรัง ตัวอาคารเรือนไม้เก่า ซึ่งเคยเป็นหน้าตาของเมืองเก่าทับเที่ยง ถูกรื้อไปแล้วสร้างอาคารสมัยใหม่มาทดแทน เช่น เรือนไม้หลังตลาดสดเทศบาลที่เดิมหลายหลัง เนื่องจากไม่มีมาตรการมารองรับการอนุรักษ์
นายตรีชาติกล่าวว่า ในเมืองหลายเมืองมีมาตรการทางการเงินมารองรับการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมที่ทรงคุณค่า มีการตั้งกองทุน เป็นลักษณะ Matching Fund คือ เวลาจะซ่อมแซม หากซ่อมแบบดั้งเดิม เจ้าของอาคารจ่ายครึ่งหนึ่ง ส่วนอีกครึ่งรัฐจ่าย หรือจะดึงเอกชนมาเป็นสปอนเซอร์
อีกมาตรการที่ใช้กันเยอะในการอนุรักษ์ คือ มาตรการด้านภาษี อาจจะลดภาษี ยกเว้นภาษีในกรณีที่จะอนุรักษ์อาคารแบบดั้งเดิม หรือใช้อาคารเดิมประกอบธุรกิจแบบเดิมไว้ รวมทั้งมาตรการในการคืนสิทธิ คือในพื้นที่เมืองส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่สีแดงตามผังเมืองรวม เป็นพื้นที่พาณิชยกรรมให้ขึ้นตึกสูงได้ 7-8 ชั้น ถ้าหากอาคารที่มีอยู่เป็นอาคารอนุรักษ์ และหากเจ้าของต้องการอนุรักษ์ไว้ เจ้าของจะเสียสิทธิสร้างอาคารสูง
รัฐจึงมีนโยบายคืนสิทธิให้เจ้าของอาคารนั้นแล้วเอาสิทธิการสร้างอาคารสูงไปใช้ในที่ดินอื่นที่อยู่นอกเขตพื้นที่สีแดงได้ ซึ่งมาตรการนี้ใช้เป็นมาตรการในเมืองเก่าทั่วโลก โดยเฉพาะเมืองที่ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกกับยูเนสโก เช่น ปีนัง มะละกา หลวงพระบาง
“ของไทยมีบางเมืองที่ใช้มาตรการเหล่านี้ แต่ยังไม่เห็นเป็นรูปธรรม ทั้งมาตรการคืนสิทธิและมาตรการด้านภาษี ส่วนใหญ่จะเห็นในรูปแบบของกองทุน และเมืองตรังเองยังไม่มีเลยสักมาตรการ เนื่องจากเพิ่งประกาศขอบเขตเมืองเก่า"
คณะสถาปัตย์ฯมอ.ตรังได้สำรวจอาคารเก่าในตรังมากกว่า 40 แห่ง เช่น โบสถ์คริสตจักรตรัง บ้านไทรงาม บ้านจริงจิตร ร้านสิริบรรณ แต่อาคารโรงหนังตรังรามายังไม่เคยมีการสำรวจตัวอาคาร ทั้งด้านโครงสร้างและพื้นที่ใช้สอย เนื่องจากไม่ทราบจะประสานกับใคร และกระบวนการรังวัดอาคารตรังรามามีความยากมาก เพราะเป็นอาคารสูง และยังประเมินไม่ได้ว่าด้านในจะเข้าไปทำการศึกษาได้หรือไม่
และสภาพแวดล้อมก็มีความยาก ไม่มีพื้นที่จอดรถกระเช้า ที่จะดึงขึ้นไปเพื่อศึกษาองค์ประกอบด้านบนของอาคาร” นายตรีชาติระบุ
#ตรัง
#ตรังรามา
#โรงหนังสแตนด์อะโลน
วิกตรังรามา
ตรัง
โรงหนังสแตนด์อะโลน
โรงหนัง
บันทึก
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
รายงานพิเศษ
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย