27 มิ.ย. 2022 เวลา 13:30 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ไม่ขาย ไม่ขาดทุน ไม่ใช่แนวคิดที่ดี ในการลงทุน
ในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังผันผวนแบบนี้ ได้ทำให้นักลงทุนหลายราย กำลังอยู่ในสถานะ “ติดดอย”
ซึ่งหลาย ๆ คน ต่างก็มีวิธีการรับมือกับการติดดอย แตกต่างกันไป
และหนึ่งในวิธีที่นักลงทุนหลายคนเลือกใช้ คือการอดทนถือสินทรัพย์ที่ขาดทุนอยู่นั้นต่อไป
พร้อมกับคติประจำใจว่า “ไม่ขาย ไม่ขาดทุน”
แต่ว่าวิธีการคิดแบบนี้ ดีจริงแล้วหรือ
วันนี้ BillionMoney จะลองมาวิเคราะห์ให้ฟัง
ก่อนอื่นคำว่า “ไม่ขาย ไม่ขาดทุน” ก็เป็นความจริงอยู่ส่วนหนึ่ง
เพราะตัวเลขขาดทุน ที่แสดงให้เราเห็นในพอร์ต เมื่อราคาหุ้นตกลงนั้น
คือการขาดทุนที่ยังไม่เกิดขึ้นจริง หรือที่เรียกว่า Unrealized Loss
ซึ่งถ้าหากเราทำการขายสินทรัพย์ ณ ตอนนั้น
ก็จะทำให้เกิดผลขาดทุนขึ้นจริง อันเป็นเหตุให้เงินในพอร์ตของเราลดลงไปจริง ๆ ด้วย
และแน่นอนว่าปกติแล้ว คนเราไม่ชอบความรู้สึกที่ต้องสูญเสียอะไรบางอย่าง
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเป็นเงินที่สามารถนำไปซื้ออะไรก็ตามที่เราอยากได้
การกอดสถานะขาดทุนนี้ต่อไป ก็ดูจะเป็นสิ่งที่ดีมากกว่าการขาดทุนจริง ๆ
ซึ่งความไม่อยากขาดทุนนี้เอง เรียกว่า Loss Aversion
แต่การอดทนถือสินทรัพย์ที่ขาดทุนอยู่แบบนั้น ก็อาจไม่ใช่ผลดีนัก
เพราะในด้านของการลงทุนเอง ยิ่งเราขาดทุนมากเท่าไร
การจะกลับมาเท่าทุน ยิ่งต้องอาศัยผลตอบแทนที่มากกว่านั้น
ตัวอย่างเช่น เราซื้อหุ้น A ที่ราคา 10 บาท จำนวน 100 หุ้น ตอนนี้พอร์ตของเรามีมูลค่า 1,000 บาท
แต่หลังจากนั้น หุ้น A มีราคาลดลงเหลือ 5 บาท หรือก็คือ -50% ก็จะทำให้พอร์ตของเรามีมูลค่าเหลือเพียง 500 บาท
เมื่อถึงจุดนี้ บางคนอาจคิดว่าถ้าหากเราถือรอ จนหุ้นกลับขึ้นมาที่ 50% เราก็จะกลับมาเท่าทุนอีกครั้งแล้ว
แต่ถ้าหากเราคำนวณดูแล้ว จะพบว่า 50% ของ 5 บาทนั้น เท่ากับ 7.5 บาท
หมายความว่าพอร์ตของเรา จะมีมูลค่า 750 บาท เพียงเท่านั้น แทนที่จะเป็น 1,000 บาท
ซึ่งถ้าหากเราต้องการที่จะกลับไปเท่าทุนจริง ๆ เราจะต้องหวังให้หุ้นขึ้น
จากราคา 5 บาท กลับไปเป็น 10 บาท หรือคิดเป็นอัตราผลตอบแทนถึง 100%
โดยเมื่อดูจากตัวเลขผลตอบแทนที่ต้องการ จะเห็นได้ว่าเราอาจต้องอดทนถือนานมาก ๆ
กว่าที่สินทรัพย์ของเราจะกลับมาเติบโตได้ถึง 100% เพียงเพื่อให้เงินของเรากลับมาเท่าเดิม
และถ้าหากเราเลือกสินทรัพย์ผิดตัว ที่ไม่สามารถกลับมาเติบโตได้ในระดับเดิมอีกครั้ง
หรือเลวร้ายที่สุดคือมีค่าเท่ากับ 0 ก็อาจทำให้เราจมอยู่ในสถานะขาดทุนตลอดไปก็ได้
นอกจากนี้ แม้เราจะพยายามแข็งใจถือหุ้นต่อไปมากแค่ไหน ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า
การได้เห็นราคาหุ้นไหลลงไปเรื่อย ๆ ก็ทำให้จิตใจของเราหวั่นไหวได้ไม่น้อย
โดยงานวิจัยจากไต้หวันพบว่า เมื่อดัชนีตลาดหุ้นตกลง 1% ในวันนั้น
จะเพิ่มโอกาสที่จะมีผู้เข้ารับการรักษาอาการทางจิตขึ้น 0.36%
และถ้าดัชนีตลาดหุ้นตกลงมาถึง 1,000 จุด โอกาสที่จะมีผู้เข้ารับการรักษาอาการทางจิต
จะเพิ่มขึ้นมากถึง 4.7%
แสดงให้เห็นว่า การขาดทุนนั้น ส่งผลต่อสุขภาพจิตมากกว่าที่เราคิด
โดยอาการที่พบบ่อยสำหรับนักลงทุน คือ อาการวิตกกังวล และอาการซึมเศร้า
ซึ่งบางครั้งอาจพัฒนาไปเป็นการหวาดระแวง จนทำให้เมื่อตลาดหุ้นกลับมาสดใสแล้ว
เราก็ยังไม่รู้สึกดีขึ้น เพราะกลัวว่าจะเป็นแค่การขึ้นหลอกเท่านั้น จนพลาดโอกาสดี ๆ ที่จะทำกำไร
เพราะฉะนั้นแล้ว แนวคิด ไม่ขาย ไม่ขาดทุนนั้น อาจจะใช้ได้
ถ้าหากเป็นการปรับตัวลงของตลาดหุ้นในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ
แต่สำหรับตลาดหุ้นขาลง ที่อาจจะกินระยะเวลานานหลายเดือน หรือเป็นปี ๆ
การใช้แนวคิดนี้ก็อาจจะไม่ถูกต้องนัก เพราะการที่เราต้องมานั่งหวัง
ให้ตลาดหุ้นขึ้นแรง ๆ เพื่อที่จะกลับมามีกำไร หรือเท่าทุน
ก็ไม่ใช่เรื่องที่ดีต่อสุขภาพจิตของเรา โดยเฉพาะเมื่อสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ไม่เป็นไปตามที่เราหวัง
เพราะฉะนั้นการยอมเจ็บจากการขาดทุนบ้าง เพื่อเป็นบทเรียน และเริ่มต้นลงทุนใหม่ในสิ่งที่พอจะเป็นไปได้ ก็อาจจะดีกว่าการอดทนขาดทุน ด้วยความหวังลม ๆ แล้ง ๆ ก็เป็นได้
โฆษณา