29 มิ.ย. 2022 เวลา 02:00 • สิ่งแวดล้อม
ใครว่าฉี่ไม่มีประโยชน์ ? ชวนรู้จักกับ ‘Peecycle’ รีไซเคิลฉี่ให้เป็นปุ๋ย เพราะฉี่ของเราเต็มไปด้วยอาหารชั้นยอดของต้นไม้ เพิ่มพูนผลผลิตด้วยปุ๋ยที่ผลิตได้จากตัวคุณ เริ่มง่าย ๆ แค่เข้าห้องน้ำ
คุณอาจเคยได้ยินการนำของเสียอย่างมูลสัตว์มาทำเป็นปุ๋ยคอก แต่คุณเคยรู้จัก Peecycle หรือการนำปัสสาวะของคนมาทำเป็นปุ๋ยพืชหรือยัง?
ลูซี่และจอนคู่สามีภรรยาชาวอเมริกัน รู้จักกับการรีไซเคิลฉี่เมื่อเจ็ดปีก่อน จากการสัมมนาของ Rich Earth Institute องค์กรไม่แสวงหากำไรท้องถิ่น พวกเขาเสนอไอเดียน่าสนใจที่ว่า “พืชให้อาหารเรา เราให้อาหารพืช”
ลูซี่กับจอนค้นพบถึงความจริงอันน่าอัศจรรย์เกี่ยวกับปัสสาวะของพวกเขาที่เต็มไปด้วย โพแทสเซียม ฟอสฟอรัส และไนโตรเจน ธาตุอาหารสำคัญต่อการเจริญเติบโตของพืช
ถึงแม้ว่าตอนเริ่มต้นการเก็บฉี่ลงในเหยือกอาจจะดูแปลกไปบ้าง แต่ไม่นานพวกเขาก็เริ่มทำมันเป็นประจำจนถึงขั้นติดแท็งค์สำหรับปั๊มปัสสาวะไปให้องค์กรที่จัดการทำปุ๋ยโดยเฉพาะ ลูซี่กล่าวว่า พวกเราสามารถสร้างปุ๋ยชั้นดีนี้ได้ด้วยร่างกายของพวกเรา แล้วเรายังกดมันลงส้วมทิ้งไปกับน้ำซึ่งเป็นทรัพยากรล้ำค่าอีกต่างหาก
1
การผลิตแอมโมเนียในปุ๋ยเคมีต้องใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นแหล่งไฮโดรเจนของแอมโมเนีย และเพื่อสร้างความร้อนมหาศาล ส่วนการผลิตฟอสฟอรัสต้องอาศัยการขุดจากหิน ทรัพยากรที่ร่อยหรอลงทุกที เห็นได้ชัดว่าปุ๋ยเคมีไม่ใช่ทางเลือกที่ยั่งยืนอย่างแน่นอน
มีการศึกษาหนึ่งในเขตชนบทของประเทศไนเจอร์เกี่ยวกับการใช้ปัสสาวะเป็นปุ๋ย จากปัญหาผลผลิตต่ำของเหล่าชาวไร่หญิงที่ไม่มีกำลังมากพอในการหาหรือขนส่งมูลสัตว์มาเป็นปุ๋ยให้กับไร่ของตนได้ ส่วนปุ๋ยเคมีก็ราคาแพงเกินไปสำหรับพวกเธอ ทีมวิจัยจึงทำการศึกษา ปรึกษา และขออนุญาตบุคคลที่เกี่ยวข้อง และทำการทดลองใช้ปัสสาวะเป็นปุ๋ยพร้อมกับอาสาสมัครอีก 27 คน
จากการทดลองพวกเขาพบว่าการใช้ปัสสาวะเป็นปุ๋ยสามารถเพิ่มปริมาณผลผลิตได้มากถึง 30 เปอร์เซ็นต์ พวกเขาจะทิ้งปัสสาวะไว้ในเหยือกอย่างน้อยสองเดือนเพื่อทำการพาสเจอร์ไรส์ ปุ๋ยจะทำงานได้ดีหากดินมีความชื้น แต่หากดินแห้งให้ผสมน้ำอัตราส่วน 1:1 พวกเขาแนะนำให้ใส่หน้ากากและถุงมือเพื่อช่วยเรื่องกลิ่น
หลายคนเล็งเห็นศักยภาพทางเศรษฐกิจของปุ๋ยจากปัสสาวะ เนื่องจากในสองสามปีที่ผ่านมาราคาของมันเพิ่มจาก 1 ดอลลาร์ต่อ 25 ลิตร เป็น 6 ดอลลาร์ เลยทีเดียว
แน่นอนว่าการขนส่งยังคงเป็นอุปสรรคหลักต่อการทำให้ปุ๋ยปัสสาวะเป็นทางออกที่แท้จริงของปัญหาวิกฤตปุ๋ยในปัจจุบัน แต่ขณะนี้มีทีมวิจัยหลายทีมที่กำลังมุ่งหาวิธีไม่ว่าจะเป็น การทำสารสกัด หรือการใส่ธาตุอาหารพืชจากปัสสาวะลงไปใน biochar (ถ่านหินชนิดหนึ่งทำจากอุจจาระ)
ถือเป็นไอเดียที่แปลกใหม่ในการใช้สิ่งที่เรามีในการรักษาและช่วยเหลือโลกของเราอย่างยั่งยืนได้ดีทีเดียว
งานวิจัย
ทำความรู้จักกับ Rich Earth Institute
ที่มา
โฆษณา