29 มิ.ย. 2022 เวลา 04:22 • ยานยนต์
เมื่อระยะทางที่คุยไว้ ไม่มีทางทำได้จริง🧐
กลับมาเปิดคลินิกกันต่อ เดือนที่ผ่านมาคุณหมอติดภารกิจยาวต่อเนื่อง เลยไม่ได้หาเรื่องรถมาคุยกับผู้อ่าน ขออภัยมา ณ ที่นี้😅
วันนี้จะมาชวนคุยเรื่องประเด็นการเลือกรถอีวี แต่ไม่ซ้ำของเก่าที่เคยลงไปแล้วนะครับ จะเป็นเรื่องการโฆษณาตัวเลขระยะทางที่วิ่งได้ (Range) ของรถอีวี ซึ่งตอนนี้เริ่มจะกลายเป็นโฆษณาเกินจริงสำหรับบางยี่ห้อที่ถือโอกาสเอาเลขเยอะๆ สวยๆ มาหลอกล่อ ในขณะที่ผู้บริโภคยุคนี้ยังไม่แตกฉานว่าในโลกของอีวี อะไรควรเชื่อ อะไรไม่ควรเชื่อ
หลายคนตัดสินรถอีวีด้วยตัวเลขระยะทางที่วิ่งได้ต่อการชาร์จเต็มหนึ่งครั้ง ซึ่งไม่ได้ผิดอะไรครับ เพียงแต่เราต้องรู้ด้วยว่า ตัวเลขสวยๆ ในโฆษณามันมาจากไหน ที่สำคัญคือถ้าซื้อมาขับจริง จะทำได้อย่างที่ระบุไว้หรือเปล่า?
ก่อนอื่น ต้องรู้ว่าตัวเลขระยะทางที่วิ่งได้ ปัจจุบันมี 2 มาตรฐานหลักๆ คือ มาตรฐาน NEDC กับ WLTP ซึ่งมาจากทางยุโรปทั้งคู่
NEDC ย่อมาจาก New European Driving Cycle เป็นมาตรฐานการทดสอบที่กำหนดให้ใช้ตั้งแต่ยุค 1980s หรือราว 40 ปีมาแล้ว ใช้วัดประสิทธิภาพของรถยนต์ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง อัตราการปล่อยมลพิษ รวมถึงวัดระยะทางที่วิ่งได้ของรถอีวีด้วย
การทดสอบตามมาตรฐานของ NEDC จะอยู่บนพื้นฐานของระบบขับเคลื่อนเพียงอย่างเดียว ไม่รวมอุปกรณ์อำนวยความสะดวกต่างๆ ในรถคันนั้น ทดสอบในห้องแล็บ ใช้เวลาเพียง 20 นาที ความเร็วที่ใช้ก็ค่อนข้างต่ำ และมีรูปแบบการขับขี่แค่ในเมืองกับนอกเมือง ล่าสุดการทดสอบแบบ NEDC เริ่มทยอยเลิกใช้และถูกแทนที่ด้วยมาตรฐาน WLTP
สำหรับการทดสอบแบบ WLTP (Worldwide Harmonised Light Vehicle Test Procedure) นั้นจะเข้มข้นกว่า โดยใช้ความเร็วสูงกว่า ระยะเวลาทดสอบนานกว่า สถานการณ์การขับขี่หลากหลายกว่า และมีการคำนวณภาระของรถเมื่อติดตั้งอุปกรณ์อำนวยความสะดวกต่างๆ ไว้ด้วย จุดประสงค์เพื่อให้ใกล้เคียงกับรูปแบบการขับขี่จริงบนท้องถนนมากที่สุด ตัวเลขที่ผู้บริโภคได้จาก WLTP จึงนำไปอ้างอิงประกอบการตัดสินใจได้👍
ผู้ผลิตรถยนต์ในยุโรปเริ่มใช้มาตรฐาน WLTP ตั้งแต่ปลายปี 2017 เป็นต้นมา สำหรับภูมิภาคอื่นๆ ก็ทยอยใช้ WLTP แทนที่ NEDC มาเรื่อยๆ แต่เนื่องจากประเทศไทยยังไม่มีการกำหนดมาตรฐานเรื่องนี้ โดยเฉพาะรถอีวี ดังนั้นผู้ผลิตบางรายจึงอาศัยช่องโหว่ นำตัวเลขแบบ NEDC ที่ดูสวยกว่า มาใช้ในโฆษณา😡
ดังนั้นถ้าเรากำลังเลือกดูรถอีวีรุ่นใดอยู่ ให้สังเกตก่อนว่าตัวเลขระยะทางที่วิ่งได้นั้น มาจากการทดสอบแบบใด ถ้าเป็น NEDC บอกได้เลยว่าถึงเวลาซื้อมาใช้จริง ไม่มีทางทำได้อย่างที่ระบุ ยิ่งถ้ารถรุ่นนั้นมีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกมากมาย ภายในหรูหรา แถมสารพัดของเล่นไฮเทค ยิ่งทำให้วิ่งจริงได้น้อยกว่าที่ควร เพราะแย่งกันใช้ไฟในแบตนั่นเอง🔋
ยกตัวอย่างชัดๆ ง่ายๆ คือ ORA Good Cat รุ่นเริ่มต้นที่ใช้แบตเตอรี่ความจุ 48 kWh โฆษณาในไทยว่าวิ่งได้ถึง 400 กิโลเมตร แต่ที่จริงเป็นตัวเลขที่มาจากมาตรฐาน NEDC ส่วนตัวเลขที่ผ่านมาตรฐาน WLTP ไปโผล่อยู่ในยุโรป แถมลดลงเหลือเพียง 308 กิโลเมตรเท่านั้น แปลว่าถ้าซื้อมาขับจริงจะได้อยู่ประมาณ 300 กิโลเมตร ไม่มากไปกว่านี้🤨
หรืออย่างนิสสัน LEAF ที่ใช้แบตเตอรี่ความจุ 40 kWh ขายมานานกว่าเลยใช้มาตรฐาน NEDC ซึ่งระบุไว้ว่าวิ่งได้ 311 กิโลเมตร แต่ในยุโรปที่วัดจากมาตรฐาน WLTP ได้ตัวเลขประมาณ 270 กิโลเมตร ซึ่งใกล้เคียงกับที่ลูกค้าในไทยทำได้
และหากเปรียบเทียบความจุแบตเตอรี่ของทั้ง 2 คัน (48 kWh กับ 40 kWh) กับระยะทางที่ทำได้ (308 กม. กับ 270 กม.) แปลว่าพลังงานไฟฟ้า 1 kWh ใน ORA ช่วยให้วิ่งได้ 6.42 กิโลเมตร ส่วน LEAF จะทำได้ 6.75 กิโลเมตร ถ้าพูดแบบภาษารถยนต์ทั่วไป ก็ต้องบอกว่า LEAF มีอัตราสิ้นเปลืองที่ดีกว่า ดังนั้นการยึดถือตัวเลขจาก WLTP จะช่วยให้เราเลือกรถอีวีได้แบบไม่ต้องมาเสียดายทีหลัง
รถอีวีไม่ใช่ของไกลตัว ไม่มีความซับซ้อนอย่างที่คิด และไม่ใช่เรื่องที่เราจะฝากความมั่นใจไว้กับผู้ผลิตเองทั้งหมด เพราะความไม่แข็งแรงของการคุ้มครองผู้บริโภคในบ้านเรา อาจเป็นช่องโหว่ให้ผู้ผลิตหน้าใหม่สร้างกระแสความสนใจ บทความนี้อยากให้คนอ่านเข้าใจว่า การเลือกรถอีวี ใช้แค่คณิตศาสตร์พื้นฐานก็ช่วยให้เรามองเห็นอะไรได้เอง🧮
ถ้าคิดว่าคลินิกนี้มีประโยชน์ ฝากช่วยกันแชร์นะครับ ยิ่งมีคนอ่านมาก ก็มีความรู้มาก จะได้ลดการกระจายข้อมูลแบบปากต่อปากที่ผิดเพี้ยน
#mycarclinic
#เลือกรถที่ใช่
#เลือกรถอะไรดี
#เลือกรถไฟฟ้า
#เลือกรถไฮบริด
#ดูแลรถด้วยตัวเอง
#besmartdriver
โฆษณา