29 มิ.ย. 2022 เวลา 11:27 • ข่าวรอบโลก
เศรษฐกิจโลกกับคนป่วยทั้งสาม
Blockdit Originals โดย ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร
3
ลองจินตนาการภาพผู้ป่วย 3 ราย นี้ แล้วคิดตามกันดูนะครับว่าแต่ละรายเหมือนใคร
1
ผู้ป่วยรายแรก ดูภายนอกสุขภาพแข็งแรง กล้ามเป็นมัดๆ อัดสเตียรอยด์มาเต็มที่ มาพบแพทย์ตรวจสุขภาพ คุณหมอแจ้งว่าค่าตับค่าไตค่าเลือดทุกอย่างดีหมด เสียเพียงอย่างเดียวความดันสูงปรี๊ด ความดันนี่ถ้าสูงนิดหน่อยแปลว่าเลือดลมสูบฉีด แต่ถ้าสูงทะลุเพดานนี่น่ากลัวมากครับ
3
คุณหมอชมว่าสุขภาพดีมาก แต่ต้องทานยาคุมความดัน เพราะหากคุมความดันไม่ได้ ไตจะวายเอา และสารพัดโรคจะเริ่มตามมาเป็นลูกโซ่
6
ผู้ป่วยรายแรกก็เหมือนอาการของสหรัฐฯ วันนี้ ดูตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทุกอย่างแข็งแกร่ง ดังที่ประธานธนาคารกลางเพิ่งออกมาคุยโม้ว่า ตัวเลขการเติบโต ตัวเลขการจ้างงาน ตัวเลขการบริโภคล้วนดูดีมาก ใช่ครับ มีเพียงตัวเดียวที่แย่ คือ เงินเฟ้อ ที่ตอนนี้พุ่งทะยานสูงสุดในรอบ 40 ปี แตะที่ร้อยละ 8.6
3
ถ้าธนาคารกลางจะจ่ายยาคุมเงินเฟ้อ ก็ต้องคิดให้หนัก เพราะหากยาแรงไป ตับไตไส้พุงอาจพังตาม แต่ถ้าให้ยาอ่อนไป ก็คุมความดันไม่อยู่ ส่วนถ้าจะทำเฉยๆ ปล่อยเงินเฟ้อไปไม่สนใจ สุดท้ายก็อาจไตวายถึงฆาตได้
5
แล้วหากเลือกใช้ยาคุมเช่นขึ้นดอกเบี้ย แล้วเกิดความดัน (เงินเฟ้อ) ไม่ลด แถมเศรษฐกิจเข้าโหมดถดถอยอีก คราวนี้จะฉีดสเตียรอยด์ก็ไม่ได้ เพราะก่อนหน้านี้อัดไปเต็มที่แล้ว ตอนนี้มีแต่ต้องค่อยๆ ดึงสภาพคล่องออกจากระบบ ดังนั้นจะเลือกไปซ้ายไปขวาล้วนเสี่ยงทั้งนั้น
ในทางทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ สาเหตุของเงินเฟ้ออาจมีได้หลายอย่างมาก แต่เงินเฟ้อสหรัฐฯ รอบนี้เข้าทำนอง “มีครบทุกสาเหตุ” ไม่ว่าจะเป็นผลจากการอัดฉีดเงินเข้าระบบมหาศาลช่วงโควิด การฟื้นตัวของดีมานด์หลังโควิด ปัญหาซัพพลายเชนจากโควิดและการล็อกดาวน์ที่จีน ปัญหาวิกฤตพลังงานจากสงคราม ปัญหาการขึ้นกำแพงภาษีจากสงครามการค้า ฯลฯ แต่ถ้าสาเหตุมากมายอย่างนี้ ปัญหาคือไม่มีใครแน่ใจจริงๆ ว่าสาเหตุหลักคือข้อใดกันแน่ หรือถึงคลายเงื่อนข้อหนึ่งได้ เงินเฟ้อก็อาจไม่จบง่ายๆ เพราะยังมีข้ออื่น
8
นี่ยังไม่นับว่าเงินเฟ้อมีปัจจัยเชิงจิตวิทยา พอคนเชื่อว่าเงินเฟ้อ ก็ขอค่าแรงเพิ่ม กลายเป็นวงจรดันเงินเฟ้อไม่ลงเสียที แม้หลายคนเชื่อว่าเงินเฟ้อสหรัฐฯ น่าจะแตะจุดสูงสุดแล้ว คงไม่ทะลุเพดานไปได้มากกว่านี้ แต่ก็ไม่ค่อยมีใครเชื่อว่าเงินเฟ้อจะกลับลงมาที่ระดับต่ำที่ร้อยละ 2 ดังในอดีตได้ เราอาจจะต้องชาชินกับยุคเงินเฟ้อที่ร้อยละ 4 บวกลบเป็นเวลายาวนาน
3
หันมาดูผู้ป่วยรายที่สอง รายนี้มาพร้อมสภาพอ่อนเปลี้ยเพลียแรง บอกหมอว่าไม่ได้กินไม่ได้นอนไม่ได้พักมาหลายวันแล้ว เพราะข้างบ้านตีกันวุ่นวาย อาหารก็ขาด พลังงานก็ขาด ความดันก็พุ่ง ข้างบ้านไม่พักรบ ก็คงไม่ฟื้น คงนึกตามกันไม่ยากนะครับว่าผู้ป่วยรายนี้ก็คือ ยุโรป
1
สงครามยูเครนกระทบเศรษฐกิจยุโรปหนักหนาสาหัสที่สุด และการคว่ำบาตรของยุโรปต่อรัสเซีย กลับกลายเป็นบูมเมอแรงหมุนกลับมาทำร้ายยุโรปเอง ถ้าให้ยืนหยัดมาตรการคว่ำบาตรสองเดือนอาจไหว แต่สงครามยืดเยื้อไม่จบ ยิ่งนานวันยิ่งเลือดซึมไม่หยุดจนร่างกายอ่อนโรย
11
ถ้าโรคของสหรัฐฯ คือเงินเฟ้อ โรคของยุโรปก็คือสงคราม ถ้าสงครามจบ เศรษฐกิจยุโรปคงมีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ แต่ไม่มีนักวิเคราะห์คนใดมองเห็นทางออกของสงครามเลยครับ มีแต่จะเริ่มเห็นกันว่าสงครามยูเครนก็จะเหมือนกับโควิด เหมือนกับเงินเฟ้อ จะอยู่ยาวกับเราไปเป็น “ความปกติใหม่” (New Normal) เพิ่มขึ้นอีกอย่างหนึ่ง
5
ทีนี้มาถึงผู้ป่วยรายสุดท้าย คนนี้มาหาหมอพร้อมร่างกายสะบักสะบอม อ่อนเปลี้ยเพลียแรง เล่าให้หมอฟังว่าผมคุมอาหารคุมแป้งคุมน้ำตาลเคร่งครัด หวังให้สุขภาพระยะยาวแข็งแกร่งเพื่อท้าชิงบัลลังก์มหาอำนาจให้ได้ คุณหมอมองสภาพแล้วบอกช้าก่อน ผู้ป่วยเอาระยะสั้นให้รอดก่อนไหม อาการของผู้ป่วยส่วนใหญ่นี่เกิดจากคุณทำตัวเองทั้งนั้นเลยนะ
3
ผู้ป่วยรายนี้ก็คือจีน ที่ทำตัวเองทั้งนั้นหลักๆ ก็สามเรื่องต่อเนื่องกัน ตั้งแต่การกำกับดูแลบริษัทเทคโนโลยีอย่างเคร่งครัด ตามด้วยทุบฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์เมื่อปีที่แล้ว มาจนถึงนโยบาย Zero Covid ที่เคร่งครัดต่อเนื่องมาในปีนี้ ดังที่ล็อกดาวน์มหานครใหญ่อย่างเซี่ยงไฮ้ในไตรมาสที่สองของปี
3
ผู้ป่วยรายนี้ความดันอยู่ในเกณฑ์ดี จีนไม่มีปัญหาเงินเฟ้อ (เงินเฟ้อจีนอยู่ที่ร้อยละ 2.2) แต่มีปัญหาพลังลมปราณอ่อนแรง หมอแมะบอกเลือดลมเดินสะดุดไปหมด ซึ่งเป็นผลมาจากตัวเองทั้งสิ้น คนไข้บอกเดิมตั้งใจจะกวาดบ้านซ่อมแซมหลังคาตอนแดดกำลังดีเมื่อปีที่แล้ว เศรษฐกิจจีนตอนนั้นฟื้นจากโควิด ไม่มีความกดดันเรื่องการเติบโต เข้าทำนองตั้งใจรีบคุมแป้งคุมอาหารตั้งแต่ตอนที่ยังสุขภาพดี แต่ทำหนักเกินไป กลายเป็นว่าร่างกายทรุดโทรมขาดสารอาหาร
11
ดูเหมือนผู้ป่วยรายนี้เริ่มคิดได้ว่าต้องเอาร่างกายฟื้นพลังกลับมาก่อน รัฐบาลจีนประกาศสโลแกนรักษาเสถียรภาพของการเติบโตเป็นเรื่องหลักอันดับ 1 หยุดพักเรื่องจะรุ่งเรืองร่วมกัน ปราบคนรวยช่วยคนจนเอาไว้ก่อน กฎเกณฑ์เคร่งครัดเรื่องอสังหาริมทรัพย์ก็เริ่มผ่อนคลาย พร้อมกับทยอยออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่ ผู้ป่วยรายนี้ยังโชคดีมีอาวุธลับ เพราะช่วงที่ผ่านมายังไม่ค่อยได้อัดสเตียรอยด์ ยังมีกระสุนพร้อมจะใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงิน ร่วมกับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานรอบใหม่เพื่อพยุงเศรษฐกิจไม่ให้แย่ไปกว่านี้
6
ดูอาการของผู้ป่วยทั้งสามรายแล้วก็ได้ข้อสรุปว่า เศรษฐกิจยักษ์ใหญ่ทั้งสามต่างเจ็บไข้กันหมด โดยป่วยกันคนละโรคคนละสาเหตุ ในวันนี้ ขนาดของเศรษฐกิจสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 24 ของเศรษฐกิจโลก ขนาดของเศรษฐกิจจีนคิดเป็นร้อยละ 18 ของเศรษฐกิจโลก และขนาดของเศรษฐกิจยุโรปคิดเป็นราวร้อยละ 16 ของเศรษฐกิจโลก รวมๆ เฉียดร้อยละ 60 ของเศรษฐกิจโลกล้วนป่วยไข้กันหมด นี่จึงเป็นปีโหดหินของทั้งโลก
3
ช่วงนี้นักวิเคราะห์หลายคนเริ่มกลับมาให้ความสนใจตลาดจีน เพราะในบรรดาสามเศรษฐกิจหลัก ปัญหาของเศรษฐกิจจีนเกิดจากจีนทำตัวเองทั้งนั้น ถ้านโยบายของจีนเหล่านี้เริ่มเปลี่ยนทิศทาง ก็มีโอกาสที่เศรษฐกิจจีนจะกลับมาฟื้นได้ในครึ่งปีหลัง โดยที่จีนโชคดีที่ไม่มีปัญหาเงินเฟ้อ และไม่ใช่จุดร้อนของสมรภูมิสงคราม
3
สามผู้ป่วยต่างมาพร้อมความเสี่ยงเฉพาะตัว ความเสี่ยงของสหรัฐฯ คือเงินเฟ้อที่คุมไม่อยู่อาจฉุดทุกอย่างดำดิ่ง ความเสี่ยงของยุโรปคือสงครามที่ลากยาว ซึ่งจะตามมาด้วยวิกฤตพลังงานในฤดูหนาวที่ใกล้มาถึงและวิกฤตอาหารในต้นปีหน้า ส่วนความเสี่ยงของจีนเป็นเรื่องการเมืองภายในว่าจะสามารถเปลี่ยนทิศทางของการคุมตัวเองที่เกินพอดีได้หรือไม่และเพียงใดในช่วงครึ่งปีหลัง
3
โฆษณา