25 มิ.ย. 2022 เวลา 11:49 • ศิลปะ & ออกแบบ
VERNADOC 101
ภาพลายเส้นน้อยแต่มากด้วยคุณค่าทางสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น
เรื่อง ไพวรินทร์ ภาพ ขจาริน และ มติมนต์
ภาพ: CreativeMatters
ภาพวาดลายเส้นอันเรียบง่าย เรียงรายภายในหอสมุดวังท่าพระ ซึ่งผู้วาดใช้เทคนิค “VERNADOC” เป็นคำย่อมาจาก Vernacular Architecture Documentation ที่สถาปนิกชาวฟินแลนด์นามว่า มาระกุ มัตติลา (Markku Mattila) ใช้เรียกแนวทางการศึกษาสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น
หลายคนอาจไม่คุ้นหูกับคำว่า VERNADOC แต่หากบอกว่างานลักษณะนี้คือภาพวาดอันใช้เทคนิคพื้นฐานเพียงแค่มือ ดินสอ ปากกาเขียนแบบ และไม้บรรทัด ทั้งหมดนี้ให้ผลลัพธ์ออกมา แสนเรียบง่าย งดงาม และสร้างคุณค่าในวงการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมพื้นถิ่น อาจพอทำให้นึกภาพตามได้
ภาพ : https://www.facebook.com/vernadoc/photos/1371881792899149
การบรรยายในวันเปิดโครงการ Thai VERNADOC 2022 ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา ณ หอสมุดวังท่าพระ มหาวิทยาลัยศิลปากร นำโดย ผศ.นันทพล จั่นเงิน ผู้อำนวยการสำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยศิลปากร เริ่มต้นบรรยายเรื่องการบูรณะปรับปรุงโฉมอาคารหอสมุดวังท่าพระ อาคารภายใน มหาวิทยาลัยศิลปากร
พร้อมเล่าถึงวัตถุประสงค์ของโครงการที่จะปลุกอาคารเก่าโรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจให้มีชีวิตขึ้น อีกครั้งด้วยการบันทึกข้อมูลทางสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นหรือที่เรียกว่า VERNADOC เพื่อเก็บร่องรอยทาง สถาปัตยกรรมเก่าของอาคารนี้ไว้เพื่อการอนุรักษ์
ภาพ: CreativeMatters
ถัดมา ผศ.ดร.สุดจิต เศวตจินดา (สนั่นไหว) หรือ อาจารย์ตุ๊ก อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต หัวเรือใหญ่ของค่าย Thai VERNADOC 2022 Bamrungnukulkij (โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ) ได้กล่าวแนะนำตัวและทักทายผู้เข้าร่วมค่ายด้วยรอยยิ้มที่สดใส
อาจารย์ตุ๊กกล่าวต่อเนื่องว่า ตนมาจากมหาวิทยาลัยรังสิต แต่ช่วงชีวิตการศึกษาทั้งหมดล้วนแต่เป็นศิษย์มหาวิทยาลัยศิลปากร ตั้งแต่ในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท จนไปถึงปริญญาเอก อาจารย์ตุ๊กกล่าวต้อนรับลูกค่ายอย่างอบอุ่นด้วยรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ
ภาพ: CreativeMatters
ก่อนจะไปทำความรู้จักกับคำว่า VERNADOC อาจารย์ตุ๊กได้เล่าประวัติความเป็นมาคร่าว ๆ ของแบบการสำรวจ รังวัด (1) สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นในครั้งนี้ ซึ่งก็คือ “อาคารโรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ” อาคารสถาปัตยกรรมอันทรงคุณค่าใน เกาะรัตนโกสินทร์
ปลุกอาคารเก่า
อาคารโรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจเป็นอาคารสูง 2 ชั้น มีสถาปัตยกรรมการก่อสร้างแบบโคโลเนียล (Colonial Style) ตั้งอยู่ในเวิ้งที่ว่างบริเวณหลังตึกแถวสี่กั๊กเสาชิงช้า หลังคาทรงปั้นหยา สร้างแบบก่ออิฐฉาบปูน
ผู้ก่อตั้งอาคารนี้คือ หลวงดำรงธรรมสาร (มี ธรรมาชีวะ) ได้ริเริ่มสร้างอาคารหลังนี้ให้เป็นโรงพิมพ์ที่ใหญ่ และทันสมัยที่สุดในเวลานั้น ธุรกิจการพิมพ์แห่งนี้ได้เริ่มขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2438 ตามประวัติและภาพถ่ายเก่าของอาคาร
ปัจจุบันอาคารโรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจมีสภาพทรุดโทรมเนื่องจากความเสื่อมสลายของโครงสร้างและวัสดุที่แปร เปลี่ยนไปตามกาลเวลา แม้ตัวอาคารจะมีอายุมากถึง 127 ปี แต่ยังคงปรากฏร่องรอยของศิลปะสถาปัตยกรรมที่ งดงามไม่ว่าจะเป็นลวดลายฉลุประดับตกแต่งประตูหน้าต่างขอบหลังคารวมไปถึงเทคนิคเชิงช่างไม้ที่น่าทึ่ง
ภาพ: CreativeMatters
จากลักษณะทางศิลปะสถาปัตยกรรมที่งดงาม หาได้ยากแล้ว ในเชิงประวัติศาสตร์ของอาคารสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นแห่งนี้แสดงให้เห็นถึงคุณค่าและความสำคัญของอาคารโบราณ สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ (ASA) จึงเห็นสมควรให้อาคาร (เก่า) โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ เป็นอาคารควรค่าแก่การอนุรักษ์ประจาปี 2547
ภาพ: CreativeMatters
Back to Beginning - สู่จุดเริ่มต้น
VERNADOC เป็นคำย่อมาจาก Vernacular Architecture Documentation ซึ่งมาระกุ มัตติลา (Markku Mattila) สถาปนิกชาวฟินแลนด์ใช้เรียกแนวทางศึกษาสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น เทคนิคการเขียนแบบ VERNADOC ถูกพัฒนาและเผยแพร่ในวงการอนุรักษ์สถาปัตยกรรม เน้นการเก็บข้อมูลจริงในพื้นที่ด้วยเทคนิคพื้นฐานแต่ได้คุณภาพของผลงานในระดับสูง
ทั้งนี้ เป็นการเก็บข้อมูลสถาปัตยกรรมและรายละเอียดให้ได้ใกล้เคียงของจริงมากที่สุด โดยใช้เพียงแค่มือ ดินสอ ไม้บรรทัด และปากกาเขียนแบบเท่านั้น เน้นการเขียนลายเส้น มิติ ความตื้นลึก แสง เงา และพื้นผิววัสดุที่ชัดเจน รวมถึงเครื่องเรือนและข้าวของบางอย่างที่น่าสนใจ ทำให้การเก็บข้อมูลคืองานศิลปะที่ผู้คนทั่วไปเข้าใจเห็นความงามและคุณค่าได้ง่าย (สุดจิต สนั่นไหว, 2556, น.3)
อาจารย์ตุ๊กได้พูดย้อนไปถึงจุดเริ่มต้นของการสำรวจเพื่อบันทึกข้อมูลทางสถาปัตยกรรมด้วยเทคนิค VERNADOC โดยหยิบความรู้เรื่องการสำรวจมาใช้ เริ่มที่สถาปนิกชาวอิตาลีในยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ (Renaissance) ได้นำวิธีการเขียนแบบบนหลักการถ่ายทอดกันในมุม 90 องศา ของแผนผังรูปตัด และรูปด้าน มาใช้เพื่อศึกษาและบันทึก มรดกสถาปัตยกรรม
ด้วยวิธีการบันทึกข้อมูลตามระบบนี้มีประสิทธิภาพมาก ส่งผลให้พระสันตะปาปาลีโอที่ 10 (Pope Leo X) ได้มีพระบัญชาให้นำมาใช้กับการออกแบบวางผังโบสถ์หลังใหม่ นับแต่นั้นต่อมา หลักการเขียนภาพ สถาปัตยกรรมแบบนี้ได้กลายเป็นวิธีการทางานสากลของสถาปนิกมาจนปัจจุบัน
อาจารย์ตุ๊กเล่าต่อเนื่องถึงการสำรวจเพื่อบันทึกสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นของประเทศฟินแลนด์ ในปี ค.ศ. 1871 จุดเริ่มต้นจากสมาคมนักโบราณคดีฟินแลนด์ (Finnish Archaeological Society) นำโดย อีมิล เนร์วานดาร์ (Emil Nervandar)
โดยเริ่มบันทึกข้อมูลสถาปัตยกรรมทั้งสิ่งของเครื่องใช้เพื่อแสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตของผู้คนในหลายพื้นที่ของประเทศฟินแลนด์ ซึ่งเป็นการทางานร่วมกันของคณะสารวจที่มาจากหลากหลายสาขาทั้งศิลปิน สถาปนิก นักประวัติศาสตร์ และนักวิจัย
ต่อมาในปี ค.ศ. 1887 ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีแห่งกรุงเฮลซิงกิ (HUT) ประเทศฟินแลนด์ ได้ดำเนินโครงการสำรวจภาคสนามเพื่อบันทึกข้อมูลมรดกสถาปัตยกรรม ในเวลานั้นสำรวจเป็นประจำในทุก ๆ ปี
ยกเว้นช่วงที่อยู่ในภาวะสงคราม หลังจากนั้นมาไม่นานได้บรรจุการเรียนการสอนหลักสูตรการบันทึกสถาปัตยกรรมไว้ในรายวิชาสถาปัตยกรรมของมหาวิทยาลัย HUT และได้นำวิธีนี้ไปใช้กับค่ายบันทึกมรดกสถาปัตยกรรมในต่างประเทศเพื่อเผยแพร่และพัฒนาวิธีการทำงานให้ได้คุณภาพระดับสูง และในระหว่างปี ค.ศ. 1997-2003 สถาปนิก มาระกุ มัตติลา (Markku Mattila) ศิษย์เก่าจาก HUT ได้มีโอกาสร่วมเป็นคณะสำรวจ
ในปี ค.ศ.2004 ผศ.ดร.สุดจิต เศวตจินดา (สนั่นไหว) ตัวแทนจากอิโคโมสไทย (ICOMOSThailand) (2) เข้าร่วมการประชุมประจำปีของคณะกรรมการสากลด้านสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น (CIAV 19th International Conference) ที่ประเทศญี่ปุ่น
มีโอกาสได้พบกับ มาระกุ มัตติลา และแลกเปลี่ยนแนวคิดเกี่ยวกับการสำรวจรังวัดสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น โดยตั้งคำถามถึงความเป็นไปได้ว่าจะมีผู้สนใจเข้าร่วมหรือไม่ หากจัดเป็นโครงการนานาชาติ อาจารย์ตุ๊ก ตัวแทนประเทศไทย ตอบไปในทันทีว่า “เป็นไปได้แน่นอน”
หลังจากนั้น มาระกุ มัตติลา ได้ตีพิมพ์หนังสือเล่มแรกในชื่อ VERNADOC 2005 เพื่อรายงานผลการสำรวจรังวัด เมืองรัวเวซี (Ruovesi) ในประเทศฟินแลนด์ และเป็นจุดสำคัญที่ทำให้คำว่า “VERNADOC” ได้กลายมาเป็นชื่อ โครงการของกิจกรรมนี้ในเวลาต่อมา
ภาพ : https://www.bookm-ark.fi/product/vernadoc-julkaisusarja-vernadoc-documents/
สำหรับในประเทศไทยรับเอาวิธี VERNADOC มาทดลองจัดค่ายครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 2007 ซึ่งอิโคโมสไทย (ICOMOS Thailand) สนับสนุนให้ ผศ.ดร. สุดจิต เศวตจินดา (สนั่นไหว) เป็นผู้จัดค่ายคนแรก และใช้ชื่อค่ายว่า Thai VERNADOC 2007 Muang Boran (เมืองโบราณ)
มีการจัดค่ายอย่างต่อเนื่อง เช่น ศาลเจ้าแม่กวนอิม (เกียนอันเกง) โรงเรียนตะละภัฏศึกษา สะพานวัดคลองแดน เป็นต้น ได้รับการสนับสนุนจากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ (ASA) และสถาบันการศึกษาที่สอนวิชาสถาปัตยกรรม รวมทั้งอาสาสมัครที่สนใจทั้งชาวไทย และต่างประเทศ
ตลอดระยะเวลา 2 สัปดาห์ในค่าย Thai VERNADOC 2022 Bamrungnukulkij (โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ) แสดงให้เห็นถึงความเรียบง่ายและการใส่ใจทุกรายละเอียดของนักสำรวจทุกคนที่ตั้งใจถ่ายทอดความงดงามทางสถาปัตยกรรมลงบนผลงานเพื่อนำไปสู่การเป็นส่วนหนึ่งของการอนุรักษ์อาคารโรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ
ภาพ: CreativeMatters
Less is more - น้อยแต่มาก
กระบวนการทางานของ VERNADOC เรียบง่าย (มาก) เริ่มต้นด้วยลงสำรวจพื้นที่ ซึ่งข้อมูลทุกอย่างที่ได้จากการรังวัดจะถูกวาดลงบนกระดาษในทันทีโดยไม่ต้องจดบันทึกก่อน เครื่องมือการวาดและการวัดนั้นใช้ของพื้นฐานในวิชาชีพสถาปนิกที่ทุกคนคุ้นชิน เช่น ดินสอ กระดาษ ไม้บรรทัด ตลับเมตร และเครื่องวัดระดับน้ำ ภาพข้อมูลที่วัดมาได้ทั้งหมดจะนำมาลงเส้นหมึกในสตูดิโอ (3) เพื่อให้ผลงานการบันทึกสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นมีชีวิตขึ้นมา
ภาพ: CreativeMatters
โดยปกตินักสำรวจทุกคนจะมาในรูปแบบอาสาสมัคร และเวลาการดำเนินค่ายกินระยะเวลาประมาณ 2 สัปดาห์ ทั้งนี้ มาระกุ มัตติลา ได้กำหนดแนวทางปฏิบัติของค่ายไว้ทั้งหมด 4 ขั้นตอนสาคัญดังนี้
1. จัดค่ายใช้เวลา 2 สัปดาห์ ในสัปดาห์แรกเริ่มต้นการสำรวจรังวัดในพื้นที่ด้วยดินสอและสัปดาห์ถัดมา สาหรับการลงเส้นหมึกในสตูดิโอ
2. จัดแสดงนิทรรศการในพื้นที่สำรวจ
3. จัดสัมมนาในหัวข้อที่เกี่ยวกับสถาปัตยกรรมที่สำรวจเพื่อให้แลกเปลี่ยนความเห็นในแง่มุมต่าง ๆ
4. จัดพิมพ์ผลงานการสำรวจรังวัดและข้อมูลที่เกี่ยวเนื่องเพื่อเผยแพร่สู่สาธารณชน
ภาพ: CreativeMatters
วิธี “น้อยแต่มาก” ของ VERNADOC มีรายละเอียดปลีกย่อยหลายขั้นตอนด้วยกัน เริ่มด้วยทักษะขั้นพื้นฐานของสถาปนิก การใช้อุปกรณ์ที่ต้องมีความชำนาญและแม่นยำ เพื่อผลงานที่ออกมาจะสะท้อนคุณค่าทางสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น ทั้งลายเส้น แสงเงา พื้นผิวที่ชัดเจน สัดส่วนต่าง ๆ ของอาคาร รวมถึงร่องรอยการทรุดโทรมเพื่อให้ได้ ความถูกต้องสมจริง
อุปกรณ์ที่สร้างสรรค์ผลงานสามารถแบ่งเป็น 2 ชุด อ้างอิงจากขั้นตอนการทำงาน VERNADOC ฉบับการ์ตูนโดย ปาริฉัตร สกุลเจริญพรชัย หนึ่งในคณะสำรวจ
ชุดที่ 1 การสำรวจรังวัด ได้แก่ ตลับเมตร, เครื่องวัดระดับน้ำ, กล้องถ่ายรูป (สาหรับเก็บรายละเอียดพื้นผิว), เทป ผ้าสีตัดกับผนัง (แนะนำสีดำหรือสีแดง)
ชุดที่ 2 เก็บข้อมูลส่วนตัวและอุปกรณ์เขียนแบบ ได้แก่ สมุดจดบันทึก, ดินสอเขียนแบบ (ความเข้มระดับ 4H), ยางลบ, ปากกาเขียนแบบ (ชนิดเติมหมึกเอง), ไม้บรรทัด T-SLIDE, ไม้บรรทัดฉากสามเหลี่ยม, กระดานเขียนแบบ, กระดาษเขียนแบบ (ขนาด A1), กระบอกฉีดยา (Syringe), แก้วเปล่า, กระดาษทิชชู, ใบมีดโกน
ภาพ: CreativeMatters
หลังจากรู้จักอุปกรณ์ที่จำเป็นสาหรับค่ายแล้ว มาต่อกันที่ขั้นตอนการเก็บข้อมูล
1. ลงพื้นที่สำรวจโดยรอบของอาคาร ข้อสำคัญคือควรให้เกียรติและเคารพสถานท่ี
2. ลำดับต่อมาสำรวจพื้นที่เพื่อทำให้รู้ว่าพื้นที่บริเวณนั้นสูงหรือต่ำกว่าระดับอ้างอิงไว้เท่าไรใช้เครื่องมือวัด
ระดับน้ำและเทปผ้าสีติดเพื่ออ้างอิง
ภาพ: CreativeMatters
3. ติดกระดาษเขียนแบบลงบนกระดานส่วนใหญ่นักสำรวจมักจะกลัวการวาดลงบนกระดาษจริง แนะนำให้ร่างภาพลงกระดาษจริงเลย เพราะจะได้รู้ว่าเราพลาดอะไรตรงไหน ซึ่งความผิดพลาดเป็นเสน่ห์ของการสำรวจรังวัด
3.1 ติดกระดาษไว้กึ่งกลางของกระดานเขียนแบบ นำเทปกระดาษกาวนิตโต้ (เทปกาวย่น) ติด บริเวณ 4 ด้านของมุมกระดาษเท่านั้น และหันโลโก้ (Logo) ของกระดาษไว้ทางมุมล่างซ้าย เหตุผลที่ติด เทปแค่ 4 มุม เพราะความร้อนจะทำให้กาวของเทปเหนียว เวลาลอกเทปออกกระดาษจะขาด
3.2 นำกระดาษร่างคลุมผลงานไว้ ควรคลุมทั้งกระดานเพื่อป้องกันแมลง ฝุ่น น้ำ และน้ำลาย
4. ขณะลงพื้นที่เก็บข้อมูลด้วยดินสออุปกรณ์ที่ช่วยให้สะดวกในการวาดมากขึ้นคือไม้บรรทัด T-SLIDE และไม้บรรทัดฉากสามเหลี่ยม
ภาพ: CreativeMatters
5. ขั้นตอนการลงกระดาษนั้นต้องมาจากการลงพื้นที่จริงและพื้นผิวที่เราเห็นสภาพจริง เริ่มจากร่างเส้นบนกระดาษด้วยดินสอความเข้มระดับ 4H ตามด้วยการลงหมึกเส้นหนักเบาที่สตูดิโอ
6. ขั้นตอนการลงเส้นหมึก ความเข้มจางของเส้นขึ้นอยู่กับขนาดหัวปากกาและวิธีการผสมน้ำหมึก เมื่อลงเส้นหมึกเสร็จแล้ว เพิ่มพื้นผิวให้ชัดเจนด้วยเทคนิคของระดับเส้นและน้ำหมึก ความเจือจางของน้ำหมึกนั้น ขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำ ควรติดค่าความเข้มจางของน้ำหมึกไว้ที่หัวปากกาเพื่อง่ายต่อการใช้งาน (หมึกกี่หยด : น้ำกี่เปอร์เซ็นต์)
ภาพ: CreativeMatters
7. ตรวจแสงและเงาของผลงานเงาเส้นเดียวคือเงาตื้นประสานเงาทับกัน 2 เส้น คือเงาลึกโดยภาพรวมต้อง สวยงามและละเอียด ทั้งนี้ เทคนิคการประสานเงาเป็นสิ่งที่สามารถบ่งบอกว่าเจ้าของผลงานใจร้อนหรือไม่
ภาพ: CreativeMatters
8. เก็บรายละเอียดให้เรียบร้อยคำแนะนำเพิ่มเติมสาหรับคนที่เขียนผิดบ่อยควรมีใบมีดโกนสาหรับขูดออก และมีแปรงไว้สำหรับปัดฝุ่นผงของดินสอหรือขี้ยางลบให้กระดาษสะอาดอยู่เสมอ
9. ลำดับสุดท้ายนำผลงานไปจัดแสดงให้คนในพื้นที่ได้ชื่นชมแลกเปลี่ยนความเห็นในแง่มุมต่าง ๆ
ภาพ: CreativeMatters
อุดมการณ์เพื่อการอนุรักษ์
ในช่วงหนึ่งของการบรรยายในวันเปิดโครงการฯ อาจารย์ตุ๊กได้เล่าถึงคาพูดของ มาระกุ มัตติลา มีความเชื่อที่ว่า
“It is not possible to protect the built vernacular environment and to maintain the local building tradition only by governmental money or regulations. More important is that people will understand the worth of their tradition and they are proud of it”
Markku Mattila, 2005
การปกป้องสิ่งแวดล้อมพื้นถิ่นที่ถูกสรรค์สร้างและการรักษาสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นด้วยเงินหรือกฎระเบียบของภาครัฐเพียงอย่างเดียวนั้นเป็นไปไม่ได้ เพราะสิ่งที่สำคัญมากกว่านั้นก็คือการที่คนเข้าใจในคุณค่าและภูมิใจในรากเหง้าของตนเอง
อย่างที่วิธี VERNADOC มีผลต่อการรับรู้คุณค่าในตัวงานสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น ผลงานภาพ ลายเส้นจะกลายเป็นเครื่องมือที่ทำให้ผู้คนได้ย้อนกลับไปแล้วก่อให้เกิดความภาคภูมิใจ หรือแม้กระทั่งเป็นแรงบันดาลใจแก่เจ้าของอาคารและผู้คนในชุมชนที่มองเห็นคุณค่า ส่งผลให้มีความต้องการที่จะอนุรักษ์สิ่งเหล่านั้นให้คงอยู่ต่อไป
ภาพ: CreativeMatters
นอกจากเพื่อชี้ให้สังคมตระหนักเห็นถึงคุณค่าของสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นแล้วยังช่วยสร้างเครือข่ายนานาชาติที่พร้อมทำงาน ทั้งเพื่อการใช้ประโยชน์จริงในพื้นที่หรือเพื่อการเก็บรวบรวมข้อมูลสำหรับศึกษาเปรียบเทียบเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นในระดับสากล
และทางคณะกรรมการนานาชาติว่าด้วยสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น (CIAV) (4) มุ่งหวัง ให้โครงการนี้เป็นกิจกรรมควบคู่ไปกับการจัดสัมมนาวิชาการทุกครั้ง เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ในการสานต่อกิจกรรม
ภาพ: CreativeMatters
get, set and go - ลงมือไปต่อ
กว่า 13 ปี ที่อาสาสมัครทุกคนได้ออกสำรวจอาคารสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น นับตั้งแต่ประเทศไทยได้จัดค่าย VERNADOC ครั้งแรกจนถึงปัจจุบันดำเนินไปกว่า 132 อาคารพื้นถิ่นทั่วประเทศไทย ซึ่งในทุก ๆ โครงการได้ เผยแพร่องค์ความรู้ด้านการบันทึกสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการทางานอนุรักษ์และฟื้นฟูสถาปัตยกรรม
เพราะฉะนั้น VERNADOC จึงไม่ใช่เพียงแค่ศาสตร์หรือเทคนิคที่นำไปใช้ประโยชน์ในการสร้างแรงบันดาลใจหรือ การบูรณะซ่อมแซมในงานทางสถาปัตยกรรมเพียงเท่านั้น แต่มีบทบาทสาคัญในการสื่อสารด้านการอนุรักษ์มรดก ทางวัฒนธรรม สามารถสร้างจิตสำนึกของการอนุรักษ์ให้แก่ผู้พบเห็นและช่วยกันอนุรักษ์สถาปัตยกรรมเหล่านั้นให้คงอยู่
การอนุรักษ์สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นถือเป็นเรื่องสำคัญเพราะทุกวันนี้มรดกทางสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นในหลายพื้นที่ทรุดโทรมและพังทลายไปตามกาลเวลา ฉะนั้น จึงต้องมีคนรุ่นใหม่ที่จะช่วยกันรักษาสิ่งเหล่านี้ไว้ให้คนรุ่นถัดไปได้เรียนรู้ ศึกษา และตระหนักถึงคุณค่า ตราบใดที่มนุษย์ทุกคนยังคงสรรค์สร้างสิ่งใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา การอนุรักษ์จึงเป็นสิ่งที่ต้องดำเนินต่อไป
หมายเหตุ
(1) รังวัด หมายถึง การวัดที่ดินเพื่อสำรวจขนาดพื้นที่
(2) อิโคโมส หรือ ICOMOS (International Council on Monuments and Sites) คือ องค์กรอิสระที่มีเป้าหมาย การทำงานเพื่อการอนุรักษ์และปกป้องคุ้มครองโบราณสถาน ทั้งนี้อิโคโมสไทย (ICOMOS Thailand) เป็นคณะกรรมการในฐานะตัวแทนประเทศไทย
(3) สตูดิโอ (studio) หมายถึง ห้องทำงานของนักทำงานหรือศิลปิน
(4) CIAV (International Committee on Vernacular Architecture) คณะกรรมการนานาชาติว่าด้วย สถาปัตยกรรมพื้นถิ่น คือ หนึ่งในคณะกรรมการย่อยของ ICOMOS โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการทำงานเพื่อการ อนุรักษ์และปกป้องคุ้มครองโบราณสถาน การประสานความร่วมมือระดับนานาชาติ เพื่อการศึกษา การปกป้อง คุ้มครอง และการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมพื้นถิ่น
เอกสารอ้างอิง
House no.125 (2017). Media. Accessed May 31. Available from
VERNADOC-JULKAISUSARJA / VERNADOC DOCUMENTS (2021). Media. Accessed May 31. Available from https://www.bookm-ark.fi/product/vernadoc-julkaisusarja-vernadoc-documents/
สุดจิต สนั่นไหว. (2556). VERNADOC: vol. 1: Thailand. กรุงเทพฯ : สมาคมสถาปนิกสยาม.
สุดจิต สนั่นไหว. (2563). VERNADOC กับการบันทึกสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นของไทย. วารสารหน้าจั่ว, 17(1), 58- 91.
สุดจิต สนั่นไหว. (2563). เอกสารประกอบการสอนวิชา ARC 412 การอนุรักษ์สถาปัตยกรรม [เอกสารไม่ได้ ตีพิมพ์]. คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์, มหาวิทยาลัยรังสิต.
#CreativeMattersTeam
#CreativeMatters
#VERNADOC
#ThaiVERNADOC
#Architecture
#ArtsandCulture
#สถาปัตยกรรมพื้นถิ่น
โฆษณา