24 มิ.ย. 2022 เวลา 04:30 • ปรัชญา
บันทึก: เรื่องของ”กรรม”
คนเราเกิดมาก็เพราะมีกรรม และเมื่อเวียนว่ายอยู่ในสังสารวัฏก็ยังก่อกรรม
กรรมที่ก่อจะสานเป็นสายใยแห่งกรรมที่จะมีผลทั้งจากตัวเราไปยังบุคคลอื่น และจากบุคคลอื่นมายังตัวเรา โยงใยจนยุ่งเหยิงไปหมด ที่เราเรียกกันว่า”กรรมวิบาก”
ดังนั้นเมื่อคนเราเกิดมาแล้ว ย่อมหนีไม่พ้นที่จะก่อกรรมอันเป็นเครื่องผูกให้วนเวียนอยู่ในวัฏฏะสงสารแห่งนี้
ผู้ไม่รู้ย่อมก่อกรรมไปโดยมิรู้ว่าผลที่ตามมาจะพาให้ตนเองเวียนว่ายอยู่อย่างมิรู้ต้นสายปลายทาง
มีเพียงผู้ที่รู้ก็ย่อมบำเพ็ญตนให้พ้นจากการก่อกรรมอันผูกตนไว้ให้เวียนวน และกรรมใดที่ทำให้ไม่มีผลอีก เลิกให้ผล ก็พึงกระทำเสีย เพื่อผลแห่งการสิ้นแล้วต่อกัน คือ อโหสิกรรม
บทความเรื่อง”กรรมวิบาก”นี้ คัดลอกมาเพื่ออธิบายรายละเอียดของ”กรรม”
กรรมวิบาก /อจินไตยข้อที่สาม/อ่านว่า กำ-มะ-วิ-บาก/
ประกอบด้วยคำว่า กรรม + วิบาก
(๑) “กรรม”
- เขียนแบบบาลีเป็น “กมฺม” (กำ-มะ)
- เขียนแบบสันสกฤตเป็น “กรฺม” (กระ-มะ)
- เขียนแบบไทยเขียนอิงสันสกฤตเป็น “กรรม”
“กมฺม” รากศัพท์มาจาก กรฺ (ธาตุ = กระทำ) + รมฺม (รำ-มะ, ปัจจัย)
“กมฺม” แปลว่า การกระทำ, สิ่งที่ทำ, การงาน (the doing, deed, work) นิยมพูดทับศัพท์ว่า “กรรม”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“กรรม ๑, กรรม- ๑ : (คำนาม) (๑) การ, การกระทำ, การงาน, กิจ, เช่น พลีกรรม ต่างกรรมต่างวาระ, เป็นการดีก็ได้ ชั่วก็ได้ เช่น กุศลกรรม อกุศลกรรม.(๒) การกระทำที่ส่งผลร้ายมายังปัจจุบัน หรือซึ่งจะส่งผลร้ายต่อไปในอนาคต เช่น บัดนี้กรรมตามทันแล้ว ระวังกรรมจะตามทันนะ.(๓) บาป, เคราะห์, เช่น คนมีกรรม กรรมของฉันแท้ ๆ.(๔) ความตาย ในคำว่า ถึงแก่กรรม.”
ในที่นี้ “กรรม” หมายถึง การกระทำที่ประกอบด้วยเจตนา คือทำด้วยความจงใจหรือจงใจทำ ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม ซึ่งจะมีผลตามมา
(๒) “วิบาก”
บาลีเป็น “วิปาก” อ่านว่า วิ-ปา-กะ รากศัพท์มาจาก วิ (คำอุปสรรค = พิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + ปจฺ (ธาตุ = ทำให้สิ้นสุด; หุง, ต้ม; สุก, ไหม้) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ทีฆะ อะ ที่ ป-(จฺ) เป็น อา “ด้วยอำนาจปัจจัยเนื่องด้วย ณ” (ปจฺ > ปาจ), แปลง จ ที่สุดธาตุเป็น ก (ปจฺ > ปาจ > ปาก)
: วิ + ปจฺ = วิปจฺ + ณ = วิปจณ > วิปจ > วิปาจ > วิปาก แปลตามศัพท์ว่า (1) “เป็นที่สุดแห่งเหตุ” (2) “สิ่งที่สุกแล้วอย่างไม่เหลือ” (คือไม่มีส่วนที่ยังดิบเหลืออยู่)
“วิปาก” หมายถึง ผล, การสำเร็จผล, ผลิตผล; ผลที่เกิดขึ้น, ผลที่เกิดจากเหตุหรือผลของกรรม, ผลกรรม, (fruit, fruition, product; result, effect, retribution)
ฝรั่งที่ทำพจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ขยายความหมายของ “วิปาก” ไปอีกว่าเปรียบเหมือน reward or punishment (รางวัลหรือการถูกลงโทษ) ที่ได้รับ แล้วแต่ว่าจะทำกุศลกรรมหรืออกุศลกรรม
“วิปาก” ในบาลี เราเอามาใช้ว่า “วิบาก”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“วิบาก : (คำนาม) ผล, ผลแห่งกรรมดีกรรมชั่วอันทําไว้แต่อดีต, เช่น กุศลวิบาก กรรมวิบาก. (คำวิเศษณ์) ลำบาก เช่น ทางวิบาก วิ่งวิบาก. (ป., ส. วิปาก).”
กมฺม + วิปาก = กมฺมวิปาก (กำ-มะ-วิ-ปา-กะ) แปลว่า “ผลของกรรม”
“กมฺมวิปาก” ใช้ในภาษาไทยเป็น “กรรมวิบาก” (กำ-มะ-วิ-บาก)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“กรรมวิบาก : (คำนาม) ผลของกรรม. (ส. กรฺม + วิปาก = ผล; ป. กมฺม + วิปาก).”
อภิปรายแทรก :
คำในชุดของ “อจินไตย” มี 4 คำ คือ “พุทธวิสัย” “ฌานวิสัย” “กรรมวิบาก” และ “โลกจินดา” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ไม่ได้เก็บคำว่า “พุทธวิสัย” “ฌานวิสัย” และ “โลกจินดา” แต่เก็บคำว่า “กรรมวิบาก” ไว้ จึงเห็นได้ว่า พจนานุกรมฯ ไม่ได้เก็บคำนี้โดยมุ่งถึงคำในชุดของ “อจินไตย” เพราะถ้ามุ่งเช่นนั้นก็ควรจะต้องเก็บอีก 3 คำไว้ด้วย
ขยายความ
“กรรมวิบาก” เป็นข้อหนึ่งในสิ่งที่เรียกว่า “อจินไตย”
คำว่า “อจินไตย” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า
“อจินไตย : (คำวิเศษณ์) ที่พ้นความคิด, ไม่ควรคิด, (สิ่งที่เป็นอจินไตยมีอยู่ ๔ อย่างด้วยกัน คือ พุทธวิสัยของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ๑ ฌานวิสัยของผู้ได้ฌาน ๑ วิบากแห่งกรรม ๑ ความคิดเรื่องโลก ๑). (ป. อจินฺเตยฺย; ส. อจินฺตฺย).”
เรื่องอจินไตยมาในพระไตรปิฎก คือคัมภีร์อังคุตรนิกาย จตุกนิบาต พระไตรปิฎกเล่ม 20 ข้อ 77 ขอยกมาโดยประสงค์เพื่อเจริญปัญญา ดังนี้
จตฺตารีมานิ ภิกฺขเว อจินฺเตยฺยานิ น จินฺเตตพฺพานิ ยานิ จินฺเตนฺโต อุมฺมาทสฺส วิฆาตสฺส ภาคี อสฺส.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อจินไตย 4 อย่างนี้ไม่ควรคิด ผู้ที่คิดก็จะพึงมีส่วนแห่งความเป็นบ้า ได้รับความลำบากเปล่า
กตมานิ จตฺตาริ.
อจินไตย 4 คืออะไรบ้าง
พุทฺธานํ ภิกฺขเว พุทฺธวิสโย อจินฺเตยฺโย น จินฺเตตพฺโพ ยํ จินฺเตนฺโต อุมฺมาทสฺส วิฆาตสฺส ภาคี อสฺส.
พุทธวิสัยแห่งพระพุทธทั้งหลายเป็นอจินไตยไม่ควรคิด ผู้ที่คิดก็จะพึงมีส่วนแห่งความเป็นบ้า ได้รับความลำบากเปล่า
ฌายิสฺส ภิกฺขเว ฌานวิสโย อจินฺเตยฺโย น จินฺเตตพฺโพ ยํ จินฺเตนฺโต อุมฺมาทสฺส วิฆาตสฺส ภาคี อสฺส.
ฌานวิสัยแห่งผู้ได้ฌานเป็นอจินไตยไม่ควรคิด ผู้ที่คิดก็จะพึงมีส่วนแห่งความเป็นบ้า ได้รับความลำปากเปล่า
กมฺมวิปาโก ภิกฺขเว อจินฺเตยฺโย น จินฺเตตพฺโพ ยํ จินฺเตนฺโต อุมฺมาทสฺส วิฆาตสฺส ภาคี อสฺส.
ผลของกรรมเป็นอจินไตยไม่ควรคิด ผู้ที่คิดก็จะพึงมีส่วนแห่งความเป็นบ้า ได้รับความลำบากเปล่า
คัมภีร์มโนรถปูรณีอันเป็นอรรถกถาของอังคุตรนิกาย ขยายความคำว่า “กมฺมวิปาโก” ไว้ดังนี้
…………..
กมฺมวิปาโกติ ทิฏฺฐธมฺมเวทนียาทีนํ กมฺมานํ วิปาโก.
คำว่า กมฺมวิปาโก ได้แก่ วิบากแห่งกรรมมีทิฏฐธรรมเวทนียกรรม (กรรมให้ผลในปัจจุบันทันตาเห็น) เป็นต้น
ที่มา: มโนรถปูรณี ภาค 2 หน้า 534
…………..
จะเข้าใจเรื่อง “กรรมวิบาก” ได้ดีขึ้นหากมีพื้นความรู้เรื่อง “กรรม” ในพระพุทธศาสนา
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [338] ประมวลเรื่อง “กรรม” ในพระพุทธศาสนาไว้ดังนี้ –
…………..
กรรม 12 (การกระทำที่ประกอบด้วยเจตนา ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม, ในที่นี้หมายถึงกรรมประเภทต่างๆ พร้อมทั้งหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการให้ผลของกรรมเหล่านั้น — Kamma: karma; kamma; action; volitional action)
หมวดที่ 1 ว่าโดยปากกาล คือ จำแนกตามเวลาที่ให้ผล (classification according to the time of ripening or taking effect)
1. ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม (กรรมให้ผลในปัจจุบันคือในภพนี้ — Diṭṭhadhamma-vedanīyakamma: kamma to be experienced here and now; immediately effective kamma)
2. อุปปัชชเวทนียกรรม (กรรมให้ผลในภพที่จะไปเกิดคือในภพหน้า — Upapajja-vedanīyakamma: kamma to be experienced on rebirth; kamma ripening in the next life)
3. อปราปริยเวทนียกรรม (กรรมให้ผลในภพต่อๆ ไป — Aparāpariya-vedanīya-kamma: kamma to be experienced in some subsequent lives; indefinitely effective kamma)
4. อโหสิกรรม (กรรมเลิกให้ผล ไม่มีผลอีก — Ahosi-kamma: lapsed or defunct kamma)
หมวดที่ 2 ว่าโดยกิจ คือ จำแนกการให้ผลตามหน้าที่ (classification according to function)
5. ชนกกรรม (กรรมแต่งให้เกิด, กรรมที่เป็นตัวนำไปเกิด — Janaka-kamma: productive kamma; reproductive kamma)
6. อุปัตถัมภกกรรม (กรรมสนับสนุน, กรรมที่เข้าช่วยสนับสนุนหรือซ้ำเติมต่อจากชนกกรรม — Upatthambhaka-kamma: supportive kamma; consolidating kamma)
7. อุปปีฬกกรรม (กรรมบีบคั้น, กรรมที่มาให้ผล บีบคั้นผลแห่งชนกกรรมและอุปัตถัมภกรรมนั้น ให้แปรเปลี่ยนทุเลาลงไป บั่นทอนวิบากมิให้เป็นไปได้นาน — Upapīḷaka-kamma: obstructive kamma; frustrating kamma)
8. อุปฆาตกกรรม (กรรมตัดรอน, กรรมที่แรง ฝ่ายตรงข้ามกับชนกกรรมและอุปัตถัมภกกรรมเข้าตัดรอนการให้ผลของกรรมสองอย่างนั้น ให้ขาดไปเสียทีเดียว เช่น เกิดในตระกูลสูง มั่งคั่ง แต่อายุสั้น เป็นต้น — Upaghātaka-kamma: destructive kamma; supplanting kamma)
หมวดที่ 3 ว่าโดยปากทานปริยาย คือ จำแนกตามความยักเยื้องหรือลำดับความแรงในการให้ผล (classification according to the order of ripening)
9. ครุกกรรม (กรรมหนัก ให้ผลก่อน ได้แก่ สมาบัติ 8 หรือ อนันตริยกรรม — Garuka-kamma: weighty kamma)
10. พหุลกรรม หรือ อาจิณณกรรม (กรรมทำมากหรือกรรมชิน ให้ผลรองจากครุกกรรม — Bahula-kamma or Āciṇṇa-kamma: habitual kamma)
11. อาสันนกรรม (กรรมจวนเจียน หรือกรรมใกล้ตาย คือกรรมทำเมื่อจวนจะตายจับใจอยู่ใหม่ๆ ถ้าไม่มี 2 ข้อก่อน ก็จะให้ผลก่อนอื่น —Āsanna-kamma: death-threshold kamma; proximate kamma)
12. กตัตตากรรม หรือ กตัตตาวาปนกรรม (กรรมสักว่าทำ, กรรมที่ทำไว้ด้วยเจตนาอันอ่อน หรือมิใช่เจตนาอย่างนั้นโดยตรง ต่อเมื่อไม่มีกรรมอื่นให้ผลแล้วกรรมนี้จึงจะให้ผล — Katattākamma or Katattāvāpana-kamma: reserve kamma; casual act) กฏัตตากรรม ก็เขียน
กรรม 12 หรือ กรรมสี่ 3 หมวดนี้ มิได้มีมาในบาลีในรูปเช่นนี้โดยตรง พระอาจารย์สมัยต่อมา เช่น พระพุทธโฆษาจารย์ เป็นต้น ได้รวบรวมมาจัดเรียงเป็นแบบไว้ในภายหลัง.
…………..
ท่านว่า-ไม่ควรคิดเรื่อง “กรรมวิบาก” คือการให้ผลของกรรม
ขยายความตามอัตโนมัตยาธิบายว่า ไม่ควรคิดหาคำตอบหรือคำอธิบาย เช่นว่า – ทำไมกรรมจึงตามให้ผลแก่คนทำกรรมนั้นได้ถูกตัวแน่นอนแม่นยำ ทั้งๆ ที่พลโลกมีเป็นร้อยล้านพันล้าน หรือกรรมมีกำลังหรือมีแรงส่งผลข้ามภพข้ามชาติได้อย่างไร
ท่านไม่ได้ห้ามสงสัย ใครจะสงสัยก็ได้ เชิญสงสัยได้เต็มที่ แต่จะค้นหาคำตอบที่จุใจหรือพอใจตัวเองนั้น จะหาไม่พบ ได้คำตอบตรงนี้ ก็จะไปเจอข้อเยื้องแย้งตรงโน้น ซึ่งในที่สุดก็มักจะจบลงด้วยคำว่า “เป็นไปได้อย่างไร ไม่เข้าใจ”
ข้อสังเกตเรื่องถ้อยคำ :
คำในชุด “อจินไตย” มี 4 คำ คือ –
“พุทฺธวิสโย” ในภาษาไทยใช้ว่า “พุทธวิสัย”
“ฌานวิสโย” ในภาษาไทยใช้ว่า “ฌานวิสัย”
“กมฺมวิปาโก” ในภาษาไทยใช้ว่า “กรรมวิบาก”
“โลกจินฺตา” ในภาษาไทยใช้ว่า “โลกจินดา”
ที่ขอให้สังเกตก็คือ 2 คำแรกท่านใช้คำว่า “วิสย” หรือ “วิสัย” คือ “พุทธวิสัย” “ฌานวิสัย”
แต่ข้อ 3 และข้อ 4 ท่านไม่ได้ใช้คำว่า “วิสย”
ข้อ 3 ท่านใช้คำว่า “กมฺมวิปาก” ในภาษาไทยใช้ว่า “กรรมวิบาก” ไม่ใช่ “กรรมวิสัย”
ข้อ 4 ท่านใช้คำว่า “โลกจินฺตา” ในภาษาไทยใช้ว่า “โลกจินดา” ไม่ใช่ “โลกวิสัย”
“กรรมวิบาก” กับ “กรรมวิสัย” ความหมายต่างกันมาก
“กรรมวิสัย” หมายถึงทุกเรื่องเกี่ยวกับ “กรรม”
“กรรมวิบาก” หมายเอาเฉพาะเรื่องการให้ผลของกรรมเท่านั้น
เกี่ยวกับ “กรรม” ท่านไม่ให้คิดหรือไม่ให้สงสัยเฉพาะประเด็น “วิบาก” คือการให้ผลของกรรมเท่านั้น ไม่ใช่ไม่ให้คิดหรือไม่ให้สงสัยทุกเรื่องของกรรม บางเรื่องของกรรมสามารถคิดหาคำตอบได้ แต่เรื่องการให้ผลของกรรม (กรรมวิบาก) คิดหาคำตอบไม่ได้
เวลานำไปอ้างอิงหรือเอ่ยถึง สมควรใช้คำให้ตรงกับต้นฉบับของท่าน หาไม่จะกลายเป็น “อจินไตย” ชุดใหม่ ไม่ใช่ “อจินไตย” ของพระพุทธเจ้า
…………
โฆษณา