18 มิ.ย. 2022 เวลา 19:47 • การเกษตร
สืบเนื่องจากโพสต์นี้ : https://www.blockdit.com/posts/62a99532c619978f376c8c0f
ที่ผมพูดเรื่องอยากจะใช้ชีวิตในวัยเกษียณปลูกต้นไม้ และทำสวนที่ไหนสักแห่งหนึ่ง และยกตัวอย่างโพสต์ #สวนลุงจอย ของคุณจตุรงค์ สุขเอียด (นักวิเคราะห์ข่าวภาคสนามอาวุโส รายการข่าว 3 มิติ) ซึ่งเป็นประเด็นที่มีคนเมืองหลายคนสนใจ
ส่วนตัวผมสนใจเรื่อง #เกษตรอินทรีย์ #วนเกษตร #ธนาคารต้นไม้ #ความมั่นคงทางอาหาร และ #เกษตรยั่นยืน เป็นอย่างมาก แต่มี comment ของคุณคนหนึ่งน่าสนใจครับ ผมขอแยกประเด็นปัญหาออกเป็น 3 ข้อ ก่อนจะตอบกลับดังนี้นะครับ
  • 1.
    ต้องมีเงินเยอะมาก ถึงจะทำแบบนี้ได้
  • 2.
    ผมเคยลองทำแล้ว แต่การขายพืชผลทางการเกษตรไม่พอกับค่าใช้จ่ายในครอบครัว แล้วก็ตบท้ายด้วย...
  • 3.
    ถ้าคิดว่าจะสำเร็จได้ ก็ลองดูได้เลย
ตอบปัญหาข้อที่ 1 นะครับ ผมยอมรับว่า “เงิน” เป็นปัจจัยสำคัญอันดับแรกในกรณีที่คุณ ไม่มีมรดกตกทอดเป็นที่ดินที่พ่อแม่ปู่ย่าตายายทิ้งไว้ให้ แต่...หากมีอยู่แล้ว จะไม่มีค่าใช้จ่ายตรงนี้ แต่...เงินก็ยังเป็นปัจจัยต่อเนื่องที่จำเป็น ในการพัฒนาปรับปรุงที่ดินผืนเดิม ให้เป็นไปตามหลักคิดแบบเกษตรยั่งยืน วนเกษตร และธนาคารต้นไม้ ซึ่งคุณจำเป็นต้องมีองค์ความรู้ประกอบอย่างจริงๆ จังๆ ด้วย
หากลุยไปดุ่ยๆ แบบไม่รู้อะไรเลย มองเกษตรอินทรีย์เป็นภาพฝันหวานตอนบ่ายๆ น้ำลายหยดติ๋งๆ หรือเหมือนวิ่งอยู่กลางทุ่งลาเวนเดอร์แบบนี้ ขอบอกเลยว่า...โอกาสล้มเหลวมีสูงมากครับ ยิ่งถ้าหากคุณเป็นมนุษย์ที่อยู่ในเมืองมาทั้งชีวิต ไม่เคยชินที่จะอยู่กับอะไรแบบนี้มาก่อน คุณยิ่งจำเป็นต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัวให้ได้มากถึงมากที่สุด
ตอบข้อที่ 2 เพราะการทำเกษตรแล้วคิดที่จะขายผลผลิตเลยตั้งแต่เริ่มต้นนั้น จะสวนทางกับวิธีคิดแบบเกษตรยั่งยืนมากครับ เพราะฉะนั้นการแสวงหาองค์ความรู้ให้เพียงพอก่อน จึงเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นที่สุดอันดับแรก เนื่องจากผมเป็นคนเมืองโดยแท้ เติบโตที่นี่เลย
เมื่อสนใจวิธีคิดแบบนี้ ประกอบกับไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน ผมจึงเริ่มต้นด้วยการไปแสวงหาความรู้ที่ @มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ และยังไปหาความรู้เพิ่มเติมตามสถานที่ต่างๆ อีกหลายแห่ง รวมถึงแหล่งความรู้ในอินเตอร์เน็ต ที่มีหลักคิดร่วมไปในแนวทางเดียวกัน
บันได้ขั้นแรกคือ ทำอย่างไร? เพื่อลดค่าใช้จ่ายที่ต้องเอาเงินออก เพื่อซื้อปัจจัยตัวแรกที่จำเป็นและสำคัญที่สุดของชีวิตมนุษย์คือ “อาหาร” คือการเรียนรู้เริ่มต้นจากการปลูกพืชผัก ผลไม้ ที่กินได้ก่อน เพื่อลดค่าใช้จ่าย ให้พอกิน พออยู่ พอใช้ ให้ได้ก่อนครับ
เมื่อคุณพัฒนาพื้นที่จนสามารถเพาะปลูกพืชผัก ผลไม้ที่กินได้ รวมไปถึงการเลี้ยงสัตว์ และอื่นๆ จนเพียงพอเหลือกินเหลือใช้แล้ว บันไดขั้นต่อไปคือ การแจกจ่ายแบ่งปันครับ เมื่อได้เผื่อแผ่แบ่งปันแล้วยังมีเหลืออยู่อีก
บันไดขั้นถัดไป คือการเข้าสู่ขั้นตอนการแปรรูปผลผลิตออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ จากนั้นจึงเดินเข้าสู่บันไดขั้นสุดท้ายคือ “การขาย” และการสร้างเครือข่ายเพื่อให้สังคมโดยรอบมีความยั่งยืนไปพร้อมๆ กัน จะเห็นว่าการขายเพื่อให้ได้ “เงิน” ไม่ใช่หลักคิดเริ่มต้นของวิธีการนี้ แต่จะอยู่ในขั้นตอนสุดท้ายเลย
คุณอาจจะแย้งว่า อ้าว....ไม่ได้ๆ ใจเย็นแบบนั้นไม่ได้ เพราะผมต้องการใช้เงินตั้งแต่ขั้นตอนแรกแล้ว ต้องคิดเพื่อขายก่อนสิ ถ้าคิดแบบนี้ก็จบครับ เพราะมันเรียกได้ว่า...ไปกันคนละทางเลย
เอาเป็นว่า....ผมขอมองในฐานะมนุษย์เมืองเต็มขั้นเลยก็แล้วกัน (เพราะยังไม่มีทั้งที่ดิน และไม่เคยมีญาติพี่น้องทำเกษตรมาก่อน) เพราะการทำเกษตรแบบปลูกวันนี้ เพื่อให้ได้ผลผลิตวันพรุ่งนี้ มันเป็นไปไม่ได้ครับ ใครๆ ก็ทราบ จึงต้องมีการวางแผนและเตรียมการทั้งหมดไว้ล่วงหน้า
ยกตัวอย่างพืชที่มีอายุเก็บเกี่ยวสั้นที่สุดอย่าง ถั่วงอก หรือบรรดาต้นอ่อนต่างๆ เช่น ต้นอ่อนทานตะวัน ต้นอ่อนผักบุ้ง ต้นอ่อนข้าวสาลี ฯลฯ พวกนี้จะใช้ระยะเวลาอย่างน้อยๆ 7 - 10 วันขึ้นไป ถึงจะเก็บกินได้ แต่หากเป็นผักกินหัว กินยอด กินดอก กินใบชนิดต่างๆ หรือหน่อไม้ กล้วย ระยะเวลาก็ต้องยาวขึ้นไปอีก เป็นเดือนหรือหลายๆ เดือนขึ้นไป
เพราะฉะนั้นในระหว่างที่ผลผลิตยังไม่ออก คุณจำเป็นต้องวางแผนก่อนว่า คุณจะใช้ชีวิตให้ได้อย่างไรในช่วงเริ่มต้น ระหว่างนี้คุณยังจำเป็นต้องใช้เงินเพื่อซื้อของจากข้างนอกมากินก่อน ต้องคำนวณให้ดีว่าคุณควรมีเงินสะสมเท่าไหร่ ถึงจะพออยู่ได้ ต้องวางแผนชีวิตและระยะการเดินแบบยาวๆ ไม่ใช่อยู่ๆ จะเดินๆ ไปแบบไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย ไร้ความรู้ ไร้ทิศทาง แบบนี้พังแน่
คุณจำเป็นต้องมีแผนระยะต้น ระยะกลาง และระยะยาวเตรียมไว้ก่อนล่วงหน้า ตอนที่ผมเข้าค่ายฝึกอบรมที่มาบเอื้อง (มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ) ครูยังสอนเลยว่า เราจะเดินดุ่ยๆ ไปแบบนั้นไม่ได้ ถ้าขืนไปอย่างงั้น...ตายแหง๋แก๋ มีแสนหมดแสน มีล้านหมดล้านแน่นอน
ตอบข้อที่ 3 นะครับ ถ้ามีโอกาสวันไหน ผมลองแน่นอนอยู่แล้วครับ แต่เพราะยังไม่มีที่ดินเป็นของตัวเอง โอกาสนั้นจึงยังมาไม่ถึง แต่ผมมีน้องคนหนึ่งชื่อ “หนุ่ม” เคยไปอบรมในรุ่นเดียวกัน (มาบเอื้องรุ่น 487) ทุกวันนี้ยังพูดคุยทักทายกันตลอด
หนุ่มไม่ได้ร่ำรวยอะไร เป็นเพียงมนุษย์เงินเดือนธรรมดาๆ คนหนึ่ง ทำงานประจำอยู่ที่ จ.ชลบุรี แต่วันนี้...หนุ่มทำสำเร็จแล้วครับ หนุ่มค่อยๆ ขยับไปทีละขั้นทีละก้าว เริ่มต้นจากปรับวิธีคิดใหม่ ในการพัฒนาที่ดินมรดกที่ จ.ชัยภูมิ เมื่อราว 3 ปีก่อน จนทุกวันนี้ สามารถย้ายครอบครัว (เมีย 1 ลูก 2) ไปอยู่ในสวนที่ จ.ชัยภูมิ ได้แบบถาวรแล้ว
วิธีคิดอันดับแรกคือ “การจัดการออกแบบพื้นที่” (พื้นที่ในแต่ละแห่งจะมีปัญหาที่แตกต่างกัน จึงต้องใช้วิธีคิดในการออกแบบพื้นที่ เพื่อแก้ปัญหาที่แตกต่างกันด้วย) สำคัญสุดคือต้อง “ออกแบบการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่” ให้เรียบร้อยก่อน เพราะน้ำคือหัวใจหลักในการทำเกษตรแบบยั่งยืน เพื่อลดปัญหาการขาดแคลนน้ำในหน้าแล้ง และลดการพึ่งน้ำจากชลประทาน
คุณควรขุดบ่อน้ำเพื่อกักเก็บน้ำให้ได้ปริมาณเพียงพอกับการใช้สอยภายในพื้นที่ของตัวเอง โดยทั่วๆ ไปคือ บ่อน้ำควรมีขนาดประมาณ 1 ใน 4 ของพื้นที่ทั้งหมด (สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามเหมาะสมในแต่ละพื้นที่)
หลักทฤษฎีคือ ให้ขุดขอบบ่อแบบขั้นบันได และทำเป็นแนวเฉียง (ไม่ใช่การขุดขอบบ่อแนวดิ่ง ตรงเป็นไม้บรรทัดทื่อๆ ไปจนถึงก้นบ่อแบบสระว่ายน้ำ) ขั้นบันไดจะช่วยลดการกัดเซาะหน้าดินบริเวณขอบบ่อ และน้ำตื้นบริเวณขั้นบันไดขอบบ่อ ยังเป็นแหล่งวางไข่และที่อยู่อาศัยของลูกปลาวัยอ่อนได้ด้วย ควรขุดบ่อให้ลึกอย่างน้อยๆ 6 เมตรขึ้นไป (ส่วนใหญ่บ่อทั่วๆ ไป มักขุดลึกประมาณ 3 เมตร)
เหตุผลมีดังนี้ครับ เนื่องจากแสงแดดที่เผาทุกวัน ทำให้น้ำระเหยลดลงวันละประมาณ 1 - 2 ซม. หากขุดบ่อลึกเพียง 3 เมตร ภายใน 1 ปี (ถ้าไม่มีน้ำลงมาเติมในบ่อเลย) น้ำในบ่อจะถูกแดดเผาจนแห้งถึงก้นบ่อ
แต่กรณีนี้...มีข้อแม้ครับ ยกตัวอย่างพื้นที่ของหนุ่มที่ จ.ชัยภูมิ ซึ่งน้ำบาดาลมีความเค็ม ไม่เหมาะกับการใช้รดต้นไม้ หนุ่มจึงเลือกที่จะขุดบ่อลึกเพียง 3 เมตร (ลึกเท่านี้น้ำยังจืดอยู่ เพราะยังไม่ถึงระดับชั้นบาดาล) แต่หนุ่มสามารถดึงน้ำจากคลองใกล้ๆ ที่ดินมาเติมได้ตลอด จึงยังไม่มีปัญหาเรื่องน้ำแห้งจนหมดบ่อ
จริงๆ ยังมีวิชาที่ได้จากการเรียนอีกมากมาย ทั้งการทำปุ๋ยหมักใช้เอง (ทดลองทำเองที่บ้านแล้ว หมักจากเศษใบ้ไม้และของสดเหลือทิ้งจากในครัว ได้ผลดีมาก) การทำบ้านดิน เผาถ่านกัมมันต์ ทำน้ำส้มควันไม้ ฯลฯ และอีกหลายๆ อย่างที่ยังไม่เคยลองวิชา เพราะยังไม่มีพื้นที่ให้ทดลองแก้ปัญหาจริง (ฮา)
แต่จากที่เคยลงพื้นที่มาบ้างระยะสั้นๆ ก็เข้าใจแล้วว่า...ทำเกษตรมันเหนื่อย หนักนะ ไม่ได้สบายเหมือนนอนตากแอร์ แต่หากเราชอบจริงๆ ตั้งใจมุ่งมั่น และอดทนได้ในการแก้ปัญหาแต่ละอย่างๆ ก็น่าจะทำสำเร็จได้แบบหนุ่ม เมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อน หนุ่มยังชวนผมไปช่วยเกี่ยวข้าวอยู่เลยครับ
จริงๆ หลังจากเริ่มโพสต์ความสนใจเกี่ยวกับแนวคิดเกษตรยั่งยืน ก็มีเม้นต์มาให้ชวนขบคิดเป็นระยะๆ บางครั้งมาในทำนองเยาะเย้ยถากถางก็มี แต่ผมไม่โกรธ คิดว่า...น่าสนใจอีกต่างหาก อาทิเช่น มีเม้นต์ว่า “ไอ้พวกคนเมือง ไปอยู่แบบนั้นจริงๆ ไม่ได้หรอก เดี๋ยวก็ต้องวิ่งหนีจุกตูดกลับกรุงเทพฯ”
พร้อมยกตัวอย่างเรื่องราวของสามีภรรยาคู่หนึ่ง ที่เป็นมนุษย์เมืองมาทั้งชีวิต แกคงติดตามสื่อชวนฝันเกี่ยวกับสวรรค์บ้านนาในวัยเกษียณ จึงตัดสินใจซื้อที่ดินในต่างจังหวัดและย้ายไปปลูกบ้านอยู่ (ตรงนี้ไม่มีรายละเอียดใดๆ ว่าสามีภรรยาคู่นี้ไปอยู่กันแบบนอนรีสอร์ท ได้เพาะปลูกพืชผล หรือลงพัฒนาพื้นที่อะไรด้วยหรือเปล่า)
สุดท้ายพออยู่ๆ ไปนานๆ วันเข้า ทำไมมันถึงเงียบจัง...รู้สึกว้าเหว่...วังเวงวิเวกโหว๋เหว๋ จนเหงา อยากออกไปเดินห้าง สุดท้ายจึงย้ายกลับมาอยู่กรุงเทพฯ เหมือนเดิม
ประเด็นนี้น่าสนใจครับ เพราะผมก็ยังไม่เคยไปใช้ชีวิตแบบนั้นมาก่อนเหมือนกัน แต่...ผมเองก็ไม่ได้หลงใหล หรือติดชีวิตในเมืองขนาดนั้น ไม่ได้เดินห้างเป็นปี ก็ไม่เคยมีปัญหา (ยิ่งช่วงโควิดนี่ยิ่งชัด เพราะแทบไม่ได้ไปห้างไหนเลย ไปบ่อยสุดก็แค่ซุปเปอร์มาร์เก็ตใกล้บ้าน เพราะจำเป็นต้องไปซื้อของกินของใช้)
หากได้ไปอยู่จริงๆ มันจะเหงา มว๊าก.ก.ก.ก ขนาดนั้นไหม จนต้องล้มเลิกความตั้งใจจนต้องวิ่งหนีจุกตูดกลับกรุงเทพฯ หรือเปล่า? ตรงนี้น่าสนใจดีครับ ยังตอบไม่ได้ เพราะยังไม่เคย (ฮา) แต่คิดว่า....หากได้ตระเตรียมวางแผนลงพื้นที่ มีกิจกรรมทำทุกวัน ซึ่งกว่าจะเสร็จเรียบร้อยตามแผนที่วางไว้ คงใช้เวลาหลายปี อาจทำให้ทั้งยุ่งและเหนื่อยทั้งวัน จนลืมคิดถึงการเดินห้างไปเลยก็ได้
ผมคิดถึงขนาดว่า หากเกิดภัยพิบัติจากภายนอก เช่น การจลาจล สงคราม หรือหายนะภัยต่างๆ ที่เราคาดไม่ถึง (ยุคนี้ยิ่งคาดเดาได้ยาก เพราะภาวะโลกร้อนที่วิกฤตหนักขึ้นทุกๆ วัน ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของ #วิกฤตอาหารโลก เศรษฐกิจโลกที่ผันผวนหนักซึ่งอาจเป็นชนวนก่อให้เกิดสงครามครั้งใหญ่)
เรายังจะสามารถปิดขังตัวเองอยู่ในพื้นที่ แล้วมีอยู่มีกินได้นานเป็นเดือน หรืออาจอยู่ได้เป็นปีหรือไม่ นั่นคือหลักคิดเรื่องการ #สร้างความมั่นคงทางอาหาร เพื่อลดความจำเป็นในการใช้เงินลง ซึ่งประเทศไทยตั้งอยู่ในภูมิภาคที่มีความเหมาะสมหลายๆ ประการ
อีกอย่างผมไม่ใช่คนที่อยู่ในวัยหนุ่มอีกต่อไปแล้ว อยู่ในวัยกลางคนและกำลังก้าวเข้าสู่วัยชราและช่วงบั้นปลายของชีวิต การตัดสินใจเรื่องสำคัญอะไรๆ ของชีวิตต่อจากนี้ ผมจึงต้องแน่วแน่และมีความมั่นใจพอสมควร เพราะไม่น่าจะมีโอกาสได้กลับไปแก้ตัวมากเหมือนวัยหนุ่ม เหตุเพราะกำลังกายและเวลาในชีวิตเริ่มมีจำกัด
มีแนวคิดหนึ่งที่น่าสนใจของ คุณจตุรงค์ สุขเอียด ที่โพสต์เพิ่มเติมเรื่อง การเลือกพื้นที่ให้เหมาะสมกับกำลังของคุณเอง (กรณีที่คุณกำลังคิดอยากจะซื้อที่ดินทำสวน) โดยยกตัวอย่างคุณยายพยาบาลวัยเกษียณท่านหนึ่ง เป็นเจ้าของที่ดินสวนผลไม้ขนาด 4 ไร่ แต่พอแก่ตัวลงก็ดูแลไม่ไหว แถมลูกหลานก็ไม่มีใครสนใจมาดูแล
คุณยายจึงประกาศขายที่ดินทั้ง 4 ไร่ และเอาเงินที่ได้มาเช่าอพาร์ทเม้นต์ใกล้ๆ โรงพยาบาลอยู่ สะดวกตรงห้องเล็กๆ ดูแลง่าย มีคนพักอาศัยอยู่ร่วมด้วย และไม่ต้องจ้างคนตัดหญ้ารกๆ เหมือนสมัยยังทำสวน และแกรู้สึกปลอดภัยมากกว่าการอยู่คนเดียวในสวน
และยังยกตัวอย่างคนรู้จัก ที่เลือกที่จะขายบ้านในเมืองแล้วไปซื้อที่ดินขนาดเกือบ 1 ไร่ (ห่างจากตัวเมืองสงขลาประมาณ 12 กม.) ตั้งใจจะปลูกบ้านหลังเล็กๆ ปลูกไม้ผลที่กินได้ เลี้ยงหมาได้ คุณจตุรงค์ให้ข้อคิดว่า พื้นที่ขนาดไม่เกิน 1 ไร่ กำลังดี เพราะจัดการดูแลง่ายกว่า เพราะไม่มีใครที่ไม่มีวันแก่ การเลือกที่ดินให้เหมาะสมกับกำลังในการดูแลรักษาของตนเองจึงเป็นสิ่งสำคัญ
อีกเรื่องน่าคิดซึ่งเข้าใจตรงกันกับผมคือ #ความรู้ด้านการเงิน ว่าหากมีเงินเก็บหลักแสนหลักล้าน แต่เลือกที่จะเก็บไว้ในธนาคารนานเป็นสิบๆ ปี เงินกระดาษนั้นมีแต่จะเสื่อมมูลค่าลง ดอกเบี้ยที่ได้ก็ตามไม่เคยทันอัตราเงินเฟ้อ
แต่ที่ดิน 1 ไร่ ที่เราซื้อไว้วันนี้ในราคา 8 แสนบาท มูลค่ามันไม่เคยลดลง มีแต่จะเพิ่มมูลค่าขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป ราคาอาจโดดไปไกลถึง 5 ล้าน 10 ล้าน ในอนาคตเลยก็ได้ ที่ดินจึงเป็นสินทรัพย์ที่ดีกว่าสำหรับการวางแผนในอนาคต เพื่อมอบเป็นมรดกให้กับลูกหลาน ง่ายๆ คือดีกว่าเก็บเป็นเงินสดนั่นแหละ
และแนวคิดเรื่องธนาคารต้นไม้ (ที่เคยเล่าไปแล้ว) ผมก็สนใจมากเป็นพิเศษ เพราะช่วยเพิ่มมูลค่าให้ที่ดินได้มาก ระหว่างที่ยังไม่ได้ประกาศขาย (เพราะที่ดินถึงแม้จะเป็นสินทรัพย์ที่ดีกว่าเงินสด แต่กลับมีสภาพคล่อง (Liquidity) ต่ำ ง่ายๆ คือมันขายยาก) ปัจจุบันการ #จดทะเบียนสวนป่าเอกชน สามารถทำได้แล้ว
ทำให้ไม้ป่าหวงห้ามหลายชนิด อาทิ พะยูง ยางนา ตะเคียนทอง สักทอง ฯลฯ สามารถตัดขายได้หากปลูกอยู่ภายในพื้นที่สวนป่าของเรา #ไม้เศรษฐกิจ ถือเป็นสินทรัพย์ที่ไม่เสื่อมมูลค่าลงตามกาลเวลาเช่นกัน สมมุติคุณปลูกไม้ป่าหลายๆ ชนิด เป็นสมบัติไว้ให้ลูก ตั้งแต่วันที่ลูกเกิด เมื่อเวลาผ่านไป 30 ปี จนเขาแต่งงานมีครอบครัวแล้ว ไม้ป่าอายุ 30 ปี ก็สามารถขายได้และมีราคาแล้ว
จิด.ตระ.ธานี : #เล่าสู่กันฟังนะครับ
#Jitdrathanee
ที่มา facebook จตุรงค์ สุขเอียด : https://www.facebook.com/joyjaturong/posts/5432096970144060

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา