25 มิ.ย. 2022 เวลา 02:00 • ประวัติศาสตร์
‘Danuta Danielsson’ หญิงกับกระเป๋าถือ ตำนานการต่อต้าน ‘Neo-Nazi’ สุดบันลือโลก
สติกเกอร์ซึ่งทำขึ้นโดย Civil Woke ศิลปินล้อเลียนการเมือง ราคาชิ้นละ $4.28
เมื่อหญิงคนหนึ่งก้าวออกจากฝูงชนในเมือง Växjö ของสวีเดน ในวันที่ ๑๓ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๘ (ค.ศ. 1985) แล้วใช้กระเป๋าถือของเธอฟาดเข้าที่ศีรษะของสมาชิก Neo-Nazi ที่โบกธงของพรรค Nordic Reich ซึ่ง Hans Runnesson ช่างภาพ สามารถจับภาพได้ทันที ทำให้ภาพถ่ายดังกล่าวโด่งดังไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว แม้กระทั่งทุกวันนี้ ภาพนี้ก็ยังถูกยกให้เป็นหนึ่งในภาพสัญลักษณ์ของการต่อต้านลัทธิ Neo-Nazi
ธงของพรรค The Nordic Realm (พ.ศ. ๒๔๙๙-๒๕๕๒)
ภาพถ่ายถูกถ่ายระหว่างการชุมนุมวงเล็ก ๆ ของกลุ่มผู้สนับสนุนพรรค The Nordic Realm (ซึ่งเป็นพรรคการเมืองฝ่ายขวา นิยมลัทธิ Neo-Nazi และหมดสภาพไปตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๕๒)
เมื่อวันที่ ๑๓ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๘ ซึ่งได้รับการอนุมัติของทางการแล้ว ผู้จัดการชุมนุมได้วางแผนที่จะจัดขึ้นหลังจากสิ้นสุดการกล่าวสุนทรพจน์ต่อสาธารณะโดยนาย Lars Werner หัวหน้าพรรคซ้าย-คอมมิวนิสต์ ใจกลางเมือง Växjö จนเกิดการปะทะกันขึ้นระหว่างผู้สนับสนุนพรรคซ้าย-คอมมิวนิสต์ กับพวก Neo-Nazi เริ่มต้นขึ้นก่อนเริ่มการชุมนุม
Hans Runnesson ช่างภาพผู้ถ่ายภาพนี้
ภาพถ่ายของ Runnesson ภาพนี้ถูกตีพิมพ์ในวันรุ่งขึ้นบนหน้าแรกของหนังสือพิมพ์ Dagens Nyheter ของสวีเดน และในวันที่ ๑๕ เมษายนโดยหนังสือพิมพ์อังกฤษสองฉบับ คือ The Times และ The Daily Express ยังมีภาพถ่ายภาพอื่น ๆ ที่ถ่ายโดย Runnesson แสดงให้เห็นถึงสมาชิก Neo-Nazi 10 คน ซึ่งถูกไล่ล่า ขว้างปาด้วยไข่
และการเผชิญหน้าอย่างดุเดือดโดยฝูงชน ที่ประกอบด้วยผู้เข้าร่วมหลายร้อยคนในการชุมนุมพรรคซ้าย-คอมมิวนิสต์ ซึ่งเข้าร่วมโดยชาวเมือง Växjö ในท้องถิ่น หนึ่งในพวก Neo-Nazi ถูกเตะจนหมดสติล้มลงกับพื้น จากนั้นผู้ประท้วงคนหนึ่งก็ช่วยชีวิตเขาไว้ได้ ในที่สุดนักเคลื่อนไหวฝ่ายขวาจัดก็ต้องหลบซ่อนตัวอยู่ในห้องน้ำของสถานีรถไฟ ๒-๓ ชั่วโมง จนกระทั่งตำรวจเข้ามาพาพวกเขาออกไป
ภาพนี้ได้รับเลือกให้เป็นภาพแห่งปีของสวีเดน (Årets bild) พ.ศ. ๒๕๒๘ (ค.ศ. 1985) และต่อมาเป็นภาพแห่งศตวรรษโดยนิตยสาร Vi และสมาคมประวัติศาสตร์การถ่ายภาพแห่งสวีเดน ภาพถ่ายถูกจัดพิมพ์โดยแกลเลอรีภาพ Pelle Unger AP สามชุด และ PP สามชุด ในขนาด ๕๘ x ๘๐ เซนติเมตร (๒๓ นิ้ว × ๓๑ นิ้ว) และมีราคาอยู่ระหว่าง ๒,๐๐๐ ถึง ๓,๘๐๐ ยูโร (ราคา ณ เดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๓)
รูปปั้น Danuta Danielsson “หญิงกับกระเป๋า” ในเมือง Alingsås
หญิงในภาพที่ใช้กระเป๋าถือฟาดเข้าที่ศีรษะของสมาชิก Neo-Nazi คือ Danuta Danielsson เกิดเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๐ ในเมือง Gorzów Wielkopolski โปแลนด์ เธอมีพี่น้องสามคน และเป็นชาวโปแลนด์-ยิว แม่ของเธอเป็นหนึ่งในผู้รอดชีวิตจากค่ายกักกันของเยอรมันในโปแลนด์ ในช่วงการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง
เธอพบกับ Björn "Beson" Danielsson ในงานเทศกาลดนตรีแจ๊สในปี พ.ศ. ๒๕๒๔ ทั้งคู่แต่งงานกันในเดือนพฤศจิกายนของปีเดียวกันที่เมือง Gorzów แล้วทั้งคู่ก็ย้ายไปสวีเดนในเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๕ บรรดาผู้ที่รู้จักเธออธิบายว่า เธอเป็นคนกระตือรือร้นและคิดบวกมาก
1
ในช่วงสองสามปีแรกที่อยู่ในสวีเดนประเทศใหม่ของเธอ เธอมีปัญหาเรื่องอาการทางจิต เนื่องจากบางครั้งเธอก็กรีดร้องอย่างน่ากลัวใส่ผู้คนบนท้องถนน และบางครั้งเธอก็บ่นพึมพำกับตัวเอง ด้วยเหตุนี้ เธอจึงได้รับการรักษาในหอผู้ป่วยจิตเวช
หลังจากที่รูปถ่ายของ Danuta กลายเป็น ‘ไวรัล (Viral)’ อย่างที่เรียกกันในตอนนี้ เธอหลีกเลี่ยงออกจากความสนใจของสังคม โดยเธอเลือกที่จะไม่เปิดเผยตัวตนหลังเหตุการณ์ดังกล่าว เนื่องจากเกรงว่าจะมีการดำเนินคดีอาญา และการแก้แค้นของพวก Neo-Nazi
ทำให้เรื่องราวส่วนตัวของเธอไม่เป็นที่รู้จักของสาธารณชนเป็นเวลาเกือบสามทศวรรษ แม้ว่าเธอจะอายุเพียง ๓๘ ปีในขณะที่เกิดเหตุการณ์ แต่ตามความเห็นของสาธารณชนเธอถูกมองว่าเป็นหญิงชรา (Tant) ซึ่งในภาพรวมของสังคมสวีเดนมองว่าเธอเป็นสัญลักษณ์ของ ‘ความบกพร่องทางปัญญาทางโลก ไม่ใช่ความกล้าหาญที่ถูกต้องของพลเมือง และไม่มีความสอดคล้องทางศีลธรรม’
รูปปั้นคุณป้าสวีดิช 'Swedish aunts' (Den svenska tanten) เป็นรูปปั้นที่สร้างขึ้นเพื่อลดภาพลักษณ์ความรุนแรงของรูปปั้น ‘หญิงกับกระเป๋า’
แม้ภาพดังกล่าวทำให้ Danuta ได้รับการยอมรับในระดับสากล แต่ผู้คนมีทั้งชื่นชมและประณามเธอด้วย ทำให้เธอมีปัญหาสุขภาพจิต และจบชีวิตด้วยฆ่าตัวตาย โดยการกระโดดจากหอเก็บน้ำของเมือง Växjö ในปี พ.ศ. ๒๕๓๑ สามปีหลังจากเหตุการณ์
ในปี พ.ศ. ๒๕๕๗ เมื่อสื่อมวลชนเปิดเผยว่า หญิงในภาพคือ Danielsson ท่ามกลางการประเด็นถกเถียงเรื่องการตั้งรูปปั้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แก่เธอที่หาญกล้าเผชิญหน้ากับกลุ่ม Neo-Nazi แต่ลูกชายของเธอก็ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ และกล่าวว่า ตัว Danuta เองก็ไม่เคยชอบภาพถ่ายภาพนี้ และรู้สึกเสียใจกับชื่อเสียงของมัน
นอกจากนี้ เขายังปฏิเสธข่าวลือที่ว่าเธอเป็นผู้รอดชีวิตจากค่ายกักกันชาวยิวในสงครามโลกครั้งที่สอง หรือเรื่องที่ว่า เธอไม่รู้ตัวว่าเธอกำลังทำอะไรอยู่ในช่วงเวลาที่เกิดเหตุการณ์ เพราะปัญหาสุขภาพจิตของเธอ ชายที่ถูก Danuta ใช้กระเป๋าถือฟาด คือ Seppo Seluska ซึ่งเป็นสมาชิกของพรรค The Nordic Realm ภายหลังเขาถูกจับกุมและถูกตัดสินว่า มีความผิดฐานทรมานและสังหารชาวยิวที่เป็นเกย์
Sussan Arwin ประติมากรชาวสวีเดน ผู้สร้างรูปปั้น ‘หญิงกับกระเป๋าถือ’
เมื่อ Sussan Arwin ประติมากรชาวสวีเดน ริเริ่มที่จะสร้างรูปปั้นทองแดงขนาดเท่าคนจริงในเมือง Växjö แต่ถูกต่อต้านโดยนักการเมืองท้องถิ่น เนื่องจากพวกเขาเชื่อว่า สิ่งนี้อาจเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดความรุนแรง ซึ่งลูกชายของ Danuta ก็เห็นด้วย
แต่แล้วได้มีการตัดสินใจไม่ยอมรับในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๘ ด้วยเหตุผลสองประการคือ สมาชิกสภากังวลว่า รูปปั้นดังกล่าวอาจถูกตีความว่าเป็นการส่งเสริมความรุนแรง และครอบครัวของเธอบอกว่า พวกเขาไม่พอใจที่ Danuta ถูกระลึกถึงในลักษณะดังกล่าว เพื่อประท้วงการตัดสินใจ ผู้คนทั่วทั้งสวีเดนก็พากันเพิ่มกระเป๋าถือให้กับรูปปั้น
Lasse Diding ผู้ประกอบการโรงแรมชาวสวีเดน ผู้ซื้อรูปปั้น ‘หญิงกับกระเป๋าถือ’
ต่อมาในเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๕๕๘ Lasse Diding ผู้ประกอบการโรงแรมชาวสวีเดน ประกาศว่า เขาได้ซื้อรูปปั้นนี้แล้ว และตั้งใจจะบริจาคให้กับเทศบาล Varberg ต่อมาได้มีการแสดงรูปปั้นนี้ที่ป้อม Varberg
แต่คณะกรรมการวัฒนธรรม Varberg ได้ลงมติในเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๕๙ ว่า จะไม่รับบริจาครูปปั้นนี้ ปัจจุบันรูปปั้นนี้ตั้งอยู่ในสวน Villa Wäring ของ Lasse Diding ในเมือง Varberg และมีการแสดงรูปปั้นอันที่สองในเมือง Alingsås ด้วย เรื่องราวของ ‘หญิงกับกระเป๋าถือ’ จึงกลายเป็นเรื่องราวเรื่องหนึ่งในตำนานของการต่อต้านลัทธิ Neo-Nazi จนทุกวันนี้
ลิงก์เหตุการณ์ >> https://youtu.be/4mGzz2tZrmU
ดร.โญธิน มานะบุญ
ที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการสมัยใหม่ อาจารย์พิเศษหลักสูตรปริญญาโทและเอก นักเล่าเรื่องมากมายในหลากหลายมิติ เป็นผู้ที่ชื่นชมสนใจในประวัติศาสตร์สงครามสมัยใหม่ตลอดจนอาวุธยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ
โฆษณา