27 มิ.ย. 2022 เวลา 11:56 • หุ้น & เศรษฐกิจ
จากเสรีนิยมใหม่สู่ศักดินาเทคโนโลยีก้าวถอยของเศรษฐกิจโลกที่ควรจับตา?
บทความโดย
นายธนากร ไพรวรรณ์
เศรษฐกรชำนาญการพิเศษ
สำนักงานนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ
credit: https://unsplash.com/photos/5QgIuuBxKwM
การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อมุ่งสู่การเป็นเศรษฐกิจดิจิทัล (Digitalisation for Digital Economy) เป็นหนึ่งในสองประเด็นหลักที่ประเทศไทยต้องการผลักดันในกรอบการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปค (APEC Finance Ministers’ Process: APEC FMP) ในปี 2022
โดยมุ่งนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการดำเนินและส่งผ่านมาตรการของรัฐ การเชื่อมโยงระบบการชำระเงินข้ามพรมแดน และการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงแหล่งทุนผ่านผลิตภัณฑ์ทางการเงินหรือกลไกการจัดสรรทุนรูปแบบใหม่ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของเทคโนโลยีดิจิทัลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก
อย่างไรก็ดี เทคโนโลยีดิจิทัลก็มีลักษณะเป็น “ดาบสองคม” ที่ให้ได้ทั้งคุณและโทษ ซึ่งแนวโน้มหนึ่งที่สังเกตได้จากโลกที่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้น คือ การปรากฏตัวของระบอบศักดินาเทคโนโลยี (Techno-Feudalism) ในบทความนี้ ผู้เขียนประสงค์จะอธิบายถึงระบอบดังกล่าว ผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจและสังคมในระบอบนี้ และแนวทางที่ภาครัฐและประชาชนสามารถใช้ในการรับมือกับระบอบดังกล่าวได้
ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจโลกโดยสังเขป
ก่อนที่จะไปรู้จักกับ Techno-Feudalism ผู้เขียนอยากสรุปให้ผู้อ่านได้เข้าใจประวัติศาสตร์เศรษฐกิจโลกโดยย่อ เพื่อที่จะได้คุ้นเคยกับแนวคิดทางเศรษฐกิจที่มีอิทธิพลในยุคต่าง ๆ ก่อนที่จะมาถึงยุค Techno-Feudalism ในปัจจุบัน
1) สมบูรณาญาสิทธิราชย์
(ประมาณ 4000 ปีก่อนคริสตกาล – คริสต์ศตวรรษที่ 9) นี่เป็นรูปแบบเศรษฐกิจที่อำนาจทางเศรษฐกิจอยู่ในมือของกษัตริย์อย่างสมบูรณ์ เพราะกษัตริย์ซึ่งมีอำนาจเต็ม เป็นผู้ถือครองที่ดินและปัจจัยการผลิตอื่น ๆ ทั้งหมด
2) ระบอบศักดินา (Feudalism)
(คริสต์ศตวรรษที่ 9 – คริสต์ศตวรรษที่ 15) ระบอบศักดินาเกิดขึ้นจากการกระจายอำนาจของกษัตริย์ไปสู่ขุนนางและอำมาตย์มากขึ้น โดยกษัตริย์ยังเป็นผู้ถือครองที่ดินทั้งหมด แต่ได้มอบอำนาจในที่ดินส่วนหนึ่งให้ขุนนางและอำมาตย์ ซึ่งมีไพร่ (Serf) ที่ถูกเกณฑ์มาให้ทำเกษตรกรรมในที่ดินเหล่านั้น
และได้รับผลตอบแทนเป็นเพียงกรรมสิทธิ์ในที่ดินเพียงเล็กน้อยและการคุ้มครองจากอำมาตย์ที่เป็นเจ้าของที่ดินเท่านั้น ทั้งนี้ ระบอบศักดินาเสื่อมอำนาจลงหลังจากการแพร่ะบาดของกาฬโรค (The Black Death) ซึ่งส่งผลให้อุปทานของแรงงานไพร่ลดลงอย่างมาก จนไพร่มีอำนาจในการต่อรองกับอำมาตย์มากขึ้นและสามารถยกระดับความเป็นอยู่ขึ้นมาได้
3) ระบอบพาณิชย์นิยม (Mercantilism)
(คริสต์ศตวรรษที่ 15 – ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18) พาณิชย์นิยมเป็นระบอบที่แต่ละประเทศมุ่งเน้นให้ประเทศของตนได้ดุลการค้ามากที่สุด จึงใช้การให้เงินอุดหนุนธุรกิจภายในประเทศหรือตั้งกำแพงภาษีต่อสินค้านำเข้าในอัตราสูง โดยในยุคพาณิชย์นิยม อำนาจทางเศรษฐกิจเริ่มเปลี่ยนมือไปอยู่ในกลุ่มพ่อค้า และนี่เป็นยุคที่บริษัทข้ามชาติอย่างบริษัทอินเดียตะวันออก (East India Company) เฟื่องฟูที่สุด
4) ปฏิวัติอุตสาหกรรมและกำเนิดทุนนิยม
(ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 – ค.ศ. 1920) การปฏิวัติอุตสาหกรรมในสหราชอาณาจักรในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 ถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของประวัติศาสตร์ เนื่องจากโครงสร้างเศรษฐกิจโลกที่แต่เดิมพึ่งพาเกษตรกรรม ได้เปลี่ยนไปเป็นอุตสาหกรรมเป็นครั้งแรก
และในช่วงนี้เองที่ระบบทุนนิยม (Capitalism) ได้ถือกำเนิดขึ้นจากแนวคิดของนักเศรษฐศาสตร์ในยุคเรืองปัญญา (The Age of Enlightenment) ไม่ว่าจะเป็นอดัม สมิธ หรือเดวิด ริคาร์โด้ เป็นต้น และอำนาจทางเศรษฐกิจได้ตกไปอยู่ในมือของ “นายทุน” ซึ่งเป็นผู้ถือครองปัจจัยการผลิตไม่ว่าจะเป็นที่ดิน แรงงาน ทุน และผู้ประกอบการ
และนี่เป็นจุดกำเนิดของยุคที่กลุ่มนายทุนสร้างความมั่งคั่งด้วยการผูกขาดและควบรวมจนได้รับการขนานนามว่าเป็น “จอมโจรผู้ดี” (Robber Barons)
อาทิ Andrew Carnegie ในอุตสาหกรรมเหล็ก J.P. Morgan ในธุรกิจการเงิน หรือนายทุนรายอื่น ๆ ในธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นระบบราง น้ำมัน ถ่านหิน และไฟฟ้า
5) ยุคการต่อสู้กันระหว่างอุดมการณ์
(ค.ศ. 1920 – 1990) ระบบทุนนิยมได้สร้างความมั่งคั่งให้กับนายทุนและผู้ประกอบการจำนวนมาก แต่ก็ได้สร้างความทุกข์ให้กับชนชั้นแรงงานที่ต้องทนทุกข์กับสภาพการทำงานที่ย่ำแย่และค่าจ้างที่ไม่เป็นธรรมเช่นกัน ในขณะเดียวกันก็ได้มีแนวคิดเศรษฐกิจทางเลือก เช่น ลัทธิมาร์กซ์ (Marxism) และสังคมนิยมกำเนิดขึ้นมาเพื่อเรียกร้องสังคมและเศรษฐกิจที่เท่าเทียมกันมากขึ้น
ซึ่งในยุคดังกล่าว บางประเทศเช่น สหภาพโซเวียตและสาธารณรัฐประชาชนจีนก็ได้เปลี่ยนไปสมาทานแนวคิดแบบมาร์กซิสต์และคอมมิวนิสต์เต็มตัว ในขณะที่หลายประเทศในโลกตะวันตกเช่น สหรัฐอเมริกา ยังเชื่อมั่นในทุนนิยม ซึ่งการต่อสู้เชิงอุดมการณ์นี้เป็นส่วนหนึ่งของสงครามเย็น (Cold War) ในขณะที่บางประเทศในยุโรปเลือก “ทางสายกลาง”และโอบรับแนวคิดสังคมนิยมประชาธิปไตยและรัฐสวัสดิการ เช่น สวีเดน เป็นต้น
6) ยุคเสรีนิยมใหม่ (ค.ศ. 1990 – 2008)
การล่มสลายของสหภาพโซเวียตในต้นยุค 1990 และความล้มเหลวของการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจตามรูปแบบ Keynesian Economics ซึ่งเน้นบทบาทของภาครัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่ไม่สามารถแก้ปัญหาภาวะเศรษฐกิจชะงักงันและเงินเฟ้อ (Stagflation)
ในกลางยุค 1970 ได้ เป็นเสมือนสัญญาณว่าระบบทุนนิยมแบบเสรีนิยมใหม่ (Neoliberal Capitalism) ซึ่งให้ความสำคัญกับกลไกตลาดและให้ภาครัฐมีบทบาทน้อยที่สุด กลายเป็นระบบเศรษฐกิจที่ดีที่สุด โดยในยุคนี้ การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญคือเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศอดีตคอมมิวนิสต์ที่ทยอยแยกตัวมาจากสหภาพโซเวียต
7) ยุคการเสื่อมถอยของเสรีนิยมใหม่
(ค.ศ. 2008 – ปัจจุบัน) วิกฤติการเงินโลกใน ค.ศ. 2008 หรือที่มีชื่อเล่นว่าวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ เปรียบเสมือนภาพสะท้อนความบกพร่องของระบบเสรีนิยมใหม่ที่รัฐตัดสินใจไม่เข้าไปแทรกแซงและควบคุมระบบเศรษฐกิจ จนทำให้เกิดการลงทุนที่ไม่ระมัดระวังในภาคอสังหาริมทรัพย์และเกิดเป็นวิกฤติเศรษฐกิจในที่สุด ซึ่งการเข้าช่วยเหลือภาคธนาคารที่ประสบวิกฤติ
รวมถึงความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ส่งผลให้มีประชาชนที่ไม่พอใจกับการบริหารงานของรัฐบาลเริ่มตั้งคำถามกับระบบเสรีนิยมใหม่ จนนำไปสู่การเถลิงอำนาจของรัฐบาลประชานิยม (Populist) เช่นรัฐบาลของโดนัลด์ ทรัมป์ในสหรัฐอเมริกา เป็นต้น
จาก Digitalisation สู่ศักดินาเทคโนโลยี
ถึงแม้การต่อสู้ระหว่างอุดมการณ์เศรษฐกิจจะดำเนินไปอย่างต่อเนื่องหลังยุคสงครามเย็น แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนไปคือการเข้ามาของอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีดิจิทัลตั้งแต่กลางยุค 1990 ซึ่งได้เปลี่ยนภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจของโลกจากแต่เดิมที่ธุรกรรมทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นทางกายภาพเท่านั้น
กลายเป็นธุรกรรมที่สามารถกระทำได้ผ่านโลกออนไลน์ ซึ่งถ้ามองกันอย่างผิวเผินแล้ว การเข้ามาของเทคโนโลยีดิจิทัลก็เหมือนจะมีแต่ผลดี เพราะทำให้ชีวิตมนุษย์สะดวกขึ้น ช่วยเพิ่มผลิตภาพการผลิต (Productivity) และประชากรโลกมีโอกาสทางเศรษฐกิจมากขึ้นเพราะมีทั้งตลาดโลกจริงและโลกเสมือนให้ทำการค้าขาย แต่การเติบโตอย่างก้าวกระโดดของบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ (Big Tech)
โดยเฉพาะกลุ่มบริษัทกลุ่ม FAANG ซึ่งได้แก่ 1) Facebook 2) Amazon 3) Apple 4) Netflix และ 5) Google รวมถึงการบังคับใช้นโยบายต่อต้านการผูกขาดที่หย่อนยาน โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา ทำให้บริษัทในกลุ่ม Big Tech ดังกล่าวมีอำนาจผูกขาดเหนือตลาดและมีขนาดใหญ่
เช่น Amazon ซึ่งมีรายรับในปี 2564 ทั้งสิ้น 470,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเทียบเคียงได้กับขนาดของเศรษฐกิจบางประเทศในกลุ่ม G20 เป็นต้น และเป็นผู้เล่นสำคัญในระบอบที่ Yanis Varoufakis อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของกรีซขนานนามให้ว่า ระบอบศักดินาเทคโนโลยี (Techno-Feudalism)
ไพร่ดิจิทัล
ในสังคมศักดินาในช่วงยุคกลางนั้น ขุนนางสามารถควบคุมไพร่ที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมได้เนื่องจากขุนนางเป็นเจ้าของที่ดินที่ไพร่เหล่านั้นใช้อาศัยและประกอบอาชีพ โดยเป็นการแลกเปลี่ยนกับการได้อยู่อาศัยและประกอบอาชีพบนที่ดินผืนดังกล่าว ขุนนางจะเรียกเก็บ “ค่าเช่า” ซึ่งมักจะอยู่ในรูปผลผลิตทางการเกษตร
โดยพฤติกรรมดังกล่าวเรียกว่าการแสวงหาค่าตอบแทนส่วนเกิน (Rent-Seeking) ที่มุ่งเน้นการสร้างความร่ำรวยให้กับผู้แสวงหา แต่ไม่ได้ก่อให้เกิดผลิตภาพ หรือที่คำพังเพยไทยเรียกกันว่า “ทำนาบนหลังคน” นั่นเอง พฤติกรรมเช่นนี้ทำให้ขุนนางในยุคศักดินาสะสมความมั่งคั่งได้มากมาย และแทบไม่ตกอยู่ใต้อาณัติผู้ใดเลยเว้นแต่กษัตริย์และรัฐบาลเท่านั้น
ถ้าเทียบเคียงกับระบอบศักดินาเทคโนโลยีในปัจจุบันนั้น บริษัท Big Tech ต่าง ๆ ก็มีความคล้ายคลึงกับระบอบศักดินาในอดีต ดังนี้
1) ในขณะที่ระบอบศักดินาในอดีตขึ้นกับการควบคุมที่ดิน ศักดินาเทคโนโลยีก็ขึ้นกับการควบคุมอสังหาริมทรัพย์ดิจิทัล
2) ชนชั้นศักดินาเดิมได้รับสิทธิพิเศษและข้อยกเว้นจากชนชั้นกษัตริย์ ในขณะที่กลุ่มศักดินาเทคโนโลยีก็แสวงหาสิทธิพิเศษและข้อยกเว้นด้วยการหลบเลี่ยงภาษีและหลีกเลี่ยงที่จะปฏิบัติตามข้อบังคับการเก็บข้อมูลไว้ในประเทศ (Data Localisation) เป็นต้น
3) ระบอบศักดินาในอดีตจะประกอบด้วยขุนนางเจ้าของที่ดินซึ่งแทบไม่ขึ้นตรงต่อใคร ซึ่งคล้ายคลึงกับศักดินาเทคโนโลยีที่มักจะไม่ยอมขึ้นตรงหรือปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของภาครัฐ
4) ขุนนางเจ้าของที่ดินในอดีตพยายามจะควบคุมไพร่เพื่อให้ประกอบอาชีพบนที่ดินของตนไปตลอดชีวิตซึ่งไม่ต่างจากบริษัทกลุ่ม Big Tech ในศักดินาเทคโนโลยีที่พยายามสร้างอิทธิพลควบคุมพฤติกรรมการซื้อสินค้าหรือความชอบต่าง ๆ ของผู้ใช้ผ่านอัลกอริธึม (Algorithm) ที่ทางบริษัทได้เขียนขึ้น
5) ในระบอบศักดินาในอดีต ไพร่ซึ่งเป็นผู้ลงแรงให้ขุนนางเจ้าของที่ดิน แทบจะไม่ได้ค่าตอบแทนใด ๆ เลย ซึ่งคล้ายคลึงกับศักดินาเทคโนโลยีที่เจ้าของแพลตฟอร์มเช่น Facebook หรือ Twitter ได้รับประโยชน์จากการเก็บข้อมูลผู้ใช้และคอนเทนต์ต่าง ๆ ที่ผู้ใช้โพสต์แบบฟรี ๆ
ซึ่งเจ้าของแพลตฟอร์มสามารถนำข้อมูลและคอนเทนต์ดังกล่าวไปขายโฆษณาได้ ในขณะที่ผู้ใช้แทบจะไม่ได้รับผลตอบแทนจากเจ้าของพื้นที่หรืออสังหาริมทรัพย์ดิจิทัลเหล่านี้เลย หรือถ้าเราจะเปรียบเทียบว่าผู้ใช้แพลตฟอร์มเหล่านี้เป็น “ไพร่ดิจิทัล” ก็คงไม่ผิดนัก
ผลกระทบจากระบอบศักดินาเทคโนโลยี
ในระบอบศักดินาสมัยยุคกลางนั้น “ไพร่” คือผู้ที่แบกรับความโหดร้ายของระบบ ไม่ว่าจะเป็นการสูญเสียอิสรภาพ การทำงานหนักที่แทบไม่ได้รับผลตอบแทน และสภาพความเป็นอยู่ที่ไม่สมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และในระบอบศักดินาเทคโนโลยี “ไพร่ดิจิทัล”
หรือผู้ใช้บริการบริษัท Big Tech ก็มักจะเป็นผู้รับผลกระทบจากระบอบนี้ แต่การแผ่ขยายของระบอบศักดินาเทคโนโลยียังส่งผลกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจในวงกว้างอีกด้วย โดยสามารถสรุปผลกระทบจากศักดินาเทคโนโลยีได้ ดังนี้
1) ทุนนิยมเฝ้าระวัง (Surveillance Capitalism)
ศาสตร์ผู้บริโภค (Consumer Science) เป็นแนวคิดที่กำเนิดขึ้นในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 โดยมีจุดประสงค์ในการศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภคเพื่อใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตรงใจกลุ่มลูกค้า ซึ่งเป็นโจทย์ที่บริษัทในกลุ่ม Big Tech โดยเฉพาะบริษัทโซเชียลมีเดีย (Social Media) สามารถตอบได้อย่างดี
เนื่องจากบริษัทดังกล่าวมีข้อมูลของผู้ใช้แพลตฟอร์มของตน ณ เวลาที่เกิดขึ้นจริง (Real Time) และเป็นหมวดหมู่ นอกจากนี้ ความก้าวหน้าด้าน Big Data และ Machine Learning ยังทำให้การประมวลข้อมูลของผู้ใช้ที่ยังไม่ได้ถูกจัดเป็นหมวดหมู่ กลายเป็นข้อมูลที่ใช้ในการทำนายพฤติกรรมของผู้ใช้ได้
ข้อมูลผู้ใช้และผู้บริโภคที่บริษัทกลุ่ม Big Tech มีอยู่อย่างมหาศาล ทำให้เกิดรูปแบบธุรกิจใหม่ที่เรียกกันว่า ทุนนิยมเฝ้าระวัง (Surveillance Capitalism) ซึ่งเป็นการเก็บข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้แพลตฟอร์มดิจิทัล ซึ่งรวมถึงประวัติการซื้อสินค้า รูปแบบพฤติกรรม และบริษัท Big Tech สามารถนำข้อมูลเหล่านี้ ซึ่งเป็นที่ต้องการสำหรับการโฆษณาและการควบคุมพฤติกรรมออนไลน์ (Online Manipulation) แบบพุ่งเป้า ไปขายต่อได้
อย่างไรก็ดี มูลค่าของทุนนิยมเฝ้าระวังอยู่ที่การทำนายพฤติกรรมของผู้บริโภคในอนาคต ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่มีสินทรัพย์อ้างอิง (Underlying Asset) รองรับ นอกจากนี้ การขายข้อมูลดังกล่าวยังมีประเด็นที่น่ากังวลว่าจะไปละเมิดความเป็นส่วนตัว (Privacy) ของผู้บริโภคหรือไม่
2) ความรับผิดรับชอบ (Accountability) และการบริหารปกครอง (Governance) ที่อ่อนแอลง
บริษัทในกลุ่ม Big Tech ที่เป็นแพลตฟอร์มดิจิทัลเป็นบริษัทที่เก็บข้อมูลของผู้ใช้ทั่วโลก แต่กลับเป็นองค์กรที่ไม่ต้องรับผิดรับชอบนัก ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่อาจส่งผลให้สังคมประชาธิปไตยอ่อนแอเนื่องจากบริษัทดังกล่าวไม่ได้รับการเลือกตั้งเช่นเดียวกับนักการเมือง แต่สามารถดำเนินการต่าง ๆ ที่มีแนวโน้มจะผิดกฎหมายได้โดยใช้ความเป็นบริษัทข้ามชาติเพื่อหลบเลี่ยงความผิด
นอกจากนี้ บริษัทในกลุ่ม Big Tech ยังมีแนวโน้มที่จะหลบเลี่ยงการปฏิบัติตามกฎหมายระดับชาติและภูมิภาค เช่นในกรณีของ Facebook ที่พยายามต่อสู้กับระเบียบการคุ้มครองข้อมูลทั่วไป (General Data Protection Regulation: GDPR) ของสหภาพยุโรป หรือความพยายามในการหลบเลี่ยงภาษีผ่านการใช้บริษัทนอกชายฝั่ง (Offshore) ของ Netflix เป็นต้น
ซึ่งในทางปฏิบัติแล้ว บริษัทที่อยู่ในระบอบศักดินาเทคโนโลยีเหล่านี้พยายามกระทำตัวเสมือนรัฐชาติ โดยการใช้เงินมหาศาลในการวิ่งเต้น ต่อต้านรัฐบาลของประเทศต่าง ๆ และกำหนดกฎเกณฑ์ด้านการค้าและต่างประเทศของตนเอง รวมถึงการเขียนกฎหมายและแนวปฏิบัติของตน ซึ่งมีตัวอย่างให้เห็นในกรณีของ Elon Musk เจ้าของ Twitter ซึ่งมีทัศนคติในเชิงลบต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐอเมริกามาโดยตลอด
3) การสูญเสียอธิปไตยส่วนตัว
Mark Timberlake ได้กล่าวไว้ว่า ระบอบทุนนิยมดั้งเดิมที่มีการเอารัดเอาเปรียบแรงงาน ก็ยังมีขีดจำกัด เนื่องจากนายทุนจะเอาเปรียบลูกจ้างได้เฉพาะในช่วงเวลางานเท่านั้น โดยลูกจ้างจะได้อธิปไตยส่วนตัวคืนมาในช่วงนอกเวลางาน แต่ในการ “แปลงโฉม” ทุนนิยมโดยแพลตฟอร์มเทคโนโลยีในระบอบศักดินาเทคโนโลยีนั้น แพลตฟอร์มเทคโนโลยีกำลังทำให้เส้นแบ่งระหว่างเวลางานกับเวลาส่วนตัวเลือนหายไป
เนื่องจากบริษัทเอกชนหลายแห่งรวมถึงหน่วยงานราชการบางแห่งเริ่มคาดหวังให้พนักงานต้องพร้อมทำงานตลอดเวลาแม้ในช่วงนอกเวลางาน โดยใช้แอปพลิเคชันเพื่อการสนทนาในการตามงาน ซึ่งนอกจากจะทำงานให้พนักงานเสียสุขภาพจิตแล้ว บริษัทเจ้าของแอปพลิเคชันยังได้ข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้เพิ่มเติมและสามารถนำไปสร้างรายได้ต่ออีกด้วย
และการยอมจำนนต่อการคุกคามชีวิตส่วนตัวโดยเทคโนโลยีส่งผลให้อธิปไตยส่วนตัวของคนทำงานถูกลิดรอน ไม่ต่างกับการทำให้ตนเองเป็นทาส (Self-enslavement)
ซึ่งมีงานวิจัยที่องค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organisation: ILO) จัดทำร่วมกับ Eurofound ระบุว่าการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการทำงาน แม้จะทำให้การทำงานมีความยืดหยุ่นมากขึ้นและทำให้สมดุลระหว่างการทำงานกับการใช้ชีวิต (Work-Life Balance) ดีขึ้น แต่ก็มีผลให้เส้นแบ่งระหว่างชีวิตทำงานกับชีวิตส่วนตัวไม่ชัดเจนยิ่งขึ้นเช่นกัน
นอกจากนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลและเจ้าของแพลตฟอร์มยังเป็นไปอย่างไม่เท่าเทียม กล่าวคือ ผู้ใช้ข้อมูลต้องยินยอมเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวของตนเองอย่างโปร่งใสเพื่อให้ได้รับสิทธิในการใช้แพลตฟอร์ม แต่ในฝั่งของเจ้าของแพลตฟอร์มไม่จำเป็นต้องเปิดเผยอัลกอริธึมในการเก็บข้อมูล หรือเปิดเผยว่าข้อมูลดังกล่าวจะถูกนำไปแบ่งปันกับหน่วยงานบุคคลที่สามหน่วยงานใดบ้าง
4) การลดทอนความเป็นมนุษย์
ความเป็นเจ้าของข้อมูลของผู้ใช้โดยบริษัทในระบอบศักดินาเทคโนโลยี การถูกรุกล้ำความเป็นส่วนตัวโดยบริษัทดังกล่าว และการนำข้อมูลของผู้ใช้ไปขาย เปรียบเสมือนว่ามนุษย์เป็นเพียงสิ่งของที่เจ้าของแพลตฟอร์มสามารถรุกราน ดัดแปลง เอาเปรียบ และนำไปขายได้ ถือเป็นการลดทอนความเป็นมนุษย์ของผู้ใช้แพลตฟอร์มโดยนัย
นอกจากนี้ เจ้าของบริษัท Big Tech ไม่น้อยยังมีแนวโน้มที่จะใช้แรงงานลูกจ้างโดยไม่คำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เช่นการติดตั้งกล้องวงจรปิดในรถขนส่งพัสดุของ Amazon เพื่อสอดส่องพฤติกรรมของคนขับรถส่งของ การกำหนดช่วงเวลาในการส่งของที่บีบคั้นจนพนักงานขับรถส่งของ Amazon บางรายต้องปัสสาะลงขวดน้ำเพื่อรักษาเวลา
และความพยายามของ Jeff Bezos เจ้าของ Amazon ในการขัดขวางการตั้งสหภาพแรงงาน Amazon โดยใช้งบประมาณกว่า 4.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐในการจ้างบริษัทที่ปรึกษาเพื่อต่อต้านการจัดตั้งสหภาพแรงงานดังกล่าว
5) ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ
ถึงแม้ระบบทุนนิยมแบบเสรีนิยมใหม่จะมีแนวโน้มให้เกิดความเหลื่อมล้ำอยู่แล้ว เนื่องจากภาครัฐไม่มีบทบาทมากนักในการแทรกแซงเศรษฐกิจเพื่อสร้างความเท่าเทียม แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่าบริษัทต่าง ๆ ในระบอบศักดินาเทคโนโลยี ก็มีส่วนก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำในระบบเศรษฐกิจเช่นกัน
เพราะเนื่องจากบริษัทเหล่านี้จะมีอำนาจผูกขาดในธุรกิจของตนเองแล้ว บริษัทดังกล่าวยังมีแนวโน้มที่จะหลีกเลี่ยงภาษีโดยใช้วิธีต่าง ๆ เพื่อลดประสิทธิภาพของระบบภาษีที่โดยปกติเป็นแนวทางในการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม เช่น Netflix ซึ่งมีรายได้ก่อนเสียภาษีระหว่างปี 2560 – 2564 ถึง 10,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่กลับเสียภาษีเงินได้รวมกันเพียง 81 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นอัตราภาษีที่แท้จริงเพียงร้อยละ 0.8
นอกจากนี้ บริษัทในระบอบศักดินาเทคโนโลยี ยังใช้ขนาดที่ใหญ่และการผูกขาดตลาดของตนในการต่อรองกับภาครัฐให้ไม่ต้องเสียภาษี เช่นในกรณีของ Amazon ที่ขู่ว่าจะย้ายฐานการผลิตของตนจากเมืองซีแอทเทิลในปี 2561 เพื่อต่อต้านนโยบายการเก็บภาษีของสภาเมืองซีแอทเทิลที่จะนำไปใช้ในการสร้างที่อยู่อาศัยให้แก่ผู้ไร้บ้าน เป็นต้น
เราจะรับมือกับศักดินาเทคโนโลยีได้อย่างไร?
ถึงแม้ระบอบศักดินาเทคโนโลยีจะมีผลกระทบเชิงลบไม่น้อย แต่ผู้เขียนมองว่ายังไม่สายเกินไปที่ภาครัฐและประชาชนจะได้ตระหนักถึงผลกระทบดังกล่าว และร่วมกันรับมือกับระบอบศักดินาเทคโนโลยี โดยผู้เขียนมองว่ามีแนวทางในการรับมือกับระบอบศักดินาเทคโนโลยี ดังนี้
1) ปฏิรูประบบภาษี
โดยปกติแล้ว ข้อแนะนำจากสถาบันการเงินระหว่างประเทศมักมุ่งเน้นให้รัฐบาลลดภาษี เพื่อสร้างแรงจูงใจและเพิ่มความสะดวกในการทำธุรกิจ แต่คำแนะนำดังกล่าวส่งผลให้รัฐบาลขาดรายได้ในการพัฒนาเศรษฐกิจและลดความเหลื่อมล้ำ
ดังนั้น รัฐบาลอาจต้องปรับวิธีคิดและเริ่มเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตราที่เหมาะสม นอกจากนี้ รัฐบาลอาจพิจารณาเก็บภาษีประเภทใหม่ เช่น ภาษีความมั่งคั่ง และอาจพิจารณานำรายได้จากภาษีดังกล่าวในการพัฒนาสวัสดิการให้แก่คนในชาติ
นอกจากนี้ ควรมีความร่วมมือในระดับนานาชาติเพื่อป้องกันการหลีกเลี่ยงภาษีของบริษัทข้ามชาติ โดยเฉพาะบริษัท Big Tech ในระบอบศักดินาเทคโนโลยี ซึ่งเป็นที่น่ายินดีว่าได้มีความพยายามในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ในเวทีโลกผ่านองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Organisation for Economic Co-operation and Development: OECD)
เช่น การกำหนดอัตราภาษีนิติบุคคลขั้นต่ำทั่วโลก (Global Minimum Tax) และการจัดตั้งภาคีกรอบความร่วมมือเพื่อป้องกันการถูกกัดกร่อนฐานภาษีและการโอนกำไรไปยังประเทศที่มีอัตราภาษีต่ำ (Inclusive Framework on Base Erosion and Profit Shifting) ซึ่งประเทศไทยเป็นสมาชิกในภาคีดังกล่าวด้วย
2) บังคับใช้กฎหมายต่อต้านการผูกขาดอย่างจริงจัง
หนึ่งในสาเหตุการถือกำเนิดของระบอบศักดินาเทคโนโลยีคือการกำกับที่หละหลวมของภาครัฐ ซึ่งส่งผลให้บริษัทกลุ่ม Big Tech ขยายขนาดจนมีอำนาจผูกขาดเหนือตลาดได้ แตกต่างจากความพยายามในช่วงปลายทศวรรษ 1990 ที่กระทรวงยุติธรรมของสหรัฐอเมริกาได้มีการดำเนินคดีกับบริษัท Microsoft อย่างจริงจังในกรณีละเมิดกฎหมายป้องกันการผูกขาด (Antitrust Law)
ดังนั้น หากเจ้าหน้าที่รัฐในประเทศมหาอำนาจ เช่น สหรัฐอเมริกาและประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป กลับมาเอาจริงเอาจังกับการบังคับใช้กฎหมาย Antitrust อีกครั้ง ก็มีโอกาสที่ภาครัฐจะกลับมามีอธิปไตยเหนือบริษัท Big Tech ดังกล่าว และสร้างความรับผิดรับชอบให้บริษัทเหล่านี้ได้
3) ส่งเสริมการจัดตั้งสหภาพแรงงาน
การเอารัดเอาเปรียบแรงงานจากบริษัท Big Tech รวมถึงการสูญเสียอธิปไตยส่วนตัวของลูกจ้างผ่านการคุกคามชีวิตส่วนตัวโดยเทคโนโลยีดิจิทัล มักจะเกิดขึ้นในประเทศที่มีกฎหมายคุ้มครองแรงงานที่อ่อนแอ เช่น สหรัฐอเมริกา หรือประเทศไทย เป็นต้น
ซึ่งตรงข้ามกับในสหภาพยุโรปที่มีการคุ้มครองสิทธิแรงงานที่ดีกว่า ดังนั้น วิธีหนึ่งที่ลูกจ้างหรือคนทำงานสามารถลุกขึ้นต่อสู้กับการจ้างงานและสภาพการทำงานที่ไม่เป็นธรรม คือการจัดตั้งสหภาพแรงงาน ซึ่งปัจจุบันเป็นวิธีที่ลูกจ้างเลือกใช้ในการต่อสู้กับ Big Tech เช่นพนักงานของ Amazon ซึ่งสามารถจัดตั้งสหภาพแรงงานได้สำเร็จแม้จะเผชิญแรงต้านมหาศาลจาก Jeff Bezos
นอกจากนี้ อีกหนึ่งความพยายามในการคุ้มครองสิทธิและอธิปไตยส่วนตัว โดยเฉพาะในช่วงที่มีการทำงานจากที่บ้าน (Work from Home) อย่างแพร่หลาย คือสิทธิในการปฏิเสธการคุยงานนอกเวลางาน (Right to Disconnect) ซึ่งเป็นแนวคิดที่ได้รับการยอมรับอย่างมากในยุโรป
โดยหลายประเทศในยุโรปเช่น ฝรั่งเศส อิตาลี สาธารณรัฐไอร์แลนด์ เบลเยียม โปรตุเกส เป็นต้น ได้มีการตรากฎหมายเพื่อสนับสนุน Rights to Disconnect เช่น กฎหมายแรงงานของโปรตุเกสที่ระบุไว้ว่า “นายจ้างมีหน้าที่ในการงดเว้นการติดต่อกับลูกจ้างในช่วงพักผ่อน เว้นแต่จะมีเหตุสุดวิสัย” และนายจ้างที่ละเมิดกฎหมายดังกล่าวมีสิทธิ์จะโดนโทษปรับ เนื่องจากการติดต่องานนอกเวลางานถือเป็นการละเมิดความเป็นส่วนตัวของลูกจ้าง
ทั้งนี้ ผู้เขียนมองว่าเทคโนโลยีดิจิทัลจะยังคงอยู่คู่โลกต่อไป และจะยังคงเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก แต่การเข้าใจถึงระบอบศักดินาเทคโนโลยี จะช่วยให้ผู้อ่านตระหนักถึงผลกระทบของระบอบดังกล่าวต่อสภาพเศรษฐกิจและสังคม และสามารถอยู่ร่วมและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลโดยไม่ตกเป็นทาสของเทคโนโลยีหรือบริษัท Big Tech (ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม) ครับ
อ้างอิง
โฆษณา