24 มิ.ย. 2022 เวลา 12:30 • หุ้น & เศรษฐกิจ
BOT POLICY HACKATHON
กิจกรรม INSIGHT TALK WITH GURUS ติวเข้มผู้แข่งขัน
ในโอกาสครบรอบ 80 ปี ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้จัดกิจกรรม BOT Policy Hackathon การแข่งขันออกแบบนโยบายอย่างสร้างสรรค์ในการพัฒนา 3 ด้าน คือ การเงินดิจิทัล การเงินเพื่อสิ่งแวดล้อม และการแก้ปัญหาหนี้ เพื่อรับฟังผู้ได้รับผลกระทบและแนวนโยบายที่ประชาชนนำเสนอ โดยมีจุดประสงค์ที่จะส่งเสริมการพัฒนาระบบการเงินอย่างยั่งยืน
Insight Talk with Gurus
หลังจากได้ 36 ทีมที่ผ่านการคัดเลือกในการแข่งขัน BOT Policy Hackathon ธปท. จัดกิจกรรม Insight Talk with Gurus ขึ้นในวันที่ 31 พฤษภาคม 2565 เพื่อติวเข้มผู้เข้าแข่งขันก่อนจัดทำข้อเสนอนโยบาย (policy paper) และคลิปวิดีโอสำหรับนำเสนอคณะกรรมการในรอบต่อไป
กิจกรรม Insight Talk with Gurus ในช่วงเช้าเป็นการมอบความรู้จาก 3 กูรูของ ธปท. เริ่มจาก ดร.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริหารการสื่อสารองค์กร กับการบรรยายหัวข้อ “บทบาท งานสำคัญของ ธปท. และความท้าทายในอนาคตของธนาคารกลาง” สะท้อนให้เห็นถึงหน้าที่หลักของ ธปท. ในการสร้างเสถียรภาพให้กับการเงิน ระบบสถาบันการเงิน และระบบการชำระเงิน โดยปัจจุบันมีภาวะเงินเฟ้อเป็นสิ่งที่เข้ามาท้าทายการดำเนินงาน
ต่อด้วย คุณสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายและกำกับสถาบันการเงิน 2 กับการบรรยายหัวข้อ “หลักการกำกับการดูแลที่สำคัญ” เผยภาพการทำงานของ ธปท. ในการดูแลสถาบันการเงินตั้งแต่เริ่มต้นเปิดกิจการ กำกับ ตรวจสอบ ดูแลสภาพคล่อง ช่วยเหลือเมื่อเกิดปัญหา รวมไปถึงสิ่งที่ต้องควบคู่ไปกับการพัฒนาธุรกิจ คือธรรมาภิบาลของผู้ประกอบการ
ปิดท้ายด้วย คุณวิจิตรเลขา มารมย์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายบริหารความเสี่ยงภาพรวม กับการบรรยายหัวข้อ “วัตถุประสงค์ของ BOT Policy Hackathon และผลที่คาดหวัง” พร้อมเผยเกณฑ์การตัดสิน รวมถึงรายละเอียดในการนำเสนอผลงาน ซึ่งนอกจากจะพูดคุยกับผู้เข้าแข่งขันอย่างเป็นกันเอง คุณวิจิตรเลขายังได้ให้สัมภาษณ์ถึงหลากหลายแง่มุมที่น่าสนใจของ BOT Policy Hackathon โดยเริ่มจากที่มาของการแข่งขันครั้งนี้
“ธปท. จัดการแข่งขัน Policy Hackathon ขึ้นเป็นครั้งแรก โดยยึดค่านิยมขององค์กรเป็นแกนหลัก นั่นคือ ยืนตรง มองไกล ยื่นมือ และติดดิน เราต้องการจะเข้าถึงภาคประชาชนที่เป็นผู้เกี่ยวข้องกับนโยบายของเรา จึงเป็นที่มาของกิจกรรมที่พร้อมจะรับฟังข้อเสนอแนะ ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบาย ผลิตภัณฑ์ หรือบริการ โดยให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วม และผลักดันให้เกิดได้จริงไปด้วยกัน
โดย 3 หัวข้อที่กำหนดในการแข่งขันครั้งนี้ ล้วนเป็นนโยบายที่ ธปท. ให้ความสำคัญ และเป็นภูมิทัศน์ทางการเงิน (financial landscape) ในอนาคตของเรา ทั้งการเงินดิจิทัล การเงินเพื่อสิ่งแวดล้อม และการแก้ปัญหาหนี้ ซึ่งแต่ละหัวข้อมีความท้าทาย เนื่องจากเป็นครั้งแรกที่ ธปท. จัด Policy Hackathon เราจึงไม่แน่ใจว่าผลตอบรับจะเป็นอย่างไร
แต่พอวันปิดรับสมัครมีผู้สนใจมาสมัครถึง 145 ทีม ทีมงานก็รู้สึกตื่นเต้น และตอนนี้ก็คัดเลือกจนเหลือ 36 ทีมที่ได้มาเวิร์กช็อปกับเหล่ากูรูในครั้งนี้”
ไม่เพียงกระแสตอบรับที่ดี ที่เป็นสัญญาณแห่งความร่วมมือระหว่าง ธปท. กับภาคประชาชน การแข่งขัน BOT Policy Hackathon ยังสะท้อนให้เห็นว่า ความเป็นนักคิดไม่มีกรอบใดมาจำกัดได้
“ผู้เข้าแข่งขันที่เข้าร่วมมีความหลากหลาย ทั้งนิสิต นักศึกษา คนทำงานจากหลากหลายสาขาอาชีพ ซึ่งเราได้เห็นนักคิดที่มานำเสนอแนวทางการแก้ปัญหา เพื่อสร้างสรรค์ออกมาเป็นนโยบาย มาตรการ และผลิตภัณฑ์ที่แตกต่างกันไป สำหรับกลุ่มที่มีประสบการณ์ทำงานจะมาพร้อมความเข้าใจใน pain point ที่จะสามารถนำไปต่อยอดและใช้งานได้จริง
ส่วนกลุ่มเยาวชน คนรุ่นใหม่ พวกเขาเข้าใจความต้องการของผู้ใช้งานกลุ่ม Young Gen และเลือกที่จะเข้ามาเปิดแนวคิดให้กว้างขึ้น ซึ่งรู้สึกดีใจที่ผู้สมัครเห็นความสำคัญในการมาร่วมกันสร้างประโยชน์ให้กับการวางนโยบายของประเทศ
การแข่งขันครั้งนี้จึงเป็นเหมือนกลไกที่ให้ ธปท. ได้ร่วมมือกับประชาชน ร่วมกันคิดและร่วมกันทำให้เกิดขึ้นจริง เป็นสิ่งที่เราอยากเห็นจากการจัดกิจกรรม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการฉลองครบรอบ 80 ปี ของ ธปท. ในปีนี้”
นอกจากนี้ คุณวิจิตรเลขายังได้เผยปิดท้ายถึงความเข้มข้นในการคัดเลือกผลงานที่ผ่านมา “ต้องบอกว่าทุกแนวความคิดมีคุณค่าทั้งหมด โดยเรามีกรอบแนวทางการตัดสินที่ครอบคลุมในหลายมิติ เนื่องจากการออกมาตรการหรือนโยบายจะต้องมีทั้งบริทบความลึกและความกว้าง ทีมงานจึงทำงานค่อนข้างหนักในการคัดเลือกเพื่อให้ครอบคลุมทุกมิติ และสามารถจะไปต่อในรอบต่อไปได้”
สำหรับกิจกรรม Insight Talk with Gurus ในช่วงบ่าย เป็นการเวิร์กช็อปกับสองกูรูที่มาเติมเต็มความรู้ให้กับผู้เข้าแข่งขัน เพื่อนำไปปรับใช้ในการสร้างสรรค์นโยบาย มาตรการ และผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์การแข่งขัน รวมไปถึงการนำเสนอผลงานอย่างมีประสิทธิภาพและมีความน่าสนใจ
สำหรับหัวข้อ Design Thinking ดำเนินการเวิร์กช็อปโดย นพ.ศุภชัย ปาจริยานนท์ ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร แห่ง RISE (สถาบันเร่งสปีดนวัตกรรมองค์กร) และคุณกำพล ลักษณะจินดา ครีเอทีฟไดเรกเตอร์ แห่งโอกิลวี่ แอนด์ เมเธอร์ ประเทศไทย ได้มามอบความรู้ในเวิร์กช็อปหัวข้อ Story Telling ก่อนที่ทุกทีมจะแยกไปพบ mentors ของแต่ละหัวข้อการแข่งขัน
ความคาดหวังและความประทับใจ
เราได้มีโอกาสพูดคุยกับตัวแทนจากทีมที่ผ่านเข้ารอบบางส่วนถึงแรงบันดาลใจในการเข้ามาร่วมแข่งขัน BOT Policy Hackathon รวมถึงความคาดหวังและความประทับใจที่ได้รับจากการแข่งขันครั้งนี้
คุณปัณณวัฒน์ เภตรานนท์
นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ตัวแทนจากทีม Origo ผู้เข้าร่วมแข่งขันในหัวข้อ การเงินดิจิทัล
“แรงบันดาลใจเกิดจากการที่ได้เห็นว่าการเงินดิจิทัลมีบทบาทมากขึ้นและจะยิ่งเพิ่มความสำคัญในอนาคต ซึ่งตัวการสำคัญที่มาขับเคลื่อนคือ สถานการณ์โควิด 19 และการเข้ามาของเงินสกุลคริปโต
พวกเราตัดสินใจเข้าร่วมการแข่งขัน เพราะต้องการเห็นทั้งภาคประชาชน ภาคครัวเรือน และภาคธุรกิจ สามารถใช้ระบบการเงินแบบใหม่ได้อย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งเป็นการส่งผ่านการเงินแบบเดิมมาเป็นดิจิทัล และด้วยพวกเรากำลังเรียนในด้านนี้ ทำให้มีพื้นฐานด้านการเงินดิจิทัลอยู่บ้าง จึงสนใจหัวข้อนี้เป็นพิเศษ
“สำหรับความคาดหวัง แน่นอนว่าอยากจะผ่านไปสู่รอบถัดไป เพราะการแข่งขันครั้งนี้เป็นเวทีของเราแล้ว อยากเข้าไปเป็น 1 ใน 4 ทีมสุดท้าย เพื่อจะเข้าไปแสดงให้คณะกรรมการได้เห็นว่าความคิดของเราที่มีต่อการเงินดิจิทัลเป็นอย่างไร และจะสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการออกแบบนโยบายได้มากน้อยแค่ไหน
“อยากขอขอบคุณ ธปท. ที่เปิดกว้างให้กับประชาชนทุกวัย เพราะทุกวันนี้ระบบการเงินไม่สามารถยึดความคิดของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้ การที่เราได้เรียนรู้ความคิดใหม่ ๆ จากหลากหลายกลุ่มคนที่เป็น end user จริง ๆ จะสามารถทำให้เราพัฒนาไปได้ไกลมากกว่านี้ และเป็นโอกาสอันดีที่เราจะได้เห็นระบบการเงินหรือนโยบายการเงินของประเทศมีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น”
คุณธิติวัฒน์ ธนิตโชตินันทสิริ เจ้าของธุรกิจสตาร์ตอัปและ คุณสุกฤษฎิ์ บุญญไกร นักวิจัยด้านการเงินและนักพัฒนาซอฟต์แวร์
ตัวแทนจากทีม Smart Environment ผู้เข้าร่วมแข่งขันในหัวข้อ การเงินเพื่อสิ่งแวดล้อม
ธิติวัฒน์ : “ต้องเล่าย้อนไปถึงจุดประสงค์ของการตั้งโครงการ Smart Environment ว่า เราทำงานเกี่ยวกับ social innovation ที่เกี่ยวข้องกับ carbon credit อยู่แล้ว ซึ่งการจะแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในภาพรวมจำเป็นต้องมีการร่วมมือกันทุกภาคส่วน ทั้งระดับบน กลาง และล่าง
การเข้าแข่งขันครั้งนี้คือโอกาสที่เราจะมีส่วนร่วมกับองค์กรระดับบนโดยตรง ในการกำหนดกรอบนโยบาย หรือเสนอแนวความคิดที่จะทำให้โพรเจกต์นี้เกิดขึ้นจริงได้ เพื่อทำให้ประเทศไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันในการพัฒนาเรื่องสิ่งแวดล้อม และแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมได้เร็วที่สุด
“Policy Hackathon เป็นเหมือนต้นทางที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้สังคม ด้วยวิสัยทัศน์ของผู้ใหญ่ที่พร้อมให้โอกาสและเชื่อว่าคนรุ่นใหม่มีความคิดหรือมุมมองที่สามารถส่งผลกระทบไปในวงกว้างได้ และเป็นกิจกรรมที่รวบรวมคนหลายภาคส่วนไว้ด้วยกัน ทั้งผู้เชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ และผู้ที่มีแนวคิดในการแก้ไขปัญหาให้กับสังคม”
สุกฤษฎิ์ : “การเข้ามาแข่งขันครั้งนี้ เราอยากทราบในเชิงนโยบายว่ามีข้อจำกัด หรือกรอบใดที่สามารถแก้ไขได้ อีกส่วนหนึ่งคือ ธปท. มีทรัพยากรที่จะสนับสนุนเราอย่างไร รวมไปถึงผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดว่าจะสามารถสร้างความเข้าใจและร่วมกันสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นจริงได้
เมื่อผ่านมาถึงรอบนี้ เราสัมผัสได้ถึงวิสัยทัศน์และความเปิดกว้าง เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้มีโอกาสช่วยกันคิด ช่วยกันสร้าง ช่วยกันทำ โดยทั้ง 3 หัวข้อที่ ธปท. ยกมาเป็นหัวข้อในการแข่งขัน ล้วนเป็นปัญหาที่รอการแก้ไข และแน่นอนว่าหากมีเป้าหมายชัดเจนและเป็นเป้าหมายเดียวกัน การแก้ปัญหาก็จะเริ่มต้นได้เร็ว”
คุณธิษณา ธิติศักดิ์สกุล กรรมการบริหารและผู้ก่อตั้ง บริษัทโนบุโร แพลตฟอร์ม จำกัด และ คุณคณิสร์ แสงโชติ อาจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ตัวแทนจากทีม Noboru ผู้เข้าร่วมแข่งขันในหัวข้อ การแก้ปัญหาหนี้
ธิษณา : “ทีมของเราเห็นว่าปัญหาหนี้ครัวเรือนเป็นเรื่องที่วิกฤติ และส่งผลต่อปากท้องและความสุขของประชาชน และตัวเองก็ทำงานเรื่องการแก้หนี้อยู่แล้ว ได้คลุกคลีกับคนที่มีปัญหาเรื่องหนี้ และเห็นว่าปัญหาในระดับจุลภาคเกิดขึ้นได้อย่างไร จึงต้องการเข้ามาช่วยนำเสนอนโยบายที่สามารถส่งความช่วยเหลือให้ไปถึงคนเป็นหนี้รายบุคคลได้
โดยเฉพาะช่วงที่สถานการณ์โควิด 19 เข้ามากระทบ ก็ยิ่งส่งให้เกิดปัญหาเป็นวงกว้าง ส่วนตัวเชื่อว่าหากนโยบายถูกออกแบบอย่างดี จะมีคนที่ได้รับการช่วยเหลือเป็นจำนวนมาก
“สำหรับเหตุผลสำคัญที่เข้ามาร่วมการแข่งขันคือ ต้องการมาเปิดโลกฝั่งนโยบายว่ามีแนวคิดอย่างไร และถ้าสิ่งที่เราคิดพอจะเป็นประโยชน์ และสามารถนำไปต่อยอดให้กับประชาชนได้ก็เป็นเรื่องที่ดี ส่วนความประทับใจคงเป็นการได้เห็น ธปท. ที่เป็นองค์กรที่เก่าแก่ของประเทศ ได้มองเห็นความสำคัญของความคิดเห็นจากประชาชน
ทำให้เราที่อยู่ในฐานะประชาชนคนหนึ่ง มีความหวังว่าจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลง ปรับปรุง และพัฒนาของฝั่งนโยบาย ซึ่งจะเป็นที่มาของสิ่งใหม่ ๆ ที่จะเกิดกับการเงินของประเทศในโลกยุคใหม่”
คณิสร์ : “ผมเป็นนักวิจัยที่ทำงานในเรื่องหนี้ หนี้เป็นสิ่งที่อยู่คู่กับระบบเศรษฐกิจอยู่แล้ว เป็นสิ่งที่ใช้ให้เกิดประโยชน์ก็จะมีประโยชน์ แต่ก็สามารถกลายเป็นฝันร้ายของหลายคนได้เหมือนกัน เมื่อทราบว่าการแข่งขันเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามาร่วม ก็อยากจะมาเป็นส่วนหนึ่ง อยากจะนำสิ่งที่ได้เรียนรู้มารวมเข้ากับองค์ความรู้จากคนทำงานด้านการแก้หนี้ในทีม ให้เกิดเป็นนโยบายที่สร้างความเปลี่ยนแปลงได้จริง
“ในแวดวงวิชาการ เราได้มีโอกาสพูดคุยกับ ธปท. มากพอสมควร รู้ว่าเขาทำการบ้านค่อนข้างมาก แต่ในหลายครั้งมีความรู้สึกว่านโยบายที่ออกมา ได้ผ่านไปถึงประชาชนจริง ๆ หรือไม่ ซึ่ง Policy Hackathon เหมือนเป็นนิมิตหมายใหม่ว่านโยบายจะมาจากประชาชนอย่างแท้จริง ไม่ใช่เพียงการฟังประชาชนแล้วนำมาออกนโยบาย แต่นี่คือการที่ประชาชนมีส่วนในการนำเสนอด้วย”
ทั้งหมดคือภาพรวมที่เกิดขึ้นใน กิจกรรม Insight Talk with Gurus ที่สะท้อนถึงการรวมตัวของเหล่านักคิดจากหลากหลายภาคส่วนที่มาร่วมกันสร้างพลังแห่งความเปลี่ยนแปลง ที่จะเกิดขึ้นกับระบบการเงินของประเทศไทยในอนาคตอันใกล้นี้
หากใครสนใจรับชมการนำเสนอนโยบายในรอบตัดสิน สามารถรับชมได้ผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ของ ธปท. https://www.facebook.com/bankofthailandofficial ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2565
โฆษณา