29 มิ.ย. 2022 เวลา 07:00 • กีฬา
NBA Free Agency 2022
สวัสดีคุณผู้อ่านทุกท่านครับ
หลังจากที่การ Draft ได้เสร็จสิ้นลงไปแล้ว ก็จะเข้าสู่ช่วงเวลาการเสริมทีมที่สำคัญที่สุดในฤดูกาล นั่นคือ การที่ตลาด Free Agents จะเริ่มขึ้นในช่วงคืนวันที่ 30 มิถุนายนเป็นต้นไปตามเวลาท้องถิ่น
ตามกติกาของทางลีกในฤดูกาลนี้ ถึงแม้ตลาดจะเริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการ แต่ก็จะป้องกันไม่ให้ทีมไหนทำการเซ็นสัญญาได้ก่อนช่วงเย็นวันที่ 6 กรกฎาคม เป็นอันขาด (หากถูกจับได้ในภายหลังจะถูกเรียกว่าเป็นการ Tampering และจะถูกทางลีกลงโทษเหมือนกับที่ Bucks และ Heat โดนไปก่อนหน้านี้)
ซึ่งช่วงเวลาเกือบๆ 1 สัปดาห์นั้น จะเรียกกันว่า Moratorium ซึ่งจะเป็นช่วงเวลาที่ให้แต่ละทีมสามารถเจรจากับ Free Agents ที่ต้องการได้อย่างอิสระ แต่ไม่สามารถจับเซ็นสัญญาล่วงหน้าได้ ทำได้แค่พูดคุยตกลงแบบ "สัญญาใจ หรือสัญญาปากเปล่า" เท่านั้น
ที่ทางลีกต้องมีการทำแบบนี้ เนื่องจากเป็นข้อตกลงกับทางสหภาพผู้เล่นด้วย ที่ต้องการให้ Free Agents ที่ได้รับข้อเสนอนั้นมีเวลาในการพิจารณาถึงสัญญาที่จะได้รับให้ดีก่อน โดยเฉพาะพวกตัวดังๆ ที่หลายทีมน่าจะให้ความสนใจจนมีข้อเสนอจำนวนมาก เพราะสุดท้ายแล้วเจ้าตัวก็จะเลือกได้แค่ทีมเดียวเท่านั้น และอาจรวมไปถึงกรณีที่ผู้เล่นหมดสัญญากับต้นสังกัดเก่าด้วย ที่อาจลังเลอยู่ว่าจะเอาอย่างไรต่อดี
กรณีที่ชัดเจนที่สุดน่าจะหนีไม่พ้นเหตุการณ์ในปี 2015 ที่ DeAndre Jordan ที่ได้ตกลงสัญญาปากเปล่ากับ Mavericks เอาไว้แล้ว ทำให้ทาง Mavericks ตัดสินใจเคลียร์ Cap เพื่อรอเซ็นสัญญาเจ้าตัว แต่อีกไม่กี่วันถัดมา สังกัดเก่าอย่าง Clippers ต่างก็ส่งทั้งผู้เล่นและทีมโค้ชไปโน้มน้าวอย่างหนัก จนสุดท้ายเจ้าตัวก็ตัดสินใจอยู่ที่เดิมต่อ ทำให้เรื่องนี้ส่งผลกระทบต่อ Mavericks เป็นอย่างมาก
จากเหตุการณ์ข้างต้น ทางลีกจึงเห็นว่าการที่มีระยะเวลา Moratorium ที่นานเกินไป อาจจะทำให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นได้อีกและทำให้ทีมเสียหาย จากที่มีระยะเวลา Moratorium เกือบ 2 สัปดาห์ จึงทำการลดลงมาเหลือแค่ราวๆ 6-7 วันเท่านั้น ตามความเหมาะสมที่ได้จากการประชุมร่วมกันกับสหภาพผู้เล่น
DeAndre Jordan ในช่วงปี 2015
ทำให้ช่วงเวลาที่ตลาด Free Agents จะเปิดอย่างอิสระจริงๆ จะเกิดขึ้นตั้งแต่ในช่วงเย็นของวันที่ 6 กรกฎาคม เป็นต้นไป จนถึงราวๆ ต้นเดือนมีนาคม (Trade Deadline) นั่นเอง
สำหรับเพดานค่าเหนื่อยในฤดูกาลนี้จะอยู่ที่ 122 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และเส้นภาษี (Tax Line) จะอยู่ที่ 149 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เรียกได้ว่าเพิ่มมาจากฤดูกาลที่แล้วราวๆ 7-8% เลยทีเดียว (ฤดูกาล 2021-22 เพดานค่าเหนื่อย 112.4 ล้าน เส้นภาษีอยู่ที่ 136.6 ล้าน)
สำหรับที่หลายท่านอาจจะยังงงว่าเส้นภาษีและเพดานค่าเหนื่อยคืออะไร ต้องบอกก่อนว่า American Games ทุกชนิดนั้นใช้ระบบเพดานค่าเหนื่อยทั้งหมด แต่ระบบที่จะใช้นั้นจะแตกต่างกันไปในแต่ละชนิดกีฬา ตามที่ทางลีกเห็นสมควรแล้วว่าการใช้ระบบนี้จะทำให้เกิดความสนุกและยุติธรรมที่สุด
เช่น ลีกอเมริกันฟุตบอลหรือ NFL จะใช้ระบบ Hard-Capped คือ เพดานค่าเหนื่อยทุกทีมต้องห้ามเกินเส้นที่กำหนดไว้อย่างเด็ดขาด ในขณะที่ลีก NBA จะใช้ระบบ Soft-Capped คือ เกินได้ระดับหนึ่ง แต่ถ้าเกินก็จะเกิดเงื่อนไขบางอย่างในการเซ็นผู้เล่นเสริมทีม และจะต้องเสียภาษีเป็นเงินกินเปล่าให้กับทางลีกทุกปีถ้าทีมมีเพดานค่าเหนื่อยทะลุเส้นภาษีไปแล้ว และอัตราภาษีจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ถ้าเกินเพดานหลายปีติดต่อกันอีกด้วย
สำหรับรายละเอียดเกี่ยวกับเงื่อนไขการเซ็นสัญญาต่างๆ และสิ่งที่เกี่ยวข้องกับ Free Agents สามารถติดตามได้จากด้านล่างนี้ครับ (มีทั้งหมด 3 Part นะครับ)
หลังจากที่พอรู้เรื่องเพดานค่าเหนื่อยกันไปแล้ว มาดูกันดีกว่าว่า Top 5 ที่มีเพดานค่าเหนื่อยสูงที่สุดในตอนนี้มีทีมไหนบ้าง และปัญหาที่พวกเขาจะต้องเจอในฤดูกาลนี้กันครับ (อ้างอิงข้อมูล ณ วันที่ 28 มิถุนายน)
อันดับ 1 - Golden State Warriors
ผลงานฤดูกาล 2021-22 - แชมป์ลีก
เพดานค่าเหนื่อยฤดูกาล 2022-23 - 171.07 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
แชมป์ลีกฤดูกาลล่าสุดอย่าง Warriors เรียกได้ว่าผลงานสมน้ำสมเนื้อกับภาษีฟุ่มเฟือยที่จ่ายไป แต่ปัญหาเพดานค่าเหนื่อยในระยะยาวก็ยังคงต้องแก้ไขกันต่อ ถึงแม้ว่าเจ้าของทีมจะตัดสินใจยอมจ่ายภาษีฟุ่มเฟือยอย่างต่อเนื่องก็ตาม
171 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ที่เห็นกันอยู่นี้ เป็นค่าเหนื่อยของผู้เล่นแค่ 8 คนเท่านั้น จึงต้องดูว่าทีมจะบริหารจัดการอย่างไร ยังดีที่ผู้เล่นแกนหลักที่มีสัญญาระยะยาว เหลือแค่ Stephen Curry เท่านั้น (Klay Thompson เหลืออีก 2 ปี เช่นเดียวกับ Draymond Green เพียงแต่ Green ถือ Player Option ไว้อยู่)
Stephen Curry
ทีมต้องคิดว่าจะเอายังไงกับ Andrew Wiggins ที่เหลือสัญญาปีสุดท้าย (ค่าเหนื่อย 33 ล้าน) และ Jordan Poole (ค่าเหนื่อย 3.9 ล้าน) โดยมีข่าวว่ารายหลังทีมพร้อมจะต่อสัญญาระยะยาวเป็นที่แน่นอนแล้ว ยังไม่รวมรายอื่นที่มีบทบาทสำคัญเช่นกัน อย่างเช่น Gary Payton II หรือ Andre Iguodala
ถ้า Warriors ต้องการจะเก็บผู้เล่นหลักชุดนี้ให้ได้ทั้งหมด หลายฝ่ายคาดกันว่าทีมอาจต้องเสียเงินไปถึง 500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (รวมค่าภาษีฟุ่มเฟือย) เลยทีเดียว เพราะทีมนั้นจ่ายค่าภาษีฟุ่มเฟือยมาหลายปีติดต่อกันแล้ว และดูท่าว่าภาษีที่เสียไปนั้นสามารถเอาไปสร้างได้อีก 1-2 ทีมกันเลยทีเดียว
อันดับ 2 - Los Angeles Clippers
ผลงานฤดูกาล 2021-22 - ตกรอบ Play-in
เพดานค่าเหนื่อยฤดูกาล 2022-23 - 167.96 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
Clippers เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในทีมที่ดวงไม่ดีมากที่สุดในฤดูกาลที่แล้ว จากการที่เสียแกนหลักไปทั้งสองคนจากอาการบาดเจ็บ ไม่ว่าจะเป็น Kawhi Leonard ที่หายไปทั้งฤดูกาล หรือ Paul George ที่ถึงจะกลับมาได้ในช่วงหลัง แต่เขาเพียงคนเดียวก็ไม่สามารถพาทีมเข้าไปสู่รอบ Playoffs ได้
ปัญหาหลักของทีมคือ ลำพังแค่สองคนนี้ค่าเหนื่อยก็รวมกันอยู่ที่ประมาณ 85 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แล้ว แถมมีผู้เล่นที่มีบทบาทในฤดูกาลล่าสุดอีก 4 คน ที่เหลือระยะเวลาสัญญาไม่เกิน 2 ปีกันทั้งนั้น (Robert Covington เพิ่งจะขยายสัญญาต่อออกไปอีกหนึ่งปี)
ในตอนนี้ทีมมีข่าวว่าจะหาผู้เล่นอีกหนึ่งคนมาทำเป็นกึ่งๆ Superteam โดยเล็งไปที่ John Wall อดีตผู้เล่นระดับ All-Star หลายสมัย ที่เพิ่งจะตกลง Buyout สัญญาออกมาจากทีม Rockets เพื่อหาโอกาสลงเล่นในฤดูกาลนี้ หลังจากที่ Rockets ประกาศชัดเจนว่าตัวเขาไม่ได้อยู่ในแผนการทำทีมระยะยาวอีกต่อไป
John Wall
แต่คำถามก็คือว่า แกนหลักชุดนี้มีแต่ผู้เล่นที่มีปัญหาด้านอาการบาดเจ็บกันทั้งนั้น พวกเขาจะสามารถยืนระยะตลอดฤดูกาลได้หรือไม่ ถ้าทำได้ ทีมจะกลับไปเป็นหนึ่งในตัวเต็งลุ้นแชมป์ได้เหมือนเดิมอย่างแน่นอน แต่ถ้าไม่ได้ ผลงานของทีมในฤดูกาลที่แล้วก็อาจกลับมาซ้ำรอยอีกหนก็เป็นได้
อันดับ 3 - Philadelphia 76ers
ผลงานฤดูกาล 2021-22 - ตกรอบ Playoffs รอบสอง
เพดานค่าเหนื่อยฤดูกาล 2022-23 - 160.19 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
Sixers กลายเป็นอีกทีมที่มรสุมปัญหารุมเร้าค่อนข้างเยอะในฤดูกาลที่แล้ว ทั้งในเรื่องของ Ben Simmons ที่ถึงจะจบลงด้วยการไปแลกกับ James Harden เข้าทีมมาแทนที่ แต่ฟอร์มของ Harden กลับไม่เป็นไปตามที่หวังไว้เช่นกัน หลังจากที่ใน Playoffs เจ้าตัวโชว์ฟอร์มสมราคาแค่ไม่กี่นัดเท่านั้น
อย่างไรก็ดี Harden ตอนนี้ยังถือ Player Option อยู่ และเจ้าตัวก็มีโอกาสที่จะเลือก Opt in สูง เพราะมีค่าเหนื่อยสูงถึง 47 ล้านเหรียญสหรัฐฯ รออยู่ ตัวเขาไม่น่าพลาดที่จะยอมปล่อยเงินก้อนโต แต่ถ้าเลือกไปแล้วจะทำการ Buyout เหมือนกับกรณีของ Wall ก็อีกเรื่องหนึ่ง
James Harden
ทีมต้องเลือกคนที่จะมาช่วยเหลือมือหนึ่งอย่าง Joel Embiid เพิ่มเติมให้ได้ ลำพังแค่ Tobias Harris ยังไงก็ไม่เพียงพอ ทีมต้องพยายามมองหา Role Player ดีๆ อีกสัก 1-2 คน ในขณะที่ต้องบริหารเพดานค่าเหนื่อยไปด้วย เรียกได้ว่าไม่ใช่งานง่ายเลยสำหรับทีมบริหารของ Sixers ที่จะจัดการปัญหาคาราคาซังไปให้จบสิ้นเสียที
โดยเฉพาะ Harden ที่ทีมน่าจะมองแล้วว่าอาจจะไม่คุ้มค่าเหนื่อย แต่ก็อาจจะลองดูอีกสักปีก็ได้ เผื่อการที่ได้ร่วมทีมเต็มฤดูกาลแล้วผลงานอาจจะกลับมาเป็นเหมือนสมัยอยู่ Rockets ที่ฟอร์มพีคสุดขีดก็เป็นได้ ตรงนี้จึงเป็นสิ่งที่ทีมต้องตัดสินใจว่าจะทำอย่างไรต่อไปในฤดูกาลนี้
อันดับ 4 - Brooklyn Nets
ผลงานฤดูกาล 2021-22 - ตกรอบ Playoffs รอบแรก
เพดานค่าเหนื่อยฤดูกาล 2022-23 - 157.99 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
ถือเป็นอีกทีมที่มีผลงานน่าผิดหวังประจำฤดูกาลที่แล้ว เมื่อดูจากชื่อชั้นของผู้เล่นที่ทีมมีอยู่ แถมยังเต็มไปด้วยปัญหาที่ต้องตามแก้อีกหลายประการในตอนนี้ หลังจากที่ในขณะนี้ทีมมีผู้เล่นที่มีสัญญาแล้วเพียงแค่ 9 คนเท่านั้น หลังจากที่ Kyrie Irving ประกาศใช้ Opt In ไปเมื่อไม่นานมานี้ในการรับค่าเหนื่อยทั้งสิ้น 37 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
ปัญหาหลักของทีมคือ ผู้เล่นแกนหลักทั้ง 3 คน ต่างก็มีปัญหาส่วนตัวกันทั้งนั้น เริ่มจาก Kevin Durant ที่จะห่วงเพื่อนซี้อย่าง Irving แบบออกนอกหน้า และอาจถึงขั้นพิจารณาย้ายทีมในฤดูกาลนี้เลยก็เป็นได้ ส่วน Irving เองก็มีปัญหาส่วนตัวที่ค่อนข้างมาก ประกอบกับอาการบาดเจ็บที่รุมเร้าอยู่เรื่อยๆ เช่นเดียวกันกับ Simmons ที่จนถึงป่านนี้เจ้าตัวก็ยังไมไ่ด้ลงเล่นเลยแม้แต่นัดเดียวนับตั้งแต่ฤดูกาล 2021-22 ได้เริ่มขึ้น
Kyrie Irving
ทีมคงต้องรีบตัดสินใจโดยเร็วว่าจะเอายังไงกับทั้ง 3 คนนี้ดี ถ้าทุกคนถูกปล่อยออกจากทีม ปัญหาเพดานค่าเหนื่อยก็อาจจะลดลงไปพอสมควร (Irving สามารถ Buyout ได้เลย แต่อีกสองคนต้องรอทีมอื่นมาขอ Trade) ยังไม่รวมผู้เล่นระดับ Role Player ที่มีสัญญาปีสุดท้ายอีกหลายคนด้วย ที่ต้องจัดการว่าจะเอายังไงต่อไป
เราอาจไม่ได้เห็นทั้ง LaMarcus Aldridge และ Blake Griffin ต่อในสีเสื้อของ Nets อีกแล้ว เว้นเสียแต่ว่าทีมสามารถเคลียร์ปัญหาของแกนหลัก 3 คนได้เป็นที่เรียบร้อย แต่ก็น่าติดตามเหมือนกันว่าสุดท้ายแล้วบทสรุปของผู้เล่นในฤดูกาลใหม่นี้จะออกมาแบบไหนกัน
อันดับ 5 - Dallas Mavericks
ผลงานฤดูกาล 2021-22 - ตกรอบ Playoffs รอบชิงแชมป์สาย
เพดานค่าเหนื่อยฤดูกาล 2022-23 - 156.10 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
ผลงานฤดูกาลล่าสุดเรียกได้ว่าเกินความคาดหมายของหลายต่อหลายคน แต่ก็มองเห็นเช่นกันว่าทีมมีจุดอ่อนอยู่ที่ตรงไหน โดยเฉพาะเกมวงใน ทีมเลยพยายามเสริมทีมโดยการคว้าตัว Christian Wood เข้าสู่ทีม แต่ก็น่าจะยังไม่เพียงพออย่างแน่นอน
ปัญหาของทีมในตอนนี้คือ ทีมยังไม่มี Guard มือสองที่จะช่วยแบ่งเบาภาระของ Luka Doncic หลังจากที่ Jalen Brunson หมดสัญญาลงไปหลังจากที่โชว์ฟอร์มได้ดีที่สุดในอาชีพ ถึงแม้ว่า Mavericks จะเป็นทีมที่สามารถยื่นข้อเสนอค่าเหนื่อยได้สูงที่สุด แต่ก็มีอีกหลายทีมให้ความสนใจ รวมถึงเจ้าตัวเองด้วยว่าอยากจะไปเป็นมือหนึ่งของทีมอื่น หรือพอใจที่จะเป็นมือสองอยู่ที่เดิมต่อไป
การจัดการกับปัญหาของ Brunson จึงเป็นเรื่องสำคัญที่สุดของทีมในฤดูกาลนี้ ถ้าที่มไม่สามารถได้ตัวเขามาจริงๆ การมองหาทางเลือกอื่นในตลาดก็อาจจะเป็นไปได้ แต่อาจจะไม่สามารถได้ผู้เล่นที่สามารถก้าวขึ้นมาเป็นมือสองเลยได้อย่างแน่นอน เนื่องจากเพดานค่าเหนื่อยที่เกินลิมิตไปแล้วนั่นเอง
ทีมอาจจะเปลี่ยนทางเลือกไปมองหาผู้เล่น Veteran ดีๆ ที่พร้อมรับค่าเหนื่อยขั้นต่ำ แต่นั่นก็จะทำให้เส้นทางการลุ้นแชมป์ของทีมยากขึ้นไปด้วยเช่นกัน ทีมจึงต้องเลือกเส้นทางต่อจากนี้ให้ดี ว่าจะยอมเสียภาษีฟุ่มเฟือยและบริหารทีมแบบไหนถึงจะคุ้มค่าที่สุด
จบลงไปแล้วนะครับสำหรับบทความเกี่ยวกับการเปิดตลาด Free Agency อย่างเป็นทางการ พร้อมกับแถมข้อมูล 5 ทีมที่มีเพดานค่าเหนื่อยสูงสุดในฤดูกาล 2022-23 ให้อีกด้วย
ถ้ามีโอกาส ทาง Page จะรวบรวม Top 10 Free Agents ประจำฤดูกาลนี้ให้อีกครั้งนะครับ แต่อาจจะไม่ 100% นะว่าจะทำไหม เพราะจนถึงตอนนั้นอาจเหลือแค่ไม่กี่คนแล้วก็เป็นได้ครับ
แล้วพบกันใหม่ในโอกาสหน้าครับ
ถ้าชอบก็ฝาก Share และกดติดตามด้วยนะครับ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
โฆษณา