1 ก.ค. 2022 เวลา 00:44 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
ความซับซ้อนของแรงจูงใจ
Photo by Andreas Dress on Unsplash
เมื่อผ่านปีใหม่ก็จะมีคนจำนวนมากอธิษฐานหรือตั้งใจว่า ปีที่มาถึงนี้จะทำอะไรบ้าง มีเป้าหมายบางอย่างที่คิดว่าสำคัญ แต่แค่เข้าถึงกุมภาพันธ์เท่านั้น คนจำนวนมากเลยก็เริ่มจะเห็นแววว่า น่าจะยากประสบผลสำเร็จได้
แรงจูงใจ (incentive) ให้ทำสิ่งใดจนสำเร็จ ดูจะเป็นสิ่งจำเป็นอย่างขาดเสียมิได้ แต่การสร้างแรงจูงใจให้กับตัวเองและคนอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้คงอยู่อย่างยาวนานไม่ใช่เรื่องง่ายเลย
แต่โดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว เราก็อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีการสร้างแรงจูงใจต่างๆ นานาอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว จนบางทีเราถึงกับรู้สึกว่ามันเป็น “เรื่องธรรมชาติมาก” ที่ต้องเป็นเช่นนั้น ทั้งๆ ที่ไม่จำเป็นต้องเป็นเช่นนั้นเลย
เช่น การมีตารางการทำงานตั้งแต่ 8 หรือ 9 โมงเช้าถึง 5 โมงเย็น สัปดาห์ละ 5 หรือ 6 วัน
แต่หากนอกเหนือจากนี้ ต้องมีค่าล่วงเวลา ซึ่งมักจะมีอัตราค่าแรงที่ดีกว่า และนี่ก็คือแรงจูงใจรูปแบบหนึ่งนั่นเอง
แรงจูงใจมีหลากหลายรูปแบบมาก แต่แบ่งกว้างๆ ได้แค่ 2 แบบคือ แรงจูงใจทางบวกกับแรงจูงใจทางลบ
อันแรกคือรางวัลต่างๆ ทั้งจับต้องได้และที่เป็นนามธรรม (ดังจะเล่าต่อไป) ขณะที่อันหลังคือการลงโทษรูปแบบต่างๆ นั่นเอง
งานวิจัยทั้งหลายทั้งปวงเกี่ยวกับแรงจูงใจสนับสนุนไปในทางเดียวกันว่า การให้รางวัลดีกว่าการลงโทษเยอะครับ โดยเฉพาะในคนนี่แหละครับ (แรงจูงใจใช้กับสัตว์ได้เช่นกัน)
แต่กระนั้นไม่มีการลงโทษเลยก็ไม่ได้ ไม่งั้นรักษาสังคมให้สงบสุขได้ยาก ไม่งั้นก็จะมีคนมาทำงานสายซ้ำซาก จอดรถในที่ห้ามจอดหรือในช่องคนพิการทั้งที่ไม่ได้พิการ ทำผิดกฎจราจรแบบรู้ทั้งรู้แต่ก็ทำ ฯลฯ
มีเหตุผลอะไรที่การลงโทษไม่ใช่วิธีการที่ดีนักในการสร้างแรงจูงใจ?
นักจิตวิทยาอธิบายเหตุผลเบื้องหลังไว้หลายข้อนะครับ
ข้อแรกสุดเลยคือ “อำนาจ” ของการควบคุมนิสัยจะหายไปทันทีที่เลิกหรืองดการลงโทษนั้นไป เช่น พนักงานออฟฟิศที่แอบเจ้านายเข้าโซเชียลมีเดียหรือแชตกับเพื่อน ถ้าเจ้านายอยู่ใกล้ๆ ก็จะปิดวินโดนว์นั้นบนจออย่างรวดเร็ว
แต่เมื่อใดที่เจ้านายถอยห่างไป ก็จะกลับมาทำต่อในทันที
รถที่วิ่งเร็วเกินกฎหมายกำหนด หากวิ่งผ่านช่วงที่ตั้งกล้องตรวจับความเร็วก็จะกลับเร่งเครื่องจนเร็วเกินกฎหมายกำหนดอีกครั้งในทันที
Photo by Chris Liverani on Unsplash
เหตุผลที่สองคือ การลงโทษมันไปกระตุ้นกลไกเก่าแก่ของร่างกายคือ การตอบสนองแบบ “ลุยหรือหลบ” และการทำเช่นนี้ทำให้เราก้าวร้าวมากขึ้น ทุกครั้งที่โดนลงโทษ เราจะมองหาวิธีหนีไปให้พ้นไม่ต้องโดนลงโทษ
แต่หากทำไม่สำเร็จ ก็จะจบลงที่เราเพิ่มความก้าวร้าวมากขึ้น
เรื่องนี้ทำให้นักจิตวิทยาบางคนเชื่อว่า น่าจะเป็นเหตุผลที่ทำให้พ่อหรือแม่ที่เคยเป็นผู้ถูกกระทำมาก่อน (โดนทำร้ายทุบตีหรือล่วงละเมิด) กลายมาเป็นผู้กระทำเสียเองในเวลาต่อมา
ผมเคยเจอเพื่อนบางคนที่ต่อต้านระบบรับน้อง แต่พอขึ้นปี 2 กลับเป็นหัวโจกจัดรับน้องเสียเองก็มี!
เหตุผลถัดมาก็คือ การลงโทษมันไปยับยั้งกระบวนการเรียนรู้ใหม่ๆ ที่ทำให้เกิดการตอบสนองที่ดีขึ้นครับ การตอบสนองจากการลงโทษมีหลายรูปแบบ ตั้งแต่การหาทางหลบหนี เกิดความก้าวร้าว ไปจนถึงเกิดความสิ้นหวังท้อแท้ ฯลฯ
แต่ทั้งหลายทั้งปวงนั้นไม่มีแม้แต่แบบเดียวที่ช่วยเรื่องกระบวนการเรียนรู้ การลงโทษไม่ได้แสดงให้เห็นว่า ควรทำอะไร แต่กลับไปมุ่งเน้นเรื่องว่า “ไม่ควรทำอะไร”
ดังนั้น หากอยากให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ในที่ทำงานหรือโรงเรียน ต้องพยายามทำให้เรื่องการยกโทษ หากพนักงานทำล้มเหลวเป็นเรื่องปกติในองค์กร
ข้อสุดท้ายซึ่งสำคัญไม่แพ้ข้ออื่นก็คือ บ่อยครั้งทีเดียวที่การลงโทษมักเกิดขึ้นอย่างไม่เท่าเทียม จึงไปกระตุ้นให้เกิดการแบ่งแยกและความแตกแยกมากขึ้น
จากสถิติแล้วเด็กผู้ชายโดนดุมากกว่าเด็กผู้หญิง ส่วนคนผิวสีและคนส่วนน้อยก็โดนทำโทษบ่อยกว่าคนผิวขาวอย่างเห็นได้ชัด
Photo by Naassom Azevedo on Unsplash
ถ้าการลงโทษมีผลเสียเยอะแบบนี้ แล้วการให้รางวัลดีกว่าแค่ไหนกัน?
ดีกว่าแน่นอนครับ หากเคยดูการแสดงที่ใช้สัตว์ อย่าง แมวน้ำ โลมา หรือเพนกวิน จะเห็นว่าทุกครั้งที่ให้พวกมันทำอะไรสักอย่าง จะจบที่ผู้ฝึกหยิบปลาในกระเป๋าคาดเอวเสิร์ฟให้ถึงปากพวกมัน
การศึกษาการตอบสนองของสัตว์ในห้องทดลองอย่างจริงจัง ย้อนกลับไปได้ถึงปลายทศวรรษ 1950 โดยหนึ่งในผู้บุกเบิกสำคัญคือ เบอร์รัส เฟรเดริก สกินเนอร์ (Burrhus Frederic Skinner) ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาด เขาทำวิจัยเรื่องทำนองนี้ต่อเนื่องมาจนถึงกลางทศวรรษ 1970
การศึกษาที่เขาทำเป็นแบบการสร้างแรงจูงใจประเภทมีเงื่อนไขกำกับ ผ่านอุปกรณ์ที่ตั้งชื่อตามเขาในภายหลังว่า “กล่องสกินเนอร์ (Skinner box)” โดยหนูที่โดนจับใส่กล่องจะต้องทำภารกิจบางอย่าง เช่น การกดคันเหยียบเพื่อที่จะได้รางวัลคือ อาหาร ระบบแบบนี้มีประสิทธิภาพมากในการศึกษาพฤติกรรมแบบมีเงื่อนไข จนทำให้มีผู้ทดลองทำนองเดียวกันนับพันการทดลองในเวลาต่อมา
ข้อสรุปที่ได้จากการทดลองเหล่านั้นก็คือ การเสริมแรง (reinforcement) หรือการให้รางวัลที่ไปทำให้หนูอยากทำพฤติกรรมต่างๆ มากขึ้นไปอีกนั้น เรื่องของจังหวะเวลาและความสม่ำเสมอของการให้รางวัลมีผลต่อการสร้างพฤติกรรมใหม่ๆ ของหนูเป็นอย่างมาก
Photo by Frances Goldberg on Unsplash
เรื่องการเสริมแรงนี่ก็น่าสนใจครับ แรกๆ ก็เชื่อกันว่าการเสริมแรงแบบต่อเนื่อง คล้ายกับให้ปลาเพนกวินทุกครั้งที่ทำตามที่สอน น่าจะใช้การได้ดีกับมนุษย์เช่นกัน
แต่กลับไม่ใช่
ในกรณีของสัตว์นั้น คุณต้องทำอย่างสม่ำเสมอมากๆ เพื่อให้มันจดจำการแสดงพฤติกรรมนั้นได้ เช่น ให้สุนัขยกมือ (หรือขาหน้า) ข้างหนึ่งแล้วคุณให้รางวัลทันที คุณต้องทำสม่ำเสมอมาก มันจึงจะจดจำว่า “ต้องทำถึงจะได้รางวัล”
หากให้บ้างไม่ให้บ้าง มันก็อาจจะงง และการสอนก็อาจจะล้มเหลว
แต่เมื่อมันจดจำได้แม่นยำแล้ว คราวนี้ก็ไม่จำเป็นต้องให้รางวัล แค่บอกให้ทำก็จะทำแล้ว
แต่กับมนุษย์กลับแตกต่างออกไป เพราะพบว่า “การเสริมแรงเป็นช่วงๆ” ไม่ต่อเนื่องกัน คือให้บ้างไม่ให้บ้างสลับกัน ทำนายได้ยาก กลับเสริมแรงได้ดีกว่า
อันที่จริงนักจิตวิทยาปัจจุบันเชื่อกันว่า วิธีนี้น่าจะดีที่สุดสำหรับการควบคุมให้ทำกิจกรรมที่ต้องการไปอย่างต่อเนื่องยาวนาน
เค้าอธิบายปัจจัยเบื้องหลังไว้ว่ามี 3 เหตุผลครับ
เหตุผลแรกคือ การให้รางวัลสำหรับกรณีของคนนั้น ไม่อาจทำได้ในทันทีที่ทำพฤติกรรมตามที่ต้องการให้ทำอย่างต่อเนื่อง
การให้รางวัลทุกครั้งเป็นเรื่องที่ทำจริงไม่ได้ เช่น จะไม่รู้ว่าพนักงานคนใดในสายพานการผลิตที่ทำยอดถึงเป้าจนกว่าจะมีการสรุปข้อมูล ซึ่งแน่นอนว่าต้องเกิดขึ้นหลังจากนั้นสักพัก หรือแม้แต่รู้ทันทีตามระบบตรวจวัด
แต่การหยุดสายพานการผลิตเพื่อมาให้รางวัลก็ดูออกจะเลยเถิด เกินความจำเป็นมากเกินไปหน่อย
เหตุผลต่อมาคือ การเสริมแรงเป็นช่วงๆ หากมองด้วยเหตุผลทางด้านเศรษฐศาสตร์ก็ดีกว่าด้วย
การให้รางวัลทุกครั้งที่มีคนทำพฤติกรรมที่ต้องการจะสิ้นเปลืองมา แต่หากเปลี่ยนการให้รางวัลเป็นแบบทำนายได้ยากหรือไม่ได้เลย กลับกระตุ้นให้เกิดความตื่นเต้นและทำพฤติกรรมตอบสนองมากขึ้น
โดยที่ไม่ต้องเพิ่มรางวัลมากขึ้นตามไปด้วย
วิธีการแบบนี้นำมาใช้ประยุกต์ใช้อย่างกว้างขวางในบ่อนคาสิโน อุปกรณ์ที่ตั้งค่าการออกรางวัลได้ เช่น สล็อตแมชีน จะโดนตั้งค่าให้มีคนถูกรางวัลใหญ่เป็นระยะๆ อย่างไม่แน่นอน ซึ่งกระตุ้นความอยากเอาชนะ ความโลภ และความคาดหวังในใจได้เป็นอย่างดี
เหตุผลสุดท้ายที่สำคัญมากก็คือ การสร้างแรงจูงใจแบบเสริมแรงเป็นช่วงๆ ช่วยยืดเวลาแห่งการหมดแรงจูงใจออกไปได้เรื่อยๆ อย่างไม่สิ้นสุดง่ายๆ เรื่องนี้ก็ใช้กับคาสิโนอีกเช่นกัน
ลองจินตนาการถึงสล็อตแมชีน 2 เครื่อง เครื่องแรกออกรางวัลอย่างสม่ำเสมอ ขณะที่เครื่องที่สอง ออกรางวัลเป็นระยะๆ แต่ไม่สม่ำเสมอ หากปุบปับทั้ง 2 เครื่องไม่ออกรางวัลใหญ่เลย คุณคิดว่านักพนันจะเลือกเล่มเครื่องไหนมากกว่า?
การหยุดออกรางวัลใหญ่จะเห็นได้ชัดเจนอย่างรวดเร็วในกรณีแรก (เพราะมันออกรางวัลเป็นระยะๆ เท่าๆ กันมาตลอดเวลา) ขณะที่เครื่องสองนั้น นักพนันจะได้รางวัลใหญ่แค่นานๆ ครั้ง จึงยังคงเล่นต่อไปโดยไม่รู้ว่าเครื่องมันหยุดออกรางวัลใหญ่มาสักระยะเวลาหนึ่งแล้ว
ดังนั้น หลังจากอ่านบทความนี้แล้ว คุณสามารถสังเกตสังกาแรงจูงใจรอบๆ ตัวได้ชัดเจนยิ่งขึ้น รวมไปถึงอาจถึงขั้นออกแบบแรงจูงใจให้ตัวเองกับคนรอบข้างได้ด้วย
หากต้องการให้คนเหล่านั้นทำอะไรบางอย่างให้กับคุณ
แต่ทั้งหมดนี้ก็ควรเป็นไปเพื่อประโยชน์ในทางสร้างสรรค์สำหรับทุกคนครับ
โฆษณา