Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
2read
•
ติดตาม
30 มิ.ย. 2022 เวลา 00:07 • หุ้น & เศรษฐกิจ
หลายๆ ครั้งเราทุ่มเทเวลาไปมากกับการศึกษาปัจจัยของบริษัทเพื่อคัดหุ้นที่มีคุณภาพเข้าพอร์ตการลงทุน แต่ถ้าเราพยายามหลีกเลี่ยง “หายนะ” จากหุ้นแย่ๆ จะใช้เวลาที่น้อยกว่ามากในการมอง นี่เป็น 5 คำแนะนำ ที่จะช่วยให้เราหลีกเลี่ยงหายนะจากหุ้นแย่ๆ มีอะไรบ้างไปดูกัน
เวลาที่ผู้เขียนอ่านบทวิเคราะห์การลงทุนของปีหน้า มักจะเจอกับบทวิเคราะห์ประเภท "สินทรัพย์ที่น่าลงทุนปี 2565" หรือ "5 หุ้นเด่นต้องมีติดพอร์ต" ซึ่งหุ้นที่นำมาวิเคราะห์ผ่านการ "คัดสรร" จากนักวิเคราะห์มาแล้วอย่างดี
ประเด็นคือ หลายๆ ครั้งนักลงทุนจะใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการค้นหา "หุ้นดี"
แต่ในความเป็นจริง การพยายามหลีกเลี่ยง "หุ้นแย่" จะเป็นเรื่องที่ดีกว่า
เนื่องจากว่า "หุ้นดี" ต้องวิเคราะห์หลายปัจจัยไม่ว่าจะเป็นเรื่องของธุรกิจ ผลประกอบการย้อนหลัง งบการเงิน ผู้บริหารของบริษัท กลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ ธรรมชาติของธุรกิจ/การแข่งขัน และสุดท้ายจบลงด้วยราคาหุ้นมีความเหมาะสมที่จะซื้อมากน้อยแค่ไหน เพราะสุดท้ายแล้ว เราจะวัดว่ากำไรหรือขาดทุนจากหุ้นอยู่ที่ "ราคา" ที่เราซื้อ
ในขณะเดียวกัน การพยายามหลีกเลี่ยง "หุ้นแย่" จะใช้การวิเคราะห์ที่น้อยกว่ามาก
โดยหลักๆ แล้วนี่เป็น 5 คำแนะนำง่ายๆ ที่จะทำให้เราหลีกเลี่ยงหุ้นแย่
1. บริษัทขาดทุนต่อเนื่อง
เราใช้เวลาไม่มากไปกับการดู "กำไรสุทธิ" ย้อนหลังของบริษัท 3-4 ปีย้อนหลังผ่านเว็บไซต์ของตลาดหลักทรัพย์ ถ้าขาดทุนติดต่อกัน 2-3 ปี แสดงว่าหุ้นนี้อาจจะไม่เหมาะสมกับการลงทุนแล้ว เราอาจจะหลีกเลี่ยง ไม่ซื้อมัน
เว้นแต่ว่าบริษัทอาจจะมี "เหตุการณ์พิเศษ" เช่น เกิดวิกฤติ COVID-19 ทำให้ผลประกอบการขาดทุน ซึ่งเป็นเรื่องชั่วคราว ก็สามารถยกเว้นได้ เราอาจจะต้องทำการบ้านเพิ่มขึ้นโดยดูย้อนหลังกลับไป 5-6 ปีว่าผลประกอบการที่ผ่านมาเป็นอย่างไร
2. อยู่ในอุตสาหกรรมที่ไม่สดใส
อุตสาหกรรมที่ไม่สดใสจะส่งผลให้ธุรกิจไม่สดใสตามไปด้วย แสดงให้เห็นว่าบริษัทมีความ "ล้าสมัย" เพราะความล้าสมัยไม่เพียงแต่ทำให้ธุรกิจเติบโตไม่ได้ แต่อาจจะทำให้ธุรกิจล้มหายไปเลยเหมือนอย่างที่เราเคยเห็นในหลายกรณีด้วยกัน เช่น ในอุตสาหกรรม "หุ้นเหล็ก" หรือ "หุ้นถ่านหิน"
หลายๆ ครั้งบริษัทอยู่ในกลุ่มธุรกิจที่กำลังโดน "ดิสรัปต์" จากเทคโนโลยี เช่น กลุ่มแบงก์ที่คนรุ่นใหม่หันไปใช้ธุรกรรมออนไลน์มากขึ้น ไม่ได้เข้าสาขามากเหมือนแต่ก่อน ถ้าธนาคารไหนยังทำธุรกิจแบบเดิมๆ ก็อาจจะโดนดิสรัปต์จากเทคโนโลยีได้ แต่เท่าที่เห็นหลายบริษัทก็เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงปรับโครงสร้างองค์กรมากขึ้น อย่างในกรณีของ SCB ที่จะเปลี่ยนไปเป็น SCBX
ในระยะยาวแล้ว อะไรก็ตามที่ไม่เปลี่ยนแปลงหรือไม่ได้เอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการทำธุรกิจ ถือว่าอยู่ยากด้วยเหมือนกัน
3. ผู้บริหารที่มีประวัติไม่ค่อยดี
ก่อนจะลงทุนซื้อหุ้น เราอาจจะทำการบ้านให้มากขึ้นโดยการเข้าไปดูว่าผู้บริหารคนนี้เป็นใคร เอาชื่อของผู้บริหารไปค้นหาใน Google ดูว่าเขาเคยทำอะไรมาบ้าง มีประวัติอะไรบ้าง ถ้าผู้บริหารคนนี้เคยบริหารองค์กรใหญ่ๆ แล้วประสบความสำเร็จ ถือว่าน่าสนใจ
แต่หลายครั้ง เราก็จะเจอผู้บริหารที่ "เล่นกับหุ้น" ของตัวเองด้วยเหมือนกัน เราอาจจะต้องระมัดระวังให้มากหน่อย
4. บริษัทที่มีหนี้สินสูง
บริษัทที่มีหนี้สินสูง จะเจอกับปัญหา 2 อย่างคือ
- เพิ่มทุน
- จ่ายดอกเบี้ยหมดจนกำไรไม่เหลือถึงผู้ถือหุ้น
แน่นอนว่าการเพิ่มทุน เป็นคำที่ไม่ถูกใจของนักลงทุนอยู่แล้วเพราะนักลงทุนทุกคนเข้ามาลงทุนก็คาดหวังกำไร ไม่ใช่การใส่เงินเพิ่มลงไปในบริษัท
นักลงทุนสามารถสังเกตได้จากอัตราส่วน D/E Ratio หรือหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น ถ้ามี D/E Ratio ที่สูงแสดงว่าหนี้สินเยอะ เราอาจจะต้องหลีกเลี่ยง เพราะบริษัทที่มีหนี้สินสูงจะจ่ายดอกเบี้ยจนหมด ก่อนที่จะกลายมาเป็นกำไรสุทธิถึงผู้ถือหุ้น ถ้าบริษัทมีกำไรน้อย อาจจะไม่ได้จ่ายปันผล เท่ากับว่าผู้ถือหุ้นก็เสียประโยชน์เหมือนกัน ดังนั้น บริษัทที่มีหนี้สินสูง ถือเป็นหุ้นอีกกลุ่มที่ "ความเสี่ยงสูง"
5. ราคาหุ้นวิ่งไปไกลมากแล้ว
ราคาหุ้นที่วิ่งขึ้นอย่างแรงและเร็ว หมายความสะท้อนความคาดหวังจากคนในตลาดไปแล้ว กว่าที่นักลงทุนจะรู้ว่าเป็นหุ้นดี ราคาหุ้นก็วิ่งไปไกลมาก ประเด็นคือเราควรซื้อตามไหม?
คำตอบคือ "ไม่ควร" เพราะว่าหุ้นจะดีขนาดไหน การซื้อหุ้นในราคาแพงย่อมไม่ใช่การลงทุนที่ดี เพราะว่าราคาหุ้นใส่ "ความคาดหวัง" ของนักลงทุนในตลาดลงไปแล้ว ถ้าไม่ได้ไปตามความคาดหวังราคาหุ้นก็จะลง
ตัวอย่างเช่น หุ้นที่มีการเติบโตระดับ 50% เหมือนหุ้นเทคปัจจุบันหลายๆ ตัว ถ้าอยู่ดีๆ มีสักไตรมาสเติบโตเหลือ 30% ราคาหุ้นก็จะร่วงทันที ทั้งที่ความเป็นจริงแล้ว โตระดับ 30% ถือว่ายังอยู่ในระดับที่สูงอยู่ แต่เนื่องจากว่าราคาหุ้นพุ่งไป "เกินความคาดหวัง" ไปแล้ว…
ที่มาภาพ : finance.yahoo.com
หุ้น Alibaba เป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ ตลอดเวลาที่ผ่านมาเป็นหุ้นดาวเด่นมาโดยตลอด ราคาหุ้นขึ้นไปมากกว่า 3 เท่านับตั้งแต่ราคา IPO ก่อนจะมีปัญหาการควบคุมเข้มงวดจากรัฐบาลจีน จนราคาร่วงแรงจาก 300 เหรียญสหรัฐมาเหลือ 100 เหรียญสหรัฐ ถึงแม้บริษัทจะมียอดขายลดลงไม่มาก บริษัทลงทุนเพิ่มในเทคโนโลยีต่างๆสัดส่วนรายได้จากธุรกิจ Cloud มากขึ้น มีการซื้อหุ้นคืนกว่า 1.5 หมื่นล้านเหรียญ แต่นักลงทุนก็ยังเทขายอยู่ต่อเนื่อง
แน่นอนว่าการถือครองหุ้นดีจะสร้างผลตอบแทนมหาศาลให้กับนักลงทุน แต่ประเด็นคือหุ้นดีที่ถูกกล่าวถึงสะท้อนลงไปในราคาหุ้นมากแล้ว การเข้าไปซื้อต่อ ณ ระดับราคาที่สูงอาจจะเป็น "หายนะ" ทางการลงทุนได้เนื่องจากนักลงทุนซื้อแพงจนเกินไป เมื่อมันปรับฐานเราก็จะติดดอย เงินลงทุนส่วนใหญ่ของเราก็จะอยู่ "บนดอย" ทุกอย่างก็จะจบ
ในขณะเดียวกันถ้าเราพยายามหลีกเลี่ยง "หุ้นแย่" เราอาจจะไม่ได้ผลตอบแทน "เป็นกอบเป็นกำ" อย่างรวดเร็ว แต่สิ่งที่นักลงทุนจะได้คือเงินลงทุนของเราไม่หาย มันจะเติบโตไปเรื่อยๆ มีปันผลสม่ำเสมอ เราสามารถเอาปันผลมาลงทุนเพิ่ม (Reinvest) ในระยะยาวแล้วเราก็สามารถมั่งคั่งได้จากการหลีกเลี่ยงหายนะจากการลงทุน
📌อ่านเพิ่มเติมได้ที่แอป 2read หรือคลิกภาพด้านล่างเลย!
อ่านเพิ่มเติม
2read.digital
StreetSmart เปิดโลกตลาดหุ้น
มั่งคั่งจากการหลีกเลี่ยงหายนะ
เรื่องโดย : นักลงทุนเงา
คอลัมน์ "StreetSmart เปิดโลกตลาดหุ้น"
พื้นที่ที่จะร่วมแชร์หลักการ อัพเดตข่าวสาร และเรื่องน่ารู้ในตลาดหุ้น
เพราะการ ลงทุนแบบฉลาดๆ และสร้างความมั่งคั่งได้จริงๆ นั้นไม่ง่าย
และต้องทำอะไรมากกว่า...แค่คลิก
━━━━━━━━━━━━━━━
เติมอาหารสมองและพลังใจด้วยคอนเทนต์สาระจาก 2read
กดถูกใจ กดติดตามเพจ กดไลค์โพสต์นี้ให้เราด้วยนะคะ
1 บันทึก
1
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย