23 มิ.ย. 2022 เวลา 08:18 • ประวัติศาสตร์
*** มีอะไรในยุคไทโช? ***
หากกล่าวถึงประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นยุคใหม่แล้ว หลายท่านคงนึกถึงยุคการปฏิรูปเมจิที่เปลี่ยนแปลงญี่ปุ่นเข้าสู่ความทันสมัยหรือยุคโชวะซึ่งอำนาจของแดนอาทิตย์อุทัยแผ่ขยายไปทั่วสารทิศ อย่างไรก็ตามยังมียุคสมัยสั้นๆ ที่อยู่กึ่งกลางระหว่างรัชสมัยทั้งสองอย่างยุคไทโช (ค.ศ. 1912-1926)
ไทโชหมายถึงรัชสมัยของพระจักรพรรดิโยชิฮิโตะ ซึ่งแม้จะกินระยะเวลาเพียง 14 ปี แต่เต็มไปด้วยความเปลี่ยนแปลงสังคม,การเมือง, และวัฒนธรรม ที่มีส่วนทำให้ญี่ปุ่นกลายเป็นประเทศมหาอำนาจเช่นทุกวันนี้
มนต์เสน่ห์ของไทโชที่ถูกถ่ายทอดมาในการ์ตูนและสื่อหลายเรื่องเช่น ดาบพิฆาตอสูร (Kimetsu no Yaiba), The Wind Rises, รวมไปถึง MV ของวงไอดอลอย่าง Nogizaka 46
บทความส่งท้ายปีนี้จะนำท่านไปพบกับเรื่องราวสั้นๆ แต่เต็มไปด้วยความเปลี่ยนแปลงอันโลดโผนของญี่ปุ่นในรัชสมัยไทโช กันครับ
*** พัฒนาการด้านสังคม ***
รัชสมัยไทโชถือเป็นการต่อยอดจากการปฏิรูปในยุคเมจิ (ค.ศ. 1868 - 1912) ซึ่งยาวนานถึง 44 ปี มีการเปลี่ยนแปลงสังคมญี่ปุ่นเเบบพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ
ด้วยการพัฒนาศักยภาพด้านการผลิตสู่สังคมอุตสาหกรรม, การบังคับหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน, การรับเอาองค์ความรู้ต่างๆของตะวันตกมาพัฒนาการเมืองและกองทัพจนสามารถเอาชนะจีนซึ่งเป็นคู่แข่งในสงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่ 1 ค.ศ 1894 -1895 และกำราบกองเรือของชาติมหาอำนาจอย่างรัสเซียในสงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น ค.ศ. 1904 - 1905 รวมทั้งมีการตรารัฐธรรมนูญฉบับแรกในปี 1889
ภาพแนบ: เกอิชาในยุคไทโชใส่ชุดว่ายน้ำแบบฝรั่ง
ตอนนั้นสภาพบ้านเรือนเริ่มกลายเป็นมีตึกรูปทรงตะวันตกที่สร้างด้วยปูน ผสมกับอาคารไม้แบบญี่ปุ่นที่โมให้คล้ายๆ ตะวันตกมากขึ้น
เครื่องแต่งกายของประชาชนเริ่มเป็นแบบชุดตะวันตก ผสมชุดญี่ปุ่น รถจักรไอน้ำได้กลายเป็นพาหนะสำคัญนำผู้โดยสารไปยังสถานที่ต่างๆ เพื่อรองรับนโยบายการขยายตัวเมืองออกสู่พื้นที่รอบนอก (Urbanisation)
ภาพแนบ: อนิเมะดาบพิฆาตอสูร มีตัวร้ายชื่อมุซัง (คนอุ้มเด็ก) ที่มักใส่เครื่องแต่งกายแบบตะวันตก ในภาพนี้จะเห็นว่ามีคนแต่งชุดแบบฝรั่งผสมญี่ปุ่นเดินไปมา
การเมืองภาคประชาชนยังมีการพัฒนาในยุคนี้หลายด้าน มีแนวคิดการเมืองใหม่ๆ เข้ามาในญี่ปุ่นเช่นแนวคิดคอมมิวนิสต์ หรือแนวคิดอนาธิปไตย ประชาชนทั่วไปเริ่มเข้ามามีบทบาทต่างๆในสังคมอาทิ มีการรวมตัวกันของแรงงานที่เรียกร้องสิทธิต่างๆ โดยในปี 1918 ญี่ปุ่นมีสหภาพแรงงานกว่า 187 แห่งและสมาชิกกว่า 100,000 คน)
นอกจากนั้นยังมีการต่อสู้เพื่อสิทธิสตรี ซึ่งแม้ผู้หญิงจะถูกกีดกันไม่ให้มีส่วนร่วมทางการเมือง แต่ก็สามารถออกมาทำงานเพื่อหาเลี้ยงชีพแทนการเป็นแม่บ้านมากขึ้น
*** การเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 ***
รัฐบาลญี่ปุ่นตัดสินใจเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 ในฝ่ายพันธมิตรไตรภาคี (ประกอบด้วย อังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซีย) ตามข้อตกลงด้านความมั่นคงระหว่างอังกฤษและญี่ปุ่น โดยมีจุดประสงค์สำคัญคือเพื่อขยายอิทธิพลในจีน และทะเลแปซิฟิก โดยญี่ปุ่นรับหน้าที่เป็นหัวหอกในการเข้าตีและยึดครองเขตปกครองชิงเต่าของเยอรมันในจีน
ตอนนั้นญี่ปุ่นระดมกองเรือขนาดใหญ่ พร้อมทหารกว่า 23,000 นาย ร่วมกับทหารอังกฤษอีก 1,500 นาย พวกเขารบพุ่งกล้าหาญ จนสามารถยึดครองชิงเต่าได้ในเวลาเพียงสัปดาห์นิดๆ
ภาพแนบ: เรือประจัญบาน Suwa หรืออดีตเรือ Pobeda แห่งกองทัพเรือรัสเซียที่ญี่ปุ่นกู้ขึ้นมาซ่อมแซม มันทำหน้าที่เป็นเรือธงในการบุกชิงเต่า
จากนั้นกองทัพเรือญี่ปุ่นจึงเดินหน้าเข้ายึดครองอาณานิคมเยอรมันในมหาสมุทรแปซิฟิกอาทิ หมู่เกาะมาร์แชล, เกาะแคโรไลน์, และหมู่เกาะมาเรียนา (ยกเว้นกวม) อย่างง่ายดาย เนื่องจากกองเรือเอเชียตะวันออกของเยอรมันได้ถอนตัวออกไปเรียบร้อยแล้ว พวกเขายังสนับสนุนการปฏิบัติการของราชนาวีอังกฤษอาทิ การไล่ล่าเรือดำน้ำเยอรมัน, การคุ้มกันเส้นทางเดินเรือ, และส่งทหารเข้ารักษาความปลอดภัยตามฐานทัพต่างๆในเอเชีย
ภาพแนบ: ภาพโฆษณาชวนเชื่อของญี่ปุ่น
ถึงแม้ว่ากองทัพญี่ปุ่นอาจจะไม่ได้มีส่วนในสมรภูมิขนาดใหญ่เท่ากับชาติพันธมิตรอื่นๆ ทว่าการตัดสินใจดังกล่าวก็ส่งผลให้พวกเขากลายเป็นหนึ่งในชาติ Big Five ซึ่งประกอบด้วย อังกฤษ, ฝรั่งเศส, อเมริกา, อิตาลี, และญี่ปุ่น
ระหว่างการประชุมสันติภาพปารีส ค.ศ. 1919 (รัสเซียหลุดโผไปเพราะมีปฏิวัติ) รวมถึงมีตำแหน่งเป็นสมาชิกถาวรของสันนิบาตแห่งชาติ พร้อมได้รับสิทธิ์ในการปกครองพื้นที่เก่าของเยอรมันในจีน และหมู่เกาะแปซิกฟิก
ภาพแนบ: ตัวแทนญี่ปุ่นในการประชุมที่ปารีส
แม้ว่าญี่ปุ่นจะได้ดินแดนเพิ่มมากมาย แต่นั่นเป็นพื้นที่เพียงครึ่งเดียวของดินแดนที่ญี่ปุ่นเรียกร้อง
แต่นั้นมาญี่ปุ่นก็ระแวดระวังฝ่ายตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาที่เริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้น เพราะเห็นว่าต่อไปจะเป็นคู่ขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์
*** การส่งกำลังเข้าแทรกแซงสงครามกลางเมืองรัสเซีย ***
รัสเซียรบแพ้ญี่ปุ่นในสงครามปี 1904-1905 ซึ่งเป็นหมุดหมายที่บอกว่าญี่ปุ่นได้ขึ้นเป็นมหาอำนาจใหม่ตั้งแต่ยุคเมจิ
เมื่อรัสเซียมีปัญหาภายในคือฝ่ายคอมมิวนิสต์ทำการปฏิวัติในปี 1917 ฝรั่งเศสได้ร้องขอให้ญี่ปุ่นส่งกำลังไปช่วยสนับสนุนภารกิจรักษาความสงบในไซบีเรีย
ตอนแรกญี่ปุ่นปฏิเสธเพราะมองว่าไม่คุ้ม อย่างไรญี่ปุ่นคิดไปคิดมาแล้วอยากได้พื้นที่รัสเซียตะวันออกเพื่อสร้างรัฐกันชน จึงตัดสินใจส่งทหารเดินทางไปถึงเมืองท่าวลาดีวอสตอคเมื่อเดือนมกราคม 1918 โดยสามารถตัดหน้าเพื่อนเก่าอย่างอังกฤษที่เดินทางมาถึงสองวันให้หลัง
ทหารฝ่ายพันธมิตร ในการแทรกแซงสงครามกลางเมืองรัสเซีย
ในช่วงแรกกองทัพญี่ปุ่นทำหน้าที่เพียงเฝ้าระวังและรักษาความปลอดภัยในวลาดีวอสตอค จนกระทั่งมีฝูงชนบุกปล้นร้านค้าของชาวญี่ปุ่นที่อาศัยในเมืองนี้จนมีผู้เสียชีวิต 3 ราย ทำให้ญี่ปุ่นซึ่งกำลังเปรี้ยว (ตามประสาประเทศที่กำลังขยายอาณาเขต) ใช้เป็นเหตุบุกยึดเมืองวลาดิวอสตอค ซึ่งทำสำเร็จโดยง่าย
เมื่อเวลาผ่านไป กองทัพญี่ปุ่นยังได้เพิ่มจำนวนทหารในพื้นที่ขึ้นเป็น 70,000 นาย เพื่อรักษาผลประโยชน์ และแผ่อำนาจ
ภาพแนบ: ภาพโฆษณาชวนเชื่อของกองทัพญี่ปุ่น
พวกเขาร่วมกับกองทัพขาว (ฝ่ายต่อต้านคอมมิวนิสต์) สู้กับกองทัพแดง (ฝ่ายคอมมิวนิสต์) เป็นสามารถ อย่างไรก็ตามเมื่อเห็นว่ากองทัพขาวน่าจะแพ้ ญี่ปุ่นก็เริ่มลดบทบาทลง ภายหลังเมื่อกองทัพแดงชนะแล้ว ตัวแทนของญี่ปุ่นและสหภาพโซเวียตได้บรรลุข้อตกลง “สนธิสัญญาความเป็นกลางระหว่างสหภาพโซเวียต-ญี่ปุ่น ค.ศ. 1925” ที่ทำให้ญี่ปุ่นถอนทหารจากพื้นที่ที่ยึดมาได้ส่วนใหญ่ ช่วยบรรเทาความตึงเครียดระหว่างทั้งสองประเทศระยะหนึ่ง
ภาพแนบ: การถอนทัพของญี่ปุ่น
การตัดสินใจแทรกแซงสงครามกลางเมืองรัสเซียกลายเป็นปฏิบัติการที่ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาลญี่ปุ่นในห้วงเวลานั้น เพราะมีกลุ่มชาวนาเเสดงความไม่พอใจที่รัฐบาลบังคับซื้อข้าวสารจำนวนมหาศาลในราคาถูกเพื่อส่งเป็นเสบียงให้กับทหารที่ไปรบนอกประเทศ
สิ่งนี้ทำให้ข้าวเกิดขาดตลาด ราคาข้าวในประเทศพุ่งสูงขึ้น ความขุ่นเคืองดังกล่าวกลายเป็นชนวนของการประท้วงในเมืองอุโอซุ จนลุกลามเป็นการก่อจลาจลและเผาอาคารต่างๆ รวมถึงสถานีตำรวจ ส่งผลให้ นายก เทระอุชิ มาซาทาเกะ ต้องลาออกจากตำแหน่ง
ภาพแนบ: ฉากจากภาพยนตร์เรื่อง Big Rice Riots (2021) ที่นำเเอาเหตุการณ์ Rice Riots ปี 1918
ขณะที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมและชาตินิยมแม้จะเห็นด้วยกับการแทรกแซงรัสเซีย แต่พวกเขาก็ผิดหวังต่อท่าทีของรัฐบาลที่ไม่ดำเนินการยึดครองพื้นที่ที่ยึดมาได้ ทำให้แทบไม่ค่อยได้อะไรจากศึกนี้
ความไม่พอใจนั้นฝังลึกในหมู่ทหารญี่ปุ่นที่มองว่าการเสียสละของทหารกว่า 5,000 นายในศึกนี้ต้องสูญเปล่าจากการตัดสินใจไม่เด็ดขาดของรัฐบาล…
ภาพแนบ: นายกญี่ปุ่นในยุคไทโช
** การแผ่ขยายอิทธิพลในประเทศจีน ***
ระหว่างช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 รัฐบาลญี่ปุ่นของนายก เทระอุชิ มาซาเทเกะ ได้สนับสนุนเงินกู้กว่า 145 ล้านเยนให้กับนายพลต้วน ฉีรุ่ย ผู้นำคนสำคัญของจีน
โดยทางนายพลต้วนรับปากมอบอำนาจการปกครองพื้นที่ในแมนจูเรีย, สัมปทานการรถไฟมณฑลชานตง, รวมทั้งการควบคุมท่าเรือซึ่งเคยอยู่ในการปกครองของจักรวรรดิเยอรมันตอบแทน
นายพลต้วนฉีรุ่ย
ความนี้ทำให้ญี่ปุ่นได้สิทธิการปกครองพื้นที่ในมณฑลชานตง, เขตแมนจูเรีย, และได้ผลประโยชน์อีกมากมาย จนเกิดกระแสต่อต้านญี่ปุ่นจากชาวจีนเป็นอันมาก ต่อมาผู้รักชาติชาวจีนมักบอกว่าต้วนฉีรุ่ยเป็นคนขายชาติ
ภาพแนบ: การต่อต้านญี่ปุ่นของขบวนการ 4 พฤษภาคม
*** มหาภัยพิบัติแห่งคันโต ***
แม้ว่ารัฐบาลญี่ปุ่นในยุคไทโชจะประสบความสำเร็จในการแผ่ขยายอำนาจและผลักดันให้ประเทศของพวกเขามีสถานะทัดเทียมชาติตะวันตก อย่างไรก็ตามชาวญี่ปุ่นกลับต้องเผชิญกับภัยพิบัติครั้งใหญ่เป็นประวัติการณ์
ภัยนั้นคือเหตุแผ่นดินไหวขนาด 7.9 ถึง 8.4 ริคเตอร์ เกิดขึ้นช่วงเที่ยงวันที่ 1 กันยายน 1923 สร้างความเสียหายอย่างหนักให้กับอาคารบ้านเรือนต่างๆ ในกรุงโตเกียว, จังหวัดชิซูโอกะ, จังหวัดชิบะ, และจังหวัดคานางาวะ ทำลายจนพังพินาศย่อยยับไปทั้งพื้นที่
ความน่าสะพรึงของเหตุการณ์ดังกล่าวได้รับการถ่ายทอดผ่านอนิเมชั่นเรื่อง The Wind Rises ซึ่งทั้งเมืองได้รับแรงสั่นสะเทือนมหาศาลจนถึงขนาดตู้รถไฟที่ตัวเอกโดยสารมานั้นเกือบขาดออกจากกัน!
ภาพแนบ: ภาพมหาภัยพิบัติจากเรื่อง The Wind Rises
เหตุแผ่นดินไหวนี้ถูกซ้ำเติมโดยมีไฟไหม้จากเตาหุงอาหารที่เสียหาย ไฟนั้นลุกลามจากกระแสลมแรงที่พัดมาจากบริเวณภาคเหนือของประเทศ จนกลายเป็น “พายุไฟยักษ์” ที่ลุกลามไปทำลายเมืองหนักกว่าเดิม โดยที่เจ้าหน้าที่ดับเพลิงไม่สามารถใช้น้ำจากท่อประปาดับได้ เพราะท่อก็เสียหายจากแผ่นดินไหวด้วย
ไม่แค่นั้นยังมีสึนามิมาถล่มเมืองโยโกฮาม่าในเวลาไล่เลี่ยกัน กลายเป็นซุปเปอร์คอมโบมหาภัยพิบัติ ที่จบลงด้วยการคร่าชีวิตของผู้เคราะห์ร้ายกว่า 120,000 ราย (บางแหล่งอ้างว่าเกือบ 150,000 ราย) และทำให้ประชาชนอีก 2 ล้านคนต้องกลายเป็นคนไร้บ้าน
ภาพแนบ: ซากเมืองหลังภัยพิบัติ
ภายหลังจากมหาภัยพิบัติจบลง กลุ่มชาตินิยมได้ฉวยโอกาสโทษว่ากลุ่มอนาธิปไตยและชาวเกาหลีเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุเพลิงไหม้ จึงเข้าจับกุมและสังหารเป้าหมายไปมากกว่า 2,500 ราย (รายงานบางแห่งแจ้งตัวเลขที่สูงกว่านี้) โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจสนับสนุนด้วย
กรณีที่โด่งดังของเรื่องนี้คือการที่ มิซาฮิโกะ อมาคาซุ นายทหารของกองทัพบก ซึ่งต่อมามีบทบาทสำคัญในปฏิบัติการข่าวกรองในจีน ได้สังหาร โอสุงิ ซาเกะ ผู้ขับเคลื่อนขบวนการอนาธิปไตยญี่ปุ่น พร้อมด้วยภรรยาและหลานชายวัย 6 ขวบ เสีย
ภาพแนบ: โอสุงิ ซาเกะ (คนที่สามจากซ้าย) ร่วมรับประทานอาหารกับกลุ่มที่นิยมอนาธิปไตย
แม้ว่ารัฐบาลจะส่งทหารเข้าควบคุมสถานการณ์ พร้อมกับสั่งลงโทษเจ้าหน้าที่นอกแถวซึ่งสนับสนุนการกระทำอันป่าเถื่อน ทว่าคนเหล่านี้กลับถูกลงโทษเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เป็นสัญลักษณ์ว่ารัฐบาลญี่ปุ่นยุคนั้นกำลังคลั่งชาติหนักๆ ซึ่งจะทำให้ญี่ปุ่นพัฒนามาเป็นเผด็จการทหารชาตินิยมขวาจัดในสงครามโลกครั้งที่สอง
ภาพแนบ: มิซาฮิโกะ อมาคาซุ
*** ความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศและจุดสิ้นสุดของยุคไทโช ***
พรรคการเมืองหลักของญี่ปุ่น ณ เวลานั้นมีอยู่สองฝ่ายหลักๆ คือ พรรคริกเคน เซยูไค ซึ่งเป็นพรรคอนุรักษ์นิยมสายกลาง มีนโยบายต่อต้านการปฏิรูปทางสังคมและสนับสนุนการขยายอำนาจนอกประเทศด้วยกำลังทหาร ขณะที่พรรคฝ่ายตรงข้ามอย่าง เคนเซไค นั้นเป็นฝ่ายเสรีนิยมสายกลางที่สนับสนุนการปฏิรูปทางสังคมเพื่อกระจายอำนาจการปกครอง
แม้ว่าพรรคเซยูไคจะสามารถครองตำแหน่งมาได้อย่างเหนียวแน่นเป็นเวลานานกว่า 20 ปี แต่พวกเขาก็ไม่ได้เป็นที่นิยมของกองทัพและฝ่ายชาตินิยมสุดโต่ง โดยเฉพาะเมื่อมีการพาประเทศเข้าร่วมสันนิบาตชาติแล้วต่อรองดินแดนมาไม่ได้มากเท่าที่อยากได้ หรือการที่รบกับรัสเซียและยอมถอนตัวง่ายๆ ดังที่กล่าวมา
ทั้งนี้ฝ่ายชาตินิยมมองว่าข้อตกลงทั้งหมดเป็นการถอดเขี้ยวเล็บของจักรวรรดิญี่ปุ่นในการแผ่ขยายอิทธิพลในเอเชียและแปซิฟิก
อย่างไรก็ตามภายหลังมหาภัยพิบัติแห่งคันโตยุติลง ได้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่สำคัญเมื่อพรรคเสรีนิยมสายกลางอย่าง เคนเซไค ที่ชูนโยบายการปฏิรูปทางการเมืองและสังคมเพื่อกระจายอำนาจ ไปสู่ประชาชนนั้นได้คะแนนเสียงเพิ่มขึ้นเป็นอันมาก จนสามารถต่อรองตั้งรัฐบาลผสมร่วมกับฝ่ายเซยูไคสำเร็จในปี 1924
ภาพแนบ: การประชุมสนธิสัญญานิวิกวอชิงตัน
เพียงหนึ่งปีหลังจากนั้นรัฐบาลได้ออกกฏหมายการเลือกตั้งทั่วไปซึ่งให้สิทธิพลเมืองเพศชายวัย 25 ปีสามารถลงคะแนนเลือกตั้งได้โดยไม่ต้องจ่ายภาษีสำเร็จ (ก่อนหน้านี้ประชาชนวัย 25 ปีที่มีสิทธิลงคะแนนจะต้องจ่ายภาษี 3 เยนต่อปีด้วย คิดค่าเงินเฟ้อแล้วประมาณ 1,400 บาท)
...นี่ถือเป็นความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ซึ่งทำให้เกิดคำศัพ “ประชาธิปไตยไทโช” หมายถึงการที่ยุคไทโชมีประชาธิปไตย โดยเปรียบเทียบกับยุคเมจิ และยุคโชวะตอนต้น ที่เป็นเผด็จการกว่านี้
ภาพแนบ: วาคัตสึกิ ไรจิโร นายกในยุคไทโชที่มาจากพรรคอนุรักษ์นิยม
ปัญหาเศรษฐกิจที่รุมเร้าจากการบริหารผิด และแผ่นดินไหวส่งผลให้รัฐบาลพยายามเรียกร้องให้ธนาคารแห่งชาติอนุมัติเงินกู้ฉุกเฉินเพื่อกู้วิกฤต แต่เมื่อได้รับการปฏิเสธ นายกรัฐมนตรีจึงต้องลาออก เปิดทางให้พรรคอนุรักษ์นิยมกลับมามีอำนาจอีกครั้ง
จากนี้การปกครองของญี่ปุ่นจึงกลับเป็นแบบอนุรักษ์นิยมอีกเช่นกัน (แม้จะมีสายเสรีนิยมขึ้นมาบ้างแต่ก็เพียงช่วงสั้นๆ)
ปลายปี 1926 จักรพรรดิโยชิฮิโตะเสด็จสวรรคต กลายเป็นการยุติยุคไทโช
ภาพแนบ: จักรพรรดิโยชิฮิโตะ หรือจักรพรรดิไทโช
*** ไทโชรัชสมัยที่ถูกลืม? ***
ไทโชนั้นคือรัชสมัยสั้นๆที่อยู่กึ่งกลางระหว่างยุคเมจิและโชวะ และเนื่องจากเมจิกับโชวะนั้นมีอะไรเด่นๆ เกิดขึ้นมากมาย ทำให้ไทโชไม่เป็นที่ถูกพูดถึงเท่าที่ควร
อย่างไรก็ตามหากลองพิจารณาเรื่องราวทางการเมืองแล้วจะพบว่า ในห้วงเวลาเพียง 14 ปีนี้ คือช่วงที่จักรวรรดิญี่ปุ่นก้าวขึ้นสู่การเป็นมหาอำนาจของโลกอย่างแท้จริง
1
นอกจากนั้นความเปลี่ยนแปลงทางสังคมในยุคนี้ยังมีความซับซ้อน ที่แม้จะจบลงด้วยการที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมได้รับชัยชนะ ทำให้ญี่ปุ่นพัฒนาไปเป็นรัฐทหารเต็มตัวในยุคสงครามโลกครั้งที่สอง แต่มรดกของยุคไทโชก็ทำให้คนญี่ปุ่นเริ่มตระหนักรู้สิทธิของตนเอง นำสู่การเปลี่ยนแปลงในชั้นหลัง
สิ่งที่น่าประทับใจอีกอย่างคือความเข้มแข็งของชาวญี่ปุ่นที่สามารถพาชาติให้ผ่านพ้นภัยพิบัติทางธรรมชาติครั้งใหญ่ไปได้ ในอีกมุมฉากหลังที่ผสมผสานความทันสมัยของตะวันตก กับอัตลักษณ์เดิมของญี่ปุ่น ก็กลายมาเป็นเซ็ตติ้งให้กับสื่อบันเทิงบอกเล่าให้ความรุ่งโรจน์ของยุคนั้นให้เราเห็นอยู่เสมอ
ภาพแนบ: ทรงผมในยุคไทโช
โฆษณา