Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ลอง
•
ติดตาม
20 มิ.ย. 2022 เวลา 09:05 • ธุรกิจ
การลงทุน
อยากลงทุน เริ่มต้นอย่างไร?
รู้จักออม
ถ้าต้องการลงทุน ขอแนะนำให้เริ่มต้นที่ การออม ก่อน ซึ่งเป็นการสร้างวินัยทางการเงินให้แก่ตนเองในการทยอยเก็บเงินทีละเล็กละน้อยให้มีจำนวนพอกพูนขึ้นเมื่อเวลาผ่านไปในรูปแบบที่มีความปลอดภัย มีความเสี่ยงต่ำ เพื่อรักษาเงินต้นไว้ โดยผลตอบแทนจากเงินออมอาจไม่ได้สูงมากนัก ยกตัวอย่าง เช่น เงินฝากออมทรัพย์หรือเงินฝากประจำรายเดือนแบบปลอดภาษี จนกระทั่งสามารถเก็บเงินได้จำนวนหนึ่ง จึงค่อยเริ่มลงทุน
ด้วยการแบ่งเงินก้อนที่ได้จากการเก็บหอมรอมริบส่วนหนึ่งไปลงทุนในผลิตภัณฑ์เพื่อการลงทุน เช่น หุ้น ตราสารหนี้ กองทุนรวม Exchange Traded Fund หรือ ETF สัญญาซื้อขายล่วงหน้าและทางเลือกในการลงทุนอื่น ๆ เพื่อสร้างผลตอบแทนให้สูงขึ้นกว่าการออม
หรืออีกทางเลือกหนึ่ง คือ ทุกครั้งที่มีรายได้เข้ามา ให้แบ่งเงินนั้นออกเป็นส่วน ๆ ตามวัตถุประสงค์ต่าง ๆ โดยแบ่งส่วนหนึ่งมาเลือกออมหรือลงทุนอย่างสม่ำเสมอตามความเหมาะสม
รู้จักออม
จำนวนเงินที่สามารถนำไปลงทุนได้ คือ เงินก้อนที่มีอยู่ หักด้วยค่าใช้จ่ายจำเป็น ภาระผูกพัน และเงินสำรองเผื่อไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน แต่มีข้อควรคำนึงคือ ผู้ลงทุนต้องสามารถยอมรับความเสี่ยงประเภทต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์เพื่อการลงทุนนั้น ๆ ได้ เพื่อแลกกับโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้น เนื่องจากการลงทุนมีความเสี่ยงที่จะสูญเสียเงินต้น
ตัวอย่างผลิตภัณฑ์เพื่อการลงทุนและความเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง เช่น หุ้น หรือ กองทุนรวม ที่เปิดโอกาสการทำกำไรจากส่วนต่างระหว่างราคาซื้อและราคาขายหลักทรัพย์หรือหน่วยลงทุน (Capital Gain) แต่ในทางกลับกันก็มีความเสี่ยงที่จะขาดทุนเพราะราคาขายต่ำกว่าราคาซื้อ (Capital Loss) เช่นกัน รวมทั้งมีโอกาสที่จะได้รับเงินปันผลตามผลประกอบการและนโยบายปันผล
ส่วนการลงทุนในตราสารหนี้ แม้ว่าจะมีความผันผวนด้านราคาต่ำกว่าตราสารทุน แต่ก็สามารถขาดทุนได้จากราคาตราสารหนี้ที่โดยมากจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางตรงกันข้ามกับอัตราดอกเบี้ย นอกจากนั้นยังต้องพิจารณาถึงความเสี่ยงด้านเครดิตหรือความน่าเชื่อถือของผู้ออกตราสารด้วย
อัตราดอกเบี้ย / อัตราผลตอบแทน
ทั้งนี้ เงินฝากประจำ หรือ สลากออมทรัพย์ ก็อาจมองได้ว่าเป็นการลงทุน เพราะผู้ลงทุนยอมที่จะสูญเสียสภาพคล่องของตนเองไป ไม่สามารถนำเงินสดออกไปใช้ได้ในช่วงเวลาหนึ่ง เพื่อแลกกับการได้รับดอกเบี้ยที่สูงขึ้นหรือโอกาสที่จะถูกรางวัล
รู้จักตนเอง
เมื่อเตรียมเงินสำหรับการลงทุนไว้แล้ว ก่อนการตัดสินใจลงทุนใด ๆ ผู้ลงทุนต้องตอบคำถามสำคัญด้านล่างให้ได้เสียก่อนเพื่อประเมินตนเอง และใช้เป็นแนวทางในการลงทุน รวมถึงเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจเลือกผลิตภัณฑ์เพื่อการลงทุน ที่ตรงกับความต้องการอย่างแท้จริง
วัตถุประสงค์ในการลงทุนของคุณคืออะไร
ตัวอย่าง วัตถุประสงค์ในการลงทุน เช่น ลงทุนเพื่อบรรลุเป้าหมายทางการเงินต่าง ๆ ได้แก่ ซื้อรถ ซื้อบ้าน ศึกษาต่อต่างประเทศ หรือลงทุนเพื่อให้เงินงอกเงยเพียงพอสำหรับ
การใช้จ่ายหลังเกษียณ หรือลงทุนเพื่อลดหย่อนภาษี และยังมีคำถามที่ตามมา คือ ต้องการเงินจำนวนเท่าไหร่ เพื่อใช้ทำอะไร ภายในระยะเวลาเท่าไหร่
ระยะสั้น (ไม่เกิน 1 ปี)
ระยะกลาง (1-3 ปี) หรือ ระยะยาว (3 ปีขึ้นไป) แต่หัวใจสำคัญ คือ การเลือกลงทุนในสิ่งที่เหมาะสมกับวัตถุประสงค์ในการลงทุนของตนเอง ขอยกตัวอย่างการเตรียมเงินไว้สำหรับการพาครอบครัวไปท่องเที่ยวต่างประเทศในอีก 6 เดือนข้างหน้า หากเรานำเงินไปลงทุนโดยตรงในตลาดหลักทรัพย์ หรือซื้อกองทุนรวมตราสารทุน มีความเป็นไปได้ที่ในอีก 6 เดือนต่อมา
ราคาหลักทรัพย์หรือมูลค่าหน่วยลงทุนจะต่ำลง ซึ่งเรามีความจำเป็นต้องยอมรับผลขาดทุนโดยขายหลักทรัพย์หรือหน่วยลงทุนนั้นเพื่อนำเงินมาใช้จ่ายตามกำหนด มิหนำซ้ำถ้าราคาต่ำลงมากก็อาจเหลือเงินไม่เพียงพอสำหรับใช้จ่ายก็เป็นได้
ในกรณีนี้ เราควรนำเงินไปฝากประจำหรือซื้อกองทุนรวมตราสารหนี้ ที่มีระยะเวลาครบกำหนดไม่เกิน 6 เดือน จะเป็นทางเลือกที่เหมาะสมกว่า ซึ่งโดยทั่วไป เงินฝากประจำและตราสารหนี้ที่อายุยาวกว่าจะมีอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าระยะสั้น นอกจากนี้ ความผันผวนของราคาหลักทรัพย์หรือหน่วยลงทุน ในระยะสั้น อาจไม่กระทบต่อผลตอบแทนจากการลงทุนในระยะยาวก็ได้
อัตราผลตอบแทนที่คาดหวังเป็นอย่างไร และคุณสามารถยอมรับความเสี่ยงได้มากน้อยเพียงใด
ผลตอบแทนที่สูงขึ้นมักมาพร้อมกับความเสี่ยงที่สูงขึ้นเสมอ (high risk, high return) ทั้งนี้ ความสามารถในการรับความเสี่ยงของแต่ละบุคคลย่อมแตกต่างกัน ขึ้นกับหลายปัจจัย เช่น
อายุ
นักลงทุนที่มีอายุน้อย หรือมีความตั้งใจที่จะลงทุนในระยะยาว ย่อมยอมรับความเสี่ยงได้มากกว่านักลงทุนที่มีอายุมากขึ้นหรือสามารถลงทุนได้ในช่วงเวลาที่สั้นกว่า เพราะมีความเป็นไปได้น้อยกว่าที่จะมีความจำเป็นต้องนำเงินที่ไปลงทุนไว้ออกมาใช้ในช่วงที่สินทรัพย์มีราคาต่ำ
ฐานะการเงิน
นักลงทุนที่มีฐานะการเงินดีซึ่งหมายถึงมีสินทรัพย์สภาพคล่องและสินทรัพย์เพื่อการลงทุนเป็นจำนวนมาก โดยเงินที่นำมาลงทุนนั้นเป็นสัดส่วนน้อยเมื่อเทียบกับความมั่งคั่งสุทธิ ตลอดจนมีความสามารถในการหารายได้และการออม มีระยะเวลาที่จะไม่ใช้เงินที่นำมาลงทุนจำนวนนั้นนานกว่า และมีความต้องการรายได้จากการลงทุนเพื่อการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันน้อยกว่า มักจะยอมรับความเสี่ยงได้มากกว่า
ทัศนคติ
แม้แต่นักลงทุนที่มีอายุเท่ากันและมีฐานะการเงินระดับเดียวกัน ก็มีความสามารถในการยอมรับความเสี่ยงไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับลักษณะนิสัยและทัศนคติส่วนบุคคลด้วย จะสังเกตได้ว่าในช่วงที่ตลาดการเงินมีความผันผวน นักลงทุนหลายคนยังคงรู้สึกสบาย ๆ แต่บางคนถึงกับกินไม่ได้นอนไม่หลับ ดังนั้น ก่อนการตัดสินใจลงทุน อย่าลืมถามตนเองว่าเป็นคนประเภทใด สามารถยอมรับความเสี่ยงได้มากน้อยเพียงใด
ทั้งนี้ ตามข้อกำหนดของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ผู้ลงทุนต้องทำแบบประเมินความเสี่ยงที่ยอมรับได้ของผู้ลงทุน
(Customer Risk Profile) ทุก ๆ 2 ปี เพื่อให้ทราบถึงระดับความเสี่ยงที่ผู้ลงทุนแต่ละคนยอมรับได้ และเป็นข้อมูลเบื้องต้นสำหรับการตัดสินใจลงทุนด้วย
รู้จักสิ่งที่ลงทุน
สิ่งสำคัญมากที่ผู้ลงทุนต้องทำก่อนการตัดสินใจนำเงินของเราไปลงทุนในผลิตภัณฑ์เพื่อการลงทุน ใด ๆ คือ การใช้เวลาศึกษาหาความรู้และทำความเข้าใจกับสิ่งนั้นอย่างถ่องแท้เสียก่อน เพราะว่าการลงทุนมีความเสี่ยง ดังนั้น ถ้า (ยัง) ไม่เข้าใจ อย่า (เพิ่ง) เสี่ยง !
ในปัจจุบัน มีแหล่งข้อมูลที่ให้ความรู้และคำแนะนำเบื้องต้นที่เป็นประโยชน์สำหรับนักลงทุนมือใหม่มากมาย ซึ่งเราจะพบข้อมูลบางส่วนใน website นี้ ภายใต้หัวข้อ การบริหารจัดการเงิน และบริการที่หน่วยงานอื่น ๆ กำกับดูแล นอกจากนี้ ยังมี website อื่น ๆ ที่ขอแนะนำดังนี้
www.set.or.th
ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งจะมีข้อมูลความรู้การลงทุนสำหรับทั้งผู้เริ่มต้นวางแผนสู่ความมั่งคั่ง นักลงทุนมือใหม่ และนักลงทุนมือโปร
www.settrade.com
ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งเป็น website สำหรับติดตามราคาหลักทรัพย์ และเป็นแหล่งรวบรวมราคาสินทรัพย์ประเภทต่าง ๆ รวมถึงมีข้อมูลความรู้สำหรับนักลงทุนมือใหม่ด้วย
www.thaimutualfund.com ซึ่งรวบรวมข้อมูลความรู้เกี่ยวกับกองทุนรวม รวมถึงข้อมูลของแต่ละกองทุนรวม เช่น ข้อมูลสังเขป มูลค่าหน่วยลงทุน (NAV) ผลการ
ดำเนินงาน หนังสือชี้ชวนและรายงานกองทุนรวม
www.morningstarthailand.com
ซึ่งรวบรวมข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการลงทุน รวมถึงมีข้อมูลเปรียบเทียบและจัดอันดับกองทุนรวม และ ETF
นอกจากนี้ คุณยังสามารถศึกษาข้อมูลได้โดยตรงจาก website ของธนาคารพาณิชย์ (ธ.พ.) สถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFI) บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) หรือ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) และสามารถสอบถามรายละเอียดพร้อมทั้งขอเอกสารที่จำเป็นต่อการตัดสินใจลงทุน เช่น หนังสือชี้ชวน หรือ Fact Sheet จากเจ้าหน้าที่ขายของสถาบันการเงิน อย่าลืมว่าในฐานะผู้ใช้บริการทางการเงิน คุณมีสิทธิขั้นพื้นฐาน
ที่จะได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง และเลือกใช้บริการได้อย่างอิสระ และถือเป็นหน้าที่ของคุณเองที่จะต้องเข้าใจรายละเอียดของบริการทางการเงินก่อนเลือกใช้ และ เปรียบเทียบข้อมูลเพื่อเลือกสิ่งที่ดีกว่า
รู้เท่าทันสถานการณ์แวดล้อม
ผู้ลงทุนต้องสนใจและติดตามข่าวสารที่อาจมีผลกระทบต่อเงินลงทุนอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งถือเป็น หน้าที่ของผู้ใช้บริการทางการเงิน อีกหนึ่งข้อ ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบต่อผลตอบแทนการลงทุนมีดังนี้
ปัจจัยทางเศรษฐกิจ เช่น ภาวะเศรษฐกิจในประเทศ การผลิต การค้า การลงทุน อัตราดอกเบี้ยในตลาดเงิน อัตราแลกเปลี่ยน กระแสเงินทุนไหลเข้า-ออก
ภาวะเศรษฐกิจต่างประเทศ
ปัจจัยทางการเมือง ทั้งสถานการณ์ทางการเมือง รวมถึงนโยบายหรือมาตรการของภาครัฐ เช่น ภาษี การส่งเสริมการลงทุน
พัฒนาการที่สำคัญ เช่น การเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี
ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับตลาดการเงิน หรือผลิตภัณฑ์เพื่อการลงทุนนั้น ๆ เอง
รู้จักกระจายเงินลงทุน
ปัจจุบันเงินฝากที่เป็นเงินบาทซึ่งฝากไว้กับธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ ยังได้รับความคุ้มครองจาก สถาบันคุ้มครองเงินฝาก (DPA) ตามเงื่อนไขที่กำหนด ส่วนเงินลงทุนในผลิตภัณฑ์เพื่อการลงทุนไม่ได้รับความคุ้มครอง
ดังนั้น จึงไม่ควรนำเงินทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมดไปลงทุนในผลิตภัณฑ์เพื่อการลงทุนประเภทเดียวกัน หรือ มีความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องประเภทเดียวกัน เพราะจะเปรียบเสมือนกับการนำไข่ทุกใบใส่ไว้ในตะกร้าใบเดียว แต่ควรแบ่งไข่ใส่ตะกร้าหลาย ๆ ใบ เพื่อลดความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นหากตะกร้าตก เช่นเดียวกับการการกระจายเงินลงทุน จะช่วยลดความเสี่ยงในภาพรวมลงได้
การลงทุน
ธุรกิจ
รู้จักออม
บันทึก
1
2
1
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย