25 มิ.ย. 2022 เวลา 07:18 • ไลฟ์สไตล์
ชวนรู้จัก "บารากู่ (Baraku)" อุปกรณ์หม้อสูบยอดนิยมของชาวอาหรับ
แม้ว่าประเทศเราเพิ่งจะปลดล็อคกัญชา-กัญชง ให้ใช้งานได้เต็มรูปแบบ
(แต่จำกัดปริมาณสารสกัด THC หรือสารเมา ไม่เกิน 0.2% อย่างที่ทราบกันเนอะ)
เลยทำให้เพื่อน ๆ บางคน อาจเข้าใจผสมกันไปว่า แบบนี้ก็สามารถสูบผ่านหม้อยาสูบบารากู่ได้แล้ว
แต่อันที่จริงแล้วเจ้าหม้อยาสูบบารากู่หรือชิชา ในตอนนี้ยังไม่ถูกกฎหมายอยู่น้าเพื่อน ๆ
แต่ว่า… พวกเราจะไม่ได้มาพูดในเรื่องของกฎหมายให้ชวนง่วง
วันนี้พวกเรา InfoStory ขอมาชวนเพื่อน ๆ ไปทำความรู้จักกับบารากู่และเรื่องราวความเป็นมากันดีกว่า !
“บารากู่” มีต้นกำเนิดมาจากไหนนะ ? 🧐
ประเทศไทยเคยใช้งานแบบถูกกฎหมายมาก่อนด้วยเหรอ ?!
(**ในบทความนี้ เราจะเรียกชื่อทั้ง ฮุคคา ชิชา และ บารากู่ นะคร้าบบ)
**หมายเหตุ : โพสบทความและรูปภาพอินโฟกราฟิกนี้ มีจุดประสงค์เพื่อที่จะถ่ายทอดสำหรับความรู้ทั่วไป ไม่ได้มีจุดประสงค์ชี้ชวน ชี้แนะ หรือแนะนำใด ๆ นะคร้าบบ
🚫⛔️ เพราะตามกฎหมายแล้ว บารากู่ ถือเป็นยาสูบที่อยู่ภายใต้การควบคุมของ พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ
ซึ่งปัจจุบัน ห้ามขายสินค้าบารากู่ บารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า หรือตัวยาบารากู่ น้ำยาสำหรับเติมบารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า ทั้งนี้ ให้รวมถึงการให้เช่า ให้เช่าซื้อ หรือจัดหา ไม่ว่าด้วยประการใดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค(ฉบับที่3) พ.ศ. 2556**
[ วัฒนธรรมของการสูบ “บารากู่” ที่มีต้นกำเนิดในตะวันออกกลาง เมื่อ 500 ปีที่แล้ว 🐪🌵]
ว่ากันว่า เจ้าหม้อสูบที่มีสายท่อยาว และใช้วิธีการสูบควันผ่านน้ำบ้องนี้ มีมาตั้งแต่ในสมัยศตวรรษที่ 16 หรือ เมื่อประมาณเกือบ 500 กว่าปีมาแล้วละ !
โดยต้นกำเนิดก็มาจากแพทย์ชาวเปอร์เซีย นามว่า “Abul-Fath Gilani”
เพียงแต่แพทย์ท่านนี้ ไม่ใช่คุณหมอธรรมดาทั่วไป
แต่เขาเป็นถึงแพทย์ประจำตัวของ “จักรพรรดิอักบัร” หรือ “อักบัรมหาราช (Akbar the Great)” ผู้ซึ่งเป็นจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิโมกุล (ในปีค.ศ. 1556 - 1605)
เดิมทีจักรพรรดิอักบัร เป็นบุคคลที่ชื่นชอบการสูบใบยาสูบ (Tobacco) อยู่แล้ว จึงเป็นแรงผลักดันที่ทำให้คนสนิทรอบตัวพยายามคิดหาสิ่งประดิษฐ์มาเพิ่มความสุขในการสูบ
ใบยาสูบ (Tobacco)
ส่วนผู้ที่แนะนำยาสูบจนทำให้จักรพรรดิ์แห่งโมกุลติดใจเป็นอย่างมาก รวมไปถึงชาวอาหรับและเปอร์เซียชั้นสูง ก็ว่ากันว่า เป็นมิชชันนารีนิกายโรมันคาธอลิกที่เดินทางมาจากกรุงโรม เพื่อมาเผยแพร่ศาสนาในดินแดนเอเชียใต้
แน่นอนว่าชาวเปอร์เซียในสมัยนั้นก็ได้พยายามหาวิธีการเสพสูบใบยาสูบให้ได้ดีและเยอะที่สุด จึงลงเอยมาด้วยสิ่งประดิษฐ์ที่เรียกว่า “ฮุคคาหรือชิชา” นั่นเอง
ก่อนที่ชาวเปอร์เซียจะนำหม้อฮุคคาหรือชิชา ไปเผยแพร่ให้กับชาวอินเดียในเวลาต่อมา
🤓 เราเข้าใจว่า เดิมทีชาวตะวันออกกลางดั้งเดิมเขาก็จะชื่อเรียกว่า “ชิชา (Shisha/Šīšah)”
ส่วนชาวอินเดียหรือชาวต่างชาติที่รู้จักก็จะเรียกว่า “ฮุคคา (Hookah)”
ส่วนชาวเปอร์เซีย ดั้งเดิมก็จะเรียกว่า “qalyān" (قلیان)”
โดยเจ้าของสากลของโลกอย่างชาวอังกฤษ ก็เรียกเจ้าเครื่องนี้ว่า “Hookah” จนคนทั่วโลกเข้าใจไปว่านี่เป็นชื่อเรียกภาษาอังกฤษ
แต่ต้องบอกว่าชื่อเรียก ฮุคคา (Hookah/Huqqa) มันก็เป็นหนึ่งในคำของภาษาฮินดีของชาวอินเดียนะ ที่แปลว่าท่อส่งน้ำ, หม้อต้ม, เหยือก (ไม่ใช่ตั้งโดยชาวอังกฤษนะจ้า ฮ่า ๆ)
🇬🇧 ที่ชาวอังกฤษก็เรียก Hookah ตาม (ไม่ได้เรียกว่าชิชาหรืออื่น ๆ) ก็เพราะว่าในสมัยที่นักล่าอาณานิคมชาวอังกฤษได้ปกครองอินเดียอยู่ หรือที่เราคุ้นหูกันว่าช่วงบริติชราช ช่วงปีค.ศ. 1858–1947 เจ้าหม้อสูบฮุคคาเนี่ย ก็ได้เป็นที่นิยมสำหรับการสูบใบยาสูบและกัญชา
British Raj ยุคสมัยที่อังกฤษปกครองอินเดีย
📔✍🏻 เรื่องราวตรงนี้ยังมีบันทึกไว้ในสมุดบันทึกส่วนตัวของ “วิลเลี่ยม ฮิคกี้” นักกฎหมายชาวอังกฤษที่มีบทบาททางการเมืองในสมัยบริติชอินเดียว่า.. (ขออนุญาตเรียบเรียงเป็นสไตล์เรานะคร้าบ)
“ฮุคคา เปรียบเสมือนหนึ่งในแฟชั่นของชาวอินเดีย ทุกครั้งที่พวกเขาต้องการแสดงฐานะหรือต้อนรับแขก ก็จะนำฮุคคาที่ตกแต่งอย่างสวยงามมาวางต้อนรับ อีกมุมหนึ่งก็เปรียบได้กับการแต่งกายของพวกเขา”
แล้วก็มีบันทึกไว้อีกว่า
“กลุ่มวัยรุ่นชายหนุ่มชาวอินเดีย ยังเคยบอกไว้ว่า หากว่าวันนี้ไม่ได้ทานมื้อเย็น ก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าไม่ได้สูบฮุคคาเนี่ย…ไม่ได้เป็นอันขาด !”
“ตัวเราไม่ได้ชอบสูบและอยากลองฮุคคา เพราะกลัวจะติดการสูบยา
อย่างไรก็ดี… พวกเราชาวอังกฤษหลายชีวิตที่อาศัยอยู่ที่นี่ ก็ได้กลายเป็นสิงห์รมควัน กันไปหมดเรียบร้อย…
แน่ละ… มันคงไม่มีใครสามารถต้านทานวัฒนธรรมการสูบฮุคคาและความเพลิดเพลินที่ได้รับอันนี้ได้หรอก”
ภาพวาดชาวบริติชนั่งสูบฮุคคาในอินเดีย
ฮุคคาหรือบารากู่ ก็กลายเป็นมากกว่าแค่หม้อสูบ เพราะมันกลายเป็นของตกแต่งชิ้นสำคัญของบ้านและเป็นเครื่องประดับแสดงฐานะ
อ่านแล้วก็ โอโห.. ขนาดนั้นเลยละนะ
แต่พูดถึงวัยรุ่นเนี่ย เจ้าตัวหม้อสูบฮุคคา,ชิชา,บารากู่ อันนี้เอง ก็ได้เผยแพร่เข้ามายังชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างเช่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เวียดนาม หรือ ไทย ก็โดยค่านิยมการสูบของเด็กหนุ่มวัยรุ่นนี่ละ (ไม่ใช่แค่ชาวไทยที่มองว่ามันเท่นะ แต่ว่าเด็กวัยรุ่นทั้ง SEA เลยละที่ทั้งชื่นชมและชื่นชอบ)
เพิ่มเติมเบา ๆ :
หากแต่ว่า… มีอีกตำนานหนึ่งที่เล่าเรื่องต้นกำเนิดของบารากู่/ฮุคคา/ชิชา เอาไว้ว่า
ต้นกำเนิดจริง ๆ แล้วต้องให้เครดิตชาวอิหร่านที่เป็นผู่คิดค้นตัวจริง 🇮🇷
เพราะว่า เดิมทีผู้ที่อ้างตนว่าคิดค้นหม้อสูบฮุคคา ที่มีนามว่า “Abu’l-Fath Gilani”
ก็เป็นชาวอิหร่าน ที่มาได้ดิบได้ดีจากการเป็นแพทย์ประจำตัวของจักรพรรดิอักบัร และได้นำอุปกรณ์หม้อยาสูบที่เป็นภูมิปัญญาของชาวอิหร่านมาทำใหม่ตะหากละ…
อะ ก็ว่ากันไปแบบนานาจิตตังกันเช่นเคยนะคร้าบ ฮ่า ๆ
[ ประเทศไทยเคยใช้งานแบบถูกกฎหมายมาก่อนด้วยเหรอ ?! 🇹🇭 ]
อะฮ่า ! เพื่อน ๆ ท่านที่คุ้นเคยกันมาก่อนแล้ว ก็คงจะตอบว่า “อ้าวว แน่นอนสิ ! ก่อนปี พ.ศ. 2557 ก็จำหน่ายได้ทั่วไปนะแหล่ะนะ”
พวกเราต้องบอกว่าการสูบบารากู่ (ชิชาหรือฮุคคา) เคยเป็นที่นิยมกับชาวไทยมาตั้งแต่ในอดีตแล้วละ
หากอ้างอิงจากจดหมายเหตุลาลูแบร์ ก็พบว่าขาวไทยเริ่มรู้จักการสูบบารากู่ มาตั้งแต่สมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
ลองให้เพื่อน ๆ นึกถึงในยุคสมัยของละครบุพเพสันนิวาสนั่นละ
เพราะในยุคนั้นเป็นยุคที่ไทยเริ่มเจริญการค้ากับต่างประเทศ ยกตัวอย่างเช่น โปรตุเกส ฮอลันดา ฝรั่งเศส
ว่ากันว่ากลุ่มทูตฝรั่งเศสได้นำอุปกรณ์หม้อสูบยาชิชา เข้ามาสร้างความเพลิดเพลินให้กับพวกพ้องที่อยู่ในไทย
และอีกกลุ่มหนึ่งที่นำอุปกรณ์นี้เข้ามาใช้สูบกัน ก็คือ ชาวมัวร์ (Moors) หรือแขกมัวร์ กลุ่มคนที่นับถือศาสนาอิสลามที่มาจากทวีปแอฟริกาตะวันออก เอเชียตะวันออกลาง ซึ่งบางส่วนก็มาจากยุโรปตะวันตกเฉียงใต้เช่น สเปน โปรตุเกส
ชาวไทยที่เห็นจึงได้มีโอกาสทดลองกันมากขึ้น
จากบันทึกลาลูแบร์ ก็ได้บอกว่า ชาวไทยเรียกหม้อสูบควันจากไอน้ำตัวนี้ว่า “บารากู่” ซึ่งคาดว่าเพี้ยนเสียงมาจาก “มาระกู่” ตามที่ได้ยินมาจากแขกมัวร์
โดยในสมัยนั้นเนี่ย ชาวไทยก็จะนิยมสูบกัญชาอยู่แล้ว
ก็เลยนำเอากัญชามาใช้เป็นยาสูบกับบารากู่กันเพลิน ๆ
(ขออนุญาตวาร์ปปปป มาถึงปัจจุบัน)
จนกระทั่งมาถึงในปี พ.ศ. 2557 ตามประกาศของกระทรวงพาณิชย์และคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ได้ระบุคำสั่ง ห้ามขาย จำหน่ายหรือนำเข้า บารากู่ บารากู่ไฟฟ้า หรือ บุหรี่ไฟฟ้า ตัวยาบารากู่ และน้ำยาเติมบารากู่
เพื่อน ๆ บางท่านอาจเริ่มสงสัยว่า เอ้ะ ! แล้วทำไมถึงเห็นเจ้าหม้อบารากู่ในบ้านเพื่อนหรือยบ้านคนรู้จักละ ?
ถ้าตามที่พวกเราเข้าใจ (ถ้าเข้าใจผิดต้องกราบขออภัยนะครับ)
- เพื่อน ๆ ท่านนั้นที่เขาครอบครอง อาจมีการครอบครองอุปกรณ์ก่อนที่คำสั่งห้ามจะเริ่มใช้ในปี พ.ศ. 2557
- กรณีของผู้ครอบครองเพื่อใช้ส่วนตัว อาจไม่มีความผิดโดยตรง
หากมีความผิดจะเข้าข่ายตามมาตรา 246 ของ พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 ที่บอกว่า ผู้ใดช่วยซ่อนเร้น ช่วยจําหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจํานําหรือรับไว้ ซึ่งของที่รู้ว่าเป็นความผิดตามมาตรา 242 มีโทษจําคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับ 4 เท่าของราคาของ หรือทั้งจําทั้งปรับ 🚫🚭
ตามที่พวกเราเข้าใจ ก็คือถ้าเราแค่ครอบครองไว้เป็นของสะสมอยู่ก่อนแล้ว ก็น่าจะไม่เป็นอะไรคร้าบ
สุดท้ายนี้ พวกเราก็อยากปิดท้ายถึงผลกระทบทางสุขภาพกันสักนิด คือ บารากู่กับบุหรี่ ผู้ที่สูบต่างก็ได้รับสารคาร์บอนมอนออกไซด์เหมือนกันทั้งคู่
1
เพียงแต่การสูบบารากู่หนึ่งครั้ง ผู้สูบจะได้รับสารเคมีและอนุภาคฝุ่นละอองขนาดเล็กที่มากกว่าผู้ที่สูบบุหรี่หนึ่งมวนที่ใช้เวลาเพียงสั้นๆ
ก็ถือว่าเป็นหนึ่ง Fact ที่ก็น่าฉุกคิดสำหรับเพื่อน ๆ สายควันเหมือนกัน (ก็จะต้องเป็นเพื่อน ๆ สายควันต่างประเทศเนอะ)
พวกเราเคยไปเที่ยวที่ตุรกีมา (หรือตุรเคียในปัจจุบัน)
มีหลายร้านมากกที่เค้าจะขายพวกโคมไฟประดับด้วยกระจกโมเสกหลากสีสวย ๆ
ซึ่งในร้านเหล่านี้ เค้าก็จะมีหม้อสูบบารากู่ที่มีลวดลายสวยงามมาก จนน่าจัดมาเป็นของสะสม (แต่ก็ไม่กล้าซื้อกลับมานะคร้าบ ฮ่า ๆ แต่สวยจริง ๆ นะ)
งั้นวันนี้พวกเราขออนุญาตขอตัวไปนั่งส่องลวดลายให้ดูเพลินตา ไปก่อนดีกว่า :):)
หมายเหตุ : ชิชา (Shisha) ถ้าจะเขียนให้ถูกต้องจะต้องเขียนว่า “"ชีชะฮ์"
แต่เนื่องจากเรากลัวมันจะทำให้สายตาของเพื่อน ๆ อ่านยาก จึงขอเขียนคำง่าย ๆ ว่า “ชิชา” นะคร้าบผม
โฆษณา