23 มิ.ย. 2022 เวลา 01:55 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
ทำยังไงให้เป็นผู้นำที่คนรัก?
Photo by Markus Spiske on Unsplash
ใครๆ ก็อยากเป็น “ผู้นำ” อยากได้ชื่อว่าเป็นผู้นำที่เก่ง มีคนยกย่องนับถือ แต่มีน้อยคนที่จะไปถึงระดับนั้นได้ ไม่ว่าจะในระดับองค์กร บริษัท หรือประเทศ
น่าสงสัยว่า “ผู้นำมากบารมี” (พจนานุกรมให้ความหมายว่า “บารมี” คือ คุณสมบัติที่ทำให้ยิ่งใหญ่) ที่คนให้ความเคารพรัก นับถือ ยกย่องอย่างจริงใจ มีอะไรที่ไม่เหมือนกับผู้นำที่เหลือที่คนไม่ชอบใจกันแน่?
คุณสมบัติของผู้นำที่ดีนั้น มีหนังสือและภาพยนตร์ที่เกี่ยวข้องอยู่มากมายนะครับ และดูเหมือนจะมีมากจนจาระไนกันไม่หวาดไม่ไหว
เคธี คาพริโน (Kathy Caprino) ที่มีอาชีพเป็นโค้ชสอนการเป็นผู้นำ นักเขียน และนักพูด กล่าวไว้ในบทความชิ้นหนึ่งของเธอในนิตยสารฟอร์บส์ว่า
“ดิฉันเห็นว่าหนึ่งในอุปนิสัยร่วมที่พบในตัวคนเหล่านี้ (ผู้นำมากบารมี) ที่ทำให้ต่างจากผู้นำอื่นก็คือ พวกเขาให้เกียรติผู้อื่นอย่างลึกซึ้ง พวกเขาแสดงให้เห็นถึงการให้เกียรติในหลายรูปแบบ ซึ่งก็รวมทั้งการให้การยอมรับและเห็นคุณค่าในแนวคิด ความเห็น ความแตกต่าง และมุมมองต่อโลกของผู้อื่น และพวกเขาแสดงความเห็นอกเห็นใจและให้เกียรติกับคนแต่ะคนที่พวกเขาพบเจอ”
ผู้นำเหล่านี้ให้เกียรติคนอื่นทั้งต่อหน้าและลับหลัง คนพวกนี้ไม่สติแตกเวลาคนอื่นบอกว่า พวกเขาทำอะไรไม่เข้าท่าหรือทำผิดพลาดอยู่ แต่จะรับฟังและนำไปคิดต่อ
Photo by Brooke Lark on Unsplash
ถ้าหากไม่ให้เกียรติลูกน้องหรือคนอื่นๆ ที่ทำงานด้วย คนเหล่านั้นก็จะทำตัวตีห่างและแปลกแยกออกไป แทนที่จะคอยสนับสนุนและทำตาม แล้วจะเหลือใครให้นำอีกได้?
สุดท้ายก็จะเหลือแต่คนที่ไม่ได้นับถือผู้นำแบบนี้หรอก แต่ทนอยู่ด้วยได้ เพราะต้องการประโยชน์บางอย่าง
นี่อาจมองในอีกมุมหนึ่งก็ได้ว่าเป็นการ “หลอกใช้” ผู้นำ....ก็คงไม่ผิดเช่นกัน
นีลส์ แวน ควอคิวเบก (Niels van Quaquebeke) ที่เป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ในภาควิชาการจัดการองค์กรและบุคคลของมหาวิทยาลัยการจัดการรอตเทอร์แดนต์ เคยสำรวจในลูกจ้าง 500 คน [1] เรื่องการให้เกียรติและการแสดงออกในเรื่องนี้
โดยตั้งเป็นคำถามว่า “ผู้นำที่ควรแก่การเคารพนับถือมีลักษณะเช่นใด” และให้เขียนบรรยายลักษณะของผู้นำมากบารมีเหล่านี้มีว่า มีอุปนิสัยที่แสดงออกมาให้เห็นอย่างไร
เมื่อนำข้อมูลมาจับกลุ่มคำตอบ ก็ทำให้ได้คำบรรยายที่แสดงถึงมาตรฐานที่คล้ายคลึงกันรวม 149 แบบ ซึ่งเมื่อนำมาวิเคราะห์และจับกลุ่มให้เหลือน้อยลงอีก ก็จะกลายเป็น 12 อุปนิสัย ซึ่งผมจับมัดรวมห่อให้เหลือแค่ 3 กลุ่มดังนี้คือ
กลุ่มอุปนิสัยแรกคือ แสดงตัวว่า “เห็นหัว” ลูกน้องหรือเพื่อนร่วมงาน ประกอบด้วย (1) แสดงความสนใจจริงจังต่อความคิดเห็นและการประเมินเรื่องต่างๆ ของลูกน้อง (2) ให้ข้อมูลอะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับลูกน้องกับลูกน้องคนนั้น
(3) ปฏิบัติต่อกันอย่างสุภาพ (4) เห็นความสำคัญของงานที่ลูกน้องทำ และ (5) มองตัวลูกน้องและงานที่ทำว่าเป็นเรื่องจริงจัง
Photo by Austin Distel on Unsplash
กลุ่มที่สอง “เชื่อมือ” ได้แก่ (6) เชื่อความสามารถและยอมให้ลูกน้องทำงานอย่างอิสระได้เอง (7) มองคนที่ทำงานด้วยเป็นคนโตๆ กันแล้ว ไม่ใช่ลูกแหง่
(8) วิจารณ์ผลงานอย่างสร้างสรรค์และเปรียบเทียบกับเป้าหมายที่ตั้งไว้
อุปนิสัยกลุ่มสุดท้ายคือ “กางปีกปกป้อง” ประกอบด้วย (9) ปฏิบัติต่อกันอย่างเปิดเผยและซื่อสัตย์ (10) ปฏิบัติต่อกันอย่างยุติธรรม
(11) ไม่โบ้ยความรับผิดชอบให้ลูกน้องสำหรับความผิดที่ตัวเองทำ และ (12) แสดงออกอย่างชัดแจ้งว่า ยืนเคียงข้างและสนับสนุนลูกน้องต่อหน้าคนนอก
เมื่อมองโดยรวมๆ แล้ว จึงยุบทั้ง 3 กลุ่มของ 12 อุปนิสัยดังกล่าวเหลือได้แค่ว่า ผู้นำที่ดีต้อง “ให้เกียรติ” กับลูกน้องและเห็นความสำคัญของงานที่พวกเขาทำนั่นเอง
คุณนีลส์แกย้ำว่า ความเป็นผู้นำเกี่ยวข้องสัมพันธ์อยู่กับผู้คน ไม่ใช่เรื่องของการตั้งเป้าหมายองค์กร หรือการบังคับให้ปฏิบัติงานเพื่อให้ได้ตามเป้าหมายเหล่านั้น ซึ่งเมื่อทำงานไป ผู้นำองค์กรก็มักจะพลาดเรื่องนี้บ่อยครั้งโดยไม่ระวัง
การวัดระดับความเป็นผู้นำแบบหนึ่งจึงใช้การวัดระดับการยอมรับที่จะ “เดินตาม” โดยลูกน้องนั่นเอง
Photo by Jehyun Sung on Unsplash
บารมีของผู้นำจึงเป็นผล (อย่างน้อยก็ส่วนหนึ่ง) จากการให้เกียรติกับคนที่ทำงานด้วยนั่นเอง
ลำพังแค่การให้เกียรติและสื่อสารกันอย่างเปิดเผย จะส่งผลดีได้มากแค่ไหนกันเชียว? อาจมีคนสงสัยในเรื่องนี้
คริสทีน พอรัธ (Christine Porath) ที่เขียนเรื่อง อุปนิสัยผู้นำที่สำคัญสุดต่อลูกจ้าง (The Leadership Behavior That’s Most Important to Employee) มองว่าเรื่องการให้เกียรติกัน ไม่เพียงแต่ทำให้ลูกน้องเคารพผู้นำคนนั้นเท่านั้น แต่ยังส่งผลดีอื่นๆ ต่อทุกคนรอบตัวอีกด้วย
เธอเล่าไว้ในหนังสือเล่มดังกล่าวว่า
“....ในการศึกษาลูกจ้างเกือบ 20,000 คนทั่วโลก ... พบว่าเรื่องของการมีส่วนร่วมและความผูกพันของลูกจ้าง มีสิ่งหนึ่งที่ผู้นำจำเป็นต้องแสดงออกให้เห็นคือ “การให้เกียรติ”
ไม่มีอุปนิสัยอื่นใดของผู้นำอีกแล้วที่ส่งผลต่อลูกจ้างได้เท่านี้ ไม่ว่าจะใช้วิธีการตรวจวัดแบบใดก็ตาม
การได้รับการปฏิบัติต่ออย่างให้เกียรติ สำคัญกับพวกลูกจ้างเหนือกว่าการแสดงการจดจำได้และการแสดงความชื่นชมเสียอีก
การสื่อสารช่วยทำให้เห็นวิสัยทัศน์ที่สร้างแรงบันดาลใจ ช่วยทำให้เกิดผลตอบกลับที่มีประโยชน์ หรือแม้แต่เปิดโอกาสให้เกิดการเรียนรู้ เติบโต และพัฒนาการ
อย่างไรก็ตาม
แม้ว่าบรรดาผู้นำต่างรู้ว่า การแสดงออกถึงการให้เกียรติเป็นเรื่องสำคัญยิ่งยวด แต่ผู้นำจำนวนมากก็ยังแสดงออกแบบนี้ไม่เป็น”
ผลดีข้อแรกของการให้เกียรติกับผู้ใต้บังคับบัญชาคือ ช่วยเพิ่มการมีส่วนร่วมและความผูกพันจากคนรอบตัว แต่ยังไม่หมดนะครับ ยังมีข้อดีอื่นอีก
การศึกษาของศูนย์ความเป็นผู้นำอย่างสร้างสรรค์ (The Center For Creative Leadership) ในสหรัฐอเมริกาพบว่า การให้เกียรติคนอื่นๆ จนเป็นกิจวัตรได้รับการคัดเลือกให้เป็นอุปนิสัยที่มีส่วนช่วยมากที่สุดในการจัดการกับข้อขัดแย้งและความตึงเครียดที่เกิดขึ้นในองค์กร ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่ต้องเกิดขึ้น
ยิ่งองค์กรมีขนาดใหญ่ก็ยิ่งพบได้มาก
เคลลี ฮันนัม (Kelly Hannum) ผู้ร่วมเขียนหนังสือ “การนำก้าวผ่านความแตกต่าง: กรณีศึกษา (Leading Across Differences: Casebook)” ระบุว่า
“การละเลิกนิสัยไม่ให้เกียรติคนอื่น เช่น การทำตัวหยาบคาย การดูถูก หรือการใช้คำเหยียดหยาม ซึ่งล้วนไม่ช่วยสร้างความเคารพนับถือทั้งนั้น แต่การแสดงออกอย่างให้เกียรติคือ การลงมือทำให้เห็นว่าให้เกียรติ การพูดจาอย่างให้เกียรติ
ผู้นำจำเป็นต้องรู้ว่าการไม่ได้แสดงว่าไม่ให้เกียรติ ไม่ได้ส่งผลดีในกรณีการแก้ปัญหาความไม่ลงรอยกัน ความขัดแย้งกัน หรือความตึงเครียดต่อกัน ต่างกับการแสดงออกว่าให้เกียรติ”
ดังนั้น ข้อดีอีกข้อของการให้เกียรติลูกน้องก็คือ ช่วยให้ลดความขัดแย้งหรือความตึงเครียดที่เกิดขึ้นในที่ทำงานได้
แต่ยังไม่หมดนะครับ ข้อดีอีกข้อหนึ่งก็คือ ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า การให้เกียรติกับเพื่อนร่วมงานและลูกน้องช่วยเป็นเข็มทิศให้คนเหล่านั้นทำสิ่งที่ถูกต้องด้วย
ลอลลี่ แดสกัล (Lolly Daskal) เขียนบทความเรื่อง “6 วิธีที่จะได้รับความนับถือในฐานะผู้นำ (6 Ways To Earn Respect As A Leader)” ระบุว่า มีอุปนิสัยแบบหนึ่งที่จะช่วยทำให้ผู้นำได้รับความยอมรับนับถือ
นั่นก็คือ ความไว้เนื้อเชื่อใจ (trustworthiness)
“ความไว้เนื้อเชื่อใจมีองค์ประกอบ 2 อย่างคือ ทำสิ่งที่ถูกต้องและทำอย่างถูกต้อง (doing the right things and doing thing right) นี่คือรากฐานที่ทำให้เกิดความนับถือ เป็นศูนย์รวมของความเป็นผู้นำที่เก่งกาจ
ฉะนั้น ผู้นำต้องบอกความจริง เปิดเผย และคิดให้เยอะ รวมทั้งมีความกล้าหาญที่จะทำสิ่งที่ถูกต้อง แม้ว่าจะไม่ง่ายเลย”
การไม่รับผิดชอบต่อการตัดสินใจที่ผิดพลาด เป็นเครื่องหมายของการหลงตัวเอง และคนที่ไม่พร้อมรับผิดจากการตัดสินใจของตัวเอง
อย่างน้อยก็ทำให้ผู้คนผิดหวัง แต่อาจแย่ไปกว่านั้นคือ อาจส่งผลกระทบแบบทำลายล้างอย่างเลวร้ายได้เลยทีเดียว
พวกหลงตัวเองมักจะมีข้ออ้างเรื่องผลลัพธ์ว่า สมเหตุสมผลดีแล้ว มักใช้คำพูดแบบอวดโอ่ความสำเร็จจนเกินจริง
คนพวกนี้มักจะมองว่าตัวเองฉลาดกว่า เก่งกว่า มีค่ามากกว่าคนอื่นๆ และด้วยเหตุนี้การกระทำทุกอย่างที่ทำไป แล้วจึง...เหมาะสมด้วยประการทั้งปวง
ทั้งหมดที่ว่ามาแสดงให้เห็นถึงอาการขาดความฉลาดทางอารมณ์ (emotional intelligence) ทั้งสิ้น
Photo by Nick Fewings on Unsplash
จะขอจบด้วยงานวิจัยที่ทำในประเทศเพื่อนบ้านคือมาเลเซียนี่เอง [2] นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมาเลเซีย ทำแบบสอบถามในหมู่คนที่ทำงานในมหาวิทยาลัยแห่งนั้น โดยได้รับแบบสอบถามที่ตอบคำถามครบถ้วนพอจะนำมาวิเคราะห์ได้ 93 ชุด
ผลลัพธ์ที่ได้คือ มีความสัมพันธ์ชัดเจนระหว่างการมีผู้นำที่เปิดกว้าง รับฟังความคิดเห็น (ซึ่งแน่นอนว่าเป็นการให้เกียรติแบบหนึ่ง) กับระดับความพึงพอใจในงานของบรรดาพนักงาน
นอกจากนี้ ยังสัมพันธ์กับการแสดงความเคารพนับถือผู้บริหารในฐานะผู้นำอีกด้วย
การเปิดโอกาสให้ลูกน้องมีส่วนร่วมในการบริหาร จึงเป็นเคล็ดไม่ลับในการสร้าง “บารมี” ให้กับผู้นำในทางอีกทางหนึ่งด้วย
คงไม่เป็นการเกินเลยที่จะขยายขอบเขตออกไปอีกสักหน่อยว่า การบริหารประเทศก็ไม่น่าจะแตกต่างกัน ประชาชนต้องการผู้นำที่รับฟังและให้เกียรติประชาชน สิ่งนี้ต้องมาก่อนและหากทำได้สำเร็จ ประชาชนก็พร้อมที่จะร่วมหัวจมท้ายไปกับรัฐบาลในการทำสิ่งต่างๆ
ในทางกลับกัน หากผู้นำทำตัวขาดไร้วุฒิภาวะทางอารมณ์ เอาแต่ใจ ไม่ฟังใคร ก็คงยากจะซื้อใจและสร้าง “บารมี” ให้เกิดการยอมรับขึ้นได้ในหมู่ประชาชนอย่างแน่นอน
เอกสารอ้างอิง
[1] Neils van Quaquebeke (2011) Defining Respectful Leadership. RSM Insight, 1st Quarter 2011.
[2] Sara Ghaffari et al (2017) The Influence of Respect for Employees on the Relationship between Participative Leadership and Job Satisfaction: A Case Study at Universiti Teknologi Malaysia. Australian Journal of Basic and Applied Sciences. 11, 7-9.

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา