2 ต.ค. 2022 เวลา 06:00 • สุขภาพ
จังหวะชีวิตของผู้ที่วัยเกิน 60 ปี | พสุ เดชะรินทร์
ถ้าเอ่ยถึงผู้สูงวัย หรือผู้ที่เลยวัยเกษียณ ก็มักจะนึกถึงผู้อายุเกิน 60 ปี ซึ่งกลุ่มผู้สูงวัยเหล่านี้เป็นกลุ่มที่มีความสำคัญต่อธุรกิจมากขึ้นเรื่อยๆ ตัวเลขสถิติต่างๆ ล้วนยืนยันถึงความสำคัญของคนกลุ่มนี้
1
จังหวะชีวิตของผู้ที่วัยเกิน 60 ปี
เมื่อต้นปีนี้ มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย ได้ออกมาระบุว่าในปี 2565 ประเทศไทยได้ก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ โดยมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 20% ของประชากรทั้งประเทศ และในปี 2574 จะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด โดยมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 28% ของประชากรทั้งประเทศ
อย่างไรก็ดี เริ่มมีอีกมุมมองหนึ่งว่าการเหมารวมผู้ที่เกิน 60 ปี เป็นผู้สูงวัยนั้นอาจจะไม่เหมาะสม เนื่องจากพัฒนาการแพทย์ที่ดีขึ้น และการรู้จักที่จะดูแลสุขภาพของคนไทย ทำให้ทั้งอายุเฉลี่ยของคนไทยเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งถึงแม้จะเข้าสู่กลุ่มสูงวัยแล้ว บุคคลกลุ่มนี้จำนวนมากก็ยังใช้ชีวิตอย่างคล่องแคล่ว กระฉับกระเฉง และมีคุณภาพ
1
สำหรับคนไทยที่ดูแลสุขภาพตนเองอย่างดีนั้นการใช้ชีวิตหลังวัยเกษียณอย่างคล่องแคล่ว กระฉับกระเฉง อย่างน้อยอีก 20-25 ปีได้กลายเป็นเรื่องปกติ และจำนวนไม่น้อยที่ได้ใช้ช่วงเวลาหลังเกษียณในการเรียนรู้และทำสิ่งใหม่ๆ ที่ไม่ได้มีโอกาสทำในช่วงของวัยทำงาน
ขณะเดียวกัน ทางภาคธุรกิจก็เริ่มตระหนักถึงความสำคัญของคนกลุ่มนี้มากขึ้น บางบริษัทในต่างประเทศก็เริ่มจัดให้มีโครงการ Returnship (เป็นโครงการที่คล้ายกับ Internship แต่สำหรับผู้ที่มีประสบการณ์ในการทำงานมาก่อน)
เช่น โปรแกรม Re-Ignite ที่ Johnson & Johnson หรือ Reentry Program ที่ J.P. Morgan ซึ่งเป็นโครงการสำหรับผู้ที่เลยวัยเกษียณแต่ยังอยากจะเรียนรู้ในสิ่งใหม่ๆ และสามารถสร้างคุณค่าให้กับผู้อื่นได้
2
ล่าสุด มีหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ Stage (Not Age) เขียนโดย Susan Wilner Golden ได้นำเสนอแนวคิดว่าเพื่อทำความเข้าใจต่อกลุ่มผู้ที่อายุเกิน 60 ปีนั้น แทนที่จะใช้ช่วงอายุมาเป็นเกณฑ์ในการพิจารณา ควรจะใช้สิ่งที่เรียกว่า Stage มาพิจารณาแทน (ขอใช้คำว่า “จังหวะชีวิต” เป็นคำแปลแทน)
2
คุณ Susan ได้แบ่ง Stage ในชีวิตคนเราออกเป็น 18 จังหวะชีวิตด้วยกัน ประกอบด้วย 1. Starting 2. Growing 3. First launch 4. Experimenting 5. Continuous learning 6. Developing financial security 7. Parenting/family 8. Caregiving 9. Optimizing health 10. Repurposing 11. Relaunching 12. Resetting life priorities 13. Transition 14. Portfolio 15. Renaissance 16. Sidepreneur 17. Legacy 18. End of life
ในแต่ละช่วงอายุของคนก็จะสามารถมีได้มากกว่าหนึ่งจังหวะชีวิต และจังหวะชีวิตหนึ่งอาจจะปรากฏในหลายช่วงอายุก็ได้ สำหรับผู้ที่อายุเกิน 60 ปีนั้น ถ้าเหมารวมว่าเป็นผู้สูงวัยก็อาจจะทำให้ไม่เห็นภาพที่ถูกต้องและชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมุมมองของการตลาด
ดังนั้น ในหนังสือเล่มนี้ก็ระบุไว้ว่าสำหรับผู้ที่อายุเกิน 60 ปีนั้นอาจจะมีจังหวะชีวิตที่หลากหลายและแตกต่าง เช่น อาจจะอยู่ในจังหวะของการ Repurposing ที่จะเลือกมุ่งเน้นทำในสิ่งที่ตอบสนองต่อค่านิยมและทัศนคติหลักของตนเอง โดยการทำงานเพื่อตอบแทนสังคมมากขึ้น แทนที่จะทำงานเพื่อผลตอบแทนเหมือนในอดีต
หรืออาจจะอยู่ในช่วงจังหวะ Sidepreneur ที่เมื่อเลยวัยเกษียณแล้วก็ต้องการจะเป็นผู้ประกอบการและเริ่มต้นธุรกิจของตนเองขึ้นมา หรือจังหวะของการเป็น Caregiving ที่ต้องดูแลพ่อแม่ที่สูงอายุ หรือหลานเล็กๆ หรือจังหวะของการ Continuous learning ที่เริ่มเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ในวัยเกษียณ เช่น ดนตรี ศิลปะ ดำน้ำ โปรแกรมคอมพิวเตอร์ เป็นต้น
2
ดังนั้น แทนที่ธุรกิจจะเซกเมนต์กลุ่มวัย 60 ปีขึ้นไปเป็นผู้สูงอายุอย่างเดียว แต่ใช้จังหวะชีวิตเป็นเกณฑ์ในการแบ่ง Segmentation ของคนวัยนี้ ก็จะสามารถพัฒนาสินค้าและบริการ ที่ตอบสนองกลุ่มเป้าหมายในแต่ละเซกเมนต์ได้ดีขึ้น
เช่น แทนที่จะนึกถึงแต่เรื่องการดูแลสุขภาพของคนในวัยนี้ อาจจะมีบริการที่เน้นการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ หรือบริการที่เพิ่มช่องทางในการให้คนกลุ่มนี้ได้ช่วยเหลือสังคมเพิ่มขึ้น หรือการให้บริการปรึกษาสำหรับการเริ่มต้นธุรกิจสำหรับผู้ที่มีอายุเกิน 60 ปีขึ้นไป เป็นต้น
บทความโดย: รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์ | คอลัมน์ #มองมุมใหม่
*หมายเหตุ บทความนี้เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 21 มิ.ย. 2565
โฆษณา