25 มิ.ย. 2022 เวลา 03:51 • การศึกษา
ฟอสซิลจระเข้ 95 ล้านปี กินไดโนเสาร์เป็นมื้อสุดท้าย!
เราคงทราบกันดีว่าจระเข้ เผ่าพันธุ์สัตว์เลื้อยคลานขนาดยักษ์ เมื่อเทียบกับไดโนเสาร์ที่เคยมีชีวิตอยู่ในอดีตนั้น ก็คงมีลักษณะที่คล้ายคลึงกัน แม้ว่าเหล่าจระเข้จะยังมีชีวิตอยู่มาจนถึงปัจจุบัน แต่ก็มีจระเข้ดึกดำบรรพ์บางสายพันธุ์ ที่เคยมีชีวิตอยู่ในช่วงเดียวกับไดโนเสาร์ด้วย
เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ปี 2022 ที่ผ่านมานักวิจัยได้ทำการศึกษาจระเข้สายพันธุ์ที่ถูกพบในรัฐควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย ที่ซากของมันถูกค้นพบตั้งแต่ปี 2010 ภายในชั้นหินที่มีอายุมากถึง 95 ล้านปีก่อน
ระบุว่า จระเข้ดึกดำบรรพ์สายพันธุ์ Confractosuchus ขนาดตัว 2.5 เมตร ซึ่งซากฟอสซิลของมันยังคงเหลืออยู่มากถึง 35 เปอร์เซ็นต์ แต่ในท้องของฟอสซิลนี้กลับมีซากไดโนเสาร์โตเต็มวัยอีกชนิดหนึ่ง โดยคาดว่ามันคือ “ออร์นิโธพอด” (ornithopod) ตัวหนึ่งที่ถูกจระเข้ตัวนี้กินก่อนที่มันจะตาย
แม้ปกติแล้วจระเข้สายพันธุ์นี้จะไม่ได้กินไดโนเสาร์เป็นอาหารเป็นประจำ แต่คาดว่าเหยื่อที่ล่าง่ายอย่างออร์นิโธพอด ก็น่าจะเป็นหนึ่งในเหยื่อของพวกมันเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม การค้นพบครั้งนี้นับว่าเป็นสิ่งที่พบได้ยากมาก ๆ ที่อาหารมื้อสุดท้ายของจระเข้เมื่อ 95 ล้านปีก่อน ซึ่งเป็นไดโนเสาร์ยังคงหลงเหลือให้มนุษย์ในปัจจุบัน สามารถวิเคราะห์ได้อีกด้วย
Ref : Sciencetimes, Livescience, Scitechdaily, BBC, Khaosod, Wikipedia
Pic : Sciencetimes, Livescience, Scitechdaily, BBC, Wikimedia, Pinterest
#ส่องโลกกว้าง
โฆษณา