28 มิ.ย. 2022 เวลา 17:28 • การเมือง
อาหารอยู่ที่ทะเล #1
เสียงนกเสียงกาจากปักษ์ใต้ : กัมพล จิตตะนัง
(1)
ประเทศนี้โคตรตอแหล สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทรงอิทธิฤทธิ์ในประเทศไทยมีมากมายเกลื่อนกลาด แต่ประหลาดที่กฎหมายไม่ใช่สิ่งที่จะนับรวมเข้าไปด้วยได้ นี่ไม่ใช่คำประชดประชัน แต่นี่เป็นถ้อยคำสะท้อนภาพความเป็นจริงที่ยังเป็นอยู่ มันไม่ใช่เพิ่งเป็นแต่มันเป็นอาการป่วยเรื้อรังที่เป็นอยู่มาเนิ่นนานและยังรักษาไม่หาย(ไม่มีท่าทีว่าจะหายไปจากประเทศนี้)
กฎหมายการประมงก็เช่นกัน “ห้ามมิให้ผู้ใดจับสัตว์น้ำหรือนําสัตว์น้ำที่มีขนาดเล็กกว่าที่รัฐมนตรีประกาศกําหนดขึ้นเรือประมง “ (มาตรา ๕๗ พระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558) มีข้อกฎหมายแต่ไม่มีประกาศข้อกำหนดจากรัฐมนตรี ประเทศนี้ช่างตอแหลจึงไม่ใช่คำกล่าวที่หยาบคายแต่อย่างใด
(2)
แล้วมันมีปัญหาอะไรกันนักหนา มีสิและปัญหาก็มีมากด้วย หากคุณยังไม่รู้หรือไม่เคยตามข่าวคราว เดี๋ยวจะเล่าให้ฟัง ก่อนอื่นอยากให้คุณอ่านบางส่วนของบทความที่ ประสาท มีแต้ม นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม เขียนไว้ใน thaipublica.org
คำทำนายของชายแปลกหน้าและนักวิทยาศาสตร์ระดับโลก
เรื่องแรกเป็นความเห็นของนักชีววิทยาทางทะเลที่ผลงานของเขาได้รับอ้างอิงในวงการวิชาการในปี 2020 มากที่สุดในโลก คือ ศาสตราจารย์ Daniel Pauly (เกิดปี 1946 เป็นหัวหน้าโครงการ The Sea Around Us Project) แห่งมหาวิทยาลัยบริทิชโคลัมเบีย แคนาดา)
บอกว่า “ถ้าเรานิยามการล่มสลายทางการประมงว่าคือ ปรากฏการณ์ที่เราทำการประมงได้ผลการจับสัตว์น้ำเพียง 10% ของที่เคยได้ ปัจจุบันทั่วทั้งโลกจะมีแหล่งประมงที่ได้ล่มสลายไปแล้วถึง 1 ใน 3 จากข้อมูลที่มีอยู่เราสามารถพยากรณ์ได้ว่าภายในปี ค.ศ. 2048 การประมงทั้งหมดในโลกจะล่มสลาย สิ่งเดียวที่เป็นอาหารทะเลที่จะเหลืออยู่ให้เรารับประทานน่าจะเป็นสตูแพลงก์ตอน”
ถ้าเราใช้นิยามดังกล่าวนี้ เราก็พอสรุปได้ว่าการประมงในอ่าวไทยได้ล่มสลายไปนานแล้ว เพราะผลการจับสัตว์น้ำต่อการลงแรงประมงได้ลดลงเหลือไม่ถึง 10% มาตั้งแต่ปี 2549
เรื่องที่สอง เป็นเรื่องที่ชายชราที่เป็นชาวประมงคนหนึ่งในจังหวัดสงขลาได้เล่าให้ผมฟังเมื่อประมาณ 25 ปีที่แล้ว ถ้าชายคนนี้ยังมีชีวิตอยู่ก็น่าจะอายุประมาณ 110 ปี (พอๆ กับอายุพ่อผม) ท่านเล่าว่า นานมาแล้วมีชายแปลกหน้าพูดในขณะที่ชาวประมงและชาวบ้านช่วยกันปลดปลาออกจากอวนชายฝั่งว่า
ชายแปลกหน้า: “อีกไม่กี่ปีทะเลจะเหลือแต่น้ำ ไม่มีปลาให้จับ เพราะอวนจากญี่ปุ่นจะจับปลาจนหมดทะเล” (ท่านเล่าว่าเป็นอวนจากญี่ปุ่น ในแต่ความเป็นจริงเป็นเครื่องการประมงจากประเทศเยอรมนี ภายใต้โครงการให้ความช่วยเหลือทางวิชาการระหว่างรัฐบาลสหพันธสาธารณรัฐเยอรมันกับรัฐบาลไทย ในปี 2506)
ชายชรา: “เป็นไปไม่ได้ ดูสิ ผืนอวนซึ่งมีความกว้างยาวไม่กี่วา แต่ติดปลามากจนชาวประมงปลดกันไม่ไหว ไม่ทัน ต้องไปตามคนทั้งหมู่บ้านมาช่วยกันปลด แล้วท้องทะเลมีขนาดกว้างใหญ่จนสุดลูกหูลูกตา ใครจะมีปัญญาจับได้หมด จะเอาคนที่ไหนมาปลด”
ชายแปลกหน้า: “คอยดูก็แล้วกัน” แล้วก็จากไปก่อนพลบค่ำ
ผมทำงานด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติมามากกว่า 20 ปี คลุกคลีกับชาวประมงพื้นบ้านมานานปี ผมเข้าใจได้กับความกังวลของอาจารย์ประสาท มีแต้ม เพราะนั่นไม่ใช่สิ่งที่เกินเลยและไม่ควรใส่ใจ
แต่ผมก็เชื่อว่า คนส่วนใหญ่ที่ไม่ได้ทำอาชีพประมงและไม่ได้เกี่ยวข้องกับทะเลในฐานะคนหาปลาอาจจะไม่เชื่อว่า ทะเลไทยกำลังจะตาย ทะเลจะตายแน่ถ้าไม่รีบแก้ไข หากเราไม่รีบทำอะไรสักอย่าง
คนส่วนมากไม่เชื่อ เพราะพวกเขายังหาซื้อปลาได้จากตลาด มีปลาให้กินได้ทุกวันแค่หาเงินได้และเอาเงินไปซื้อปลา แต่สังเกตอะไรกันไหมครับ ปลาในตลาดมีน้อยลงและราคาก็แพงขึ้นมาก คนที่มีโอกาสได้กินอาหารทะเลดี ๆมีน้อยลง อาหารทะเลคุณภาพถูกส่งขึ้นไปขายให้คนรวยที่มีเงินหรือตลาดบน ส่วนคนทั่วไปก็กินสัตว์น้ำในตลาดล่างกันไป คุณภาพความสดน้อยลง เสี่ยงปนเปื้อนฟอร์มาลีนและสารเคมีอันตราย
เมื่อสิบกว่าปีก่อน ใครอยู่ใกล้อ่าวท่าศาลา-นครศรีธรรมราชและอยากกินปลาทูในฤดูกาล มีเงินแค่ 10 บาทก็สามารถหิ้วปลาทู 1 กิโลกรัมกลับบ้านได้ แต่ไม่ใช่วันนี้ ปลาทูน้อยลงต่อเนื่องมาหลายปีและราคาปลาทูก็แพงขึ้นทุกปี 2-3 ปีนี้
ราคาปลาทูในฤดูกาลปกติสูงมากกว่า 100 บาทต่อกิโลกรัม นี่เป็นราคาที่ท่าเทียบเรือ ราคาขายในตลาดจะสูงขึ้นอีกนิดหน่อย ชาวประมงทุกคนบอกตรงกันว่า ปลาทูน้อยลงและไม่ใช่แค่ปลาทู ปลาทุกชนิดน้อยลง รวมทั้งสัตว์น้ำอื่น ๆ ก็น้อยลงมาก
เมื่อไม่กี่วันก่อน ผมถามคนหาปลาที่อ่าวท่าศาลาว่า จับปลาได้มากไหม ทุกคนตอบตรงกันว่า ปลาหายไปมาก เดี๋ยวนี้ต้องใช้เวลามากขึ้นในการออกทะเล ต้องวางอวนมากขึ้น เพื่อให้ได้ปลาใกล้เคียงกับที่เคยจับได้ ปลาหายไปจากทะเล คนหาปลาก็ค่อย ๆ หายไปจากทะเล เมื่อปลามีน้อยลง ส่วนแบ่งปลาและรายได้สำหรับเจ้าของเรือและลูกน้องเรือก็น้อยลง
เรือบางลำเหลือเพียงเจ้าของเรือเพียงลำพัง ทะเลเลี้ยงดูผู้คนได้น้อยลง คนที่ยังอยู่ก็ต้องเหนื่อยมากขึ้น ออกทะเลไกลขึ้น อยู่ในทะเลนานขึ้น วางอวนมากขึ้น เพื่อให้ได้เท่าเดิมหรือแค่พออยู่รอดในอาชีพที่ทำมาทั้งชีวิต
(3)
“ทวงคืนน้ำพริกปลาทู” กิจกรรมรณรงค์อนุรักษ์สัตว์น้ำวัยอ่อนของชาวประมงพื้นบ้านทั่วประเทศไทยที่เริ่มขึ้นเมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาเป็นความพยายามของภาคประชาชนที่จะสร้างการรับรู้ว่า ทะเลกำลังจะไม่มีปลาและปลาทูก็กำลังหายไป ทำไมต้องปลาทู คำตอบไม่มีอะไรซับซ้อน ปลาทูก็แค่หนึ่งปลาตัวแทนกุ้งหอยปูปลาที่หากินยากมากขึ้นทุกวัน และมันสัมพันธ์กับสัตว์น้ำวัยอ่อนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
สัตว์น้ำส่วนใหญ่จะวางไข่หรือขยายพันธุ์บริเวณชายฝั่งน้ำตื้นหรือป่าชายเลน และเมื่อโตขึ้นก็จะค่อย ๆ ออกไปสู่ทะเลที่ไกลขึ้น น้ำลึกขึ้น ปลาตัวโตมากขึ้น ปลาตัวใหญ่จะอยู่ในทะเลที่ลึกและกว้างใหญ่ และปลาตัวเล็กจะเป็นอาหารให้ปลาตัวใหญ่ได้มีโอกาสได้ใหญ่ขึ้นและเป็นพ่อแม่พันธุ์ในฤดูกาลถัดไป ปัญหามันอยู่ที่ปลาตัวเล็กไม่มีโอกาสได้เติบโตและไม่มีโอกาสได้วางไข่ สุดท้ายปลาจะค่อย ๆ หายไปจากทะเล
คุณแน่ใจหรือว่า ปลาทูที่ขายกันเกลื่อนตลาดมาจากทะเลไทย คำถามนี้ตอบไม่ยาก เพราะคนทำงานกับทะเลและคนขายปลาต่างก็รู้ว่า ธุรกิจห้องเย็นขนาดใหญ่คือแหล่งที่มาของปลาทูที่ขายกันอยู่ในทุกวันนี้ และปลาทูเหล่านั้นก็ไม่ได้มาจากทะเลไทยแต่เป็นปลาทูนำเข้าจากอินโดนีเชียและประเทศอื่น ๆ
และแน่นอนว่า ปลาทั้งหมดไม่มีใครกล้ารับรองความปลอดภัย ปลาเหล่านี้จึงกระจายอยู่ในตลาดล่างของหัวเมืองต่าง ๆ ไม่เว้นแม้แต่เมืองที่ติดทะเลและมีแพปลา เพราะปลาทูสด ๆ จากทะเลจะถูกส่งขายไปตลาดบนในราคาแพง
(4)
ประเทศนี้มีกฎหมายที่จะใช้ปกป้องสัตว์น้ำวัยอ่อน แต่ไม่มีกฎหมายลูกออกมาให้เจ้าหน้ารัฐปฏิบัติ ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะมีใครบางคนบางครอบครัวได้ประโยชน์จากการจับสัตว์น้ำวัยอ่อน แล้วเขาจับไปทำอะไรล่ะ นั่นนะสิ
สัตว์น้ำวัยอ่อนมีทางไปอยู่ไม่มากนัก
(1) เป็นสัตว์ตัวเต็มวัย(ในอนาคต)
(2) เป็นอาหารให้สัตว์น้ำขนาดใหญ่(ปลาใหญ่กินปลาเล็ก)
(3) เป็นอาหารขึ้นโต๊ะสำหรับคนมีเงิน
(4) เป็นอาหารสัตว์ในฟาร์ม(ปลาเป็ด)
สัตว์น้ำวัยอ่อนส่วนใหญ่มากกว่า 90% ถูกทำเป็นปลาเป็ด หมายถึงปลาที่ถูกจับมาจากทะเลด้วยเครื่องมือทำลายล้างทั้งหลาย ส่วนมากจะเป็นเรืออวนลากและเรืออวนรุน
ปีพ.ศ.2560 ผมเคยสำรวจโดยการนับจำนวนสัตว์น้ำที่น้ำหนัก 1 กิโลกรัมนับสัตว์น้ำได้ 1,560 ตัว ใช่ครับ มันมากขนาดนั้น เพราะมันคือสัตว์น้ำขนาดเล็กที่ถูกจับมาด้วยอวนตาถี่ สัตว์เล็กแค่ไหนก็ไม่รอดและสัตว์น้ำเหล่านี้ไม่สามารถเอาไปทำเป็นอาหารได้ หรือขายได้ก็ราคาถูก
คนจับปลาจะขายให้กับแพปลาที่ทำความร่วมมือกับโรงงานอาหารสัตว์ สัตว์น้ำทุกตัวจะเดินทางไปเป็นส่วนหนึ่งของอาหารไก่ อาหารหมู อาหารปลา อาหารหมา อาหารแมว ฯลฯ ซึ่งสุดท้ายสัตว์ในฟาร์มก็กลับมาเป็นอาหารให้คนอย่างเรา ๆ ได้กิน เราจึงกลายเป็นคนสนับสนุนการทำลายล้างทะเลไปโดยไม่รู้ตัว
(5)
กลุ่มทุนไม่กี่รายได้ประโยชน์จากการจับสัตว์น้ำวัยอ่อน โรงงานอาหารสัตว์ในประเทศไทยมีไม่กี่ยี่ห้อเท่านั้น และทุกคนก็น่าจะพอเดากันได้ไม่ยากว่า ใครเป็นเจ้าของ และใคร ๆ ก็รู้ว่ากัน กลุ่มทุนเหล่านี้อยู่เบื้องหลังรัฐบาล
ทำไมรัฐมนตรีจึงไม่พยายามปกป้องทะเล ทำไมจึงไม่ประกาศข้อกำหนดเรื่องสัตว์น้ำวัยอ่อน เพราะนั่นจะทำให้กลุ่มทุนไม่สามารถหาวัตถุดิบป้อนเข้าโรงงานได้ เมื่อโรงงานไม่สามารถเดินเครื่องได้ นายทุนก็จะเสียหาย และรัฐบาลก็จะไม่มีผู้สนับสนุน ทุกอย่างมันเข้าใจได้และเท่านี้เอง
ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองนี้โคตรตอแหลและพึ่งไม่ได้ แต่หากเรายังนิ่งเฉย ไม่ส่งเสียงหรือพยายามขับเคลื่อนการปกป้องทะเล อีกไม่กี่ปีข้างหน้าทะเลจะไม่สามารถเลี้ยงดูใครได้อีก คนมีเงินเท่านั้นที่จะรอดและใครกี่คนที่จะอยู่รอด
โฆษณา