Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
กระทรวงการต่างประเทศ
•
ติดตาม
6 ก.ค. 2022 เวลา 02:14 • ความคิดเห็น
เส้นทางสู่การเป็นนักการทูตที่ไม่ได้เป็นเส้นตรง
1
หลาย ๆ คนมีความใฝ่ฝันอยากเป็นนักการทูตตั้งแต่เด็ก หรือบางคนมีเป้าหมายชัดเจนที่จะสอบเป็นนักการทูตหลังเรียนจบมหาวิทยาลัย แต่ผมพึ่งมารู้ตัวว่าอยากเป็นนักการทูตในวัยที่ใกล้จะ ๓๐ ดังนั้น เส้นทางสู่การเป็นนักการทูตของผมจึงไม่ใช่เส้นตรงเหมือนใครหลายคน
นายธนรัช ไชยชมภู ผู้เขียน
ก่อนหน้าที่จะมาสอบเป็นนักการทูต ผมทำงานเป็นนักแปลไทย-อังกฤษเต็มเวลากับสำนักข่าวออนไลน์แห่งหนึ่งประมาณ ๕ ปี และเป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินอยู่ ๑ ปี ทั้งสองอาชีพทำให้ผมเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ และได้ประสบการณ์ชีวิตที่จะไม่มีวันลืม
แต่ถ้าหากถามว่า ที่ทำงานแรกของผมคือที่ไหน ผมมักจะตอบว่า กระทรวงการต่างประเทศ เพราะผมได้มีโอกาสฝึกงานที่กรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ช่วงปิดเทอมปี ๓ เหตุผลที่ผมฝึกงานที่กรมอเมริกาฯ ก็เพราะการเป็นนักการทูตคือความใฝ่ฝันแรก
ในตอนนั้นประสบการณ์ที่ผมได้จากการฝึกงานถือว่ามีค่ามาก ทั้งการเรียนรู้งานหรือการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับบุคคลที่ร่วมงานด้วย และเป็นเครื่องเตือนใจเสมอหลายปีหลังจากการฝึกงานครั้งนั้นว่า ทำไมผมควรสอบเป็นนักการทูตให้ติดเสียที
ผู้เขียน (ขวามือ) ขณะปฏิบัติภารกิจสนับสนุนการแถลงข่าว ศบค. ภาคภาษาอังกฤษ
ผมมีความตั้งใจที่จะสอบเป็นนักการทูตอย่างจริงจังระหว่างที่เรียนปริญญาโทสาขาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ที่คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เนื่องจากผมเริ่มเข้าใจตัวเองว่า ไม่ว่าผมจะเรียนอะไรหรือทำงานด้านไหนมา มิติด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศคือแพชชันของผมมาโดยตลอด ดังนั้น เมื่อกระทรวงฯ เปิดสมัครสอบในปี ๒๕๖๔ ผมก็มีความมุ่งมั่นที่จะสอบให้ติด
กระบวนการสอบนักการทูตตั้งแต่ภาค ก. ถึงภาค ค. รุ่นผมกินเวลากว่า ๑ ปีกับอีก ๓ เดือน เนื่องจากสถานการณ์โควิดทำให้ภาค ก. เลื่อนสอบ ถ้ามองอีกมุมหนึ่ง ก็ถือว่ามีเวลาเตรียมตัวมากพอสมควร การอ่านหนังสือให้มากที่สุดจึงเป็นสิ่งสำคัญเพื่อให้ตนเองมีเครื่องมือในการสอบแต่ละภาค
ตอนสัมภาษณ์เดี่ยวระหว่างภาค ค. ผมได้รับคำถามว่า การสอบภาคไหนถือว่ายากที่สุด คำตอบที่ผมให้ ณ ตอนนั้น ก็ยังคงเป็นคำตอบผมตอนนี้ ซึ่งคือภาค ก. ที่เป็นข้อสอบความรู้ทั่วไป เหตุผลเพราะคำถามจะมาแนวไหนก็ได้
1
ที่มา : istockphoto/yipengge
การอ่านให้เยอะไว้ที่สุด และอ่านให้เป็นนิสัยทุกวัน จึงเป็นกุญแจสำคัญสำหรับผม ไม่ว่าจะเป็นการอ่านหนังสือที่เกี่ยวกับพื้นฐานด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การทูตไทยและการต่างประเทศ ประวัติศาสตร์ไทย หรือข่าวที่เกิดขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ
การอ่านให้รู้กว้างเป็นสิ่งท้าทาย แต่มันถือว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า เพราะมันเหมือนเป็นการอ่านเตรียมภาค ข. (การสอบเขียนเรียงความและแปล) และภาค ค. (การสอบสัมภาษณ์และพูดสาธารณะ) ไปในตัว
อีกสิ่งที่สำคัญมาก ๆ ในการเตรียมตัวสอบสำหรับผม คือการมีวินัยและความอดทน โดยคำนึงอยู่เสมอว่าคู่แข่งของเรา คือตัวเองที่ไม่มีวินัยและไม่มีความอดทน เพราะหลาย ๆ ครั้ง ไม่ใช่แค่ว่าอ่าน แต่มันคือการอ่านเพื่อ “ทำความเข้าใจ” ในประเด็นที่ตัวเองอาจจะไม่เข้าใจมาก่อน และการอ่าน “ย้ำ ๆ” ในบางประเด็นที่สำคัญ เพื่อให้แน่ใจว่าเรามีความรู้ในประเด็นนั้นจริง ๆ
2
เมื่อถึงเวลาสอบ เราไม่มีทางรู้เลยว่า คำถามจะเป็นแบบไหน (โดยเฉพาะภาค ข.) การอ่านให้รู้ลึกด้วยก็จะช่วยทำให้เรามีเครื่องมือทำข้อสอบที่พร้อม อีกอย่าง ผมเป็นคนที่เชื่อในเรื่องของ “self-taught” เพราะการเรียนรู้ด้วยตัวเองทำให้รู้ตัวว่าเราอยากรู้อะไรเพิ่มเติมและอะไรที่ยังขาด สิ่งเหล่านี้เป็นตัวผลักดันให้ขวนขวายที่จะรู้สิ่งที่ยังไม่รู้
ตอนที่ผมสอบติดแล้ว มีคนถามว่า ใครคือคนที่ดีใจที่สุด คำตอบก็คือ ตัวผมเอง เพราะมันคือรางวัลชีวิตที่มาจากความตั้งใจของตัวเองล้วน ๆ สมกับการรอคอยเป็นปี และได้ทำความใฝ่ฝันได้สำเร็จก่อนอายุ ๓๐ แต่การสอบติดนักการทูตไม่ใช่สถานีสุดท้าย นี่เป็นเพียงการเริ่มต้นการเดินทางในสายอาชีพนี้เท่านั้น ผมยังมีอะไรที่ต้องเรียนรู้อีกมากมายเพื่อเติบโตเป็นนักการทูตที่ดี ๓๐ ปีต่อจากนี้
1
ผู้เขียน (ขวามือ) ขณะเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อสังคม
ธนรัช ไชยชมภู
นักการทูตปฏิบัติการ
กรมสารนิเทศ
พัฒนาตัวเอง
14 บันทึก
13
25
14
13
25
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย