30 มิ.ย. 2022 เวลา 23:00 • การตลาด
รสชาติเผ็ด ... key of Wealth ที่มีมูลค่าสูงเกินแสนล้านหยวนในจีน
ในปัจจุบันผู้บริโภคที่รับประทานอาหารรสชาติเผ็ดทั่วโลก มีจำนวนสูงกว่า 2.52 พันล้านคน ทั้งนี้ แบรนด์ Lay’s ได้รายงานข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าขนมขบเคี้ยวที่มีศักยภาพว่าขนมขบเคี้ยวที่มีรสชาติเผ็ดและเปรี้ยวจะเป็นอาหารที่มีศักยภาพสูงในตลาดและอาจเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยม/เป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภคในอนาคต
นอกจากนี้ ตามข้อมูลของ Mintel ระบุว่า ปริมาณผลิตภัณฑ์อาหารรสชาติเผ็ดที่เปิดตัวในประเทศสหรัฐอเมริกา มีอัตราขยายตัวร้อยละ 16.5 ในช่วงปี พ.ศ. 2560 - 2563
สำหรับตลาดจีนนั้น ชาวจีนนิยมรับประทานอาหารรสชาติเผ็ดมาตั้งแต่สมัยโบราณ ไม่ว่าจะเป็นผู้บริโภคในมณฑลเสฉวน มหานครฉงชิ่ง มณฑลกุ้ยโจว มณฑลยูนนาน มณฑลหูหนาน และมณฑลเจียงซี หรือแม้แต่มณฑลกวางตุ้ง มณฑลเจียงซู มณฑลเจ้อเจียง และที่อื่นๆ
1
ซึ่งคนส่วนใหญ่จะคุ้นเคยกับการรับประทานอาหารรสชาติจืด ก็ได้เริ่มลองชิม/เปิดใจกับอาหารรสชาติเผ็ดเพิ่มมากขึ้นๆด้วย เนื่องจากบริษัทต่างๆ เปิดตัวผลิตภัณฑ์อาหารหลากหลายชนิดที่มีรสชาติเผ็ดที่ได้รับความชื่นชอบจากผู้บริโภคจีนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
ข้อมูลจาก “รายงานอุตสาหกรรมอาหารแฟรนไชส์ของจีนประจำปี พ.ศ. 2564” ระบุว่า อาหารรสชาติเผ็ดที่มีส่วนแบ่งตลาดอาหารอันดับที่หนึ่งและสอง ได้แก่ หม้อไฟและอาหารเสฉวน โดยคิดเป็นร้อยละ 13.7 และร้อยละ 12.4 ตามลำดับ
สำหรับตลาดเครื่องปรุงรสของจีน พบว่า เครื่องปรุงรสเผ็ดมีส่วนแบ่งตลาดมากกว่าร้อยละ 30.88 ส่วนตลาดขนมขบเคี้ยว พบว่าขนมที่มีรสเผ็ดก็มีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นรวดเร็วเช่นกัน โดยมูลค่ายอดขายปลีกของขนมขบเคี้ยวรสเผ็ด อยู่ที่ 157,000 ล้านหยวน ในปี พ.ศ. 2563 เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.39 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
โอกาสและข้อเสนอแนะสำหรับอาหารรสเผ็ด
- ความเผ็ดที่หลากหลายทำให้รสชาติอาหารมีความซับซ้อนและน่าสนใจยิ่งขึ้น
เนื่องจากประสบการณ์ในการชิมอาหารรสชาติเผ็ดของผู้บริโภคมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้อาหารที่มีความเผ็ดเพียงรสเดียวคงจะไม่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้อีกต่อไป
ดังนั้น ผู้ประกอบการธุรกิจสินค้าอาหารจึงควรมีการวิจัยและพัฒนาความเผ็ดให้มีหลากหลายชนิด อย่างเช่น การผสมผสานวัตถุดิบจากต่างประเทศ อาทิ ฮวาเจียว พริกไทย วาซาบิ ขิง เครื่องแกง/curry เป็นต้น เพื่อสร้างสรรค์รสชาติความเผ็ดใหม่ที่เกิดจากวัตถุดิบต่างๆ
1
นอกจากนี้ ความเผ็ดก็ยังแยกย่อยได้หลากหลายด้วย เช่น หอมเผ็ด เผ็ดหวาน เปรี้ยวเผ็ด เผ็ดร้อน เผ็ดหม่าล่า(ชาๆลิ้น) เป็นต้น ตัวอย่างของสินค้าดังกล่าว ได้แก่ Mike's Hot Honey เป็นเครื่องปรุงรสที่มีส่วนผสมวัตถุดิบจากพริก น้ำส้มสายชูและน้ำผึ้งบริสุทธิ์ 100% ซึ่งสามารถนำไปรับประทานกับเมนูอาหารไก่ทอด พิซซ่า และของหวาน
ทั้งนี้ จากรายงานของบริษัท Datassential ระบุว่า ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา เมนูอาหารที่ใช้เครื่องปรุงรส “Mike's Hot Honey” ได้เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 101 ทั่วโลก
- เติมรสชาติเผ็ดแทนการใช้โซเดียมในอาหารเพื่อสุขภาพที่ดี
จีนเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการบริโภคเกลือ (โซเดียม) มากที่สุดในโลก โดยในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา ปริมาณการบริโภคเกลือโดยเฉลี่ยของชาวจีน สูงกว่า 10 กรัม/คน/วัน และยังมีข้อมูลสถิติระบุว่า จำนวนประชากรจีนทุกๆ 100,000 คน จะมีผู้เสียชีวิตจากสาเหตุที่บริโภคโซเดียมมากเกินไป 180 คน (หรือคิดเป็นร้อยละ 0.18)
ดังนั้น บริษัทผู้ผลิตสินค้าอาหารจึงหันมาให้ความสำคัญกับอาหารรสชาติเผ็ด โดยมีจุดประสงค์ที่จะเพิ่มวัตถุดิบรสเผ็ดเข้าไปแทนรสเค็ม เพื่อลดปริมาณการใช้เกลือในการผลิตสินค้าอาหาร และตอบสนองความต้องการลดปริมาณการบริโภคเกลือในชีวิตประจำวันของผู้บริโภคชาวจีน
อย่างเช่น แบรนด์ญี่ปุ่น Calbee เคยเปิดตัวสินค้าใหม่ “มันฝรั่งทอดกรอบที่มีเกลือเล็กน้อย” (จำนวน 4 รสชาติ ได้แก่ ครีมเปรี้ยวและหัวหอม พริกกระเทียม สาหร่ายวาซาบิ และน้ำซุปรสเผ็ด) โดยมีปริมาณเกลือ 0.4 กรัม/ถุง ซึ่งเป็นการปรับปริมาณการใช้เกลือในผลิตภัณฑ์ลดลงร้อยละ 30
- การเปิดตัวผลิตภัณฑ์รสเผ็ดชนิดใหม่ๆ ในท้องตลาดเริ่มมีมากขึ้นเรื่อยๆ
ในปัจจุบันรสชาติเผ็ดไม่ได้มีการใช้เฉพาะกับอาหารแบบดั้งเดิม (เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เมล็ดถั่วแห้ง มันฝรั่งทอดกรอบ บิสกิต ฯลฯ) เท่านั้น แต่ยังนำไปใช้ในการผลิตสินค้าหลากหลายประเภท อาทิ ลูกกวาด/ท็อฟฟี่ ช็อกโกแลต ไอศกรีม เครื่องดื่ม โยเกิร์ต เป็นต้น
ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมากจากผู้บริโภคชาวจีน อย่างเช่น PRIKKA SPICY COFFEE ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์กาแฟสำเร็จรูปจากประเทศไทย มีการใช้วัตถุดิบพริกขี้หนูของไทยเป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์และยังมีจุดขายที่โดดเด่น คือ ไม่ใส่น้ำตาลและไม่มีไขมันทรานส์ ทั้งยังมีปริมาณแคลอรี่เพียงแค่ 60 kcal/ซองเท่านั้น
เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ในงานเทศกาลกาแฟที่จัดขึ้นในนครเฉิงตู ปรากฏว่า มีการจัดแสดงสินค้ากาแฟหลากหลายชนิดที่มีรสชาติเผ็ดภายในงานดังกล่าว และยังพบว่า หัวข้อ “#คาดไม่ถึง นครเฉิงตูมีกาแฟรสเผ็ด#” ในสื่อโซเชียลมีเดีย weibo มีจำนวนยอดวิวสูงถึง 40,000,000 ครั้ง ซึ่งแสดงให้เห็นว่า กาแฟที่มีรสเผ็ดได้รับความสนใจอย่างมากจากผู้บริโภคจีน
ปัจจุบันผู้บริโภคชาวจีนที่สามารถทานอาหารรสเผ็ดมีจำนวนมากกว่า 650 ล้านคน และจากสถิติของ แอปพลิเคชัน Meituan พบว่า รสชาติเผ็ดเป็นรสชาติที่ได้รับความนิยมหรือเป็นที่ชื่นชอบมากที่สุดของผู้บริโภคชาวจีน อย่างเช่น เมื่อผู้บริโภคใช้บริการสั่งซื้ออาหารกลับบ้านของ APP Meituan พวกเขามักจะเลือกอาหารรสเผ็ดมากที่สุด โดยคนกลุ่มนี้คิดเป็นร้อยละ 41.8 ของจำนวนผู้ใช้บริการสั่งซื้ออาหารกลับบ้านของ APP Meituan ทั้งหมด
ในปี พ.ศ. 2565 ความสนใจอาหารรสชาติเผ็ดของผู้บริโภคชาวจีนมีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น กระแสความนิยม/เทรนด์ของรสชาติเผ็ดในผลิตภัณฑ์อาหาร จึงเป็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่ผู้ประกอบการธุรกิจอาหารอาจนำไปใช้ในการพัฒนาสินค้าและเพื่อสามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์รสชาติ/ชนิดใหม่ๆ หรือนวัตกรรมของสินค้าอาหารให้แก่ผู้บริโภคชาวจีน
1
โดยคำนึงถึงทั้งด้านรสชาติความเผ็ดซึ่งมีหลากหลายแบบ ด้านคุณภาพและมาตรฐานความปลอดภัยของสินค้า และด้านโภชนาการ/คุณประโยชน์ที่ดีต่อสุขภาพ
โฆษณา