2 ก.ค. 2022 เวลา 03:30 • หุ้น & เศรษฐกิจ
บริหารความคาดหวังด้วยการสื่อสาร ภารกิจใหม่ของธนาคารกลางทั่วโลก
การสื่อสารของธนาคารกลางทั่วโลกมีพัฒนาการเพิ่มขึ้น จากเดิมมักไม่ค่อยสื่อสาร การทำนโยบายเน้นความลับ สร้างความขลัง การสื่อสารถึงบทบาทหน้าที่และงานของธนาคารกลางดูจะเป็นเรื่องต้องห้าม มีเพียงการสื่อสารกับภาคการเงินและนักวิชาการที่เกี่ยวข้องโดยตรง ภาษาที่ใช้ก็ยากเหมือนต้องการสื่อสารกับผู้ที่อยู่ในแวดวงเท่านั้น
แต่เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจขึ้น ความเชื่อมั่นที่มีต่อระบบธนาคารขาดหาย ธนาคารกลางทั่วโลกจึงต้องหันกลับมาคิดว่า ถึงเวลาแล้วที่พวกเขาต้องใช้การสื่อสารเป็น "เครื่องมือบริหารความคาดหวัง" สร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง ตลอดจนรักษาความเชื่อมั่นจากสาธารณชน
ทำไมธนาคารกลางต้องสื่อสารกับสาธารณชน
การสร้างความเข้าใจให้สาธารณชนก็เพื่อสร้างความเชื่อมั่น เมื่อประชาชนมีความเชื่อมั่นแล้ว ธนาคารกลางจะยังคงความเป็นอิสระในการดำเนินนโยบายเพื่อดูแลเสถียรภาพด้านเศรษฐกิจการเงินของประเทศต่อไป หลายทศวรรษที่ผ่านมา การสื่อสารของธนาคารกลางเปลี่ยนแปลงไปมาก
ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะการสื่อสารของธนาคารกลายเป็นศิลปะการบริหารความคาดหวังของสาธารณชน เป็นศาสตร์และศิลป์ใหม่ที่นายธนาคารกลางต้องเรียนรู้ตามที่ Ms. Christine Lagarde ประธานธนาคารกลางยุโรป (European Central Bank: ECB) ถึงกับให้ความเห็นว่า การสื่อสารกับสาธารณชนนับเป็น "เขตความรู้ใหม่ (new frontier)" ที่ธนาคารกลางต้องศึกษา (Brouwer and de Haan., 2564)
ธนาคารกลางอังกฤษ (Bank of England: BoE) เป็นธนาคารกลางที่มีการสื่อสารอย่างเปิดเผยที่สุดแห่งหนึ่งของโลก นอกจากการนำเสนอรายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินทางเว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้แล้ว ยังมีการแถลงข่าวที่มีผลต่อตลาดอย่างเรื่องการคาดการณ์ หรือการดำเนินนโยบายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ตัวอย่างล่าสุดเมื่อเดือนพฤษภาคม 2565 BoE ได้แถลงการคาดการณ์เงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นถึง 10% และ GDP ติดลบในปีนี้ ด้วยผลกระทบอย่างต่อเนื่องจากวิกฤตโควิด 19 และความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน การสื่อสารของ BoE จึงเป็นประโยชน์ต่อสาธารณชนในการลงทุนรวมถึงการวางแผนการใช้ชีวิตอีกด้วย
Mr. Andrew Bailey ผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้น ที่มาภาพ : CNBC
จากรายงานของ Haldane, Macaulay และ McMahon (2563) อธิบายเบื้องหลังความสำเร็จด้านการสื่อสารของ BoE ว่า ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการยึดหลัก 3 E's คือ Explanation, Engagement และ Education โดยการชี้แจง (explanation) เป็นแก่นของการบริหารความคาดหวัง การชี้แจงด้วยข้อมูลที่ดีที่สุดที่มีในขณะนั้น รวมถึงทำให้เข้าใจง่ายและเข้าถึงความเป็นอยู่จริง ๆ ของประชาชน จะสร้างความคาดหวังที่ถูกต้องให้กับพวกเขาได้
การชี้แจงที่ชัดเจนนั้นจะไม่มีผลอะไรเลยถ้าผู้คนไม่มีส่วนร่วม (Engagement) เมื่อต้องปรับปรุงประสิทธิภาพของนโยบายใด ๆ BoE จะยึดการมีส่วนร่วมเป็นหลักผ่านการสร้างและรักษาความเชื่อมั่นจากประชาชน ซึ่งต้องคำนึงถึงช่องทางการสื่อสารและวิธีเล่าเรื่องให้เข้าถึงใจผู้ฟังมากที่สุด แต่ความท้าทายสำคัญของการสื่อสารจากธนาคารกลางคือการให้ความรู้ (Education) ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบใด จากการ์ตูน การสอนในห้องเรียน ไปจนถึงบทความทางวิชาการ การให้ความรู้จะทำให้เกิดความเข้าใจ ส่งผลต่อความคาดหวังที่ถูกต้องต่อไป
แวดวงวิชาการกับการสื่อสารของธนาคารกลาง
นักเศรษฐศาสตร์มีความสนใจที่จะศึกษาเกี่ยวกับการสื่อสารของธนาคารกลางมาอย่างยาวนาน ธนาคารกลางที่เป็นที่สนใจของวงวิชาการมากที่สุดคงหนีไม่พ้น Fed หรือธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา โดยงานศึกษาในระยะแรก ๆ จะเน้นไปที่บทบาทของการสื่อสารที่มีอิทธิพลต่อตลาดการเงิน เช่น Gürkaynak et al. (2548) พบว่า คำแถลงในวันตัดสินนโยบายของ Federal Open Market Committee (FOMC) นั้น สามารถทำให้เกิดการเคลื่อนไหวของราคาสินทรัพย์ในตลาดการเงินได้เช่นเดียวกับตัวเครื่องมือทางนโยบาย
อีกทั้งคำแถลงยังส่งผลต่ออัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวได้มากกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกด้วย ซึ่งเริ่มชี้ให้เห็นว่า ในการดำเนินงานของธนาคารกลางนั้น "คำพูด" มีความสำคัญไม่แพ้ "การกระทำ"
Mr. Jerome Powell ในการแถลงข่าวภายหลังการประชุม FOMC ที่มาภาพ : The Wall Street Journal
เหตุการณ์ที่ทำให้การสื่อสารได้รับความสนใจมากยิ่งขึ้นไปอีกคือวิกฤตการณ์การเงินในปี 2551 ซึ่งทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายแทบทั้งโลกอยู่ในระดับที่ต่ำมากและถึงจุดที่เป็นขีดจำกัดในการกระตุ้นเศรษฐกิจ การสื่อสารจึงได้กลายเป็นอีกเครื่องมือสำคัญของธนาคารกลาง ประกอบกับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เกี่ยวกับการประมวลผลภาษาธรรมชาติหรือ Natural Language Processing (NLP) มีความก้าวหน้าและแพร่หลายไปมาก
นักเศรษฐศาสตร์จึงได้อาศัยศาสตร์ดังกล่าวมาร่วมศึกษาและวิเคราะห์การสื่อสารของธนาคารกลางได้ในระดับที่ลงลึกถึงเนื้อหาและรายละเอียด เช่น Hansen and McMahon (2559) ใช้กระบวนการทางด้าน topic modeling มาช่วยแยกแยะหัวข้อและเนื้อหาในคำแถลงของ FOMC พบว่า เนื้อหาในส่วนที่กล่าวถึงทิศทางของนโยบายในอนาคต หรือที่เรียกว่า forward guidance นั้น ส่งผลต่อตลาดการเงินได้มากกว่าการสื่อสารเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ ยังพบว่า forward guidance มีอิทธิพลต่อตัวแปรด้านเศรษฐกิจจริง อย่างเช่นอัตราการว่างงานได้อีกด้วย ในขณะเดียวกัน ได้เริ่มมีการศึกษาเกี่ยวกับการสื่อสารที่ธนาคารกลางชั้นนำอื่น ๆ เผยแพร่ด้วยเช่นกัน อาทิ Hendry and Madeley (2553) ทำการศึกษาในกรณีของธนาคารกลางแคนาดาและพบว่า การสื่อสารสร้างผลกระทบต่อตลาดการเงินอย่างมีนัยสำคัญและแตกต่างกันตามเนื้อหาของการสื่อสารในเรื่องต่าง ๆ
สำหรับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) การสื่อสารเป็นอีกหัวข้อหนึ่งที่ได้มีการทำวิจัยมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากนักวิจัยภายในและภายนอก ธปท. ผลการศึกษาพบว่าการสื่อสารของ ธปท. มีพัฒนาการและเพิ่มช่องทางใหม่ ๆ มาโดยตลอด ในส่วนที่เกี่ยวกับนโยบายการเงินนั้น การสื่อสารมีส่วนช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการส่งผ่านของนโยบายการเงิน โดยเน้นเรื่องของความโปร่งใส มีการเปิดเผยกำหนดการประชุมชัดเจนตลอดทั้งปี ประชุมเสร็จก็แถลงข่าวผลการประชุม โดยมีมุมมองของคณะกรรมการว่าเป็นอย่างไร
1
ตามมาด้วยการเผยแพร่รายงานการประชุมฉบับย่อ เพื่อให้สาธารณชนทราบว่าคณะกรรมการสนใจหรือถกกันเรื่องอะไร และออกรายงานนโยบายการเงิน ที่เรียกว่า Monetary Policy Report (MPR) ซึ่งจะบอกมุมมองของคณะกรรมการเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ โดยเนื้อหาสาระของการสื่อสารจะช่วยให้ผู้รับสารได้รับข้อมูลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจและนโยบายการเงินที่เพียงพอ และช่วยในการคาดการณ์ทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายและการยึดเหนี่ยวการคาดการณ์เงินเฟ้ออีกด้วย
และนอกจากนโยบายการเงินแล้ว ยังพบว่า ธปท. มีการสื่อสารต่อสาธารณะในประเด็นที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจและนโยบายด้านอื่น ๆ อีกหลากหลายหัวข้อ ซึ่งสะท้อนบทบาทการเป็นผู้นำทางความคิดในการพัฒนาประเทศได้เป็นอย่างดี
ธปท. ก้าวสู่การเป็นอินฟลูเอนเซอร์ด้านการเงิน
เมื่อพฤติกรรมของผู้เสพสื่อเปลี่ยนไป การเผยแพร่ข่าวสารต่าง ๆ ผ่านทางเว็บไซต์และสื่อแบบเดิม ๆ อาจจะไม่ครอบคลุมและเข้าถึงคนหลากหลายช่วงวัยได้เหมือนสมัยก่อน ธปท. จึงมุ่งหน้าเข้าสู่สังคมออนไลน์ด้วยการเปิดทวิตเตอร์ "Bank of Thailand" เมื่อเดือนมิถุนายน 2558 โดยใช้เป็นพื้นที่ทดลองสื่อสารข่าวแบบสั้น ๆ ปัจจุบันมีผู้ติดตามกว่า 50,000 บัญชี
ต่อมาจึงเปิดเฟซบุ๊กเพจ "ธนาคารแห่งประเทศไทย – Bank of Thailand" ในปี 2559 ซึ่งเป็นช่องทางการสื่อสารของ ธปท. ที่ได้รับความนิยมมาก และยังเป็นเครื่องมือสื่อสารแบบสองทางที่ช่วยเพิ่มการรับฟังและตอบคำถามประชาชน ในช่วงแรกมีการนำเสนอเนื้อหาผ่านข้อความและภาพประกอบ แล้วค่อย ๆ พัฒนาต่อยอดให้หลากหลายขึ้น
ทั้งคลิปวิดีโอ อินโฟกราฟิก และการไลฟ์แถลงข่าวผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน และมาตรการอื่น ๆ ที่ต้องการสื่อสารถึงประชาชนโดยตรงด้วยช่องทางของ ธปท. และล่าสุดไลฟ์รายการ "แบงก์ชาติชวนคุย" ที่นำเอาประเด็นที่น่าสนใจมาพูดคุย และตอบคำถามจากผู้ชมสดในรายการ ปัจจุบันมีผู้ติดตามเฟซบุ๊กของ ธปท. ประมาณ 742,000 บัญชี
หลังจากนั้น ธปท. ได้เปิดช่องทางอื่น ๆ เพิ่มเติมเพื่อให้สอดคล้องกับลักษณะคอนเทนต์ที่เผยแพร่ รวมทั้งครอบคลุมความสนใจการใช้โซเชียลมีเดียรูปแบบต่าง ๆ ของประชาชน ทั้ง YouTube, Instagram, Line Official และ Blockdit ช่องทางน้องใหม่เอาใจคนชอบอ่าน
รับฟังทุกช่องทางเพื่อดูแลอย่างทั่วถึง
ธปท. ไม่ได้สื่อสารแบบทางเดียวอีกต่อไป นอกจากการลงพื้นที่เพื่อรับฟังและให้คำปรึกษากับประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการแล้ว ธปท. ยังนำเครื่องมือ social listening มาใช้ในการรับฟังในโลกออนไลน์เพื่อรวบรวมข้อมูลที่อยู่ในความสนใจของประชาชนมาวางแผน ก่อนสื่อสารผ่านเว็บไซต์ bot.or.th โซเชียลมีเดียของ ธปท. และสื่อภายนอกอื่น ๆ
การลงพื้นที่พบผู้ประกอบการ เพื่อรับฟังและให้คำปรึกษากับเกษตรกร
ธปท. มีการใช้เครื่องมือ data analytics มาช่วยในการวิเคราะห์ความเห็นของประชาชนในโซเชียลมีเดียในช่วงเหตุการณ์ทางการเงินที่สำคัญ เช่น กรณีเงินบาทแข็งค่าเมื่อปลายปี 2562 เพื่อสรุปประเด็นความกังวลของประชาชน โดยเฉพาะความตื่นตระหนกที่เกิดจากความเข้าใจคลาดเคลื่อนในเชิงผลกระทบต่อเศรษฐกิจ เพื่อนำไปปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การสื่อสารของ ธปท. ให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายและมีประสิทธิภาพสูงสุด
มีการนำเอาเทคนิคเชิง cluster analysis มาช่วยวิเคราะห์ความเห็นของประชาชน ทั้งในโซเชียลมีเดียและที่ได้มีการร้องเรียนเข้ามาถึง ธปท. เพื่อนำไปปรับปรุงเงื่อนไขของมาตรการต่าง ๆ เช่น การปรับปรุงเงื่อนไขมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (soft loan) ให้ครอบคลุมลูกหนี้รายใหม่ให้เข้าถึงสินเชื่อ ปรับเพิ่มวงเงินกู้ ปรับเพิ่มกลไกการรองรับความเสี่ยงด้านเครดิตด้วยการค้ำประกันผ่านบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)
อีกช่องทางที่ ธปท. ใช้รับฟัง คือสายด่วน 1213 ที่เปิดรับฟังข้อสงสัยและเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับบริการทางการเงิน ตั้งแต่เปิดให้บริการในปี 2555 ให้คำปรึกษาประชาชนไปแล้ว 1.8 ล้านครั้ง (ข้อมูล ณ วันที่ 7 มิถุนายน 2565)
ความท้าทายจากนโยบายที่ไม่คุ้นเคย
ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี สภาวะโลกร้อน หรือแม้แต่โรคระบาด เป็นตัวเร่งให้ธนาคารกลางต้องคิดนอกกรอบ เมื่อต้องทำนโยบายที่ต่างจากที่เคย (unconventional) ท่ามกลางวิกฤต ทำให้การสื่อสารกับสาธารณชนเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องและรักษาความเชื่อมั่นในธนาคารกลาง เป็นความท้าทายที่ต้องผ่านไปให้ได้เพื่อรักษาความเป็นอิสระในการดำเนินนโยบาย
คุณเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธปท. ชี้แจงเกี่ยวกับ พ.ร.ก. soft loan และ BSF ต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร
สำหรับประเทศไทย ในช่วงแรกที่โรคโควิด 19 ระบาด ความไม่แน่นอนและความตื่นตระหนกทำให้เกิดความพยายามเทขายหุ้นกู้เพื่อให้ได้เงินสดมาเก็บไว้ ธปท. มีการประกาศใช้กองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ (Corporate Bond Stabilization Fund: BSF) ซึ่งเป็นมาตรการใหม่ในการรักษาเสถียรภาพของระบบการเงิน
แม้ธนาคารกลางจะดูไม่เกี่ยวข้องกับตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน แต่หากมองถึงบริบทสมัยใหม่แล้วตลาดการเงินและตลาดทุนมีความเชื่อมโยงกันอย่างซับซ้อน เหตุการณ์นี้ทำให้ ธปท. ต้องสื่อสารเชิงรุกมากขึ้นและเร็วขึ้น เพื่อเพิ่มความมั่นใจให้นักลงทุนและผู้เกี่ยวข้อง ใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ในการสื่อสารมาตรการเพื่อสร้างความเข้าใจ สามารถหยุดการเทขาย และลดผลกระทบต่อกลไกในตลาดการเงินได้ นับเป็นอีกบทเรียนสำคัญสำหรับการสื่อสารของธนาคารกลาง
ผลตอบรับจากสาธารณชน
เมื่อมองย้อนกลับไป 10 ปี การสื่อสารของ ธปท. เปลี่ยนรูปแบบไปมากจากการพัฒนาด้านเทคโนโลยี สภาพเศรษฐกิจ และบริบททางสังคม จากผลการสำรวจการรับรู้ ความเข้าใจด้านบทบาทหน้าที่ รวมถึงความคาดหวังและทัศนคติของกลุ่มผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่มีต่อการดำเนินนโยบาย ภาพลักษณ์ และการสื่อสารของ ธปท.
ในปี 2564 พบว่ากลุ่มตัวอย่างมีความเชื่อมั่นใน ธปท. เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในด้าน "ติดดิน" หรือการติดต่อเข้าถึงง่าย นโยบายนำไปใช้ได้จริงเหมาะกับสถานการณ์ สื่อสารชัดเจนเข้าใจง่าย และการใช้ช่องทางที่เข้าถึงทุกภาคส่วน ได้คะแนนเพิ่มขึ้นจากการสำรวจในปี 2561
แม้มุมมองจากสาธารณชนจะปรับดีขึ้น แต่ก็ยังมีพื้นที่ที่ต้องพัฒนาการสื่อสารเพิ่มเติม โดยเฉพาะการบริหารความคาดหวังที่ประชาชนมีต่อการทำหน้าที่ของ ธปท. ซึ่งหลายเรื่องเป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือบทบาทของ ธปท. หรือเป็นเรื่องที่ต้องร่วมมือกับหน่วยงานอื่น ไม่สามารถดำเนินการโดยลำพังได้
แนวโน้มการสื่อสารของธนาคารกลางในอนาคต
ในระยะต่อไป กระแสการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และด้วยความเร็วที่เพิ่มขึ้น จะทำให้ธนาคารกลางต่าง ๆ ทั่วโลกยังคงต้องปรับตัวให้ทันกระแสดังกล่าวอยู่ตลอดเวลา บริบททางเศรษฐกิจการเงินทั้งส่วนที่เป็นแผลเป็นจากโควิด 19 และกระแสใหม่ในระยะข้างหน้า อาทิ ปัญหาการขาดรายได้ที่อาจทำให้ประชาชนบางส่วนต้องการสินเชื่อเพิ่มขึ้น ภัยทางการเงินในรูปแบบใหม่ ๆ หรือกระแสข่าวที่สร้างความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการทำงานของธนาคารกลาง
ทำให้ธนาคารกลางต้องมีบทบาทในการแจ้งเตือนให้ประชาชนรู้เท่าทันกลยุทธ์ใหม่ ๆ ของมิจฉาชีพ การคุ้มครองและให้ความรู้ทางการเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เศรษฐศาสตร์พื้นฐาน ความรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการเงิน และบทบาทหน้าที่ของธนาคารกลางแก่ประชาชนกลุ่มต่าง ๆ จะทวีความสำคัญมากขึ้น
นอกจากนี้ ธนาคารกลางต้องเพิ่มบทบาทในการ engage กับทุกกลุ่ม โดยเฉพาะประชาชน เพื่อรับฟังปัญหาและความต้องการ แล้วทำการสื่อสารให้ตรงจุด เมื่อประชาชนมีความรู้ความเข้าใจมากขึ้น จะเป็นภูมิคุ้มกันขั้นพื้นฐานที่สามารถนำไปปรับใช้ และดูแลตัวเองให้เหมาะสมกับบริบทที่เปลี่ยนไป ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดของ ธปท.
ข้อมูลอ้างอิง
Gürkaynak, R S, B Sack and E Swanson (2005) "Do actions speak louder than words? The response of asset prices to monetary policy actions and statements", International Journal of Central Banking 1(1).
Hansen, S and M McMahon (2016) "Shocking language: Understanding the macroeconomic effects of central bank communication", CEPR, Discussion Paper 11018.
Scott Hendry & Alison Madeley, 2010. "Text Mining and the Information Content of Bank of Canada Communications," Staff Working Papers 10-31, Bank of Canada.
Nils Brouwer and Jakob de Haan, 2021. "Central bank communication with the general public: effective or not?", SUERF Policy Brief, The European Money and Finance Forum.
Andrew Haldane, Alistair Macaulay and Michael McMahon, 2020. "The 3 E's of central bank communication with the public," Staff Working Paper, Bank of England.
ผู้เขียน
ทศพล อภัยทาน รองผู้อำนวยการ ฝ่ายนโยบายการเงิน
พรรคธาดา ตรีรัตนพิทักษ์ รองผู้อำนวยการ ฝ่ายบริหารข้อมูลและดาต้าอนาไลติกส์
ฐิติ ทศบวร หัวหน้ากลุ่มงานวิจัย สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
พิมพ์วรีย์ กิตติสารกุล ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ฝ่ายบริหารการสื่อสารองค์กร
โฆษณา