20 มิ.ย. 2022 เวลา 06:45 • อาหาร
โปรตีนทางเลือกและการแพ้อาหาร ในยุคนี้อาหารทางเลือกที่มาจากแมลงกำลังเป็นที่นิยมเพิ่มขึ้น เราเลือกบริโภคแมลงเพราะเป็นแหล่งโปรตีนที่มีอัตราการเจริญเติบโตเร็ว แมลงกินอาหารปริมาณน้อยกว่าสัตว์ในระบบปศุสัตว์ทั่วไป แต่ให้ผลผลิตที่เป็นโปรตีนปริมาณมากถึง 69% เลี้ยงง่าย เลี้ยงได้หลากหลายพื้นที่ ใช้ทรัพยากรน้อยและยังผลิตก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์น้อยด้วย
เพื่อสร้างความยั่งยืนให้ระบบอาหาร นักวิจัยหันมาพัฒนาส่วนประกอบอาหารจากแมลง ให้สามารถนำไปเสริมในอาหารมื้อปกติของเราได้ เช่น แป้งจิ้งหรีด ที่ให้โปรตีน แคลเซียมและวิตามินสูง ใช้เสริมในอาหารประเภทเส้นต่าง ใช้ในขนมขบเคี้ยว โปรตีนบาร์ เค้ก คุ้กกี้ เครื่องปรุงรส ไอศครีม รวมถึงใช้ในอาหารสัตว์เลี้ยง (pet food) หรืออาจบริโภคในรูปแบบตัวอ่อน หนอน หรือดักแด้ โดยตรง เช่น หนอนไหมทอดกรอบ ปรุงรส
เครดิตภาพ: https://jrunique.com/th/product/acheta-cricket-powder/
โอกาสในการเติบโตของตลาดอาหารจากแมลงมีแนวโน้มโตอย่างชัดเจน สังเกตได้จากหลายๆ ประเทศจัดทำมาตรฐาน ประกาศระเบียบ กฎหมายควบคุมมาตรฐานการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงมือผู้บริโภค เพื่อรองรับการขยายตลาด ปัจจุบันผู้ค้าจะเน้นการแสดงคุณค่าทางโภชนาการที่สูง เพื่อเจาะกลุ่มคนรักสุขภาพและคนที่ห่วงใยสิ่งแวดล้อม ซึ่งถือเป็นกลยุทธ์การขายที่มีจุดแข็งและมีความท้าทายในการสร้างความยอมรับของผู้บริโภค
ผู้ผลิตอาหารที่มีส่วนประกอบของแมลง จำเป็นต้องติดฉลากอาหารให้ผู้บริโภคทราบอย่างชัดเจน โดยต้องระบุข้อมูลที่จำเป็น เช่น แหล่งผลิต แหล่งเพาะเลี้ยง วิธีการแปรรูป ปริมาณที่ใส่ในอาหารนั้นและที่สำคัญสุดๆ คือข้อความเตือนสำหรับผู้ที่มีอาการแพ้อาหารในกลุ่มสัตว์ทะเลเปลือกแข็ง (Shellfish) ได้แก่ กุ้ง กั้ง ปู ก็จะมีโอกาสแพ้แมลงเช่นกัน
คนไทยกินแมลงกันมานานอาจมีความคุ้นเคยกับอาหารกลุ่มนี้ได้เร็วกว่าผู้ริโภคทางฝั่งยุโรป อเมริกา เรียกได้ว่าเราเป็นผู้นำในตลาดนี้ได้ หากเรามีการวางแผนผลิตและกำหนดยุทธศาสตร์นี้ให้ดี หวังว่าเราจะรักษาโอกาสและความได้เปรียบนี้ไว้ได้ หากผู้บริหารประเทศจะละสายตาจากสายเขียวมามองโอกาสอื่นๆ บ้าง
โฆษณา