23 มิ.ย. 2022 เวลา 05:36 • คริปโทเคอร์เรนซี
คริปโต คืออะไร สรุป 10 เรื่อง Cryptocurrency แบบง่ายๆ ฉบับมือใหม่ควรรู้
1
คริปโทเคอร์เรนซี ฉบับมือใหม่ เข้าใจง่าย
Cryptocurrency คืออะไร ทำความเข้าใจเรื่องสกุลเงินดิจิทัลฉบับมือใหม่ที่เพิ่งเริ่มศึกษา มีข้อมูลอะไรที่เราควรรู้บ้าง
ชั่วโมงนี้ใคร ๆ ต่างก็พูดถึง "คริปโทเคอร์เรนซี" (Cryptocurrency) แต่คนที่ไม่ได้มีความสนใจเรื่องนี้อยู่ก่อนแล้วคงมีคำถามเกิดขึ้นมากมายในหัว เมื่อเจอคำว่า คริปโต, บิตคอยน์, อีเธอเรียม, บล็อกเชน, โทเคน ฯลฯ วันนี้เราจึงรวบรวมข้อมูลที่มือใหม่ควรรู้มาอธิบายแบบง่าย ๆ ให้ลองทำความเข้าใจกันเบื้องต้น
1. คริปโต คืออะไร
คริปโต คืออะไร
คริปโต หรือชื่อเต็ม ๆ ว่า คริปโทเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) คือ "สกุลเงินดิจิทัล" เกิดจากการรวมศัพท์ 2 คำเข้าไว้ด้วยกัน คือ Cryptography (การเข้ารหัส) และ Currency (สกุลเงิน)
ดังนั้นทางราชบัณฑิตยสภาจึงกำหนดศัพท์บัญญัติของคำนี้ไว้ว่า "สกุลเงินเข้ารหัส" เพราะการทำธุรกรรมต่าง ๆ ของสกุลเงินนี้จะต้องผ่านบล็อกเชน (Blockchain) ที่มีการเข้ารหัสไว้เพื่อความปลอดภัย ทั้งนี้ คริปโตถือเป็น "สินทรัพย์ดิจิทัล" (Digital Asset) รูปแบบหนึ่ง
2. คริปโทเคอร์เรนซี ต่างจากสกุลเงินปกติอย่างไร
สกุลเงินปกติ หรือที่เรียกว่า เงินเฟียต (Fiat) เป็นเงินที่ออกโดยธนาคารกลางของแต่ละประเทศ เพื่อใช้ทำธุรกรรมทางการเงินได้ถูกต้องตามกฎหมาย มีทั้งแบบเหรียญและธนบัตร สามารถจับต้องได้ ใช้จ่ายเป็นเงินสด หรือจ่ายผ่านระบบออนไลน์ก็ได้ แต่เงินเหล่านี้จะไม่มีมูลค่าในตัวของมันเองหากรัฐบาลไม่ได้รับรอง
ในขณะที่สกุลเงินดิจิทัลก็ใช้เป็นสื่อกลางในการซื้อ-ขายแลกเปลี่ยนเหมือนกับเงินเฟียต แต่บุคคลทั่วไปหรือภาคเอกชนเป็นผู้ออกเหรียญ ไม่ใช่รัฐเป็นผู้กำหนดขึ้น และเป็นเงินที่ไม่สามารถจับต้องได้เหมือนเหรียญ-ธนบัตรทั่วไป เพราะทำธุรกรรมกันผ่านระบบบล็อกเชน ทั้งนี้ เงินดิจิทัลจะมีมูลค่าก็ต่อเมื่อมีคนให้ค่าของเงินสกุลนั้น
3. คริปโต ทำงานอย่างไร
คริปโต ทำงานอย่างไร
คริปโทเคอร์เรนซีถูกสร้างขึ้นมาเพื่อใช้เป็นตัวกลางในการซื้อ-ขายแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการต่าง ๆ ด้วยจุดประสงค์คือ ต้องการลดการรวมศูนย์ของระบบการชำระเงินผ่านสถาบันการเงิน หรือที่เรียกว่า Decentralized โดยทำงานผ่านระบบบล็อกเชน ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการเก็บข้อมูลที่ถูกเข้ารหัสไว้ และเชื่อมโยงกันคล้ายห่วงโซ่
ลองนึกถึงสกุลเงินทั่วไป (Fiat Currency) เวลาเราจะโอนเงินบาท เงินดอลลาร์ ก็ต้องดำเนินการผ่านตัวกลาง คือ ธนาคาร ในขณะที่คริปโทเคอร์เรนซีสามารถกระจายเงินเหล่านั้นไปให้คนอื่นได้ทั่วโลกโดยไม่ต้องผ่านธนาคาร แต่ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนเป็นตัวช่วย เวลาเราทำธุรกรรมก็จะมีผู้ใช้งานอื่น ๆ มาช่วยยืนยันให้ต่อกันเป็นทอดๆ ซึ่งมีข้อดีก็คือ
  • ต้นทุนต่ำ เสียค่าธรรมเนียมน้อยกว่าการทำธุรกรรมทางการเงินแบบปกติ
  • การทำธุรกรรมมีความรวดเร็ว ไม่ต้องผ่านตัวกลาง
  • มีความโปร่งใส สามารถตรวจสอบย้อนหลังได้ เนื่องจากเมื่อข้อมูลถูกบันทึกไว้แล้ว การจะเข้ามาแก้ไขหรือปลอมแปลงนั้นทำได้ยาก
  • ค่อนข้างปลอดภัย เพราะข้อมูลไม่ได้รวมอยู่ที่ตัวกลางใดตัวกลางหนึ่ง แต่เป็นการกระจายข้อมูลหลาย ๆ ตำแหน่ง ซึ่งในการทำธุรกรรมแต่ละครั้งต้องใช้คอมพิวเตอร์นับล้าน ๆ เครื่องเพื่อยืนยันข้อมูล ดังนั้นหากมีข้อมูลส่วนไหนถูกแฮกขึ้นมาก็จะรู้ได้ทันที
  • สามารถทำธุรกรรมได้ตลอด 24 ชั่วโมง ไม่มีวันหยุด
4. คริปโต กับ โทเคน ต่างกันยังไง
คริปโทเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) และดิจิทัลโทเคน (Digital Token) ต่างก็เป็นสินทรัพย์ดิจิทัลเหมือนกัน โดยมีความแตกต่างกันคือ
| คริปโทเคอร์เรนซี
คือสกุลเงินที่พัฒนาขึ้นมาจากเครือข่ายบล็อกเชนของตัวเอง จึงสามารถขุดเหรียญได้ มีหน้าที่คล้ายกับการใช้เงินจริง คือ เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการตามที่ให้ค่ากัน ตัวอย่างเช่น บิตคอยน์, อีเธอเรียม, BNB, Cardano
| ดิจิทัลโทเคน
เป็นเหรียญที่สร้างขึ้นมาบนบล็อกเชนของคนอื่น เช่น สร้างบนเครือข่าย Ethereum ด้วยจุดประสงค์ที่เฉพาะเจาะจงกว่าคริปโทเคอร์เรนซี ขึ้นอยู่วัตถุประสงค์ของผู้ออกเหรียญ สามารถแบ่งได้หลายรูปแบบ คือ
  • Utility Token คือ โทเคนที่ให้สิทธิ์ในสินค้าและบริการที่ตกลงกันไว้ เช่น ถ้าเราจะใช้บริการของเขา จะต้องมีโทเคนของเขา คล้ายกับการแลกคูปองในศูนย์อาหารเพื่อซื้ออาหารของทางห้างสรรพสินค้า หรือซื้อ Voucher ไว้ล่วงหน้าแล้วนำไปใช้บริการทีหลัง
  • Investment Token เป็นโทเคนที่ให้เรามีสิทธิ์เข้าร่วมลงทุน หรือได้รับผลตอบแทน เช่น เงินปันผล กำไรจากการถือเหรียญ
  • Security Token คือการนำสินทรัพย์จริง ๆ เช่น อสังหาริมทรัพย์ มาเปลี่ยนให้เป็นโทเคน (Tokenize) เพื่อให้ทุกคนมีโอกาสเป็นเจ้าของทรัพย์สินได้ง่ายขึ้น และจะมีเกณฑ์ที่แยกออกไปในการควบคุมดูแลสินทรัพย์ที่ต่างกัน
  • NFT (Non Fungible Token) คือ สินทรัพย์ดิจิทัลที่มีชิ้นเดียวในโลก ไม่สามารถทดแทนกันได้ เป็นสินทรัพย์ที่มีความเฉพาะตัวสูง เช่น ผลงานศิลปะ หรือที่เรียกว่า Crypto Art ภาพถ่าย ภาพ Meme เพลง วิดีโอ ของสะสม การ์ดเกม กีฬา การ์ตูน รวมทั้งงานแฟชั่นด้วย
5. เหรียญคริปโต มีอะไรบ้าง
ถ้าจะนับกันจริง ๆ คงมีมากกว่า 10,000 เหรียญ ซึ่งพอจะจำแนกออกเป็นกลุ่ม ๆ ได้ดังนี้
| 1. กลุ่ม Currency
คือเหรียญที่ใช้สำหรับซื้อ-ขาย แลกเปลี่ยนสินค้าและบริการแทนสกุลเงินปกติ โดยสามารถเก็บรักษามูลค่าได้ และมักมีจำนวนจำกัด ไม่สามารถเพิ่มจำนวนได้อีก ยิ่งคนต้องการมากเท่าไร มูลค่าของเหรียญก็จะเพิ่มขึ้น
ตัวอย่างเหรียญ : Bitcoin (BTC), Litecoin (LTC), Bitcoin Cash (BCH)
| 2. กลุ่มสัญญาอัจฉริยะ (Smart Contract)
คือเหรียญที่เป็นเครือข่ายบล็อกเชนที่รองรับการใช้สัญญาอัจฉริยะ (Smart Contract) ซึ่งพัฒนาต่อยอดไปได้หลายอย่าง เช่น การสร้างแอปพลิเคชันแบบกระจายศูนย์ ไม่มีตัวกลาง (DApps) การให้บริการทางการเงินบนบล็อกเชนโดยไม่ต้องพึ่งพาธนาคารที่เรียกว่า DeFi (Decentralized Finance) รวมทั้งการวางขายผลงานต่างๆ ในรูปแบบ NFT ที่กำลังได้รับความนิยม
ตัวอย่างเหรียญ : Ethereum (ETH), Cardano (ADA), Polkadot (DOT), Solana (SOL), Bitkub Coin (KUB), Binance Coin (BNB)
| 3. กลุ่ม Stablecoin
คือเหรียญที่อ้างอิงกับค่าเงินหรือสินทรัพย์บางอย่างไว้ เช่น อ้างอิงกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ อ้างอิงกับราคาทอง ราคาน้ำมัน เพื่อตรึงมูลค่าของเหรียญไม่ให้ผันผวนสูงเหมือนกับเหรียญคริปโตทั่วๆ ไป
ตัวอย่างเหรียญ : Tether (USDT), USD Coin (USDC), Dai (DAI)
| 4. กลุ่ม DeFi
เป็นเหรียญในระบบ Decentralized Finance คือ การเงินแบบไม่รวมศูนย์ หรือที่เรียกกันว่า "โทเคน" (Token) ซึ่งแต่ละเหรียญก็มีวัตถุประสงค์การใช้งานแตกต่างกันไป
ตัวอย่างเหรียญ : Uniswap (UNI), ALPHA, SushiSwap (SUSHI), Pancakeswap (CAKE)
| 5. กลุ่ม GameFi
สายเกมต้องรู้จักเหรียญกลุ่มนี้ เพราะถูกสร้างขึ้นมาเพื่อใช้สำหรับการเล่นเกมบนเครือข่ายบล็อกเชน ซึ่งผู้เล่นจะต้องใช้เหรียญของเกมซื้อไอเทมต่างๆ และยังสามารถสร้างรายได้จากเกมได้เองด้วย
ตัวอย่างเหรียญ : SAND จากเกม The Sandbox, AXS จากเกม Axie Infinity, MANA จากเกม Deventraland, GALA จาก Gala Games
| 6. กลุ่มส่งต่อมูลค่า
ถูกพัฒนาขึ้นมาแก้ปัญหาการทำธุรกรรม เช่น การโอนเงินข้ามประเทศ การแปลงเหรียญ เพื่อให้โอนเงินได้อย่างรวดเร็ว และมีค่าธรรมเนียมที่ถูกกว่าเหรียญประเภทอื่นๆ ปัจจุบันมีธนาคารหลายแห่งทั่วโลกใช้เหรียญประเภทนี้ในการโอนเงิน
ตัวอย่างเหรียญ : Ripple (XRP), Stellar (XLM), Velo (VELO)
| 7. กลุ่มเหรียญมีม (Meme)
เป็นเหรียญที่สร้างขึ้นมาเล่นๆ เพื่อล้อเลียนเรื่องต่างๆ แต่กลับได้รับความนิยมสูงในช่วงเวลาหนึ่ง นำมาซึ่งการเก็งกำไรในระยะสั้นๆ
ตัวอย่างเหรียญ : Dogecoin (DOGE), Shiba Inu (SHIB), Husky Coin (HUSKY)
| 8. กลุ่มเหรียญที่ออกโดยธนาคารกลาง (CBDC)
CBDC หรือ Central Bank Digital Currency คือ สกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางของแต่ละประเทศ คล้ายกับเงินสดทั่วไป แต่เปลี่ยนมาเป็นรูปแบบดิจิทัลที่สามารถใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายของประเทศนั้นๆ
ตัวอย่างเหรียญ : หยวนดิจิทัล (e-CNY), Digital Baht ของไทย ที่คาดว่าจะเริ่มทดสอบใช้งานเป็นการภายในในปี 2565
6. บิตคอยน์ (Bitcoin) คืออะไร
บิตคอยน์ (Bitcoin) คืออะไร
บิตคอยน์ หรือ BTC เป็นคริปโทเคอร์เรนซีตัวแรกของโลก ถูกสร้างขึ้นมาตั้งแต่ปี 2552 เพื่อเป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ โดยไม่ขึ้นกับสกุลเงินใดๆ และไม่ต้องผ่านธนาคารกลาง
แต่กำหนดปริมาณเงินในระบบไว้ที่ 21 ล้านหน่วย ซึ่งอัตราแลกเปลี่ยนในช่วงแรก 1 BTC เท่ากับ 0.000764 USD ทว่าภายหลังเหรียญบิตคอยน์ได้รับความนิยมสูงที่สุดและมีการเก็งกำไรเกิดขึ้น จนราคาบิตคอยน์พุ่งทะยานไปแตะระดับ 2 ล้านบาท ต่อ 1 BTC เลยทีเดียว
7. อีเธอเรียม (Ethereum) คืออะไร
อีเธอเรียม หรือสกุลเงิน Ether (ETH) เป็นเหรียญที่ได้รับความนิยมรองลงมาจากบิตคอยน์ เนื่องจากอีเธอเรียมไม่ได้เป็นเพียงแค่สกุลเงิน แต่เป็นเครือข่ายระบบปฏิบัติการหนึ่งที่ทำงานอยู่บนบล็อกเชน ซึ่งเปิดโอกาสให้ทุกคนเข้าไปใช้งานและพัฒนาได้ผ่านระบบ Smart Contract ที่ถูกประยุกต์ใช้ในหลากหลายธุรกิจทั่วโลก เช่น วงการ NFT, DeFi, GameFi, การระดมทุนผ่าน ICO ฯลฯ
8. เหรียญคริปโตของไทยมีอะไรบ้าง
คริปโตและโทเคนสัญชาติไทยมีอยู่หลายเหรียญ เช่น
  • KUB (Bitkub Coin)
  • JFIN (JFIN Coin)
  • ALPHA (Alpha Finance)
  • OMG (OMG Network)
  • SIX (SIX Network)
  • VELO (Velo)
  • ZMT (Zipmex Token)
  • FIRO (Firo)
9. คริปโตต่างกับหุ้นยังไง
คริปโตต่างกับหุ้นยังไง
เมื่อเล่นหุ้น เราต้องซื้อ-ขายผ่านโบรกเกอร์ เช่นเดียวกับการเทรดคริปโต ก็ต้องซื้อ-ขายผ่านศูนย์ซื้อ-ขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Exchange) ตามแพลตฟอร์มต่าง ๆ ซึ่งราคาของหุ้นและคริปโตจะขึ้น-ลงตามอุปสงค์และอุปทานตลาดไม่ต่างกัน แต่สิ่งที่ทั้งสองอย่างนี้แตกต่างกันอย่างเช่น
  • สิทธิความเป็นเจ้าของ : การซื้อหุ้นก็คือการร่วมลงทุนกับบริษัทนั้น ๆ โดยที่เราจะได้สิทธิ์ต่าง ๆ ในฐานะผู้ถือหุ้นที่เป็นเจ้าของกิจการ เช่น เงินปันผล เข้าร่วมประชุม ออกเสียง ติดตามและตรวจสอบการทำงานของกรรมการ ขณะที่คริปโตไม่ได้มีสิทธิ์ตรงนี้ แต่จะเป็นการนำเหรียญไปใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ของเหรียญมากกว่า
  • เงินปันผล : การซื้อหุ้นมีสิทธิ์ได้รับเงินปันผล ถ้าบริษัทมีกำไรในปีนั้น แต่การถือคริปโตไว้เฉย ๆ จะไม่มีเงินปันผลให้ นอกจากจะนำเหรียญไปสร้างผลตอบแทน เช่น การล็อกเหรียญไว้ในเครือข่าย (Staking)
  • เวลาซื้อ-ขาย : คริปโตสามารถเทรดได้ตลอด 24 ชั่วโมง แต่หุ้นมีเวลาเปิด-ปิดตามวัน-เวลาทำการของตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลก
  • สกุลเงินที่ใช้เทรด : การเล่นหุ้นต้องใช้สกุลเงินจริง (Fiat) เท่านั้น ส่วนคริปโตสามารถจับคู่เทรดได้หลากหลาย ทั้งเงิน Fiat และเงินดิจิทัล เช่น เทรดบิตคอยน์กับอีเธอเรียม, เทรดบิตคอยน์กับดอลลาร์สหรัฐ
  • ความผันผวนของราคา : คริปโตมีความผันผวนสูงกว่าหุ้น อย่างที่เคยเห็นว่ามีบางเหรียญราคาพุ่งเป็น 100-1,000% ภายในไม่กี่เดือน และก็สามารถลงได้หลัก 100-1,000% เช่นกัน ขณะที่หุ้นจะมีกฎเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ กำหนดเรื่องราคาต่ำสุด (Floor) และราคาสูงสุด (Ceiling) ที่สามารถซื้อ-ขายได้ในวันนั้น ไม่ให้เกิน 30% ของราคาปิดวันก่อนหน้า
10. คริปโตใช้ได้ถูกต้องตามกฎหมายหรือยัง
ปัจจุบันมีบริษัท ร้านค้าหลายแห่งในประเทศไทย รับชำระเงินด้วยคริปโทเคอร์เรนซี เช่น สายการบินบางกอกแอร์เวย์, เดอะมอลล์, ร้านกาแฟอินทนิล, ปั๊มน้ำมันบางจาก แม้กระทั่งวงการอสังหาริมทรัพย์อย่างอนันดา หรือ SC Asset อย่างไรก็ตาม ทางธนาคารแห่งประเทศไทยยังไม่สนับสนุนให้นำคริปโตมาใช้จ่ายได้เสมือนเงินจริง โดยให้สาเหตุไว้ว่า
  • ราคาเหรียญมีความผันผวนสูง ทำให้ยอดใช้จ่ายของผู้ซื้อหรือรายรับของผู้ขายมีความไม่แน่นอน
  • เพิ่มความเสี่ยงในการฟอกเงินและซื้อ-ขายสินค้าผิดกฎหมาย เพราะกระเป๋าเงินดิจิทัลส่วนใหญ่ไม่ต้องพิสูจน์ยืนยันตัวตน
  • เสี่ยงต่อการถูกโจรกรรมทางไซเบอร์ เพราะยังไม่มีหน่วยงานกำกับดูแลมาตรฐานความปลอดภัยด้านการชำระเงิน
  • เพิ่มต้นทุนในการชำระเงิน จากการต้องแลกเปลี่ยนไป-มา หรือปรับระบบให้รองรับสินทรัพย์ประเภทนี้
  • ลดเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจการเงิน เพราะแบงก์ชาติไม่สามารถดูแลสภาวะการเงินและระดับราคาสินค้าที่ไม่ใช่เงินบาทให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจได้ นอกจากนี้การที่ประเทศใช้เงินหลายสกุลยังส่งผลต่อเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจการเงินของประเทศ
  • ไม่มีแหล่งสภาพคล่องในกรณีวิกฤต เนื่องจากแบงก์ชาติไม่สามารถปล่อยสภาพคล่องในรูปเงินที่ไม่ใช่เงินบาทได้
ทั้งนี้ มีเพียงประเทศเอลซัลวาดอร์แห่งเดียว ที่ยอมรับให้คริปโตสามารถใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย ในขณะที่ประเทศอื่น ๆ ยังไม่ได้ให้การยอมรับ และเริ่มมีบางประเทศประกาศแบนคริปโตแล้ว เช่น จีน ที่ประกาศให้เงินคริปโตเป็นสิ่งผิดกฎหมาย และสั่งห้ามทำธุรกรรมใด ๆ เกี่ยวข้องกับคริปโตเด็ดขาด
รวมคำศัพท์น่ารู้
  • วาฬ (Whale) : ผู้ถือเหรียญรายใหญ่ มีเหรียญจำนวนมหาศาลไว้ในครอบครอง ซึ่งการซื้อ-ขายของวาฬมักกระทบต่อราคาขึ้น-ลงของเหรียญนั้น
  • Blockchain : ระบบฐานข้อมูลแบบกระจายศูนย์ โดยเก็บข้อมูลไว้เป็นบล็อก แต่ละบล็อกเชื่อมโยงกันด้วยรหัส เป็นเหมือนโซ่ที่ต่อกันไปเรื่อย ๆ ซึ่งการที่ข้อมูลถูกกระจายไปหลายตำแหน่ง ไม่มีตัวกลางเช่นนี้ จึงมีความปลอดภัยสูง ยากที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไข
  • Fiat : เงินตรา หรือเงินกระดาษ ที่ประเทศนั้น ๆ กำหนดให้ใช้ได้ถูกต้องตามกฎหมาย เช่น เงินบาท เงินเยน เงินดอลลาร์สหรัฐ เงินหยวน
  • DeFi (Decentralized Finance) : ระบบการเงินที่ไม่ต้องพึ่งพาตัวกลาง
  • Exchange : เป็นศูนย์กลางหรือเครือข่ายในการซื้อ-ขายหรือแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัล (คริปโต/โทเคน) โดยการจับคู่หรือหาคู่สัญญาให้ หรือการจัดระบบ หรืออำนวยความสะดวกให้ผู้ที่ต้องการจะซื้อ-ขาย สามารถตกลงหรือจับคู่กันได้
  • ICO (Initial Coin Offering) : การระดมทุนแบบดิจิทัลด้วยการเสนอขายดิจิทัลโทเคน (Digital Token) ผ่านระบบบล็อกเชนต่อสาธารณชน โดยผู้ระดมทุนจะเป็นผู้ออกดิจิทัลโทเคนเพื่อแลกกับเงินดิจิทัล คล้ายกับการเสนอขายหุ้นให้กับประชาชนในช่วง IPO (Initial Public Offering)
  • Smart Contract : บันทึกข้อตกลงของสัญญาที่ระบบสามารถดำเนินการได้ด้วยตัวเองตามเงื่อนไขที่ถูกเขียนโปรแกรมลงไป โดยไม่ต้องมีคนกลาง
ขอบคุณข้อมูลจาก : ธนาคารแห่งประเทศไทย (1), (2), (3), สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (1), (2), (3), (4), เฟซบุ๊ก Bitkub, zipmex.com (1), (2), กรุงเทพธุรกิจ
โฆษณา