Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
FPO Journal วารสารเงินการคลัง
•
ติดตาม
4 ก.ค. 2022 เวลา 02:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ
CMIM: Financial Safety Net ของภูมิภาคอาเซียน+3
บทความโดย
นางสาวอินทุอร หวังประเสริฐ
เศรษฐกรปฏิบัติการ
สำนักนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ
credit: https://pixabay.com/th/photos/asean-indo-เวียดนาม-เรือตรี-4692563/
หลังจากการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจและการเงินในภูมิภาคเอเชียช่วงปี 2540-2541 ที่ประเทศในเอเชียตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้ประสบปัญหาดุลการชำระเงินโดยขาดสภาพคล่องในระยะสั้น และหลายประเทศมีความจำเป็นต้องขอรับความช่วยเหลือทางการเงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF)
ทำให้กลุ่มประเทศอาเซียน+3 ตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการเงินในภูมิภาคให้มีความเข้มแข็งและเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น มาตรการริเริ่มเชียงใหม่ไปสู่การเป็นพหุภาคี (Chiang Mai Initiative Multilateralisation: CMIM) จึงถือกำเนิดขึ้น
โดยพัฒนามาจากการนำเครือข่ายความตกลงทวิภาคีว่าด้วยการแลกเปลี่ยนเงินตรา (Bilateral Swap Arrangement: BSA) ระหว่างประเทศสมาชิกมาจัดทำเป็นความตกลงฉบับเดียว เพื่อจัดตั้งกลไกความร่วมมือพหุภาคีของภูมิภาคโดยการแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ (Currency Swap) ในการเสริมสร้างสภาพคล่องระหว่างกัน
ในกรณีที่ผู้เข้าร่วมในความตกลงขาดสภาพคล่องหรือประสบปัญหาดุลการชำระเงิน เพิ่มเติมจากความช่วยเหลือทางการเงินที่ได้รับจากองค์กรการเงินระหว่างประเทศ
CMIM จึงถือเป็นความร่วมมือทางการเงินและกลไกความช่วยเหลือทางการเงิน (Financial Safety Net) ของประเทศในภูมิภาคอาเซียน+3 และเป็นความร่วมมือทางการเงินที่เป็นรูปธรรมที่สุดของภูมิภาคอาเซียน+3 ภายใต้กรอบการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน+3 (ASEAN+3 Finance Ministers’ and Central Bank Governors’ Meeting: AFMGM+3) ประกอบด้วยสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ
ได้แก่ บรูไนดารุสซาลาม กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม และกลุ่มประเทศ+3 ได้แก่ จีน (รวมเขตบริหารพิเศษฮ่องกง) ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ โดยความตกลง CMIM ฉบับปัจจุบันมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2563 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2564 และมีวงเงินความช่วยเหลือรวม 240,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
กลไกการให้ความช่วยเหลือทางการเงินภายใต้ความตกลง CMIM
1. ประเทศสมาชิกภายใต้ความตกลง CMIM
กลุ่มภาคีในความตกลง CMIM ประกอบด้วย กระทรวงการคลังของประเทศสมาชิกอาเซียน+3 (รวม 13 ภาคี) ร่วมกับธนาคารกลางของประเทศสมาชิกอาเซียน+3 และธนาคารกลางเขตปกครองพิเศษฮ่องกง (รวม 14 ภาคี) รวมมีภาคีภายใต้ความตกลง CMIM ทั้งสิ้น 27 ภาคี
2. รูปแบบการสมทบเงินใน CMIM
CMIM มีรูปแบบเป็น Self-managed reserved pooling arrangement กล่าวคือ ประเทศสมาชิกแต่ละประเทศได้ตกลงจำนวนเงินที่แต่ละประเทศจะสมทบใน CMIM โดยไม่มีการลงเงินจริง เงินสมทบของแต่ละประเทศจะนำมาจากเงินสำรองระหว่างประเทศ
โดยผู้ว่าการธนาคารกลางจะลงนามในหนังสือยืนยันการสมทบเงิน (Commitment Letter) เพื่อยืนยันการสมทบเงินตามวงเงินที่ผูกพันของแต่ละประเทศ โดยจะมีผลเป็นเพียงภาระผูกพันเนื่องจากยังไม่มีการโอนกรรมสิทธิ์ในเงินสำรองระหว่างประเทศ และยังคงถือว่าเงินที่จะสมทบจำนวนนั้นยังเป็นเงินสำรองระหว่างประเทศในช่วงปกติ (Peace Time)
ทั้งนี้ เมื่อมีการอนุมัติให้ความช่วยเหลือจึงจะเกิดธุรกรรมแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ เรียกว่า Currency Swap Transaction ระหว่างภาคีผู้ขอรับความช่วยเหลือ (Swap Requesting Party) และภาคีผู้ให้ความช่วยเหลือ (Swap Providing Party) โดยเป็นการแลกเปลี่ยนหรือ Swap ระหว่างเงินสกุลท้องถิ่นกับเงินดอลลาร์สหรัฐ หรือระหว่างเงินสกุลท้องถิ่นกับเงินสกุลท้องถิ่น
3. ขนาดวงเงินและสัดส่วนการสมทบเงินของสมาชิก CMIM
CMIM มีวงเงินรวม 240,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีสัดส่วนวงเงินสมทบของประเทศสมาชิกอาเซียนในสัดส่วนร้อยละ 20 หรือเท่ากับ 48,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่กลุ่มประเทศ+3 (รวมฮ่องกง) มีวงเงินสมทบในสัดส่วนร้อยละ 80 หรือเท่ากับ 192,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ทั้งนี้ ประเทศไทยมีวงเงินสมทบใน CMIM เท่ากับ 9,104 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งวงเงินสมทบของไทยเท่ากันกับวงเงินสมทบของประเทศอาเซียนใหญ่ 5 ประเทศ (อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย) ในขณะที่ประเทศสมาชิกอาเซียนที่เหลือ (บรูไน กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม) มีวงเงินสมทบในสัดส่วนที่น้อยกว่า
4. วงเงินความช่วยเหลือหรือโควตาการขอรับความช่วยเหลือ (Purchasing Multiple)
มีสัดส่วนที่แตกต่างกันไป (Tiered-Borrowing Multiples) ระหว่างประเทศสมาชิก โดยประเทศขนาดเล็กจะสามารถขอรับการช่วยเหลือได้ในสัดส่วนเมื่อเปรียบเทียบกับสัดส่วนของวงเงินสมทบสูงกว่าประเทศขนาดใหญ่ โดยแบ่งเป็น 4 สัดส่วน ดังนี้
4.1 ประเทศอาเซียนขนาดเล็ก 5 ประเทศ (บรูไนดารุสซาลาม กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม)สามารถขอรับความช่วยเหลือได้ 5 เท่าของวงเงินสมทบใน CMIM
4.2 ประเทศอาเซียนใหญ่ 5 ประเทศ (อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย) สามารถขอรับความช่วยเหลือได้ 2.5 เท่าของวงเงินสมทบใน CMIM
4.3 ประเทศเกาหลีใต้ สามารถขอรับความช่วยเหลือได้ 1 เท่าของวงเงินสมทบใน CMIM
4.4 ประเทศจีนและญี่ปุ่น สามารถขอรับความช่วยเหลือได้ 0.5 เท่าของวงเงินสมทบใน CMIM
ในการขอรับความช่วยเหลือ ประเทศสมาชิกจะสามารถขอรับความช่วยเหลือจาก CMIM ได้สูงสุดเท่ากับโควตาในการขอรับความช่วยเหลือทั้งหมดของประเทศสมาชิกนั้น ๆ โดยมีเงื่อนไขว่า ประเทศสมาชิกที่ขอรับความช่วยเหลือจะต้องเข้าสู่โครงการเข้ารับความช่วยเหลือของ IMF (IMF Program) จึงจะขอรับความช่วยเหลือได้เต็มโควตา
อย่างไรก็ดี หากประเทศผู้ขอรับความช่วยเหลือไม่ได้เข้าสู่ IMF Program หรือไม่ได้มีแผนที่จะเข้าสู่ IMF Program ประเทศสมาชิกจะสามารถขอรับความช่วยเหลือจาก CMIM ได้สูงสุดเท่ากับร้อยละ 40 ของโควตาในการขอรับความช่วยเหลือทั้งหมดของประเทศสมาชิกนั้น
ตัวอย่างเช่น ไทยมีโควตาขอรับความช่วยเหลือสูงสุด 2.5 เท่าของวงเงินสมทบ หรือ 22,760 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพราะฉะนั้นไทยจะได้รับเงินช่วยเหลือสูงสุดที่ร้อยละ 40 หรือ 9,104 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
5. อัตราดอกเบี้ย
อัตราดอกเบี้ยสำหรับการขอรับความช่วยเหลือจะเท่ากับอัตราดอกเบี้ยของการกู้ยืมเงินระยะข้ามคืนในอนาคต (Forward Looking SOFR: F-SOFR) บวกกับ Premium จำนวน 150 basis points และจะเพิ่มอีก 50 basis points สำหรับการต่ออายุทุก ๆ 2 ครั้ง (เริ่มจากการต่ออายุครั้งที่ 2) แต่ท้ายที่สุดแล้ว Premium จะต้องไม่เกิน 300 basis points
6. กระบวนการตัดสินใจของ CMIM
กระบวนการตัดสินใจแบ่งออกเป็น 2 ระดับ ได้แก่
1) ระดับรัฐมนตรี เรียกว่า Ministerial Level Decision Making Body (MLDMB) ทำหน้าที่ตัดสินใจในระดับนโยบาย (Fundamental Issues) อาทิ ขนาดของวงเงินสมทบ โควตาความช่วยเหลือ และการเข้าเป็นสมาชิก เป็นต้น โดยใช้หลักฉันทามติในการตัดสินใจ
2) ระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสเรียกว่า Executive Level Decision Making Body (ELDMB) ประกอบด้วย ผู้แทนระดับปลัดกระทรวงการคลังและรองผู้ว่าการธนาคารกลาง ทำหน้าที่พิจารณาประเด็นการปฏิบัติ เช่น การให้ความช่วยเหลือ และการต่อสัญญา เป็นต้น โดยใช้หลักเสียงข้างมากในการตัดสินใจ
7. การกำหนดสิทธิลงคะแนนของประเทศสมาชิก
หลักการในการกำหนดสิทธิลงคะแนนหรือสิทธิออกเสียง (Voting Power) ของประเทศสมาชิกเป็นการให้สิทธิลงคะแนนตามสัดส่วนเงินสมทบ แต่ได้ให้ความสำคัญกับเสียงของประเทศขนาดเล็กด้วย โดยแบ่งคะแนนเสียงออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่
1) คะแนนเสียงพื้นฐานเป็นคะแนนเสียงที่ทุกประเทศได้รับเท่ากันประเทศละ 1.6 คะแนนเสียง
2) คะแนนเสียงตามสัดส่วนเงินสมทบ ได้กำหนดให้ 1 คะแนนเสียงต่อเงินสมทบ 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
นอกจากนี้ ยังได้กำหนดมิให้ประเทศสมาชิกประเทศใดประเทศหนึ่งมีอำนาจในการคัดค้านการตัดสินใจของประเทศสมาชิกอื่น ๆ ที่เหลือ (No veto power)
8. รูปแบบกลไกการให้ความช่วยเหลือทางการเงินของ CMIM
CMIM มีการให้ความช่วยเหลือแก่สมาชิกใน 2 สถานการณ์ ได้แก่
1) การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่สมาชิกหลังการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ เรียกว่า “CMIM Stability Facility (CMIM-SF)” เป็นกลไกหลักของ CMIM โดยไม่มีการกำหนดเงื่อนไขการให้ความช่วยเหลือนอกจากเงื่อนไขการเข้าร่วม IMF Program ซึ่งจะทำให้สมาชิกที่ขอรับความช่วยเหลือสามารถรับความช่วยเหลือได้เต็มโควตา โดยสมาชิกสามารถแจ้งข้อเท็จจริงของปัญหาที่เกิดขึ้นกับประเทศผู้ประสานงานเพื่อขอให้สมาชิกพิจารณาให้ความช่วยเหลือต่อไป
2) การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่สมาชิกก่อนการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ เรียกว่า “CMIM Precautionary Line (CMIM-PL)” เป็นกลไกที่จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2557 ตามความตกลง CMIM ฉบับแก้ไข พ.ศ. 2557 เพิ่มเติมจากกลไกในการให้ความช่วยเหลือเมื่อสมาชิกประสบปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจแล้ว โดย CMIM-PL จะเป็นการให้ Swap Line ในรูปของเงินดอลลาร์สหรัฐแก่สมาชิกที่มีแนวโน้มจะประสบปัญหาดุลการชำระเงินหรือขาดสภาพคล่องระยะสั้น
ทั้งนี้ ในการขอรับความช่วยเหลือดังกล่าว ประเทศสมาชิกจะต้องผ่านเงื่อนไขคุณสมบัติ (Qualification Criteria: QC) 5 ประการ ได้แก่ ฐานะการเงินระหว่างประเทศและการเข้าถึงตลาด นโยบายการคลัง นโยบายการเงิน เสถียรภาพด้านการเงินและการกำกับดูแล และความพอเพียงของข้อมูล
ซึ่งจะช่วยยืนยันว่าประเทศผู้ขอรับความช่วยเหลือมีโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง และมีการดำเนินนโยบายที่ดี สามารถที่จะจ่ายเงินคืนให้แก่สมาชิกได้ และเพื่อลดปัญหา Moral Hazard
9. ระยะเวลาการให้ความช่วยเหลือ
ระยะเวลาในการให้ความช่วยเหลือแต่ละครั้ง (Maturity) ทั้งในกรณีของการขอรับความช่วยเหลือทางการเงินหลังการเกิดวิกฤต (Stability Facility: SF) และการขอรับความช่วยเหลือทางการเงินก่อนการเกิดวิกฤต (Precautionary Line: PL) แบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่
1) ส่วนการให้ความช่วยเหลือทางการเงินกับประเทศสมาชิกที่เชื่อมโยงกับโครงการให้ความช่วยเหลือทางการเงินของ IMF (IMF Linked Portion: ILP) กำหนดระยะเวลาการให้ความช่วยเหลือ 1 ปี (360 วัน) (ต่ออายุได้ 2 ครั้ง) รวมระยะเวลาให้ความช่วยเหลือไม่เกิน 3 ปี
2) ส่วนการให้ความช่วยเหลือทางการเงินกับประเทศสมาชิกที่ไม่เข้าโครงการให้ความช่วยเหลือทางการเงินของ IMF (IMF De-linked Portion: IDLP) กำหนดระยะเวลาการให้ความช่วยเหลือ 6 เดือน (180 วัน) (ต่ออายุได้ 3 ครั้ง) รวมระยะเวลาให้ความช่วยเหลือไม่เกิน 2 ปี
10. ขั้นตอนการขอรับและการให้ความช่วยเหลือ
ประเทศผู้ขอรับความช่วยเหลือจะต้องยื่นหนังสือเพื่อแจ้งการขอรับความช่วยเหลือกับประเทศผู้ประสานงาน (Coordinating Countries) โดยหนังสือแจ้งการขอรับความช่วยเหลือจะต้องระบุถึงข้อมูลที่สำคัญเกี่ยวกับการขอรับความช่วยเหลือ และเมื่อประเทศผู้ประสานงานได้รับหนังสือแจ้งการขอรับความช่วยเหลือดังกล่าวแล้ว จะต้องส่งต่อหนังสือนั้นให้แก่สมาชิกอื่นภายใน 2 วันทำการนับแต่วันที่ได้รับหนังสือ
ซึ่งประเทศผู้ขอความช่วยเหลือจะต้องจัดเตรียมเอกสารและดำเนินการตามเงื่อนไขที่กำหนด
หลังจากนั้น ประเทศผู้ประสานงานจะจัดให้มีการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสกระทรวงการคลังและธนาคารกลางอาเซียน+3 (ผู้แทนของประเทศไทย คือ ปลัดกระทรวงการคลังและรองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย) เพื่อพิจารณาอนุมัติการให้ความช่วยเหลือ
โดยจะต้องได้รับการอนุมัติโดยมีเสียง 2 ใน 3 ของคะแนนออกเสียงทั้งหมด ทั้งนี้ ขั้นตอนการดำเนินการให้ความช่วยเหลือจะต้องแล้วเสร็จภายใน 2 สัปดาห์ โดยภายหลังจากการอนุมัติการให้ความช่วยเหลือแล้วจะเกิดธุรกรรมการแลกเปลี่ยนเงินตรา (กรณีความช่วยเหลือหลังวิกฤตเศรษฐกิจ) หรือการเปิดวงเงินสำหรับการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ (กรณีความช่วยเหลือก่อนการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ)
11. การทบทวนความตกลงและโครงสร้างของ CMIM ในภาพรวม
ความตกลง CMIM ได้กำหนดให้ประเทศสมาชิกอาเซียน+3 ร่วมกันทบทวนข้อกำหนดและเงื่อนไขของความตกลง หลังจากมีผลบังคับใช้ในปีที่ 5 โดยอาจพิจารณาทบทวนขนาดของ CMIM จำนวนการลงเงินของประเทศสมาชิก วงเงินความช่วยเหลือหรือโควตาการขอรับความช่วยเหลือ
เงื่อนไขในการซื้อและขายคืนเงินตรา และประเด็นอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อทำให้ความตกลง CMIM มีความทันสมัยและสอดคล้องกับสภาวการณ์ของประเทศสมาชิกและภาวะเศรษฐกิจและการเงินของโลก
ทั้งนี้ ประเทศสมาชิกอาเซียน+3 มีการดำเนินการปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพของความตกลง CMIM มาอย่างต่อเนื่อง นับจากความตกลงฉบับแรกที่มีผลบังคับใช้เมื่อ 24 มีนาคม 2553 ได้แก่ ความตกลง CMIM ฉบับแก้ไขปรับปรุง ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 17 กรกฎาคม 2557
ความตกลง CMIM ฉบับปัจจุบัน มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2563 และความตกลง CMIM ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม มีผลบังคับใช้ตังแต่วันที่ 31 มีนาคม 2564 โดยการแก้ไขความตกลงในแต่ละครั้ง ประเทศสมาชิกได้ปรับปรุงประสิทธิภาพของ CMIM ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขหลักการสำคัญหรือปรับปรุงถ้อยคำในประเด็นเชิงเทคนิค ให้มีความยืดหยุ่นและมีความชัดเจนในทางปฏิบัติ
อาทิ การเพิ่มขนาดวงเงินช่วยเหลือจากเดิม 120,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐเป็น 240,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ การเพิ่มสัดส่วนการให้ความช่วยเหลือทางการเงินกับประเทศสมาชิกที่ไม่เข้าโครงการให้ความช่วยเหลือทางการเงินของ IMF จากร้อยละ 20 เป็นร้อยละ 40 การจัดตั้งกลไกให้ความช่วยเหลือสมาชิกเพื่อป้องกันการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจเพิ่มเติมจากกลไกให้ความช่วยเหลือหลังจากที่สมาชิกประสบวิกฤตเศรษฐกิจแล้ว
และล่าสุดได้ยินยอมให้สมาชิกสามารถเลือกสมทบหรือขอรับความช่วยเหลือทางการเงินภายใต้กลไก CMIM เป็นเงินสกุลท้องถิ่นได้ตามความสมัครใจ
ตารางจำนวนวงเงินสมทบและวงเงินในการได้รับความช่วยเหลือจาก CMIM
แนวทางในอนาคตของการเพิ่มประสิทธิภาพของ CMIM
แม้ว่าประเทศสมาชิกอาเซียน+3 ได้มีการพัฒนา CMIM มาอย่างต่อเนื่อง และยังไม่มีการขอรับความช่วยเหลือจาก CMIM นับตั้งแต่จัดทำความตกลงร่วมกันมาตั้งแต่ปี 2553 แต่เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับกลไกทางการเงินระดับภูมิภาคอื่น ๆ แล้ว ขนาดวงเงินให้ความช่วยเหลือ CMIM ในปัจจุบัน จำนวน 240,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐยังคงถือว่ามีจำนวนน้อย เมื่อเทียบกับขนาดเศรษฐกิจของประเทศสมาชิก
เนื่องจากเป็นวงเงินที่สมาชิกกำหนดขึ้นมา และไม่ได้พิจารณาความเหมาะสมตามสภาวะและขนาดเศรษฐกิจ ซึ่งทำให้จำนวนเงินช่วยเหลืออาจไม่เพียงพอหากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจขึ้นจริงและเกิดขึ้นพร้อม ๆ กันในหลายประเทศ เพราะฉะนั้น เพื่อให้ CMIM มีประสิทธิภาพและพร้อมใช้จริงหากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ประเทศสมาชิกจะต้องตระหนักถึงแนวทางการเพิ่มวงเงินให้ความช่วยเหลือเป็นประเด็นแรก เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของ CMIM ในอนาคต
ซึ่งอาจทำได้โดยการพิจารณาเพิ่มจำนวนเงินสมทบของสมาชิก ประกอบกับการพิจารณาขนาดเศรษฐกิจของสมาชิก แนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจ และขนาดของวงเงินสำรองระหว่างประเทศด้วย
1 บันทึก
1
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย