Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
รู้เรื่องสัตว์ๆ
•
ติดตาม
20 มิ.ย. 2022 เวลา 01:08 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
รู้เรื่องสัตว์ ๆ ตอนที่ 35 | มีสัตว์แบบนี้ที่นี่ด้วยเหรอ?
แต่ละที่ในโลกมีสัตว์ประจำถิ่นซึ่งมีการปรับตัวและวิวัฒนาการให้เหมาะกับแหล่งที่อยู่อาศัยนั้น ๆ เรามักมีภาพจำ เช่น ลิงก็ต้องปีนต้นไม้อยู่ในป่าเขียวขจี ชีตาร์ก็ต้องอยู่ในทุ่งหญ้าซาวันน่าของแอฟริกา สัตว์มีถุงหน้าท้อง เช่น จิงโจ้ โคอาล่า ก็ต้องอยู่ที่ออสเตรเลีย
แต่ก็มีบางครั้งสัตว์ก็อยู่ใรที่ๆ เราไม่คิดว่าจะมีสัตว์ชนิดนั้นอยู่ เช่น ลิงในประเทศอาหรับ ชีตาร์ในเอเชียหรือ สัตว์มีถุงหน้าท้อง (marsupial) ในอเมริกา
ชีตาห์ในเอเชีย🐆
ภาพการล่าเหยื่อของเสือที่วิ่งเร็วที่สุดในโลกชนิดนี้ มักจะมาพร้อมกับแบ็คกราวด์ในทุ่งหญ้าซาวันน่า แอฟริกา แต่ความจริงแล้วชีตาร์แอฟริกายังมีญาติอีกกลุ่มหนึ่งที่สืบทอดเผ่าพันธุ์อยู่ในเอเชียมาจนถึงปัจจุบัน
ชีตาห์เอเชีย (Asiatic cheetah) เป็นชนิดย่อยของชีตาร์ ลักษณะทั่วไปมีขนาดตัวเล็กกว่าชีตาร์แอฟริกา ครั้งนึงเคยถูกพบอยู่ในประเทศอินเดีย ปากีสถาน รัสเซีย อิหร่าน และในประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลาง
ชีตาห์เอเชีย (Acinonyx jubatus venaticus) มีขนาดตัวเล็กกว่าเสือชีตาร์แอฟริกา https://www.tehrantimes.com/news/436496/Rare-Asiatic-cheetah-sighted-in-north-central-Iran
แต่ปัจจุบพบประชากรเสือชีตาห์สายพันธุ์เอเชียในธรรมชาติแค่ในประเทศอิหร่านเท่านั้น โดยสาเหตุสำคัญเกิดจากมนุษย์รุกล้ำพท้นที่ป่ามากขึ้น ทำให้แหล่งที่อยู่อาศัยลดน้อยลงต่อเนื่องและยังพบว่ามีการล่าเพื่อเอาขนอีกด้วย
สมาคมเสือชีตาห์อิหร่าน (Iranian Cheetah Society) เผยว่าขณะนี้ทั้งประเทศเหลือเสือชีตาห์เอเชียอยู่เพียง 12 ตัวสุดท้ายเท่านั้น เป็นตัวผู้ 9 ตัวและตัวเมียเพียงแค่ 3 ตัว ทั้งๆ ที่เมื่อปี 2010 เคยมีเสือชีตาห์อยู่ประมาณ 100 ตัวด้วยกัน ทำให้ปัจจุบัน IUCN จัดสถานะให้เสือชีตาร์เอเชียอยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (critical endanger)
โดยชีตาห์ในธรรมชาติถูกคุกคามอย่างหนักจากถนนที่ตัดผ่านทะเลทรายซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของชีตาห์ ตลอดจนปัญหาการขาดแคลนแหล่งน้ำและอาหาร หรือแม้แต่ทุ่นระเบิดถูกทิ้งที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในทะเลทราย
และแม้ว่าเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาจะมีข่าวที่แม่เสือชีตาห์ในอิหร่านให้กำเนิดลูกสามตัว (ตายในภายหลัง 1 ตัว) ซึ่งนับเป็นข่าวที่น่ายินดีเพราะเป็นครั้งแรกที่เสือชีตาร์เอเชียให้กำเนิดลูกในที่เลี้ยง
แต่อย่างไรก็ตามความพยายามในการอนุรักษ์เสือชีตาห์เอเชียไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะนอกจากประชากรในธรรมชาติจะเหลือน้อยมากทำให้ขาดความหลากหลายทางพันธุกรรม
ดังนั้น ในประเทศอินเดียจึงได้มีความริเริ่มที่จะการนำชีตาร์กลับคืนถิ่นในประเทศอินเดียอีกครั้ง ถึงแม้ว่าจะเป็นเวลากว่าครึ่งศตวรรษแล้วที่ชีตาห์สูญพันธุ์ไปจากอินเดีย โดยอันที่จริงอินเดียมีประวัติศาสตร์เกี่ยวกับชีตาห์มายาวนาน โดยคำว่า " cheetah" มีที่มามาจากคำว่า ‘chitraka’ ในภาษาสันสกฤตที่แปลว่าแปลว่า ลายจุด
แต่เสือชีตาห์สามตัวสุดท้ายที่อาศัยอยู่ในประเทศอินเดียก็ได้ถูกสังหารไปเมื่อปี ค.ศ. 1947 และต่อมาได้มีการประกาศอย่างเป็นทางการว่าชีตาร์สูญพันธุ์ไปจากอินเดียในปี ค.ศ. 1952
อย่างไรก็ตาม ความพยายามในการนำชีตาห์กลับมายังอินเดียในปี 2022 นี้ มีข้อห่วงกังวลจากผู้เชี่ยวชาญมากมาย เนื่องจากไม่ได้เป็นการนำเข้าชีตาร์เอเชียเป็นการนำชีตาห์แอฟริกาเข้ามาอาศัยในธรรมชาติของอินเดีย
โดยในช่วงแรกจะนำเข้าชีตาร์แอฟริกามาจำนวน 8 ตัว เพื่อนำไปอาศัยอยู่ในอุทยานแห่งชาติ 1 แห่ง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 2 แห่ง ในรัฐ Madhya Pradesh และ Rajasthan ของอินเดียซึ่งมีที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหารที่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิต ซึ่งมีข้อห่วงกังวลทั้งในประเด็นทางพันธุกรรม โรคติดต่อและการปรับตัวเพื่อการดำรงชีวิต
โดยประเด็นทั้งความแตกต่างทางพันธุกรรมของชีตาห์แอฟริกาและชีตาห์เอเชีย ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าชีตาห์ทั้งสองชนิดย่อยมีความคล้ายคลึงกันทางพันธุกรรม ซึ่งโอกาสทางการอนุรักษ์ชีตาร์แอฟริกาในอินเดียน่าจะสูงกว่าการนำเข้าชีตาห์เอเชียจากอิหร่านเนื่องจากมีจำนวนน้อยมากและมีความหลากหลายทางพันธุกรรมต่ำ
ประเด็นโรคของชีตาห์ที่นำเข้าซึ่งอาจแพร่ระบาดโรคให้กับสัตว์กลุ่มเสืออื่น ๆ ที่อยู่ในพื้นที่ ยังต้องจับตามองต่อไปแต่เชื่อว่าสัตว์กลุ่มเสือในพื้นที่เองก็มีโรคที่คล้ายคลึงกันอยู่แล้ว
และสุดท้ายคือ ประเด็นความสามารถในการปรับตัวต่อภูมิประเทศ ภูมิอากาศและการต่อสู้กับสัตว์ผู้ล่าอื่น ๆ ที่มีอยู่เดิมในพื้นที่ดังนั้น ได้มีการวางแผน เช่น การนำมาดูและในที่เลี้ยงเพื่อให้ปรับตัวต่อภูมิอากาศก่อนปล่อยสู่ธรรมชาติ
อย่างไรก็ตามจากประเด็นต่าง ๆ จะเห็นว่าโครงการนี้จึงมีความท้าทายที่ยังต้องติดตามความสำเร็จของการอนุรักษ์ต่อไปในระยะยาว
ลิงบาบูนในอาหรับ🦧
ลิงบาบูนจัดเป็นลิงขนาดใหญ่ แขนและขายาวเท่ากัน ทำให้สามารถเดินด้วยขาทั้ง 4 ข้างได้เป็นอย่างดี ขณะที่ส่วนหางสั้น มีร่างกายที่กำยำแข็งแรง วิ่งได้รวดเร็ว เป็นลิงพื้นเมืองของภูมิภาคอาหรับและแอฟริกา แบ่งออกเป็น 5 ชนิด โดยทั้งห้าชนิดมีถิ่นกำเนิดในแอฟริกา
โดยมีลิงบาร์บูนชนิดหนึ่งที่แพร่กระจายอยู่ในแอฟริกาและคาบสมุทรอาหรับในเอเชียนั่นก็คือลิงบาร์บูนฮามาดรายอัส (Hamadryas baboon)
HAMADRYAS BABOON (Papio hamadryas) https://neprimateconservancy.org/hamadryas-baboon/
Hamadryas baboon ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในแถบแอฟริกาตะวันออกเฉียงเหนือหรือที่เรียกว่าจะงอยแอฟริกา พบในประเทศเอธิโอเปีย เอริเทรีย จิบูตี และบางส่วนของซูดานและโซมาเลียในทวีปแอฟริกา นอกจากนี้ยังมีประชากรกระจายอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของคาบสมุทรอาหรับในประเทศซาอุดิอาระเบียและเยเมน
ที่อยู่อาศัยของ Hamadryas baboon ต่างจากไพรเมทอื่น ๆ คือมักอาศัยอยู่ตามหน้าผาแทนการอาศัยอยู่ตามต้นไม้ ดังนั้น จึงมีแหล่งอาศัยที่ความหลากหลายโดยสามารถพบได้ในภูเขาเอธิโอเปีย ไหล่เขา และพื้นที่แห้งแล้งกึ่งทะเลทราย
ลิงชนิดนี้หากินในเวลากลางวันกาอนจะกับไปพักตามหน้าผาที่เป็นแหล่งอาศัยและรวมกลุ่ม เป็น omnivore สามารถกินได้ทั้งพืชและสัตว์ โดยแม้ว่าจะล่าสัตว์เล็กๆ เป็นอาหาร แต่อาหารหลักก็คือพืช
โดยประชากรในแอฟริกามักกินทั้ง ราก เมล็ด ใบ ดอก และฝักของต้นอะคาเซีย ส่วนประชากรในอาระเบียกินผลของแคคตัสและเมล็ดปาล์ม (palm nuts) อินทผลัม ผลของต้นยาหม่องอียิปต์ (Balanite aegyptiaca)
ปัจจุบันแม้ว่าสถานะของลิงชนิดนี้ไม่น่าเป็นห่วง แต่ปัจจุบันก็พบว่ามีประชากรจำนวนมากเข้าไปอาศัยในเขตเมืองหลายแห่งของซาอุดิอาระเบียกำลังเป็นปัญหา
เนื่องจากปกติลิงชนิดนี้เป็นสัตว์พื้นเมืองที่มีถิ่นกำเนิดทางตะวันตกในเทือกเขา Sarawat โดยประชากรส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในพื้นที่ทางตะวันตกเฉียงใต้ แต่การพบเจอลิงชนิดนี้ในพื้นที่ภาคกลางโดยเฉพาะในเมืองหลวงของริยาดเป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้น
ซึ่งที่มาของปัญหาก็คล้ายคลึงกับความขัดแย้งระหว่างคนและสัตว์ (human-animal conflict) ที่เกิดขึ้นในหลายประเทศรวมถึงประเทศไทย ซึ่งมีที่มาจากความไม่สมดุลของธรรมชาติ
เมื่อถิ่นที่อยู่อาศัยของลิงถูกทำลายทำให้เริ่มมีการกระจายไปสู่เขตเมืองและพื้นที่เกษตรกรรมของมนุษย์ที่มีแหล่งอาหารที่สมบูรณ์กว่า สร้างความรำคาญตลอดจนทำลายทรัพย์สินและผลผลิตของมนุษย์ ซึ่งเป็นปัญหาท้าทายด้านการอนุรักษ์ที่จำเป็นต้องนำความสมดุลกลับคืนมาสู่ธรรมชาติให้ได้
สัตว์มีถุงหน้าท้อง (marsupial) ในอเมริกา
ก่อนอื่นมาทำความรู้จักมาร์ซูเพียล (marsupial) หรือสัตว์มีถุงหน้าท้องกันก่อน marsupial เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม (mammal) ชนิดหนึ่ง โดยหากแบ่งตามสายวิวัฒนาการจะสามารถแบ่ง mammal ออกเป็น 3 สาย ได้แก่
Mammal ที่มีรกหรือที่เรียกว่า “placental” ซึ่งจะเป็นสัตว์กลุ่มใหญ่ที่เราคุ้นเคยกันดี เช่น หนู แมว สุนัข เสือ ลิง ช้าง รวมถึงมนุษย์เรา
ส่วนอีกสองสายก็คือ “โมโนทรีม (monotreme)” ซึ่งปัจจุบันเหลืออยู่เพียง 2 ชนิด ได้แก่ ตัวกินมดมีหนามและตุ่นปากเป็ด อาศัยอยู่ในทวีปออสเตรเลีย
และสุดท้ายก็คือเจ้า “marsupial” ซึ่งแน่นอนว่าเลี้ยงลูกด้วยนม แต่สิ่งที่แตกต่างจาก placental ก็คือระบบสืบพันธุ์และการผลิตลูก โดย marsupial จะมีระยะการตั้งท้องที่สั้นมาก ดังนั้น ตัวอ่อนที่คลอดออกมาจะยังพัฒนาไม่สมบูรณ์แต่จะออกมาพัฒนาต่อในถุงหน้าท้อง
ลูก marsupial แรกเกิดซึ่งอาจมีขนาดเล็กพอๆ กับเม็ดถั่วจะยังไม่มีขนและระบบต่าง ๆ ในร่างกายยังพัฒนาไม่เต็มที่ ยกเว้นแต่จะมีขาคู่หน้าและปากที่พัฒนาดีเพื่อให้สามารถเคลื่อนที่ไปยังถุงหน้าท้องเพื่อดูดนมจากแม่ และเจริญเติบโตต่อไปในถุงหน้าท้องโดยเมื่อเติบโตเต็มที่ก็จะออกมาใช้ชีวิตนอกถุงหน้าท้อง
สัตว์มีถุงท้องที่เป็นที่รู้จัก ได้แก่ จิงโจ้ โคอาล่า ชูการ์ไกรเดิร์วอมแบตและโอพอสซัม เป็นต้น เป็นสัตว์ประจำท้องถิ่นของออสเตรเลียโดยเฉพาะสัตว์สัญลักษณ์ของประเทศออสเตรเลียอย่างจิงโจ้
โฉมหน้าของ marsupial ที่เป็นที่รู้จักในทวีปออสเตรเลีย https://www.activewild.com/list-of-marsupials/
ทั่วโลกมี marsupial 334 ชนิด และพบในออสเตรเลีย 235 ชนิด อีก 99 ชนิดสามารถพบได้ในอเมริกากลางและอเมริกาใต้ แต่มีเพียงหนึ่งชนิดเท่านั้นที่พบได้ในอเมริกาเหนือและ marsupial ตัวนั้นก็คือ เวอร์จิเนียโอพอสซัม (Virginia opossum) นั่นเอง
1
Virginia opossum (Didelphis virginiana) https://en.wikipedia.org/wiki/Virginia_opossum
เจ้าเวอร์จิเนียโอพอสซัมแม้จะดูคล้ายหนูแต่ไม่ใช่หนู เพราะเป็น marsupial ชนิดหนึ่ง ซึ่งสามารถพบได้ทางตะวันออกของสหรัฐอเมริกาไปจนถึงเม็กซิโกและอเมริกากลาง
โดยในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมาพบว่าสามารถแพร่กระจายไปยังรัฐทางเหนือมากขึ้น นอกจากนี้ยังพบประชากรกลุ่มใหญ่ทางตะวันตกตั้งแต่แคลิฟอร์เนียไปจนถึงชายแดนแคนาดาอีกด้วย
การที่เวอร์จิเนียโอพอสซัมซึ่งเป็น marsupial เพียงชนิดเดียวในอเมริกาเหนือและสามารถแพร่กระจายได้ในวงกว้างก็เนื่องมาจากโอพอสซัมชนิดนี้สามารถอาศัยอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่หลากหลาย
โดยมักชอบอาศัยอยู่ในป่าไม้และพุ่มไม้หนาทึบใกล้แหล่งน้ำ ทั้งยังประสบความสำเร็จในการใช้ชีวิตในเขตเมืองจากการที่มีขนาดตัวที่เล็ก และออกหากินเวลากลางคืน รวมถึงความสามารถในการสืบพันธุ์สูงนั่นเอง
อ้างอิง
●
https://animaldiversity.org/accounts/Didelphis_virginiana/
●
https://edition.cnn.com/2022/05/11/world/asiatic-cheetah-cubs-born-in-captivity-scn/index.html
●
https://il.mahidol.ac.th/e-media/150charles-darwin/Less6_k_3.html
●
https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9650000008364
●
https://neprimateconservancy.org/hamadryas-baboon/
●
https://nhpbs.org/natureworks/opossum.htm
●
https://wildcatconservation.org/wild-cats/eurasia/asiatic-cheetah/
●
https://www.arabnews.com/node/1886366/saudi-arabiahttps://www.bbc.com/news/world-asia-india-57313563
●
https://www.downtoearth.org.in/news/wildlife-biodiversity/cheetahs-in-india-new-cats-on-the-block-81792
●
https://www.swnewsmedia.com/north-america-s-only-marsupial/article_1dd6db41-b8ba-58aa-8feb-28201636e618.html
●
https://www.tehrantimes.com/news/436496/Rare-Asiatic-cheetah-sighted-in-north-central-Iran
วิทยาศาสตร์
สิ่งแวดล้อม
การศึกษา
บันทึก
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
เบาสมองส่องสัตว์
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย