Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
FPO Journal วารสารเงินการคลัง
•
ติดตาม
6 ก.ค. 2022 เวลา 02:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ
นโยบายความมั่นคงทางเศรษฐกิจกับการตั้งหน่วยงานทางเศรษฐกิจใหม่ของญี่ปุ่น
บทความโดย
นายกันตวัฒน์ ธีระวิทยภิญโญ
เศรษฐกรปฏิบัติการ
สํานักนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ
credit: https://pixabay.com/photos/japan-travel-nature-asia-plant-4141578/
ภายหลังจากที่นายคิชิดะ ฟูมิโอะ ได้เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแห่งประเทศญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2564 รัฐบาลญี่ปุ่นได้มีการปรับเลี่ยนนโยบายทางเศรษฐกิจ จากนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจของอดีตนายกรัฐมนตรีอาเบะ ชินโซ หรืออะเบะโนมิกส์ (Abenomics) ซึ่งเป็นเรือธงในการต่อสู้กับสภาพเศรษฐกิจที่ซบเซาของญี่ปุ่นมาเป็นระยะเวลาเกือบ 10 ปี
โดยในการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา นายคิชิดะ ได้แสดงวิสัยทัศน์ในการสร้างระบบ “ทุนนิยมใหม่” ซึ่งไม่เพียงมุ่งเน้นการกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ แต่เน้นการสร้างความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจผ่านการกระจายรายได้ และการสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงให้แก่เศรษฐกิจญี่ปุ่นด้วย
ในการนี้ นายคิชิดะได้ระบุว่า “ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ” เป็นหนึ่งในเสาหลักของระบบ “ทุนนิยมใหม่” และเพื่อให้มีการดำเนินนโยบายความมั่นคงทางเศรษฐกิจอย่างแท้จริง นายคิชิดะได้เพิ่มตำแหน่งรัฐมนตรีที่รับผิดชอบกำกับดูแลนโยบายและการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงทางเศรษฐกิจขึ้นมา
โดยแต่งตั้งนายโคบายาชิ ทากายูกิ เป็นรัฐมนตรีด้านความมั่นคงทางเศรษฐกิจคนแรกของญี่ปุ่น ในการนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นได้จัดตั้งหน่วยงานใหม่ที่ชื่อว่า “สภาส่งเสริมความมั่นคงทางเศรษฐกิจ” ขึ้น เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2564 โดยมีนายคิชิดะ เป็นประธานสภาฯ และมีนายโคบายาชิ เป็นรองประธานสภาฯ
ทั้งนี้ สภาส่งเสริมความมั่นคงทางเศรษฐกิจมีหน้าที่หลักในการร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับนโยบายดังกล่าวให้คณะรัฐมนตรีและรัฐสภาญี่ปุ่นพิจารณา การแต่งตั้งนายโคบายาชิเป็นรัฐมนตรี และการจัดตั้งสภาส่งเสริมความมั่นคงทางเศรษฐกิจแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของนายคิชิดะในการที่จะปรับโครงสร้างและแผนการดำเนินงานจากนโยบายการเปิดตลาดเสรีการค้าภายใต้อดีตนายกรัฐมนตรีอาเบะ
และอดีตนายกรัฐมนตรีซูงะ โยชิฮิเดะ จึงทำให้เป็นข้อสงสัยว่า “ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ” คืออะไร มีความสำคัญอย่างไรกับประเทศญี่ปุ่น และนโยบายของสภาส่งเสริมความมั่นคงทางเศรษฐกิจจะส่งผลต่อไทยในด้านบวกหรือลบอย่างไร?
ภาพ: การประชุมสภาส่งเสริมความมั่นคงทางเศรษฐกิจ โดยนายคิชิดะ (2 จากซ้าย) เป็นประธาน และนายโคบายาขิ (3 จากซ้าย) เป็นรองประธาน ที่มา: สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น
1. “ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ” คืออะไร?
นิยามของความมั่นคงทางเศรษฐกิจสามารถระบุได้กว้าง ๆ ว่า เป็นความสามารถในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลในประเทศนั้น ๆ ให้เป็นไปตามเป้าหมายและพันธกิจที่ตั้งไว้ โดยความสามารถในการดำเนินนโยบายดังกล่าวคำนึงถึงการเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติที่มีจำกัด ความสามารถในการผลิต และความสามารถที่จะขนส่งและกระจายผลผลิตเหล่านั้น
ดังนั้น การรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจจึงหมายถึง การครอบครองหรือรักษาสภาพคล่องของปัจจัยการผลิตเพื่อไม่ให้ปัจจัยภายนอกกระทบกับการดำเนินธุรกิจภายในประเทศ โดยปัจจัยภายนอกที่อาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจภายในประเทศมีหลายรูปแบบ เช่น การถูกตัดออกจากแหล่งพลังงาน การหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน การละเมิดหรือถูกยักยอกทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น
2. ทำไมญี่ปุ่นจึงให้ความสำคัญต่อ “ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ” จนมีการแต่งตั้งรัฐมนตรีกำกับดูแลขึ้น?
การแต่งตั้งรัฐมนตรีและหน่วยงานส่งเสริมเพื่อกำกับดูแลความมั่นคงทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นสืบเนื่องมาจากผลกระทบของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่มีต่อห่วงโซ่อุปทานโดยเฉพาะการระบาดระลอกแรกภายในจีน ซึ่งส่งผลให้การผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์ต่าง ๆ ของบริษัทญี่ปุ่นหยุดชะงักลง
โรงงานและบริษัทญี่ปุ่นภายในประเทศไม่สามารถดำเนินการผลิตได้แม้ว่าการระบาดยังไม่ได้แพร่ขยายไปยังญี่ปุ่น รัฐบาลญี่ปุ่นภายใต้การนำของนายอาเบะ ชินโซ ณ ขณะนั้น จึงตระหนักถึงความสำคัญของการกระจายฐานการผลิตไปยังประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาค เพื่อป้องกันมิให้การหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานมีผลรุนแรงขึ้น
โดยรัฐบาลญี่ปุ่นได้ประกาศอุดหนุนเงินให้กับภาคเอกชนเพื่อใช้ในการย้ายฐานการผลิตจากจีนกลับไปยังประเทศญี่ปุ่น หรือย้ายไปยังประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค เช่น กลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน อินเดีย ออสเตรเลีย เป็นต้น ทั้งนี้ การตั้งตำแหน่งรัฐมนตรีและสภาความมั่นคงทางเศรษฐกิจเป็นการต่อยอดและขยายนโยบายดังกล่าวให้เป็นวงกว้าง
โดยสภาส่งเสริมความมั่นคงทางเศรษฐกิจที่ตั้งขึ้นมาใหม่นั้น มีความแตกต่างจากกระทรวงที่กำกับดูแลด้านเศรษฐกิจที่มีอยู่ ณ ปัจจุบัน ได้แก่ กระทรวงการคลังและกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม (Ministry of Economy, Trade, and Industry: METI)
โดยกระทรวงการคลังมีหน้าที่จัดเก็บภาษี กำกับงบประมาณของรัฐ และกำกับตลาดการเงินและตราสารหนี้ ขณะที่ METI มีหน้าที่พัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรมภายในประเทศ อำนวยความสะดวกและพัฒนาความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างประเทศให้ราบรื่น และสร้างเสถียรภาพให้แก่ตลาดพลังงานและทรัพยากรธรรมชาติ
โดยจุดประสงค์ของสภาส่งเสริมความมั่นคงทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นใหม่ แม้ไม่ได้ครอบคลุมถึงการเข้าถึงแหล่งพลังงาน แต่มีขอบเขตการดำเนินงานมากกว่าการชี้ชวนให้บริษัทญี่ปุ่นกระจายฐานการผลิตออกจากจีน รวมถึงการเป็นหน่วยงานที่จะชี้แนะและกำหนดนโยบายเพื่อรักษาเสถียรภาพห่วงโซ่อุปทานของสินค้าและส่วนประกอบที่มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ รวมถึงนโยบายการสนับสนุนนวัตกรรมและปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาอีกด้วย
ล่าสุด รัฐบาลญี่ปุ่นยังได้จัดสรรงบประมาณ จำนวน 6 แสนล้านเยน จากงบประมาณเพิ่มเติมของปี 2564 เพื่อสนับสนุนการตั้งฐานการผลิตสารกึ่งตัวนำ (Semiconductor) ภายในประเทศญี่ปุ่นของบริษัทต่างชาติ เช่น บริษัท Taiwan Semiconductor Manufacturing Company, Limited หรือ TSMC ของไต้หวัน ที่เข้ามาร่วมทุนกับบริษัทในเครือโซนี่ (Sony) ในการสร้างฐานการผลิตในจังหวัดคุมาโมโตะ
เนื่องจาก Semiconductor มีความสำคัญอย่างยิ่งในการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์เทคโนโลยีขั้นสูง นอกจากนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นมีความกังวลว่า การป้องกันการลักลอบการนำทรัพย์สินทางปัญญาของบริษัทหรือนักวิจัยญี่ปุ่นไปใช้ยังมีความหละหลวม ส่งผลให้บริษัทญี่ปุ่นไม่สามารถแข่งขันกับผู้ที่ลักลอบนำทรัพย์สินทางปัญญาไปใช้ และเป็นสาเหตุที่บริษัทญี่ปุ่นไม่สามารถร่วมการวิจัยในบางอุตสาหกรรมกับประเทศพันธมิตรได้
รัฐบาลญี่ปุ่นจึงได้มีการมอบหมายให้สภาส่งเสริมความมั่นคงทางเศรษฐกิจศึกษาแนวทางและร่างกฎหมายเพื่อให้การปกป้องลิขสิทธิ์ทางการค้าและทรัพย์สินทางปัญญามีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้น
โดยกฎหมายดังกล่าว นอกจากจะกำหนดระดับความลับของทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงแล้ว ยังกำหนดให้รัฐเข้ากำกับการติดตั้งระบบรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ในอุตสาหกรรมหลักต่าง ๆ กำหนดขอบเขตการอุดหนุนเงินเพื่อการผลิตสินค้าและส่วนประกอบที่มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ และกำหนดการสนับสนุนความร่วมมือในงานวิจัยและงานเสริมสร้างเทคโนโลยีระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน
ซึ่งคาดการณ์ว่าจะได้รับงบประมาณ จำนวน 5 แสนล้านเยน อีกด้วย โดย ณ ปัจจุบัน ร่างกฎหมายดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น และอยู่ระหว่างการพิจารณาของรัฐสภาญี่ปุ่นแล้ว ทั้งนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นคาดการณ์ว่า หากร่างกฎหมายดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา จะสร้างเสถียรภาพให้แก่ห่วงโซ่อุปทาน และสร้างความสามารถในการแข่งขันให้แก่ประเทศญี่ปุ่นในอนาคต
3. นโยบายความมั่นคงทางเศรษฐกิจใหม่ของญี่ปุ่นมีผลกระทบต่อไทยอย่างไร?
ประเทศไทยอาจได้รับผลกระทบจากการหันมาให้ความสำคัญกับความมั่นคงทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น โดยผลกระทบในด้านบวกจะเป็นการที่บริษัทญี่ปุ่นย้ายฐานการผลิตจากจีนมายังไทย ซึ่งเป็นผลจากการขยายนโยบายการกระจายห่วงโซ่อุปทานไปยังประเทศต่าง ๆ ซึ่งไทยได้เปรียบประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคในการดึงดูดนักลงทุนชาวญี่ปุ่น
เนื่องจากนักลงทุนและบริษัทญี่ปุ่นมีความคุ้นเคยกับประเทศไทย และเป็นฐานการผลิตที่มีระบบโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมรองรับการขยายตัวของโรงงานและระบบการผลิตรูปแบบต่าง ๆ อย่างไรก็ดี ไทยยังมีคู่แข่งที่น่ากลัวคือ เวียดนาม ซึ่งมีค่าแรงที่ต่ำกว่า และมีกฎระเบียบที่ได้รับการปรับปรุงให้เอื้อต่อนักลงทุนต่างชาติ จากการที่เวียดนามเข้าร่วมความตกลงการค้าเสรีที่มีมาตรฐานสูงหลายฉบับ
เช่น ความตกลงการค้าเสรีสหภาพยุโรป – เวียดนาม ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership: CPTPP) เป็นต้น นอกจากนี้ ผลกระทบในแง่ลบที่ไทยอาจได้รับจากการตั้งหน่วยงานความมั่นคงทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นคือ
ความเป็นไปได้ที่บริษัทญี่ปุ่นอาจย้ายฐานการผลิตออกจากไทยกลับไปยังญี่ปุ่นหากสินค้าที่ผลิตในไทยถูกกำหนดให้เป็นสินค้าที่มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ หรือหากบริษัทลูกที่จดทะเบียนในไทยไม่สามารถเปิดเผยหรือนำทรัพย์สินทางปัญญาที่จดทะเบียนไว้มาใช้ในขั้นตอนการผลิตได้ แม้ว่าผลกระทบในแง่ลบเหล่านี้เหมือนจะเป็นสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดที่จะเกิดขึ้นได้ (Worst-case Scenario) แต่ก็คงความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นอยู่
ดังนั้น ไทยควรเตรียมรับมือกับผลเสียที่อาจจะเกิดขึ้น และอาจต้องหันมาให้ความสำคัญกับความมั่นคงทางเศรษฐกิจของไทยเองเช่นเดียวกัน ทั้งในด้านการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ เป็นของตนเองและจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา การสร้างอุปสงค์ภายในประเทศ และการลดการพึ่งพิงปัจจัยทางเศรษฐกิจภายนอกประเทศ ซึ่งนอกจากจะเป็นการเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นหรือแม้แต่ประเทศอื่น ๆ
ยังเป็นการเตรียมพร้อมเพื่อรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินในอนาคต ดังที่ได้มีบทเรียนจากเหตุการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งทำให้เศรษฐกิจไทยที่พึ่งพาภายนอกมาก ทั้งด้านรายได้จากการส่งออก การท่องเที่ยว และการพึ่งพาสินค้าในห่วงโซ่การผลิตจากประเทศใดประเทศหนึ่ง เช่น จีน เป็นหลัก ได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก
บันทึก
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย