23 มิ.ย. 2022 เวลา 09:51 • ประวัติศาสตร์
*** ไทยในสงครามเกาหลี ***
สงครามเกาหลีถือเป็นสนามรบแรกๆ ระหว่างฝ่ายโลกเสรีที่นำโดยสหรัฐอเมริกาและฝ่ายคอมมิวนิสต์นำโดยจีน และสหภาพโซเวียต สงครามนี้กินเวลานานถึง 3 ปี มีทหารและพลเรือนเสียชีวิตเกือบ 5 ล้านราย
สำหรับประเทศไทยมีการส่งทหารกว่าหนึ่งหมื่นนายจากสามเหล่าทัพเข้าร่วมสงครามในฝ่ายสหประชาชาติเป็นชาติแรกของเอเชีย ตลอดสงครามบุคลาการของกองทัพไทยได้แสดงความกล้าหาญและทุ่มเทต่อภารกิจจนเป็นที่ประจักษ์ ถึงขนาดได้รับฉายาว่า “กองพันพยัคฆ์น้อย” จากผู้บัญชาการกองกำลัง!
บทความนี้จะพาผู้อ่านทุกท่านไปพบวีรกรรมของทหารไทยในสงครามดังกล่าวนะครับ
*** จุดเริ่มต้นและการเข้าร่วมสงคราม ***
ในช่วงเช้าของวันที่ 25 มิถุนายน 1950 กองทัพเกาหลีเหนือ (อยู่ฝ่ายคอมมิวนิสต์) จำนวนกว่า 75,000 นาย พร้อมรถถัง, เครื่องบิน, และปืนใหญ่จำนวนมหาศาล ได้บุกทะลวงข้ามเส้นขนานที่ 38 (38th Parallel Line) ก่อนจะโถมกำลังเข้าบดขยี้กองทัพเกาหลีใต้ (อยู่ฝ่ายโลกเสรี) ที่อ่อนแอกว่าแบบไม่เหลือชิ้นดี! จนสามารถยึดกรุงโซลเมืองหลวงของเกาหลีใต้ได้ภายในเวลาเพียง 3 วัน
ภาพแนบ: อนุสาวรีย์ทหารไทยที่เกาหลีใต้
ชัยชนะที่รวดเร็วนี้ส่งผลให้เลขาธิการสหประชาชาติ ได้ส่งโทรเลขร้องขอการสนับสนุนความช่วยเหลือจากสมาชิก ซึ่งตอนนั้นโซเวียตประท้วงด้วยการเดินออกจากห้องทำให้ไม่ได้วีโต้ และตอนนั้นตัวแทน “จีน” ในสหประชาชาติยังเป็นไต้หวัน
ภาพแนบ: กองทัพเกาหลีเหนือ
การนี้ทำให้สหประชาชาติสนับสนุนฝั่งโลกเสรีโดยปริยาย และส่งผลให้ไทยซึ่งตอนนั้นอยู่ฝ่ายโลกเสรีตอบสนองด้วยการส่งข้าวสารจำนวน 40,000 ตันในรูปแบบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และยังประณามการรุกรานของเกาหลีเหนือผ่านช่องทางการทูต
อย่างไรก็ตามทางสหประชาชาติได้แนะนำให้รัฐบาลไทยพิจารณาว่าจะสามารถส่งทหารเข้าร่วมภารกิจได้หรือไม่?
ภาพแนบ: การประชุมสหประชาชาติในปี 1950
รัฐบาลไทยในเวลานั้น หรือรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ตัดสินใจส่งทหารจากทั้งสามเหล่าประกอบด้วย ทหารบกผลัดแรกจำนวน 1 กรมผสม จำนวน 4,000 นาย (คัดมาจากอาสาสมัครมากกว่าหนึ่งหมื่นนายจัดตามแบบทัพสหรัฐเพื่อความสะดวกในการเข้าช่วย)
ภาพแนบ: จอมพล ป.
5. มีการส่งกำลังบางส่วนไปยังเกาหลีในเดือนสิงหาคม 1950 (พ.ศ. 2493) เพื่อรับมอบยุทโธปกรณ์ตามมาตรฐานของสหรัฐ เนื่องจากอาวุธ, หมวกเหล็ก, และเครื่องสนามของกองทัพไทย ณ เวลานั้นยังใช้ของเหลือจากช่วงต้นสงครามโลกครั้งที่ 2 ทหารที่ไปได้เตรียมที่พักสำหรับกำลังหลักที่จะเดินทางมาสมทบช่วงปลายปี
ภาพแนบ: เครื่องแบบทหารไทยที่ผสมระหว่างเสื้อด้านในแบบอเมริกากับหมวกเหล็กเอเดรี่ยน, ซองหนัง, และปืนยุคสงครามโลก
*** ภารกิจแรกของไทยในต่างแดน และวีรกรรมกองทัพอากาศ ***
แม้ว่าปฏิบัติการครั้งนี้จะมีกองทัพบกเป็นตัวหลัก ทว่าเหล่าทัพแรกที่เข้าร่วมปฏิบัติการกับกองกำลังนานาชาติคือ กองทัพอากาศที่ถูกส่งไปประจำการยังประเทศญี่ปุ่นเพื่อทำภารกิจลำเลียงกำลังพล, ยุทธภัณฑ์, สัมภาระ, และไปรษณียภัณฑ์ ระหว่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ด้วยเครื่องบินลำเลียงรุ่น C-47 ทั้งนี้ญี่ปุ่นเป็นฐานทัพหลักของฝ่ายโลกเสรีในการทำสงครามเกาหลี
ภาพแนบ: เครื่อง C47 ของ ทอ. ไทย
ความต้องการส่งกำลังบำรุงเพิ่มขึ้นในปี 1952 ทำให้หน่วยบินของไทยจำเป็นต้องเพิ่มปฏิบัติการจาก 2 เที่ยวต่อวัน เป็น 5 เที่ยว เมื่อเห็นว่าภารกิจของกำลังพลเริ่มหนักขึ้น กองทัพอากาศจึงส่งนักบินชุดที่ 2 มาสานต่อภารกิจ
เหล่านักบินไทยต้องเสี่ยงอันตรายทำการบินเลียดผิวน้ำให้รอดพ้นจากการตรวจจับของฝ่ายศัตรู ก่อนจะลัดเลาะไปตามเทือกเขา จากนั้นร่อนลงจอดบนหาดทรายเพื่อส่งยุทธภัณฑ์และลำเลียงทหารบางส่วนออกจากพื้นที่ การนี้พวกเขาสามารถขนส่งของได้เป็นจำนวนมาก ช่วยสนับสนุนกองทัพสหรัฐและเกาหลีใต้ที่สู้รบติดพันบนเกาะในเขตของเกาหลีเหนือ
1
ภาพแนบ: เจ้าหน้าที่พยาบาล ทอ. ไทย
นอกเหนือจากหน่วยบินลำเลียงแล้ว หน่วยพยาบาลทางอากาศและบุคลากรทางการเเพทย์ของไทยก็มีบทบาทในการรับผู้บาดเจ็บจากเกาหลีกลับมารักษาตัวยังโรงพยาบาลในญี่ปุ่นซึ่งมีความพร้อมกว่า
ขณะที่แพทย์ของไทยมีโอกาสช่วยรักษาผู้ป่วย โดยหลังจากสงครามยุติลงกองทัพอากาศไทยยังอนุมัติการส่งบุคลากรไปทำภารกิจช่วยเหลือชาวเกาหลีร่วมกับหน่วยบินของสหรัฐและอังกฤษจนภารกิจเสร็จสิ้นในปี 1975
ภาพแนบ: สภาพภายในเครื่องที่ทำภารกิจส่งกลับทางการแพทย์
*** การปฏิบัติงานของกำลังทางทะเล ***
ราชนาวีไทยมีบทบาทสำคัญในการลำเลียงทหารผลัดแรกไปยังประเทศเกาหลี ประกอบด้วยเรือหลวงสีชังและเรือสินค้าต่างประเทศที่รัฐบาลเช่ามา โดยมีเรือหลวงบางปะกงกับประแสทำหน้าที่คุ้มกันระหว่างเดินทาง ก่อนที่เรือทั้งสามจะแล่นต่อไปยังประเทศญี่ปุ่นเพื่อเข้าร่วมกับกองเรือเฉพาะกิจที่ 95 ของสหประชาชาติ
ภาพแนบ: รล. สีชังลำแรก
เรือหลักที่ไทยใช้ในการต่อสู้ครั้งนี้ คือเรือหลวงบางปะกงกับประแสที่ยังใช้ระบบอาวุธของอังกฤษที่ล้าสมัย จึงถูกส่งเข้าไปปรับปรุงก่อนจะรับภารกิจรักษาทางเข้าของฐานทัพเรือซาเซโบในญี่ปุ่นเป็นเวลาเกือบเดือน
จากนั้นจึงถูกส่งไปยิงสนับสนุนเป้าหมายบนแผ่นดินเกาหลีอาทิ สถานีรถไฟ, เส้นทางคมนาคม, และที่มั่นทางทหารนอกชายฝั่งเกาหลีเหนือ
ภาพแนบ: รล. ประแสลำแรก
แต่เหตุไม่คาดฝันก็เกิดขึ้นเมื่อเรือรบหลวงประแสแล่นขึ้นไปเกยตื้นบริเวณแหลมคิซามุนในเขตศัตรูแล้วไม่สามารถลากจูงออกมาได้
ทำให้ลูกเรือจำใจต้องสละเรือ ก่อนร้องขอให้เรือสหรัฐระดมยิงทำลายเรือเสียมิให้ตกอยู่ในมือของฝ่ายตรงข้าม
ภาพแนบ: รล. ประแสลำแรกขณะเกยตื้น
แม้ว่าราชนาวีไทยจะเหลือเรือหลวงบางปะกงมาปฏิบัติการรบเพียงลำเดียวเพียงลำเดียว ทว่ากำลังพลของไทยก็ยังคงทำหน้าที่อย่างเต็มความสามารถ ทั้งการยิงต่อสู้กับปืนใหญ่ป้องกันชายฝั่ง, การยิงถล่มที่มั่นข้าศึก, และการลาดตระเวนเส้นทางเดินเรือ (สมัยนั้นเกาหลีเหนือมีเพียงเรือตอร์ปิโดและเรือตรวจการณ์ขนาดเล็ก ไม่มีศักยภาพในการรบทางทะเล จึงทำได้เพียงรบก่อกวน) ไปจนถึงเดือนปลายปี 1951
ภาพแนบ: รล. บางปะกงลำแรก
ต่อมากองทัพไทยส่งมอบหน้าที่ต่อให้กับเรือหลวงท่าจีนและเรือหลวงประแสลำที่สอง โดยภารกิจหลักคือการคุ้มกันขบวนเรือลำเลียงและเรือบรรทุกเชื้อเพลิง จนยุติบทบาทในปี 1954 หลังสงครามสงบ
ภาพแนบ: รล. ประแสลำที่สอง
*** ทหารกล้าสู่สมรภูมิ ***
ทหารไทยผลัดแรกเดินทางถึงท่าเรือเมืองปูซานช่วงปลายปี 1950 เพื่อเข้ารับการฝึกอาวุธตามแบบสหรัฐ (ซึ่งฝ่ายไทยยังไม่คุ้นเคย) แบบเร่งด่วน!
ภาพแนบ: ธงของกรมผสมที่ 21
ทว่าภายหลังการฝึกเบื้องต้นเพียง 11 วัน ทหารไทยก็ได้รับคำสั่งให้เคลื่อนพลไปยังกรุงเปียงยางเมืองหลวงของเกาหลีเหนือ (ตอนนั้นอยู่ในการปกครองของฝ่ายโลกเสรี) เพื่อทำภารกิจป้องกันสถานที่สำคัญต่างๆ อาทิ สนามบิน, สะพาน, โรงพยาบาล, คลังกระสุน, และสถานีเรดาร์ ฯลฯ รวม 19 แห่งต่อจากกองทัพฟิลิปปินส์
ในช่วงนั้นกองทัพไทยมีการโอกาสปะทะกับฝ่ายศัตรูราวหนึ่งกองร้อยเพียง 3 วันให้หลัง ทหารไทยได้รับความเสียหายเล็กน้อย
ภาพแนบ: ทหารไทยระหว่างฝึก
ตอนนั้นฝ่ายโลกเสรีกำลังได้เปรียบ แต่แล้วสงครามก็ดำเนินมาถึงจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ เมื่อจีนแดงตัดสินใจเข้าช่วยเกาหลี โดยตอนแรกทำกลเหมือนส่งมาแค่ก่อกวนแล้วล่าถอยให้อเมริกาตายใจ
แต่พอถึงปลายปี 1950 จีนได้ยกพลคลื่นมนุษย์จำนวนมหาศาลมาตีเกาหลี! (บางแห่งบอกว่า 200,000 นาย บางแห่งบอกว่า 400,000 นาย) พวกเขาบุกตะลุยแนวตั้งรับของฝ่ายโลกเสรี และสามารถตีจนแตกพ่าย!
ภาพแนบ: ภาพโฆษณาชวนเชื่อจีนในสงครามเกาหลี
ความพ่ายแพ้นี้ทำให้ทหารไทยทั้งหมดจำเป็นต้องล่าถอยออกจากกรุงเปียงยางด้วยรถบรรทุกและรถไฟเพื่อจัดกำลังใหม่ยังเมืองแคซ็องซึ่ง ณ เวลานั้นยังอยู่กับฝ่ายโลกเสรี
จากนั้นกองทัพไทยได้ถูกจัดกำลังไปเสริมปฏิบัติการของกองกำลังอังกฤษและสหรัฐ ทำให้มีโอกาสเข้าร่วมปฏิบัติการทางทหารเคียงบ่าเคียงไหล่กองทัพสหประชาชาติอีกหลายสมรภูมิอาทิ การรักษาแนวรบเมืองเบียงแต็กร่วมกับทหารอังกฤษ, การรักษาเส้นทางส่งกำลังบำรุงเมืองซังจู, และเข้าตีเมืองวาซอนในฐานะกองรบปีกซ้าย อย่างไรก็ตามผลงานโดดเด่นจนกลายเป็นวีรกรรมที่ถูกเล่าขานคือ “การรบแห่งเนินพอรค์ชอป” ในช่วงปลายปี 1952
ภาพแนบ: การถอนกำลัง
*** วีรกรรมบนเนินพอร์คชอป ***
ช่วงปลายเดือนตุลาคม 1952 กองพันทหารไทยได้รับคำสั่งให้ผลัดเปลี่ยนกับกองพันสหรัฐบนเขาพอร์คชอปซึ่งเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการป้องกันเมืองชอร์วอนอันเป็นฐานที่มั่นสำคัญทางยุทธวิธี
เนื่องจากภารกิจนี้สำคัญมากจึงมีการออกคำสั่งให้ทหารที่ประจำการอยู่ให้สู้ตาย และจะถอยได้หากมีคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาเท่านั้น ผิดจากเขาลูกอื่นๆที่สามารถถอนตัวตามความเหมาะสม
ภาพแนบ: แผนที่ของเนินเขา
นอกจากนี้ผู้บังคับบัญชาของไทยยังส่งทหารจำนวน 4 หมวดเข้าไปประจำยังแนวเขาพอร์คชอปและเขาสนู๊คเพื่อเป็นกำลังส่วนหน้า พร้อมเร่งขุดสนามเพลาะ, วางทุ่นระเบิด, เสริมแนวรั้วลวดหนามเพื่อรับข้าศึกจีน-เกาหลีเหนือ
นอกจากนั้นมีการจัดกำลังกองหนุนเครื่องที่เร็วเพื่อสนับสนุนกำลังส่วนหน้า และมีหน่วยยานเกราะและปืนใหญ่ของสหรัฐสนับสนุน
ภาพแนบ: สภาพการป้องกันเนินเขา
ในวันที่ 31 ตุลาคมคลื่นมนุษย์จีน-เกาหลีเหนือได้เคลื่อนกำลังเข้าตีแนวตั้งรับด้านทิศตะวันออกของไทย แต่ถูกฝ่ายไทยยิงตอบโต้จนต้องล่าถอยไป…
ในคืนต่อมาฝ่ายศัตรูเริ่มระดมยิงฐานที่มั่นของไทยด้วยปืนใหญ่และเครื่องยิงลูกระเบิด เพื่อเปิดทางให้หน่วยราวหนึ่งกองพันบุกเข้าทำลายแนวป้องกันบริเวณเขาพอร์คชอปและเขาสนู๊ค
ตอนนั้นแนวหน้าทหารไทยถูกตีแตกต้องล่าถอยไปถึงส่วนกลาง และเมื่อถูกตามตีมาก็มีการปะทะแบบตะลุมบอนด้วยมือเปล่าและดาบปลายปืน มีการเสียหายหนักทั้งสองฝ่าย ต่อมาอาศัยการยิงสนับสนุนของสหรัฐทำให้สามารถผลักดันฝ่ายจีน-เกาหลีเหนือล่าถอยไปเป็นครั้งที่สอง
ราวหนึ่งอาทิตย์หลังเหตุการณ์ดังกล่าว ทัพจีน-เกาหลีเหนือพยายามรุกใหญ่ครั้งสุดท้ายโดยเปิดฉากยิงถล่มฐานสังเกตุการณ์ของไทย ก่อนจะใช้ความมืดส่งทหารเข้ามาโจมตีแนวตั้งรับถึงสองระลอก
ภาพแนบ: หุ่นจำลองทหารไทยในการรบที่อนุสรณ์สถานแห่งชาติ
พวกไทยต่อสู้อย่างกล้าหาญผลักดันข้าศึกจนต้องล่าถอยกลับไปอีก ฝ่ายจีน-เกาหลีเหนือยังใช้จังหวะที่ฝ่ายไทยกำลังอ่อนล้าส่งทหารชุดใหม่มาตีอีกจนเกิดการรบอย่างดุเดือด ฝ่ายไทยเกือบเพลี่ยงพล้ำ แต่การยิงสนับสนุนด้วยอาวุธหนักของสหรัฐก็ยังช่วยมาก จนไทยสามารถผลักดันจีน-เกาหลีเหนือกลับไปได้อีก
ภาพแนบ: ปืนใหญ่สหรัฐ
ภายหลังการสู้รบจบสิ้นลง พลเอก เจมส์ เอ.แวน ฟลีต ผู้บังคับบัญชากองกำลังสหประชาชาติได้มาตรวจเยี่ยมเนินเขาพอร์คชอป ได้กล่าวกับผู้บังคับกองพันของไทยด้วยความชื่นชมว่า “ข้าพเจ้าไม่มีข้อสงสัยในจิตใจอันกล้าหาญของไทยอีกแล้ว” พร้อมกับมอบฉายา “ลิตเติล ไทเกอร์” หรือกองพันพยัคฆ์น้อยที่ต่อสู้ด้วยความกล้าหาญจนสามารถรักษาที่มั่นแห่งนี้สำเร็จ แม้จะมีกำลังน้อยกว่าศัตรูมาก
ตลอดการรบกว่า 10 วันในแนวรบนี้มีทหารไทยพลีชีพไปทั้งสิ้น 25 นาย ขณะที่ฝ่ายจีน-เกาหลีเหนือสูญเสียกว่า 160 ราย (บางแหล่งประเมินว่าอาจเกิน 200 ราย)
ภาพแนบ: พลเอก เจมส์ เอ.แวน ฟลีต (ซ้ายของภาพ)
*** การสู้รบในสมรภูมิที่ถูกลืม ***
หลังการสู้รบบริเวณเนินพอรค์ชอปทหารไทยยังคงปฏิบัติหน้าที่เคียงข้างกองกำลังสหประชาชาติอย่างห้าวหาญในสมรภูมิสำคัญหลายครั้งเช่น การจัดชุดลาดตระเวนที่ใช้กำลังขนาดเล็กที่มีความคล่องตัว เพื่อซุ่มโจมตีและจับเชลยฝ่ายตรงข้ามบริเวณพื้นที่ใกล้ภูเขาเดอะฮุค และลิดเติลยิบรอลตาร์ ทางทิศตะวันตกของแม่น้ำอินจินในแนวรบเจมส์ทาวน์
ตอนนั้นไทยได้ปะทะเข้ากับฝ่ายศัตรูที่มีจำนวนมากกว่าจนฝ่ายไทยพลีชีพ 7 นาย แต่สามารถสร้างความเสียหายให้กับฝ่ายศัตรูอย่างหนัก
ภาพแนบ: ทหารไทย (ภาพแทน)
นอกจากนี้กองร้อยอาวุธหนักของไทยยังมีส่วนสำคัญในการป้องกันที่มั่นจำนวน 8 แห่งด้วยการประสานแนวยิงกับฝ่ายสหรัฐ
ต่อมาทัพโลกเสรีและทัพคอมมิวนิสต์ได้ตั้งยันกัน ไม่แพ้ไม่ชนะ จนกระทั่งมีคำสั่งให้ทุกฝ่ายหยุดยิงตามข้อตกลงสงบศึกในเวลา 21.35 น. ของวันที่ 17 กรกฎาคม 1953 ถือเป็นการสิ้นสุดการสู้รบสำหรับทหารไทยอย่างเป็นทางการ
ภาพแนบ: พลปืนครกไทย
*** บทสรุปของสงคราม ***
ภายหลังข้อตกลงสงบศึก กำลังพลของไทยได้ปฏิบัติหน้าที่ดูแลความเรียบร้อยตามพื้นที่ต่างๆ ร่วมกับกองกำลังสหประชาชาติ โดยฝ่ายสหรัฐได้ช่วยทำการอบรมและฝึกสอนภารกิจด้านต่างๆ เพื่อยกระดับความสามารถสู้รบของกองทัพไทย
เมื่อเห็นว่าสถานการณ์ทุกอย่างคลี่คลายลง ทำให้รัฐบาลไทยเริ่มต้นการถอนกำลังโดยในเดือน ธันวาคม 1954 มีพิธีที่กองพันทหารไทยเดินสวนสนามอำลา โดยมีเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเกาหลีใต้และสหประชาชาติร่วมเป็นพยานจำนวนมาก
ภาพแนบ: ทหารไทย
ทยถอนทหารแล้วเสร็จในปี 1955 คงเหลือเพียงกองทัพอากาศที่ยังปฏิบัติภารกิจเพื่อมนุษยธรรมถึงปี 1975 ถือเป็นการปิดฉากภารกิจของทหารไทยในสงครามเกาหลีอย่างเป็นทางการ (แม้ว่าการสู้รบใหญ่จะจบสิ้นลงในปี 1953 ทว่าแต่เนื่องจากไม่มีการยอมรับจากทั้งสองฝ่าย ดังนั้นในทางเทคนิคแล้วสงครามเกาหลียังไม่เคยจบจนถึงปัจจุบัน เป็นเพียงแต่หยุดยิงเท่านั้น)
ในสงครามนี้มีคนไทยที่ไปช่วยตาย 125 นาย, ได้รับบาดเจ็บ 318 นาย, และสูญหายอีก 5 นาย ทั้งหมดเพื่อปกป้องเอกราชของเกาหลีใต้
ความเสียสละดังกล่าวได้รับการสดุดีและยกย่องจากเกาหลีใต้ด้วยการสร้างอนุเสาวรีย์ทหารไทย ณ จังหวัดคยองกี พร้อมจัดพิธีรำลึกทุกๆ ปี
ปัจจุบันเกาหลีใต้ยังคงส่งความช่วยเหลือมาให้ครอบครัวทหารผ่านศึกไทยในช่วงโควิด 19 เริ่มระบาด ขณะเดียวกันทหารไทยยังถูกเชิญให้ส่งคนเข้ามาประจำกองร้อยเกียรติยศของกองบัญชาการสหประชาชาติในเกาหลีใต้ทุกปีเพื่อทำพิธีรำลึก
ภาพแนบ: ทหารไทยประจำประจำกองร้อยเกียรติยศของกองบัญชาการสหประชาชาติ
แม้ยังถกเถียงกันอยู่ว่าใครเป็นผู้ชนะในสงครามเกาหลี แต่หากไม่มีการช่วยเหลือจากฝ่ายโลกเสรีตอนนั้น ก็คงไม่มีประเทศเกาหลีใต้ในวันนี้ได้
วีรกรรมในสงครามเกาหลีทำให้ทหารไทยได้รับการยอมรับ และส่งผลให้ประเทศไทยก้าวขึ้นมามีบทบาทในสงครามเย็นมากขึ้น ซึ่งหลังจากนี้ไทยจะได้กลายเป็นฐานหลักของฝ่ายโลกเสรีในการสู้ศึกใหญ่ให้อีกหลายครั้ง เช่นสงครามเวียดนาม และสงครามปราบคอมมิวนิสต์ อันได้เคยเขียนไปก่อนหน้านี้นั่นเอง
โฆษณา