22 มิ.ย. 2022 เวลา 00:45 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
เห็นมั่นๆ นี่เก่งจริงป่ะ?
Photo by Thomas Mowe on Unsplash
เวลาเห็นคนเชื่อมั่นในตัวเองมากๆ คุณรู้สึกอย่างไรครับ?
ชื่นชม หมั่นไส้ เฉยๆ หรือรู้สึกแบบอื่น
เคยแว้บๆ สงสัยขึ้นมาบ้างไหมครับว่า คนที่แสดงออกแบบมั่นใจในตัวเองมากๆ นี่ เอาเข้าจริงแล้ว “เก่งจริง” แค่ไหนกัน?
มีใครทำวิจัยอะไรที่ช่วยตอบคำถามแบบนี้บ้างหรือไม่?
มีงานวิจัยที่ทำกันต่อเนื่องมานานแล้วนะครับ ที่เน้นย้ำความจริงที่ว่า คนเรามักจะตีค่าความสามารถตัวเองสูงกว่าจริง จะเรียกว่า “มั่นเกิน” ก็พอได้ครับ เช่น ไปถามบรรดาศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยว่า ให้ประเมินความสามารถตัวเองว่า อยู่เหนือ “ค่าเฉลี่ย” ของศาสตราจารย์ด้วยกันหรือไม่
1
ผลคือราว 94% ของพวกศาสตราจารย์เหล่านี้ เชื่อว่าตัวเองทำได้ดีกว่าเฉลี่ย เก่งกว่าศาสตราจารย์ส่วนใหญ่!
1
แน่นอนครับว่า ในทางสถิติมันเป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้แน่นอนว่า คน 94% จะไปอยู่เหนือเฉลี่ยพร้อมๆ กันได้อย่างไร จึงผิดเห็นๆ เลยนะครับ
แต่ไม่ใช่แค่พวกคงแก่เรียนพวกนี้นะครับ คนทั่วไปก็ไม่ต่างเท่าไหร่ และหัวข้อความสามารถก็กว้างขวางมาก ไม่ว่าจะเป็นร่างกายที่แข็งแรง อึดถึกทน การเข้าสังคมเก่ง หรือทำงานได้ดี
คนทั่วไปประเมินความสามารถตัวเองทั้งหมดนี้ “เหนือเฉลี่ย” กันแทบจะทั้งนั้น
1
Photo by Daniel Minárik on Unsplash
เรื่องความมั่นใจแบบล้นเกินทำนองนี้ส่งผลลบได้นะครับ ทั้งเรื่องประสิทธิภาพการทำงาน (ก็เก่งกว่า ทำน้อยลงหน่อย ก็เท่าคนอื่นไง) หรือการตัดสินใจ (โอ้ย เรื่องง่ายๆ แบบนี้ ตัดสินใจไม่ผิดร้อกกกก)
ในปี ค.ศ. 2012 มีนักวิจัยที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียเบิร์กลีย์และมหาวิทยาลัยนาวาร์รา ตีพิมพ์งานวิจัยชื่อ A Status-enhancement Account of Overconfidence [1] ที่ให้คำตอบส่วนหนึ่งเกี่ยวกับคำถามเรื่องความมั่นใจในตัวเองกับความสามารถจริงนะครับ
ในงานวิจัยชิ้นนี้คณะนักวิจัยสรุปว่า ความมั่นใจที่ล้นเกินเป็นตัวการที่ทำให้คนเหล่านั้นได้รับสถานะทางสังคมที่ได้รับอยู่
คนที่เชื่อว่าตัวเองเก่งกว่าคนอื่น (แม้ว่าอันที่จริงแล้ว ไม่ได้เก่งกว่าคนอื่น) จะได้รับการยกย่องให้อยู่ในลำดับชั้นทางสังคมที่สูงกว่า
1
ขณะที่ความต้องการอยากจะได้สถานะทางสังคมที่สูงกว่าก็เป็นตัวการที่กระตุ้นให้เกิดความมั่นใจที่มากล้นเช่นกัน วนเวียนเป็นวัฏจักรกันไปแบบนี้
การมีสถานะทางสังคมสูงนี่ไม่ต้องอธิบายก็รู้กันดีนะครับว่า ทำให้โดดเด่นและส่งอิทธิพลทำให้คนอื่นที่เห็นเกิดความอิจฉาได้
จากงานวิจัยนี้พบว่า เมื่อให้ทำงานเป็นกลุ่ม พวกที่มีความมั่นใจสูงมากๆ จะได้รับความชื่นชม จะมีคนฟังและเชื่อถือ รวมทั้งเป็นพวกที่คอยครอบงำการถกเถียงและการตัดสินใจของกลุ่มอยู่เสมอๆ
เรียกว่า “เปี่ยมอิทธิพล” ในกลุ่มก็คงพอได้
เรื่องนี้ทำให้เข้าใจประเด็นสำคัญเรื่องหนึ่งที่คาใจนักวิชาการมานานได้มากขึ้น นั่นคือ ทำไมจึงพบอาการมั่นใจในตัวเองอย่างล้นเกินได้บ่อยครั้งมาก ทั้งๆ ที่พฤติกรรมแบบนี้มีความเสี่ยงอยู่
คำตอบที่งานวิจัยชิ้นนี้ให้ก็คือ การเชื่ออย่างผิดๆ ว่า ตัวเองเก่งกว่าคนอื่นส่งผลดีหรือให้ประโยชน์ทางสังคมกับคนเหล่านี้แต่ละคนอย่างลึกซึ้งจนคุ้มค่าจะทำเช่นนั้นนั่นเอง
1
Photo by Blake Weyland on Unsplash
นอกจากนี้ งานวิจัยชิ้นนี้ยังอธิบายปรากฏการณ์ที่พบได้บ่อยในองค์กรที่ทำให้คนจำนวนมากค้างคาใจว่า เหตุใดจึงมักมีการโปรโมตคนที่ไม่เก่ง (แต่เชื่อว่าตัวเองเก่ง) จนเหนือกว่าเพื่อนร่วมงานอีกมากที่เก่งมากกว่า แต่ไม่ได้แสดงความมั่นใจในตัวเองมากมายแบบนั้น
คำตอบก็คือ ในองค์กรนั้นคนในองค์กรอาจถูกจูงใจโดยคนที่มีความมั่นใจสูงได้ง่าย แม้ว่าความมั่นใจดังกล่าว “ไม่สัมพันธ์” กับความสามารถที่แท้จริงของคนคนนั้นนั่นเอง
การแสดงออกด้วยความมั่นใจได้รับการตีความและให้น้ำหนักเกินเลยไปจากเนื้อแท้เป็นอย่างมาก
คณะนักวิจัยจึงแนะนำว่า องค์กร (โดยเฉพาะฝ่ายบุคคล) ควรมองเรื่องนี้ให้ออก และไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องความมั่นใจในตัวเองมากจนบดบังความสามารถที่แท้จริง
จริงอยู่ที่ความมั่นใจอาจจะสะท้อนให้เห็นถึงความสามารถที่แท้จริง แต่พบว่าบ่อยครั้งทีเดียวที่ไม่ได้เป็นเช่นนั้นเลย
คนจำนวนมากทีเดียวที่แสดงออกอย่างมั่นใจในความสามารถ แม้ว่าจะขาดทักษะหรือมีความสามารถไม่พอก็ตาม
มาดูรายละเอียดวิธีทดลองของพวกเขาดีกว่าครับ
งานวิจัยนี้ครอบคลุมการทดลองรวม 6 ชุดด้วยกัน ทั้งหมดใช้ยืนยันว่าทำไมคนมีความมั่นใจในตัวเองมากเกินจริงหรือไม่ และความมั่นใจอย่างล้นเหลือแบบนั้นช่วยให้เกิดการเลื่อนลำดับชั้นในสังคมจริงหรอืไม่
ใครสนใจรายละเอียดสามารถตามไปดาวน์โหลดมาอ่านดูได้นะครับ
ในที่นี้จะขอยกตัวอย่างการทดลองแค่บางการทดลองที่คิดว่าน่าสนใจเป็นพิเศษ
ในการทดลองที่ 2 นักวิจัยทำในอาสาสมัครที่เรียนบริหารธุรกิจรวม 242 คน โดยเอาบัญชีรายชื่อบุคคลและเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ รวมไปถึงหนังสือและบทกวีมอบให้
จากนั้นก็ให้แต่ละคนระบุว่า รู้จักชื่อคนหรือเหตุการณ์ หนังสือหรือบทกวีใดบ้าง
สิ่งที่อาสาสมัครเหล่านี้ไม่รู้เลยก็คือ ชื่อต่างๆ หรือบทกวีที่เลือกมาให้นั้น ส่วนหนึ่งนักวิจัยแต่งขึ้นมาเอง ไม่ได้มีตัวตนจริงๆ ในประวัติศาสตร์แต่อย่างใด โดยนักวิจัยจะให้ความสำคัญกับชื่อปลอมๆ พวกนี้เป็นพิเศษ
ทำให้พบว่าในบรรดานักศึกษาที่กาถูกให้ชื่อพวกนี้บ่อยครั้งที่สุด ก็คือพวกที่มีความมั่นใจในตัวเองสูงที่สุดนั่นเอง!
นักศึกษาพวกนี้เชื่อว่า ตัวเองเก่งประวัติศาสตร์มากกว่าความเป็นจริง
ที่น่าสนใจก็คือ การทดสอบที่ทำในตอนสิ้นภาคการศึกษา ทำให้รู้ว่านักศึกษาที่ตอบผิดมากที่สุดพวกนี้ ได้รับการจัดอันดับทางสังคมโดยเพื่อนๆ ให้อยู่ในกลุ่มบนสุดของชั้นเรียน เรียกว่า “ป๊อบ” มากในหมู่เพื่อนก็คงได้
จุดที่ต้องตั้งเป็นข้อสังเกตไว้ก็คือ บรรดาเพื่อนๆ ในกลุ่มไม่ได้รู้สึกว่าคนกลุ่มนี้ “มั่นเกิน” นะครับ
แค่เพียงคิดว่าคนกลุ่มนี้ “เจ๋งดี” ฉะนั้นความมั่นใจแบบล้นเกินในกรณีนี้จึงไม่เข้าข่าย “หลงตัวเอง (narcissistic)”
คนที่แสดงออกว่ามั่นอกมั่นใจในตัวเองมากก็คือ คนที่เพื่อนๆ ยอมรับนับถือและเป็นที่รักมากที่สุดด้วย
1
Photo by Towfiqu barbhuiya on Unsplash
อีกการทดลองที่น่าสนใจคือ การทดลองที่ 4 ซึ่งพยายามจะค้นหาว่า อุปนิสัยแบบใดที่ทำให้คนมั่นๆ ดูเป็นคนน่าทึ่ง
แม้ว่าอันที่จริงแล้ว ก็ไม่ได้น่าทึ่งขนาดนั้นแต่อย่างใด
คณะนักวิจัยอาศัยการบันทึกวิดีโอขณะนักศึกษาทำงานกลุ่มด้วยกัน นำมาวิเคราะห์ภาษากาย น้ำเสียง ความถี่มากน้อยของการให้ความร่วมมือกับกลุ่ม ซึ่งเผยความลับให้เห็นว่า พวกมั่นๆ พวกนี้พูดบ่อยครั้งกว่าคนทั่วไป เวลาพูดก็พูดด้วยน้ำเสียงแสดงความมั่นอกมั่นใจ
แถมยังมักแสดงความเห็นแบบมีข้อมูลและคำตอบให้กับเรื่องที่ถกเถียงกันอยู่เสมอๆ
ที่น่าสนใจอีกอย่างคือ มักแสดงท่าทางผ่อนคลายสบายๆ ให้เห็นเสมอในตอนที่ทำงานร่วมกับเพื่อนๆ
อันที่จริงแล้วคนกลุ่มนี้แสดงอาการ “ชิล” มากกว่าคนที่รู้มากกว่าหรือเก่งกว่าด้วยซ้ำไป แต่หนุ่มมั่นสาวมั่นพวกนี้ไม่ได้เป็นที่รังเกียจของกลุ่มนะครับ เพราะมักไม่ได้พูดแบบโต้งๆ ว่า ฉันเก่งเรื่องพวกนี้มากกว่าพวกเธอ แต่แสดงออกผ่านพฤติกรรมที่ละเอียดอ่อนกว่านั้น คือ ร่วมมือมากกว่าและแสดงให้เห็นถึงความมั่นใจผ่านการแสดงอาการชิลๆ ให้เห็น
แม้ว่าอย่างที่เน้นมาหลายครั้งคือ อันที่จริงพวกเขาไม่ได้เก่งกว่าเพื่อนๆ แต่อย่างใดเลย
การทดลองลำดับที่ 6 ก็น่าสนใจครับ เพราะแสดงให้เห็นว่า ความอยากได้สถานะทางสังคมที่สูงกว่าเป็น “ตัวขับ” ให้หนุ่มมั่นสาวมั่นแสดงออกอย่างมั่นใจจนล้นเกิน
เค้าทดลองอย่างนี้ครับ เอาเรื่องให้อาสาสมัครอ่าน โดยจะแบ่งเรื่องเป็น 2 แบบ
เรื่องแรกออกจะง่ายๆ พื้นๆ จนน่าเบื่อด้วยซ้ำไป เนื้อหาเป็นการบรรยายประสบการณ์การทำกุญแจหาย ก่อนจะค้นจนเจอในที่สุด
ขณะที่เรื่องที่ 2 นั้นจะตื่นเต้นกว่า คือให้อาสาสมัครสมมุติตัวเองว่า กำลังจะได้งานใหม่ในบริษัทดังแห่งหนึ่ง ตำแหน่งงานที่ได้เปิดโอกาสให้มีสถานะทางสังคมที่สูงกว่า มีโปรโมชันต่างๆ มีโบนัสให้ และยังมีฟาสต์แทร็คให้เลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นไปเรื่อยๆ ได้อย่างรวดเร็วอีกด้วย
ผลลัพธ์ก็อย่างที่พอจะคาดหมายได้คือ เมื่อให้ระบุความต้องการสถานะทางสังคม อาสาสมัครที่อ่านเรื่องที่ 2 ระบุว่าต้องการสถานสังคมที่สูงกว่ากลุ่มแรก
แต่ยังไม่จบครับ
มีการให้อาสาสมัครประเมินตัวเองเรื่องความสามารถต่างๆ ที่มีอยู่ เช่น ทักษะการคิดวิเคราะห์ ระดับไอคิว และความสามารถในการทำงานเป็นทีม ฯลฯ
ปรากฏว่าคนที่อ่านเรื่องที่ 2 (เรื่องได้งานใหม่ที่กระตุ้นความต้องการสถานะ) จะจัดอันดับทักษะและความสามารถพิเศษต่างๆ ของตัวเองสูงกว่าในกลุ่มแรก (ที่เป็นกลุ่มควบคุม)
ความต้องการสถานะทางสังคมที่สูงจึงไปทำให้เกิดความมั่นใจในตัวเองมากยิ่งขึ้น
ขอปิดท้ายด้วยการทดลองคลาสสิกของนักจิตวิทยา เดวิด ดันนิง จากมหาวิทยาลัยคอร์แนล ที่ตีพิมพ์ในปี 2003 [2] เขาให้นักศึกษาระดับปริญญาตรีชั้นปีที่ 2 ในชั้นเรียนจิตวิทยาทำข้อสอบชุดหนึ่ง หลังจากนั้นให้ประเมินผลตัวเองทันทีก่อนจะได้รับผลสอบจากอาจารย์ว่า
ตัวเองน่าจะจัดอยู่ในลำดับประมาณเท่าใดของชั้น
ผลการทดลองน่าสนใจมากคือ นักศึกษา 25% จากล่าง (พวกเรียนอ่อนนั่นแหละครับ) ประเมินตัวเองสูงกว่าจริงอย่างไม่น่าเชื่อคือ เฉลี่ยแล้วประเมินว่าตัวเองทำข้อสอบได้ดีกว่าเพื่อนๆ ราว 60%
1
ขณะที่พวกเด็กเรียนคือ ท้อป 25% ของชั้นนั้น ประเมินว่าตัวเองน่าจะทำได้ดีกว่าอีกเพื่อนๆ อีก 75% ที่เหลือ ซึ่งค่อนข้างตรงทีเดียว
ต่อมายังพบอีกด้วยว่ารูปแบบการประเมินตัวเองแบบนี้ คล้ายกันกับที่พบในทีมดีเบต พวกพรานกับความรู้เรื่องปืน และนักศึกษาแพทย์ ฯลฯ อีกด้วย
ดันนิง สรุปเรื่อง "คำสาป" ของคนไร้ความสามารถได้อย่างน่าสนใจว่า มีลักษณะเป็น "สองเด้ง" คือ หนึ่งนั้นเจ้าตัวไม่มีความรู้หรือทักษะที่คิดว่าตัวเองมี หรือหากจะมีก็น้อยกว่าที่ตัวเองคิดว่ามี
1
และสองคือ คนเหล่านี้ไม่มีประสบการณ์หรือความสามารถในการแยกแยะเพียงพอจะใช้บอกว่า ตัวเองไม่มีความรู้หรือทักษะที่ว่านั้น
ผมมีประสบการณ์เป็นกรรมการคัดเลือกนักศึกษาเข้ามาเป็นผู้ช่วยวิจัย หลายครั้งทีเดียวที่พบว่า นิสิตนักศึกษาที่จบจากสถาบันการศึกษาชั้นนำหรือมีชื่อเสียง มักจะเรียกค่าตัวสูงกว่านักศึกษาที่จบจากสถาบันที่ไม่ได้มีชื่อเสียงเท่าหรือไม่เก่าแก่เท่า บางครั้งแทบจะมากเป็นเท่าตัวทีเดียว
1
แต่พอเข้าสัมภาษณ์ นิสิตนักศึกษาที่จบจากสถาบันที่ดูจะเหนือกว่า กลับตอบคำถามหรือแสดงความสามารถออกมาได้ไม่มากเท่าหรือไม่ดีเท่ากับนักศึกษาจากสถาบันที่ไม่มีชื่อเสียงเท่า หรือบางทีก็ตอบได้มากน้อยเท่าๆ กัน
การประเมินความสามารถตัวเองให้ใกล้เคียงกับความจริง จึงเป็นทักษะที่จำเป็นเรื่องหนึ่งทีเดียว สำหรับสังคมสมัยใหม่ และผลกระทบจะยิ่งร้ายแรงหากเกิดขึ้นกับกรณีของผู้บริหารระดับสูงขององค์กรหรือประเทศ เพราะอาจมั่นใจว่า “มาถูกทางแล้ว” ทั้งๆ ที่ผิดทางอย่างสิ้นเชิง!
เอกสารอ้างอิง
[1] Anderson, C., Brion, S., Moore, D. A., & Kennedy, J. A. (2012). A status-enhancement account of overconfidence. Journal of Personality and Social Psychology, 103(4), 718–735.
[2] Dunning, D., Johnson, K., Ehrlinger, J., & Kruger, J. (2003). Why people fail to recognize their own incompetence. Current Directions in Psychological Science,12(3), 83-87. doi:10.1111/1467-8721.01235
โฆษณา