29 มิ.ย. 2022 เวลา 04:53 • การศึกษา
การค้นพบทางโบราณคดีแห่งปี 2020 “กระดูกวาฬ” ที่สมุทรสาคร ถึง “โลงศพ” นับร้อยในอียิปต์
การขุดค้นโครงกระดูกวาฬ บ้านแพ้ว ที่สมุทรสาคร เผยแพร่เมื่อ 25 พ.ย. 2563 จาก Facebook/กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
พ.ศ. 2563 (ค.ศ. 2020) เกิดปรากฏการณ์ต่างๆ มากมาย แวดวงโบราณคดีและเหล่าผู้ทำงานในภาคสนามยังทำงานเพื่อค้นหาหลักฐานมาต่อชิ้นส่วนปริศนาทางประวัติศาสตร์ซึ่งจะช่วยอธิบายเรื่องราวในอดีตให้สมบูรณ์ขึ้นยังทำงานกันอย่างเต็มที่ การค้นพบทางโบราณคดีในปีนี้มีหลายเหตุการณ์น่าสนใจอีกเช่นเคย
แน่นอนว่าข่าวการค้นพบใหม่เกิดขึ้นรอบโลก ธรรมเนียมประจำสำหรับการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการค้นพบที่น่าสนใจในปี 2020 เมื่อพูดถึงการค้นพบที่น่าสนใจก็จำเป็นต้องคัดเลือกมาเอ่ยถึงเป็นบางส่วน และนี่คือ 5 การค้นพบทางโบราณคดีที่ “น่าสนใจ” ซึ่งถูกเผยแพร่ออกสู่สาธารณะในปี 2020
พบ “โครงกระดูกวาฬ” ที่จังหวัดสมุทรสาคร ซากดึกดำบรรพ์ อายุประมาณ 2,000–6,000 ปี
การค้นพบที่เกิดขึ้นในไทยครั้งนี้เผยแพร่ในสื่อต่างประเทศรอบโลก รายงานข่าวเผยว่าวันที่ 6 พฤศจิกายน 2563 ที่ตำบลอำแพง อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร ภายในพื้นที่ของบริษัท ไบรท์ บลู วอเตอร์ คอร์เปอเรชั่น จำกัด ได้มีการขุดบ่อดินแล้วพบโครงกระดูกวาฬขนาดใหญ่
เมื่อได้รับแจ้งการค้นพบ การสำรวจขุดค้นซากวาฬตามหลักวิชาการจึงเริ่มขึ้นโดยความร่วมมือกันของกรมทรัพยากรธรณี กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และหน่วยงานในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้รับความอนุเคราะห์และความร่วมมือจากเจ้าของพื้นที่
ผลการสำรวจขุดค้นเพิ่มเติมพบว่า ชิ้นส่วนกระดูกวาฬสะสมตัวอยู่ในตะกอนดินเหนียวทะเลโบราณ โครงกระดูกวาฬที่พบเปลี่ยนสภาพจากการแทนที่ของแร่ธาตุอื่นยังไม่สมบูรณ์ ส่วนใหญ่มีสภาพค่อนข้างเปราะบาง
ดังนั้นจึงเร่งสำรวจขุดค้น ตั้งแต่วันที่ 9 -15 พฤศจิกายน 2563 พบว่ามีกระดูกวาฬอีกหลายชิ้นที่เรียงตัวต่อเนื่อง และขุดค้นได้มากกว่าร้อยละ 50 ประกอบไปด้วยกระดูกสันหลังที่สมบูรณ์ 19 ชิ้น กระดูกซี่โครงข้างละ 5 ชิ้น สะบักไหล่ และแขน (ครีบ) ด้านซ้าย
ต่อมามีการสำรวจเพิ่มเติมอีกในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2563 ผลการขุดค้น พบชิ้นส่วนกระดูกวาฬเพิ่มเติมมากกว่าร้อยละ 80 ได้แก่ กระดูกสันหลังส่วนลำตัวถึงส่วนคอ กระดูกซี่โครง และกะโหลกพร้อมขากรรไกรสภาพสมบูรณ์
หลังจากนั้นก็นำตัวอย่างไปอนุรักษ์ในห้องปฏิบัติการและเตรียมศึกษาวิจัยเพื่อระบุสายพันธุ์ต่อไป นอกจากโครงกระดูกวาฬแล้ว บริเวณโดยรอบยังพบซากสิ่งมีชีวิตอื่นๆ อาทิ ฟันฉลาม ฟันกระเบน เปลือกหอย ปูทะเล เพรียงทะเล และเศษไม้ และได้นำตัวอย่างเปลือกหอย ซากพืช และกระดูกวาฬ ส่งวิเคราะห์หาอายุด้วยวิธีศึกษาธาตุคาร์บอน-14 (C-14)
การพบโครงกระดูกวาฬบนแผ่นดินซึ่งห่างจากชายฝั่งทะเลปัจจุบันประมาณ 15 กิโลเมตร ในครั้งนี้ เป็นหลักฐานสำคัญที่บ่งชี้ถึงการรุกของน้ำทะเลเข้ามาในแผ่นดินเมื่อหลายพันปีก่อน อีกทั้งสามารถศึกษาประวัติและวิวัฒนาการของวาฬและสัตว์ทะเลในอดีต และเห็นถึงความหลากหลายทางชีวภาพจากการพบซากสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ร่วมกับวาฬ
นอกจากนี้ ผลที่ได้จากการสำรวจด้วยวิธีการเจาะสำรวจศึกษาชั้นตะกอนดินและเทียบสัมพันธ์ ยังช่วยแปลความหมายว่าด้วยเรื่องสภาพแวดล้อมในอดีต การหาขอบเขตชายทะเลโบราณในพื้นที่ราบลุ่มเจ้าพระยา ตลอดจนศึกษาการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำทะเลในปัจจุบันและอนาคตที่มีผลจากปัจจัยทางธรณีวิทยาและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก โดยกรมทรัพยากรธรณีจะดำเนินการศึกษาวิจัยในเรื่องนี้ต่อไป
การขุดค้นโครงกระดูกวาฬยุติลงเมื่อต้นเดือนธันวาคม 2563 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคืนพื้นที่ให้เจ้าของพื้นที่ใช้ประโยชน์ต่อ และดำเนินการขนย้ายโครงกระดูกวาฬทุกชิ้นไปยังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติธรณีวิทยาเฉลิมพระเกียรติ ตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี เพื่ออนุรักษ์และวิจัยหาสายพันธุ์จากโครงกระดูกวาฬ
พบแหล่งโบราณคดีใต้น้ำใหม่ 3 แห่งกลางอ่าวไทย กรมศิลปากรได้รับแจ้งจากชาวประมง
วันที่ 30 กันยายน 2563 กองโบราณคดีใต้น้ำ กรมศิลปากร เผยแพร่ข้อมูลในเพจ “กองโบราณคดีใต้น้ำ กรมศิลปากร” ว่า กลุ่มเครือข่ายดำน้ำลึก (ซึ่งกลุ่มเครือข่ายดำน้ำลึกได้รับแจ้งจากไต๋เรือตกปลาอีกทอดหนึ่ง) นำข้อมูลมาแจ้งว่า พบเนิน-กองภาชนะดินเผาใต้น้ำที่ระดับความลึก 60-75 เมตร บริเวณกลางอ่าวไทย อาจเป็นแหล่งโบราณคดีใต้น้ำ ประสงค์ให้กองโบราณคดีใต้น้ำเข้าเก็บข้อมูล
ในวันที่ 25-30 กันยายน 2563 กองโบราณคดีใต้น้ำ จึงส่งเจ้าหน้าที่ร่วมดำน้ำสำรวจตรวจสอบแหล่งดังกล่าว พบแหล่งโบราณคดีใต้น้ำทั้งสิ้น 3 แหล่ง สันนิษฐานว่าเป็นเรือสำเภา จำนวน 2 แหล่ง เรือจมสมัยหลัง (เรือเหล็ก) จำนวน 1 แหล่ง
กองโบราณคดีใต้น้ำได้เก็บข้อมูลทางโบราณคดีเบื้องต้น และนำข้อมูลมาเปรียบเทียบกับฐานข้อมูลแหล่งโบราณคดีใต้น้ำของกองโบราณคดีใต้น้ำ พบว่าเป็นแหล่งใหม่ที่ไม่มีอยู่ในฐานข้อมูลกองโบราณคดีใต้น้ำทั้ง 3 แหล่งโดยกองโบราณคดีใต้น้ำได้วางแผนการเก็บข้อมูลเพิ่มเติม บริหารจัดการมรดกทรัพยากรใต้น้ำ และนำมาเผยแพร่ต่อไปในอนาคต
ขุดพบ “ดวงฤกษ์สมัยทวารวดี” ที่โบราณสถานโคกแจง จังหวัดนครปฐม
เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2563 นายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยว่า สำนักศิลปากรที่ 2 สุพรรณบุรี ได้ดำเนินการขุดแต่งโบราณสถานโคกแจง ตำบลทุ่งน้อย อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม
ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมสมัยทวารวดี ก่อด้วยอิฐ ขนาดความกว้างฐานด้านละ 7.20 เมตร และมีบันไดที่กึ่งกลางทั้ง 4 ด้าน โบราณสถานโคกแจงนับเป็นโบราณสถานที่มีขนาดค่อนข้างเล็ก เมื่อเปรียบเทียบกับโบราณสถานสำคัญหลายแห่งในเมืองโบราณนครปฐมที่เคยพบก่อนหน้า
จากการขุดแต่งพบว่า ด้านบนสุดของโบราณสถานที่ชำรุดหักพัง มีลักษณะของหลุมที่กรุผนังด้วยแผ่นอิฐ นักโบราณคดีจึงขุดตรวจสอบลงไปจนถึงระดับความลึกที่ 1.20 เมตร จึงพบโบราณวัตถุที่น่าสนใจ คือ แผ่นดินเผาทรงกลม ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 26.2 เซนติเมตร หนา 1.2 เซนติเมตร วางอยู่ในตำแหน่งทิศตะวันตกเฉียงเหนือภายในพื้นที่กรอบอิฐ
แผ่นดินเผานี้มีขีดช่องตารางคล้ายกับดวงฤกษ์แบ่งเป็น 12 ช่องตามแนวรัศมี และขีดเส้นวงกลมซ้อนชั้นจากแกนกลางออกมาเป็นระยะ เกิดเส้นซ้อนทับกันเป็นช่องตารางย่อย ในแต่ละช่องตารางพบตัวอักษรจารกำกับอยู่เกือบทุกช่อง รวมถึงที่ขอบของแผ่นดินเผาก็พบตัวอักษรจารึกเช่นกัน พิจารณารูปอักษรจารึกในเบื้องต้นพบว่า ลักษณะคล้ายกับกลุ่มอักษรสมัยหลังปัลลวะ อายุราวพุทธศตวรรษที่ 14
อย่างไรก็ตาม การอ่านแปลและวิเคราะห์สาระในจารึก จำเป็นต้องพิจารณาจากอักษรที่มีทั้งหมด ซึ่งจะสามารถดำเนินการได้ภายหลังจากโบราณวัตถุผ่านกระบวนการอนุรักษ์ทางวิทยาศาสตร์ให้มีความแข็งแรง
ในครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่ค้นพบแผ่นฤกษ์ทรงกลมที่มีการจารึกตัวอักษรในวัฒนธรรมทวารวดีในประเทศไทย แต่เดิมเคยพบหลักฐานแผ่นอิฐที่สันนิษฐานว่าเป็นอิฐฤกษ์ที่เจดีย์จุลประโทน จังหวัดนครปฐม เป็นอิฐที่ทำลวดลายพิเศษ และที่เจดีย์หมายเลข 1 เมืองโบราณอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี
เป็นอิฐที่ตกแต่งด้วยการเขียนสีเป็นลวดลาย การค้นพบแผ่นฤกษ์มีตัวอักษรที่ใจกลางโบราณสถานโคกแจง จึงเป็นหลักฐานใหม่ที่จะช่วยให้การศึกษาทางโบราณคดีในส่วนของพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับโบราณสถานในวัฒนธรรมทวารวดีก้าวหน้าไปอีกขั้นหนึ่ง
สำนักศิลปากรที่ 2 สุพรรณบุรี ได้เคลื่อนย้ายแผ่นดินเผานี้ไปเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์ เพื่อให้นักวิทยาศาสตร์ดำเนินการอนุรักษ์ตามกระบวนการ หลังจากนั้นจะนำไปศึกษาวิเคราะห์รูปแบบอักษรที่จารึก และศึกษาด้านอื่นที่เกี่ยวข้องต่อไป
ภาพ “แผ่นดินเผาทรงกลม” ซึ่งคาดว่าเป็น แผ่นฤกษ์ทรงกลม พบที่โบราณสถานโคกแจง จังหวัดนครปฐม ภาพจาก กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมศิลปากร
พบโครงกระดูกแมมมอธขนยาว อายุกว่าหมื่นปี จากใต้ทะเลสาบในไซบีเรีย
ช่วงปลายเดือนกรกฎาคม 2563 รายงานข่าวจากสื่อต่างประเทศหลายแห่งเปิดเผยว่า นักวิทยาศาตร์ในรัสเซียขุดค้นโครงกระดูกแมมมอธขนยาว (Wooly Mammoth) ในสภาพสมบูรณ์ มีอายุมากกว่า 10,000 ปี ขึ้นมาจากทะเลสาบในไซบีเรีย
นักวิทยาศาสตร์ใช้เวลาขุดล้างโคลนจากทะเลสาบ 5 วันเพื่อค้นหาซากที่คงเหลืออยู่และพบแม้กระทั่งอุจจาระ ไปจนถึงผิวหนัง และเอ็น รายงานข่าวเผยว่า ซากเหล่านี้ถูกคนท้องถิ่นสังเกตเห็น
การค้นพบซากต่างๆ ของสัตว์ในอดีตในแถบไซบีเรียเกิดบ่อยขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สืบเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศซึ่งเป็นผลให้อุณหภูมิในพื้นที่อาร์กติก (Arctic) อุ่นขึ้นเร็วกว่าพื้นที่อื่นบนโลกจนชั้นดินเยือกแข็งที่คงสภาพมายาวนานเกิดละลายลง
รายงานข่าวเผยว่า แมมมอธขนยาว มีแนวโน้มถูกตั้งชื่อว่า Tadibe ตามครอบครัวที่ค้นพบ
Andrey Gusev จากศูนย์วิจัยแห่งอาร์กติก แสดงความคิดเห็นว่า สภาพของซากโครงกระดูกที่ค้นพบครั้งนี้ค่อนข้างหายาก หากพิจารณาถึงสภาพกระดูกสันหลังที่ยังติดกับเอ็นและผิวหนังอยู่ (คลิกอ่านเพิ่มเติมที่นี่)
นอกจากการค้นพบซากแมมมอธครั้งนี้ รายงานข่าวจากสื่อประเทศยังเอ่ยถึงการค้นพบซากโครงสร้างของสิ่งปลูกสร้างจากยุคน้ำแข็งที่สร้างขึ้นจากกระดูกแมมมอธราว 60 ตัว ในแหล่งโบราณคดีที่เรียกว่า Kostenki-Borshevo archaeological complex
รายงานข่าวเผยว่า โครงสร้างที่พบมีลักษณะเป็นทรงกลม ถูกสร้างขึ้นราว 25,000 ปีก่อน ระหว่างช่วงพีกในช่วงสุดท้ายของยุคน้ำแข็ง ซึ่งลักษณะของสังคมในเวลานั้นส่วนใหญ่ยังเป็นการรวมกลุ่มของนักล่าซึ่งเคลื่อนย้ายที่โดยไม่ลงหลักปักแหล่ง
พบโลงโบราณนับร้อย ในอียิปต์ บางโลงมีมัมมี่
ช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน 2563 รายงานข่าวจากสื่อต่างประเทศหลายแห่งเปิดเผยการค้นพบโลงศพโบราณในอียิปต์อย่างน้อย 100 ชิ้น ในสุสานซักการา (Saqqara) ทางใต้ของกรุงไคโร ทั้งหมดอยู่ในสภาพสมบูรณ์ บางโลงยังมีมัมมี่บรรจุภายในด้วย การค้นพบครั้งนี้ถูกรายงานว่า เป็นการค้นพบโลงศพเยอะที่สุดในอียิปต์ซึ่งเกิดขึ้นในปีนี้
การค้นพบครั้งนี้เกิดจากการขุดค้นที่เก็บศพลักษณะเป็นปล่องลึกลงถึงใต้ดิน ที่เก็บศพบรรจุโลงศพซ้อนเป็นชั้น โลงบางชิ้นยังปรากฏการตกแต่งภายนอกคงอยู่ด้วย คาดว่าโลงเหล่านี้มีอายุราว 2,500 ปี
ทางการอียิปต์ที่เกี่ยวข้องกับวัตถุโบราณเปิดเผยว่า การเก็บรักษาที่ดีซึ่งทำให้สภาพของโลงยังสมบูรณ์ขนาดนี้น่าจะเป็นเพราะโลงเหล่านี้เป็นของชนชั้นสูง
นักโบราณคดียังเปิดโลงตัวอย่างและเอ็กซ์เรย์มัมมี่ที่อยู่ภายในเพื่อตรวจสอบกรรมวิธีการทำ Mostafa Waziri เลขาธิการของสภาสูงสุดด้านโบราณวัตถุของอียิปต์ (Egypt’s Supreme Council of Antiquities)
ให้สัมภาษณ์กับสื่อต่างประเทศว่า ผลการเอ็กซ์เรย์แสดงให้เห็นว่ามัมมี่เป็นเพศชาย สูงประมาณ 5 ฟุต 4 นิ้ว ถึง 5 ฟุต 7 นิ้ว ระหว่างมีชีวิตมีสุขภาพดี และน่าจะเสียชีวิตขณะอายุราว 40-45 ปี
นักโบราณคดีตรวจสอบมัมมี่ ที่ถูกพันอย่างดีในผ้าห่อศพซึ่งตกแต่งด้วยภาพ-อักษรอียิปต์โบราณซึ่งเต็มไปด้วยสีสัน ขณะแถลงข่าว เมื่อ 14 พฤศจิกายน 2020 เปิดเผยถึงการค้นพบโลงศพนับ 100 โลง จากสุสาน Saqqara ภาพจาก AHMED HASAN / AFP
โฆษณา