Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
เรื่องเล่าหลากหลายกับนายฝัน
•
ติดตาม
8 ก.ค. 2022 เวลา 04:30 • ประวัติศาสตร์
สามก๊กชวนรู้ (1) : วรรณกรรม vs จดหมายเหตุ ฉบับไหนดี ?
.
ในยุคปัจจุบัน เมื่อเข้าไปแลกเปลี่ยนเรื่องราวเกี่ยวกับสามก๊กตามที่ต่าง ๆ โดยเฉพาะในสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ มักจะพบการถกเถียงบ่อย ๆ อย่างหนึ่งว่า ส่วนนี้เป็นวรรณกรรม (บางทีใช้คำว่า นิยาย เพื่อลดความน่าเชื่อถือ) ส่วนนั้นเป็นจดหมายเหตุ (บางทีใช้คำว่า ประวัติศาสตร์ เพื่อเพิ่มคุณค่า)
ก่อนที่จะกล่าวถึงเรื่องอื่นต่อไป ขออธิบายให้บางท่านที่อาจจะไม่ใช่ผู้ศึกษาสามก๊ก แต่อาจจะเคยได้ยินชื่อนี้ผ่านหูมาบ้างเข้าใจเสียก่อนว่า สามก๊ก คืออะไร
สามก๊ก (ค.ศ.220-280) คือยุคสมัยหนึ่งของจีน หลังราชวงศ์ฮั่นตะวันออก (ค.ศ.25-220) ล่มสลายเกิดเหล่าฮ่องเต้ที่อ้างตัวเป็นผู้สืบอาณัติสวรรค์จากราชวงศ์ฮั่นตะวันออกอยู่ 3 ฝ่าย ปกครองดินแดนส่วนต่าง ๆ ของราชวงศ์ฮั่นตะวันออกเดิมมากน้อยต่างกันไป ก่อนที่แผ่นดินที่แบ่งเป็น 3 ฝ่ายนั้น จะถูกรวมโดยราชวงศ์จิ้น (ค.ศ.266-420)
แต่ว่าโดยทั่วไปแล้ว มักจะต้องกล่าวถึงเหตุการณ์ตั้งแต่ช่วงปลายราชวงศ์ฮั่นตะวันออกไปจนถึงต้นราชวงศ์จิ้นด้วย เพราะเหล่าผู้มีบทบาทในยุคสามก๊กรวมถึงปฐมฮ่องเต้ของทั้ง 3 ฝ่ายในยุคสามก๊ก คือ วุยก๊ก , จ๊กก๊ก และง่อก๊ก ก็เคยมีบทบาทในสมัยปลายราชวงศ์ฮั่นตะวันออก ที่มีผลสืบเนื่องให้สามารถสถาปนาตนเองเป็นฮ่องเต้ได้
แผนที่ดินแดนของสามฝ่ายในยุคสามก๊ก ที่มาภาพ gpbctv.com
●
จดหมายเหตุสามก๊ก
จดหมายเหตุสามก๊ก (三國志) คือเรื่องราวของยุคสามก๊กได้ถูกบันทึกโดยข้าราชสำนักราชวงศ์จิ้นผู้หนึ่ง ที่เคยรับราชการอยู่ในราชสำนักจ๊กก๊กชื่อ เฉินโซ่ว (陳壽) เป็นผู้เรียบเรียงจากบันทึกที่อาลักษณ์ของวุยก๊ก และง่อก๊ก รวมถึงเอกสารของจ๊กก๊กจากอาจารย์ของตนและเอกสารอื่นที่ค้นพบภายหลัง เพราะจ๊กก๊กไม่ได้ตั้งอาลักษณ์ไว้ โดยได้เพิ่มเติมสิ่งที่ตนเองรู้เอาไว้ด้วย
หลังราชวงศ์จิ้นล่มสลายมีราชวงศ์ใหม่ปกครองส่วนต่าง ๆ ของจีน ในราชสำนักหลิวซ่ง (ค.ศ.420-479) ทางภาคใต้ของดินแดนราชวงศ์จิ้นเดิม ก็มีขุนนางคนหนึ่งชื่อ เผยซงจือ (裴松之) ทำการนำเอกสารที่เฉินโซ่วตัดทิ้งไม่นำข้อมูลมาไว้ในจดหมายเหตุที่จัดทำขึ้น เพื่อวิเคราะห์ถึงความเป็นไปได้ในแง่มุมอื่นที่อาจจะเกิดขึ้นจริง แต่จดหมายเหตุของเฉินโซ่วไม่ได้บันทึกไว้หรือบันทึกไว้อย่างอื่น เรียกว่า อรรถาธิบายจดหมายเหตุสามก๊ก (三國志注)
สำหรับผู้ศึกษาประวัติศาสตร์ในยุคสามก๊กมักจะอ้างอิงบันทึก 2 ฉบับที่ว่าเป็นหลัก
นอกจากนั้นยังมีบันทึกอื่นที่คาบเกี่ยวยุคสมัยเกี่ยวอย่าง โฮ่วฮั่นซู่ (จดหมายเหตุราชวงศ์ฮั่นยุคหลัง - 後漢書) ที่บันทึกเกี่ยวกับยุคราชวงศ์ฮั่นตะวันออก , จิ้นซู่ (จดหมายยเหตุราชวงศ์จิ้น - 晉書) สำหรับเรื่องราวคาบเกี่ยวกับการเกิดขึ้นของราชวงศ์จิ้นหรือผู้คนที่มีชีวิตตั้งแต่ยุคสามก๊กมาถึงราชวงศ์จิ้น
รวมถึงบันทึกวิเคราะห์ยุคหลังที่มีการเพิ่มเติมรายละเอียดบางอย่างที่ไม่ได้กล่าวถึงในบันทึกก่อนหน้าอย่างจือจื้อทงเจี้ยน (資治通鑑) สมัยราชวงศ์ซ่ง (ค.ศ.960-1279) หรือเอกสารอื่นที่มีการวิเคราะห์วิจารณ์เกี่ยวกับยุคสามก๊ก เช่น บันทึกบทสนทนาระหว่างถังไท่จงและหลี่เว่ยกง (唐太宗李衛公問對) สมัยราชวงศ์ถัง (ค.ศ.618-690/705-907) เป็นต้น
จดหมายเหตุสามก๊กของเฉินโซ่วที่ตีพิมพ์ในสมัยปัจจุบัน ที่มา sohu.com
●
วรรณกรรมสามก๊ก
เรื่องราวสามก๊ก ไม่ได้มีแค่มุมมองประวัติศาสตร์หรือวิชาการเท่านั้น เหมือนเรื่องราวทั่วไปในโลกนี้ที่มีเรื่องราวที่เป็นเรื่องเล่าเพื่อความสนุกสนานสำหรับชาวบ้านที่ไม่ได้เอาความถูกต้องทางวิชาการ
นิทานและตำนานที่มีหลากหลายฉบับโดยมากมักจะสืบทอดผ่านยุคสมัยในแบบปากต่อปาก ทำให้เนื้อเรื่องค่อย ๆ เปลี่ยนไปจากเรื่องที่เล่าครั้งแรกเรื่อย ๆ บางครั้งปรากฏเรื่องเล่าในเอกสารตำนานอื่น ๆ ด้วย
จนกระทั่งช่วงต้นราชวงศ์หมิง (ค.ศ.1368-1644) ได้มีการประพันธ์วรรณกรรมอิงประวัติศาสตร์ที่อ้างอิงเหตุการณ์ในยุคสามก๊กขึ้น โดยมีการดัดแปลงบ้างบางส่วน แต่จะไม่เสียโครงเรื่องเดิม ชื่อ สามก๊กจี่ทงซกเอี้ยนหงี (三國志通俗演義-นิทานแสดงเรื่องราวจดหมายเหตุสามก๊กสำหรับประชาชน) โดย หลอกว้านจง (羅貫中)
สมัยราชวงศ์ชิง (ค.ศ.1636-1912) เหมาหลุน (毛綸) เหมาจงกัง (毛宗崗) สองพ่อลูกตระกูลเหมา ได้ทำการปรับปรุงแก้ไข หนังสือของหลอกว้านจง จากเดิมที่ยาวถึง 900,000 ตัวอักษรเหลือ 750,000 ตัวอักษร ด้วยการพยายามลดบรรยายโวหารและพรรณาโวหารจากมุมมองบุคคที่สามลง และได้ตัดส่วนที่ยกย่องฝ่ายที่ปรึกษาและขุนพลของวุยก๊กที่เป็นฝ่ายโค่นล้มราชวงศ์ฮั่นตะวันออกทิ้งไป จากค่านิยมขงจื๊อที่แพร่หลายในยุคราชวงศ์ชิงว่า ผู้ภักดีคคือฝ่ายที่ชอบธรรม ให้ชื่อว่า สามก๊กเอี้ยนหงี (三國演義-นิทานสามก๊ก)
สามก๊กฉบับที่ถูกแปลหลายภาษาจนโด่งดังเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก รวมถึงสามก๊กฉบับที่เจ้าพระยาพระคลัง (หน) ได้อำนวยการแปลเป็นภาษาไทย หนึ่งในวรรณกรรมชั้นยอดของไทย ก็แปลมาจากสามก๊กเอี้ยนหงีเช่นกัน
หน้าปก สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ที่เผยแพร่ให้อ่านออนไลน์ทางหอสมุดิจิทัลวัชรญาณ ที่มา vajirayana.org
●
ควรอ่านฉบับไหนดี
เรื่องนี้ก็คงขึ้นอยู่กับว่าแต่ละท่านจะอ่านด้วยวัตถุประสงค์ใด
ถ้าอยากเสพอรรถรสวรรณศิลป์ที่โด่งดังเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกก็ควรจะเป็น สามก๊กเอี้ยนหงี
ถ้าต้องการศึกษาวรรณกรรมแบบเชิงลึก เพื่อศึกษาภาษา, ค่านิยมสังคม และวรรณศิลป์ยุคต้นราชวงศ์หมิง ก็ควรจะเป็นสามก๊กจี่ทงซกเอี้ยนหงี เพียงแต่ว่าสามก๊กจี่ทงซกเอี้ยนหงี ยังไม่เคยพิมพ์เผยแพร่ที่ไหนไม่ทราบว่าเพราะเหตุใด จะมีฉบับหนังสือเก่าและคัดลอกเก็บอยู่ตามห้องสมุดบางที่ เช่น ห้องสมุดเซี่ยงไฮ้ เป็นต้น
ถ้าต้องการข้อมูลทางประวัติศาสตร์ ก็ควรจะนำจดหมายเหตุของเฉินโซ่ว, อรรถาธิบายของเผยซงจือ, โฮ่วฮั่นซู่, จิ้นซู่ และจือจื้อทงเจี้ยน เป็นต้น มาศึกษาเปรียบเทียบวิเคราะห์ข้อมูล
ส่วนถ้าอยากได้เพื่อความบันเทิง มีฉบับนิยาย, การ์ตูน, ละคร และภาพยนตร์ ที่อิงสามก๊กฉบับต่าง ๆ ผสมการตีความและจินตนาการของผู้สร้างให้รับชมมากมาย
สุดท้าย ขอให้สนุกกับสามก๊กครับ
หอสมุดเซี่ยงไฮ้ ถ้าสนใจสามก๊กฉบับหลอกว้านจงแบบดั้งเดิมก็มาศึกษาได้ที่นี่ ที่มาภาพ wenhui.whb.cn
เพิ่มเติมสำหรับท่านที่อยากศึกษาสามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) มีให้อ่านออนไลน์ผ่านทางหอสมุดดิจิทัลวัชรญาณ ตามลิ้งก์ข้างล่างนี้ครับ
https://vajirayana.org/%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%81%E0%B9%8A%E0%B8%81
อ้างอิง
https://en.wikipedia.org/wiki/Romance_of_the_Three_Kingdoms
จีน
ความรู้
สามก๊ก
1 บันทึก
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
สามก๊กชวนรู้
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย