21 มิ.ย. 2022 เวลา 10:02 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์
The color out of space
ถ้าหากพูดถึงผลงานที่น่าจะเป็นที่รู้จักกันมากที่สุดเรื่องหนึ่งของนักเขียนอย่าง H.P. Lovecraft นั้น เรื่องสั้นอย่าง The color out of space ก็คงจะเป็นหนึ่งในชื่อที่ฟังแล้วคุ้นหูในแวดวงของนักอ่านทั้งชาวไทยและต่างประเทศอย่างแน่นอน
The color out of space หรือในชื่อไทย สีสันจากห้วงอวกาศ เป็นวรรณกรรมเรื่องสั้นแนวสยองขวัญวิทยาศาสตร์ จากปี ค.ศ.1927 โดยได้รับการตีพิมพ์ลงในนิตยสาร AMEZING STORIES ในเดือนกันยายนของปีเดียวกันนั่นเอง โดยเรื่องราวของ The color out of space ฉบับหนังสือจะกล่าวถึง เรื่องราวที่เล่าผ่านมุมมองของนักสำรวจรังวัด(นักสำรวจสำรวจที่ดิน)คนหนึ่งที่ได้เดินทางเข้ามายังที่ดินผืนหนึ่งที่ถูกเรียกว่า “ทุ่งต้องสาป”
โดยระหว่างที่เขากำลังพยายามหาข้อมูลเกี่ยวกับพื้นที่แห่งนี้อยู่ ตัวเขาเองก็ได้รับฟังเรื่องราวของ “ตระกูลการ์ดเนอร์” ผู้ที่เคยเป็นเจ้าของที่ดินผืนนี้มาก่อน และเรื่องราวของอุกาบาตปริศนาที่ตกลงมายังพื้นที่แห่งนี้ในปี ค.ศ.1882 ผ่านปากของชายชราในพื้นที่ซึ่งเคยอยู่ในเหตุการณ์ในครั้งนั้น อีกทั้งยังมีเรื่องเล่าที่เกิดขึ้นในพื้นที่แห่งนั้น ที่ทั้งแปลกประหลาด และน่าสะพรึงกลัวเกินความเข้าใจของมนุษย์
แต่ก่อนที่จะถลำลึกเข้าไปในเรื่องราวของหนังสือไปมากกว่านี้ จะขอกล่าวถึงภาพยนต์ที่ดัดแปลงมาจากต้นฉบับเสียก่อน หนังสือ The color out of space นั้น ถูกนำมาดัดแปลเป็นภาพยต์มาแล้วหลากหลายเรื่อง เช่น Annihilation จากปี 2018 ที่มีองค์ประกอบหลายอย่างที่ชวนให้นึกถึง The color out of spac หรือว่าจะเป็นภาพยนต์สัญชาติเยอรมันอย่าง Die Farbe จากปี 2010 แต่ในครังนี้จะขอกล่าวถึงเพียง Color out of space ฉบับปี 2019
โดยผู้กำกับ Richard Stanley และได้นักแสดงอย่าง Nicolas Cage มารับบทนำในเรื่อง โดยที่มีชื่อสุดเท่ในภาษาไทยอย่าง “มหัตภัยสีสยองโลก”
เรื่องราวของ Color out of space ฉบับภาพยนต์นี้จะไม่ได้เล่าเรื่องผ่านตัวละครที่เป็นนักสำรวจรังวัดจากปี 1927 อีกต่อไปแล้ว ทว่าจะเล่าเรื่องราวผ่านมุมมองของคนในครอบครัวการ์ดเนอร์ในยุคของศตวรรษที่ 21 ที่ต้องเผชิญกับเรื่องราวแปลกประหลาด ที่เกิดขึ้นหลังเหตการณ์ที่มีอุกาบาตตกลงมาในที่ดินของพวกเขา
เมื่อเราลองเทียบเรื่องราวจากทั้ง 2 ฉบับนี้ก็จะพบว่า แม้ว่าเวลาของฉบับวรรณกรรมเรื่องสั้นจะได้รับการตีพิมพ์และมีระยะเวลาห่างกับฉบับภาพยนต์ประมาณ 9 ทศวรรษ แต่ทั้งสองฉบับนั้นก็ยังคงเรื่องราวและประเด็นสำคัญต่างๆที่เหมือนกันแทบทั้งสิ้น
เพียงแต่ในฉบับภาพยนต์ของ Richard Stanley นั้นได้มีการปรับเปลี่ยนในเรื่องของเวลา และองค์ประกอบต่างๆ ให้เข้ากับยุคสมัยปัจจุบันได้อย่างน่าสนใจ กล่าวได้ว่า ทั้ง 2 ฉบับมันแทบจะเป็นเรื่องราวเดียวกันเลยเพียงแค่เกิดกันในคนละช่วงเวลาเพียงเท่านั้น
และอีกสิ่งหนึ่งที่ต้องขอชื่นชมสำหรับการดัดแปลงเป็นภาพยนต์ในครั้งนี้ ก็คงหนีไม่พ้นเรื่องของงานออกแบบ ที่ตีความสิ่งเหนือธรรมชาติจากปลายปากกาของ H.P. Lovecraft ได้อย่างน่าสนใจ ในตอนที่เราอ่านเป็นตัวหนังสือก็ต้องยอมรับว่ามันเป็นสิ่งที่ค่อนข้างที่จะจิตนาการตามได้ยากในระดับหนึ่งเลยทีเดียว แต่ทว่าในฉบับภาพยนต์ก็สามารถรังสรรค์สิ่งต่างๆ
ออกมาในรูปแบบที่มนุษย์อย่างเราพอจะเห็นมันออกมาได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น หรือจะเรียกว่าเป็นการทำให้ภาพในหัวของผู้ชมนั้นไปในทิศทางเดียวกันมากขึ้น อีกทั้งยังต้องขอชื่นชมเหล่านักแสดงในเรื่องที่ล้วนถ่ายทอดเรื่องราวออกมาได้อย่างเป็นธรรมชาติ
หลังจากที่ผู้เขียนได้อ่านทั้งฉบับหนังสือและรับชมทั้งฉบับภาพยนตร์ ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วนั้น แต่ตัวผู้เขียนกลับบอกไม่ได้เลยว่าชอบฉบับไหนมากกว่ากัน เพราะว่าทั้ง 2 แบบนั้นต่างมีเทคนิคการเล่าเรื่องที่ต่างกันอยู่มาก เลยทำให้ยากที่จะระบุได้ว่าแบบไหนดีกว่าแบบไหน เอาเป็นว่าในความคิดเห็นของผู้เขียนนั้น ก็อยากแนะนำว่า
หากต้องการที่จะรู้สึกถึงงานเขียนตามแบบฉบับของ H.P. Lovecraft ก็ขอแนะนำให้ไปหาหนังสืออ่าน แต่ทั้งนี้ผู้เขียนก็อยากจะบอกว่าหนังสื่อเล่มนี้อาจจะแตกต่างจากงานวรรณกรรมทั่วไปในยุคสมัยนี้อยู่มากทีเดียว
ซึ่งปัจจุบันมีฉบับภาษาไทยตีพิมพ์ออกมาแล้วโดยสำนักพิมพ์เวลา แต่สำหรับใครที่อาจจะไม่ถนัดที่จะอ่านผลงานอายุเกือบ 100 ปี ก็สามารถที่จะหาชมภาพยนต์แทน ก็ไม่ถือเป็นทางเลือกที่แย่และหาดูได้ทางบริการของ Netflix แม้ว่าตัวภาพยนต์นั้นอาจจะไม่ได้เหมาะกับคนที่ไม่ถูกกับหนังสยองขวัญมากนักก็ตาม แต่สุดท้ายนี้ก็คงต้องกล่าวว่า
The color out of space นั้นก็ยังคงผลงานที่ควรค่าแก่การสัมผัสสักครั้งในชีวิต ไม่ว่าจะแบบหนังสือหรือภาพยตน์ก็ตาม
Toy : เขียน
Adama : งานศิลป์
#Thecoloroutofspace
#HPLovecraft
#สีสันจากห้วงอวกาศ
โฆษณา