Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
คลังความรู้
•
ติดตาม
26 มิ.ย. 2022 เวลา 07:05 • การศึกษา
ซากดึกดำบรรพ์ กับความอยากรู้
ภาพที่ 1 ซากกระดูกของไดโนเสาร์ ที่มา https://pixabay.com/, onecrazykatie
แน่นอนชื่อบทความนี้บ่งบอกอยู่แล้ว คำว่าดึกดำบรรพ์ ก็คงเป็นเรื่องที่ผ่านมาแล้วในอดีตซึ่งเป็นอดีตที่มีความยาวนานมากๆ และด้วยความอยากรู้ว่าซากดึกดำบรรพ์คืออะไร มีอะไรบ้าง วันนี้เลยหาข้อมูลและนำมาสรุปให้ได้อ่านกัน เผื่อจะมีใครสนใจจนอยากจะเป็นนักขุดเจาะเพื่อหาข้อมูลในอดีตที่เราเรียกว่าดึกดำบรรพ์กันดูบ้าง
ซากดึกดำบรรพ์
ซากดึกดำบรรพ์มีชื่อเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า ฟอสซิล (fossil) ซึ่งมีที่มาจากการขุดหรือค้นหาซากหรือร่องรอยของสิ่งมีชีวิต ที่อาจรวมทั้งพืชและสัตว์ในอดีตที่มีอายุยาวนานมากๆ โดยถูกแปรสภาพและถูกเก็บรักษาไว้โดยธรรมชาติในชั้นหินในเปลือกโลก
ตัวอย่างเช่น กระดูก ฟัน เปลือก เกร็ด หิน ผม ไม้ที่กลายเป็น หินน้ำมัน ถ่านหิน รอยพิมพ์ และเศษดีเอ็นเอ เป็นต้น ที่เห็นจะรู้จักและคุ้นเคยมากที่สุดก็คงหนีไม่พ้นซากโครงกระดูกของมนุษย์โบราณ ซากกระดูกไดโนเสาร์ รอยเท้าไดโนเสาร์ ซากพืชซากสัตว์ที่แห้งตายนั่นเอง
และเมื่อร่องรอยเหล่านั้นถูกขุดขึ้นมาได้จากพื้นดิน นั่นก็ทำให้มนุษย์ยุคปัจจุบันอย่างเราๆ ได้ประโยชน์จากความสงสัยและสนใจเป็นอย่างยิ่ง ในการค้นคว้าพิสูจน์และวิจัยที่อาจเป็นข้อมูลสำคัญในอดีตว่ามีรูปแบบและวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตในแต่ละช่วงระยะเวลาเป็นอย่างไรบ้าง
กระบวนการเกิดซาก
ลักษณะของการศึกษาซากดึกดำบรรพ์ มักให้ความความสำคัญเกี่ยวกับอายุการก่อตัว เช่นเป็นซากที่มีการก่อตัวที่มาอายุเป็นหมื่นปีถึงพันล้านปี และวิวัฒนาการจากกระบวนการเกิดซาก ซึ่งสามารถอธิบายได้ด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ โดยจากการถูกแปรสภาพเป็นกระบวนการเกิดซากนั้น มีปัจจัยสำคัญสองประการ คือ โครงร่างส่วนที่เป็นของแข็งของสิ่งมีชีวิต กับกระบวนการเก็บรักษาซาก
นอกจากนี้ การเกิดซากจะมีกระบวนการ 2 อย่าง คือ การตกตะกอนทับถมลงบนซาก และการที่สารละลายของแร่ธาตุเข้าแทนที่ซากอย่างรวดเร็ว ทำให้แบคทีเรียไม่สามารถเจริญเติบโตได้ เมื่อแข็งตัวจึงกลายเป็นซากดึกดำบรรพ์ให้ศึกษาได้ ส่วนมากซากของสิ่งมีชีวิตจะถูกเก็บรักษาไว้ได้ดีบริเวณริมฝั่งแม่น้ำ ทะเลสาบและท้องทะเล
เพราะบริเวณเหล่านี้จะมีตะกอนเม็ดเล็กสะสมตัวมาก สภาพแวดล้อมค่อนข้างสงบ ซากไม่ถูกทำลายให้แตกหักมากและถูกเก็บรักษาไว้ในชั้นหิน โดยอาจประกอบไปด้วยซากเหลือของสัตว์ พืช หรือกลุ่มของสิ่งมีชีวิตอื่นใด ๆ ที่ได้รับการจัดแบ่งจำแนกไว้ทางชีววิทยา และรวมถึงร่องรอยต่างๆ ของสิ่งมีชีวิตนั้นๆ
กระบวนการของการเกิดฟอสซิลที่เกิดขึ้นเมื่อฝังสิ่งมีชีวิต (Permineralization)
เป็นกระบวนการของการเกิดฟอสซิล ซากของสิ่งมีชีวิตจะมีวิวัฒนาการและรูปแบบการเปลี่ยนแปลงได้ในหลายลักษณะ โดยการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพตามธรรมชาติที่อินทรีย์สารเปลี่ยนแปลงจากส่วนประกอบเดิม แต่ยังคงรูปโครงสร้างให้เห็นอยู่ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมีหลายวิธี ดังนี้
การกลายเป็นหิน (Pertrification)
เป็นกระบวนการของการเกิดฟอสซิลที่ซากสิ่งมีชีวิตกลายเป็นหิน จากการที่เนื้อเยื่อ ผนังเซลล์ และส่วนแข็งอื่น ๆ ซึ่งเป็นส่วนประกอบดั้งเดิมของซาก ถูกแทนที่ด้วยการแทรกซึมของแร่ธาตุในรูพรุนของโครงสร้างสิ่งมีชีวิตเดิม เช่น ถูกแทนที่ด้วยสารซิลิกาในรูปของแร่ควอรตซ์ แร่คาลซิโคนีหรือแร่โอปอ หรือ สารละลายแคลเซียมคาร์บอเนด โดยกระบวนการแทนที่ (replacement) โดยการถูกแทนที่นี้จะไม่ทำให้โครงร่างเดิมสูญเสียไป
การเพิ่มคาร์บอน (Cabonization)
เป็นกระบวนการของการเกิดฟอสซิลที่เกิดจากซากกลายเป็นสารคาร์บอนหรือถ่านติดอยู่ในชั้นหินหรือเป็นถ่านหิน
ร่องรอยหรือรอยพิมพ์ (Mold)
ร่องรอยที่ประทับไว้หรือฝังตัวอยู่ในชั้นดิน เช่น รอยเท้า รอยทางเดิน รอยหนอน รอยเจาะ รอยชอนไช ซึ่งอยู่ในชั้นตะกอน ต่อมาตะกอนแข็งตัวกลายเป็นหิน ทำให้ร่องรอยนั้นถูกเก็บรักษาในชั้นหิน เป็นต้น
การบอกอายุของซากดึกดำบรรพ์หรืออายุหิน
สามารถบอกได้ 2 แบบคือ
●
อายุเปรียบเทียบ (Relative Age) คืออายุทางธรณีวิทยาของซากดึกดำบรรพ์ หิน ลักษณะทางธรณีวิทยา
●
อายุสัมบูรณ์ ( Absolute age ) หมายถึงอายุซากดึกดำบรรพ์ของหิน ลักษณะหรือเหตุการณ์ทางธรณีวิทยา (โดยมากวัดเป็นปี เช่น พันปี ล้านปี) โดยทั่วไปหมายถึงอายุที่คำนวณหาได้จากไอโซโทปของธาตุกัมมันตรังสี ขึ้นอยู่กับวิธีการและช่วงเวลาครึ่งชีวิต(Half life period)
เป็นอย่างไรกันบ้าง เรื่องราวของซากดึกดำบรรพ์ยังเป็นที่น่าสนใจและค้นคว้าอีกมาก ไม่แน่ว่าคุณอาจเป็นคนต่อไปที่ได้ขุดพบซากดึกดำบรรพ์
แหล่งที่มา
ซากดึกดำบรรพ์. สืบค้นเมื่อ 22 เมษายน 2561, จาก
https://th.wikipedia.org/wiki/ซากดึกดำบรรพ์
ซากดึกดำบรรพ์ และไดโนเสาร์. สืบค้นเมื่อ 22 เมษายน 2561, จาก
http://www.dmr.go.th/ewt_news.php?nid=7115&filename=index
ตรีเทพ สมหวัง. (2560, 8 ตุลาคม). ฟอสซิล. สืบค้นเมื่อ 22 เมษายน 2561, จาก
halsat.com/ฟอสซิล/
ซากดึกดำบรรพ์. สืบค้นเมื่อ 22 เมษายน 2561, จาก
http://www.il.mahidol.ac.th/e-media/earth-science/chapter4_1.html
กระบวนการเกิดซาก. สืบค้นเมื่อ 22 เมษายน 2561, จาก
https://usamas47511.wordpress.com/กระบวนการเกิดซาก/
หัวเรื่อง และคำสำคัญ
ซากดึกดำบรรพ์, ฟอสซิล, fossil, ซาก, ซากพืช, ซากสัตว์, โครงกระดูก, ขุด, สิ่งมีชีวิต, พืช, สัตว์, มนุษย์, หิน
ประเภท Text
ประเภท แบ่งตามผลผลิต สสวท. บทความ
รูปแบบการนำเสนอ แบ่งตามผลผลิต สสวท. สื่อสิ่งพิมพ์ในรูปแบบดิจิทัล
ลิขสิทธิ์ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.)
วันที่เสร็จ วันเสาร์, 16 มิถุนายน 2561
ผู้แต่ง หรือ เจ้าของผลงาน ณัฐดนัย เนียมทอง
สาขาวิชา/กลุ่มสาระวิชา วิทยาศาสตร์ทั่วไป
ระดับชั้น ม.1 / ม.2 / ม.3 / ม.4 / ม.5 / ม.6
ช่วงชั้น มัธยมศึกษาตอนต้น / มัธยมศึกษาตอนปลาย
กลุ่มเป้าหมาย ครู / นักเรียน / บุคคลทั่วไป
ซากดึกดำบรรพ์
ดึกดำบรรพ์
ความรู้
บันทึก
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย