26 มิ.ย. 2022 เวลา 02:07 • หนังสือ
ด้วยภาษากวีอันงดงามของ สุริยฉัตร ชัยมงคล
Out of Africa จึงได้ชื่อ “พรากจากแสงตะวัน”
Shadows on the grass ชื่อ “รูปเงาบนพรมหญ้า”
ไอแซค ไดนีเสน มีชีวิตที่มีความสุขที่สุดและเศร้าที่สุด ที่อัฟริกา
อัฟริกาคือเนื้อดินที่หล่อเลี้ยงชีวิตของเธอให้งามสะพรั่ง
เธอจากอัฟริกากลับไปบ้านเกิดที่เดนมาร์ก เธอจึงเหลือเพียงซากดอกไม้แห้งกรัง ทิ้งชีวิตและวิญญาณไว้ที่เชิงเขาง็อง แม้ว่า เธอจะฝังร่างไว้ที่เดนมาร์ก แต่เธอได้ตระหนักแล้วว่าเธอตายไปแล้วครึ่งหนึ่งตั้งแต่จากอัฟริกา
ไอแซค ไดนีเสน (นามปากกา: ชื่อจริงของเธอคือ คาเรน บลิกเซน) เธอแต่งงานกับบารอน บรอร์ บลิกเซน ในปี 1914 เธอกับสามีก็มาอาศัยอยู่ในเขตบริติช ของอัฟริกาตะวันออก ซึ่งเป็นอาณานิคมของอังกฤษ โดยประกอบอาชีพทำไร่กาแฟ
แรกเดิมทีเดียว คาเรนตั้งใจจะเป็นจิตรกร เธอแต่งงานกับบรอร์ได้ไม่นาน เธอติดเชื้อโรคซิฟิลิสจากบรอร์ ทำให้เธอต้องเดินทางไปรักษาตัวที่เดนมาร์กหลายครั้ง หลังจากแต่งงานได้เจ็ดปี ไร่กาแฟก็ได้ประสบปัญหาขาดทุน เธอทำหน้าที่เป็นผู้จัดการไร่แทนบรอร์ ในขณะที่บรอร์ใช้ชีวิตเสพเพล
ยามประสบปัญหาเธอจึงได้ความรักจากเดนิส เป็นเครื่องปลอบประโลม แต่ด้วยการที่เดนิสไม่ต้องการผูกพันจึงทำให้เธอระทมทุกข์จากความรักเช่นเดียวกัน หลายครั้งที่ทำให้เธอพยายามฆ่าตัวตาย
หลายครั้งที่เธอคิดว่าเดนิสน่าจะช่วยเธอมากกว่านี้ เดนิสตายจากอุบัติเหตุเครื่องบินตก การตายของเดนิสในขณะที่ความสัมพันธ์ของเธอกับเขาไม่ได้ร้าวฉานมาก จึงทำให้ความรักของเธอที่มีต่อเขาจึงยังดำรงอยู่
การตายของเดนิส ความล้มเหลวของไร่กาแฟ บรอร์ขอหย่าขาด คาเรนจึงได้เดินทางกลับเดนมาร์กด้วยความรู้สึกสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ เธอจึงลงมือเขียน Out of Africa ด้วยความรู้สึกโหยหาอดีต
ความดีของคาเรนที่ถ่ายทอดแก่มวลหมู่มนุษย์ด้วยกันคือ ความรักที่มีต่อชาวผิวดำ ในฐานะเพื่อนร่วมโลก ไม่มีการดูถูกเหยียดหยาม แต่ให้ความสำคัญแก่พวกเขาในฐานะผู้ใช้แรงงานหรือเพื่อนร่วมงาน มากกว่าที่จะไปเน้นในฐานะ “เจ้าของแรงงานทาส” หรือเจ้าอาณานิคม
ด้วยความรัก ที่คาเรน มีต่อเดนิส เธอได้ ฝังศพของเขาไว้บนเทือกเขาแห่งหนึ่ง ที่เมื่อมองลงมาเห็นทัศนียภาพอันกว้างไพศาล ในช่วงท้ายของชีวิต เธอมักขับรถไปยังสุสานของเดนนิส และพบว่ามี “แขกเหรื่อที่ลี้ลับมากมาย” เดินทางมาคารวะศพผู้ที่จากไปชั่วนิรันดร์
“พวกชาวมาไซ..รายงานต่อข้าหลวงแขวงที่ง็องว่า หลายครั้งในยามอรุณและอัสดง พวกเขาเห็นสิงโตยืนอยู่บนสุสานของ เดนิส ฟินช์ แฮทตัน สิงห์ตัวหนึ่งกับคู่ของมันได้ไปที่นั่น ยืนหรือเหยียดกายนอนบนหลุมศพเป็นเวลานาน.. ที่นั่นพวกมันสามารถมองเห็นได้ทั่วท้องทุ่ง เห็นทั้งฝูงปศุสัตว์และสัตว์อื่นๆ ในนั้นด้วย”
คาเรนเป็นนักเล่านิทานที่ผู้คนต่างพากันยกย่องว่า สามารถตรึงคนฟังให้นิ่งได้ ราวกับต้องมนต์สะกด
“สิ่งที่น่าสะพรึงกลัวสำหรับนักเขียนก็คือ.... เมื่อพบว่านิทานที่ตนเขียนขึ้นนั้น มันกลายเป็นความจริง” (จาก The Diver)
เธอล้มป่วยด้วยโรคซิฟิลิสและสิ้นชีวิตลงในวันที่ 7 กันยายน 2505 จบชีวิตนักเขียนที่ตัวเธอเองยังกล้ารับประกันในตัวเธอเองว่า
“No one came into literature more bloody than I”
(ไม่มีนักเขียนคนใดก้าวเข้ามาในวงการวรรณกรรมด้วยความโชกโชนเท่ากับฉัน)
เพราะงานเขียนของเธอกลั่นออกมาจากชีวิตที่เข้มข้น เอาชีวิต เลือดและความรักเข้าไปแลกจึงได้มาซึ่งตัวอักษร โดยผ่านความช่ำชองในการใช้ภาษาของคาเรน
ในปี 2500 ผลงานของคาเรนได้รับการเสนอเข้าชิงรางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรม แต่ก็พลาดเพราะปีนั้น คนที่ได้รับรางวัลนี้คือ อัลแบร์ กามู (Albert Camus) นักเขียนนามอุโฆษชาวฝรั่งเศสนั่นเอง
เออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ (Ernest Hemingway รางวัลโนเบลปี 2497)นักเขียนชื่อดังของสหรัฐอเมริกากล่าวสดุดีในผลงานของคาเรนว่า
“เธอเป็นผู้ที่สมควรได้รับรางวัลนี้มากกว่า”
ความงดงามของการใช้ภาษา โดยเฉพาะภาษาอังกฤษทีเธอบรรจงเขียนได้ดีกว่าภาษาเดนนิส ก็ไม่มีใครปฏิเสธในความไพเราะในงานเขียนนั้น ความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษสูงและจูงใจให้ผู้อ่านได้ดื่มด่ำตลอดเวลา
“อุปมาว่าภาษาที่เธอใช้นั้นคมคายและให้ภาพอันวิจิตรละเอียดอ่อน”
#คิดถึง#หยิบมาอ่านซ้ำ
โฆษณา