24 มิ.ย. 2022 เวลา 11:30 • ธุรกิจ
รู้จัก BlockFi เจ้าหนี้คริปโทรายใหญ่ ที่กำลังขาดสภาพคล่อง
8,872 ล้านบาท คือจำนวนเงินกู้ที่ BlockFi แพลตฟอร์มสตาร์ตอัป ผู้ให้บริการกู้ยืมคริปโทเคอร์เรนซี
ได้ทำการกู้จาก FTX กระดานเทรดที่มีปริมาณการซื้อขาย มากเป็นอันดับ 2 ของโลก
โดยเงินกู้จำนวนนี้ ได้ถูกกู้มาเพื่อเสริมสภาพคล่อง และสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนบน BlockFi
ท่ามกลางความปั่นป่วนของตลาดคริปโทเคอร์เรนซีในช่วงนี้ ชื่อของ BlockFi เริ่มได้รับการพูดถึง
จากความกังวลของนักลงทุน ว่าการล้มละลายของกองทุน Three Arrows
จะนำไปสู่ปัญหาการขาดสภาพคล่องของ BlockFi
โดย BlockFi เป็นสตาร์ตอัป ที่ก่อตั้งโดย Zac Prince และ Flori Marquez ในปี 2017
ที่รัฐนิวเจอร์ซีย์ ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อให้บริการกู้ยืมคริปโทเคอร์เรนซี แก่นักลงทุนรายย่อย และนักลงทุนสถาบัน
1
ซึ่งในช่วงเริ่มต้น ที่ BlockFi ได้รับเงินระดมทุน ในรอบ Seed Round เป็นจำนวน 56 ล้านบาท
จากผู้ร่วมลงทุนสองราย คือ กองทุน ConsenSys Ventures และสตาร์ตอัปการเงินชื่อ SoFi ในปี 2018
จำนวนผู้ใช้งานของ BlockFi เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วมาก
โดยในปี 2020 จำนวนลูกค้าของ BlockFi มีมากถึง 225,000 คน
ในขณะที่ปี 2019 มีลูกค้าเพียงแค่ประมาณ 10,000 คน เท่านั้น
และผลจากการเติบโตอย่างรวดเร็วของจำนวนผู้ใช้งาน BlockFi ทำให้ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
BlockFi ได้รับเงินระดมทุนในรอบ Series D มากกว่า 12,000 ล้านบาท
และมีมูลค่ากิจการสูงถึง 100,000 ล้านบาท โดยปัจจุบัน มีผู้ร่วมลงทุนกว่า 29 ราย
1
โดยในปัจจุบัน BlockFi ได้ให้บริการแก่นักลงทุนรายย่อยประมาณ 265,000 คน
และนักลงทุนสถาบันมากกว่า 200 ราย
ซึ่งบริการของ BlockFi นั้น หลัก ๆ แล้วมีอยู่ 3 อย่าง ได้แก่
1. นำเหรียญคริปโทเคอร์เรนซี มาฝากในบัญชีบน BlockFi เหมือนกับการฝากเงินในธนาคารทั่วไป
ซึ่งจะได้รับดอกเบี้ย เป็นเหรียญคริปโทเคอร์เรนซี โดยบางเหรียญได้ดอกเบี้ย สูงถึง 15% ต่อปี
2. กู้เงินเป็นดอลลาร์สหรัฐ จากการใช้คริปโทเคอร์เรนซี มาค้ำประกันบน BlockFi
ที่อัตราดอกเบี้ย 4.5% ถึง 9.75% โดยสามารถกู้ได้ตั้งแต่ 20% ถึง 50% ของมูลค่าสินทรัพย์ค้ำประกัน
ซึ่งตอบโจทย์ของนักลงทุนที่มีความต้องการใช้เงิน แต่ไม่อยากขายเหรียญออกมา
นอกจากนี้ผู้กู้ยังสามารถได้รับเงิน ภายในวันเดียวกันกับที่ทำการกู้อีกด้วย
1
3. ซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซี เหมือนกับกระดานเทรดทั่วไป โดย BlockFi ได้เปิดให้ซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซี มากกว่า 40 สกุล โดยไม่เสียค่าธรรมเนียม แต่จะมีราคารับซื้อที่สูงกว่าปกติ 1%
 
จะเห็นได้ว่าบริการของ BlockFi นั้น ค่อนข้างคล้ายกับธนาคารมากเลยทีเดียว
จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ BlockFi จะมีการตรวจสอบจากหน่วยงานรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ก.ล.ต. ของสหรัฐอเมริกา
โดยในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา BlockFi ต้องจ่ายค่าปรับให้กับทาง ก.ล.ต. จำนวน 3,500 ล้านบาท
เนื่องจากทาง ก.ล.ต. มองว่า การให้ลูกค้ามาเปิดบัญชีฝากคริปโทเคอร์เรนซี เป็นการเสนอขายหลักทรัพย์ที่ไม่ได้จดทะเบียน
2
ซึ่งเหตุการณ์นี้ ประกอบกับตลาดคริปโทเคอร์เรนซีกำลังเริ่มเข้าสู่ช่วงขาลง
ก็ได้ทำให้ในช่วงต้นเดือนมิถุนายน มูลค่าบริษัทของ BlockFi ลดลงเหลือ 35,500 ล้านบาท เท่านั้น
ซึ่งการสูญเสียมูลค่าของบริษัท มากถึง 64,500 ล้านบาท เช่นนี้
ทำให้ Zac Prince หนึ่งในผู้ก่อตั้งของ BlockFi ได้ทวีตแผนการลดต้นทุน
ลงในทวิตเตอร์ส่วนตัว ในวันที่ 13 มิถุนายน ซึ่งประกอบไปด้วยวิธีการดังต่อไปนี้
- ลดงบการตลาด
- ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น
- ลดเงินเดือนของฝ่ายบริหารทั้งหมด รวมทั้งตัวเขาเอง
- ชะลอการจ้างพนักงานใหม่
โดย Zac Prince ได้ทวีตต่อจากนั้นไม่นานว่า ได้ทำการปลดพนักงานไป 20%
ตามแผนการลดต้นทุนที่ได้ทวีตไว้ก่อนหน้านี้
และอย่างที่เราทราบกันว่า BlockFi ยังได้ประสบกับปัญหา ที่ผู้กู้รายใหญ่ อย่างกองทุน Three Arrows
ต้องถูกบังคับขายทรัพย์สิน และอาจถึงขั้นล้มละลาย
จึงเป็นไปได้ว่ามูลค่าของบริษัท BlockFi อาจลดลงได้มากกว่านี้
ก็เป็นที่น่าสนใจว่า ถ้าหากกองทุน Three Arrows ล้มละลายขึ้นมาจริง ๆ
BlockFi จะมีมาตรการอย่างไรบ้าง ในการเอาตัวรอด ท่ามกลางมรสุมที่ถาโถมแบบนี้
เพราะเงินกู้ที่ได้จาก FTX นั้น อาจไม่เพียงพอ ที่จะทำให้นักลงทุนในแพลตฟอร์ม เกิดความเชื่อมั่นได้
เพราะฉะนั้น BlockFi ต้องรีบหาทางแก้ไขปัญหาที่เผชิญอยู่นี้ อย่างเร็วที่สุด
ไม่เช่นนั้นแล้ว จุดจบของ BlockFi คงหนีไม่พ้นการแห่ถอนเงิน จากนักลงทุนที่แตกตื่น
จนไม่เหลือเงินไว้ดำเนินกิจการต่อไป
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ
BlockFi เป็นหนึ่งใน 14 บริษัทด้านเทคโนโลยีและสตาร์ตอัป ที่ SCB 10X บริษัทลูกของธนาคารไทยพาณิชย์ เข้าร่วมลงทุนอีกด้วย
1
โฆษณา