Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Bank of Thailand
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
29 มิ.ย. 2022 เวลา 12:35 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ปล่อยน้ำเพิ่มความชุ่มชื้นให้เศรษฐกิจด้วย QE vs สกัดเงินเฟ้อด้วย QT
1
โลกของเราได้เผชิญกับวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจมาหลายครั้ง หนึ่งในวิกฤตเศรษฐกิจที่ปะทุขึ้นและสร้างความเสียหายไปทั่วโลกก็คือวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ หรือ Subprime Crisis ในปี 2551 เวลานั้นธนาคารกลางประเทศหลักหลายแห่ง อาทิ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น อังกฤษ และสหภาพยุโรป ดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายโดยหวังจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ถึงแม้ว่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงจนเหลือ 0% ก็ไม่สามารถทำให้ประเทศหลุดพ้นจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้
1
ธนาคารกลางจึงต้องดำเนินนโยบายการเงินนอกกรอบ (unconventional monetary policy) โดยมาตรการหนึ่งในนั้นเรียกว่า "มาตรการ Quantitative Easing (QE)" คือการอัดฉีดเงินเข้าไปในระบบผ่านการซื้อตราสารทางการเงิน แม้หลังจากนั้นเศรษฐกิจเริ่มจะดีขึ้น และมาตรการ QE เริ่มลดบทบาทตั้งแต่ช่วงปี 2558 ทว่าโลกกลับถูกซ้ำเติมด้วยวิกฤตจากการแพร่ระบาดของโควิด 19 ทำให้ธนาคารกลางต่าง ๆ ต้องกลับมาทำ QE อีกครั้งในปี 2562 เป็นต้นมา
ปัจจุบัน สถานการณ์โควิด 19 เริ่มคลี่คลาย เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวเต็มที่และเงินเฟ้อปรับสูงขึ้น ก็ถึงเวลาที่ธนาคารกลางจะต้องลดสภาพคล่องในระบบด้วยการปล่อยให้ตราสารทางการเงินที่ซื้อมาหมดอายุไปโดยไม่ซื้อเพิ่ม โดยเราเรียกกระบวนการนี้ว่า "มาตรการ Quantitative Tightening (QT)" บทความแรกของคอลัมน์ VocabStory จึงขอพาไปทำความรู้จัก 2 คำศัพท์ที่น่าสนใจ ได้แก่ มาตรการ QE และมาตรการ QT
QE เพิ่มสภาพคล่องด้วยการซื้อพันธบัตร
"มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ" หรือ "มาตรการ QE" เป็นเครื่องมือทางการเงินนอกกรอบที่ธนาคารกลางนำมาใช้เมื่อไม่สามารถปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้ หรือการปรับลดอาจไม่เพียงพอที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่กำลังถดถอยรุนแรง
มาตรการ QE เป็นการขยายงบดุลของธนาคารกลางเพื่ออัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจที่ฝืดเคือง ด้วยการเข้าไปกว้านซื้อตราสารทางการเงินระยะกลาง - ยาว เช่น พันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรรัฐบาลท้องถิ่น ตราสารหนี้เอกชน เพื่อทำให้ตราสารเหล่านั้นมีราคาสูงขึ้น และมีอัตราดอกเบี้ยในตลาดพันธบัตรต่ำลง ซึ่งถือเป็นการลดต้นทุนการระดมทุนของทั้งรัฐบาล ภาคการเงิน และภาคเอกชน เพื่อสนับสนุนให้เกิดการลงทุนที่มากขึ้น
นอกจากนี้ มูลค่าที่สูงขึ้นของตราสารทางการเงินชนิดต่าง ๆ ยังถือเป็นการเพิ่มความมั่งคั่ง (wealth effect) ให้กับผู้ที่ถือสินทรัพย์เหล่านั้นด้วย ส่งผลให้ผู้ที่ถือสินทรัพย์ดังกล่าวมีความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยมากยิ่งขึ้น จึงเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นผ่านการบริโภคของภาคเอกชน
มาตรการ QE จึงเปรียบเสมือน "การชลประทาน" ที่ธนาคารกลางซึ่งเปรียบเสมือนเขื่อนใหญ่ได้ทำการปล่อยน้ำไปให้เขื่อนเล็กอย่างธนาคารพาณิชย์และอ่างเก็บน้ำอย่างตลาดพันธบัตร ทั้งนี้ หากเขื่อนเล็กและอ่างเก็บน้ำไม่ปล่อยน้ำต่อไปด้วยการปล่อยกู้ให้นำไปลงทุนต่อ ผลของการปล่อยน้ำครั้งนี้อาจไม่มีประโยชน์มากเท่าที่ควร
ดังนั้น การใช้มาตรการ QE จะมีประสิทธิผลมากสำหรับประเทศที่ภาคเอกชนส่วนใหญ่มีการระดมทุนผ่านตลาดการเงินเป็นวงกว้าง มิเช่นนั้นแล้ว ผู้ที่ได้รับประโยชน์จากมาตรการดังกล่าวอาจจำกัดอยู่แค่บริษัทขนาดใหญ่ที่ระดมทุนผ่านตราสารหนี้ หรือกลุ่มคนรวยที่ถือสินทรัพย์ปริมาณมากเท่านั้น
ดับความร้อนแรงของเศรษฐกิจด้วย QT
การดำเนินมาตรการ QE อย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน อาจส่งผลให้เศรษฐกิจมีความร้อนแรงจนกดดันให้เงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง ซึ่งจะส่งผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจในระยะยาว จึงนำมาสู่การดำเนิน "มาตรการ QE Tapering" ที่ธนาคารกลางเริ่มลดการอัดฉีดเงินด้วยการซื้อสินทรัพย์ในปริมาณที่ลดลงจนถึงศูนย์ หรือการซื้อสินทรัพย์เท่ากับยอดที่ครบกำหนดเท่านั้น
และตามมาด้วย "มาตรการ QT" หรือ "Quantitative Tightening" ที่เป็นการลดขนาดงบดุลของธนาคารกลาง เพื่อถอนสภาพคล่องและลดปริมาณเงินที่ไหลเวียนในระบบเศรษฐกิจ ไม่ต่างอะไรกับการที่เราตัดสินใจปล่อยน้ำจากเขื่อนใหญ่ในปริมาณที่น้อยลง เมื่อเราเห็นว่าน้ำในเขื่อนเล็กใกล้จะล้นออกมาแล้ว เราก็จำเป็นที่จะต้องดูดน้ำกำลับ เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำล้นจนไปทำลายที่อยู่อาศัยและทรัพย์สินของผู้คนในบริเวณนั้น
มาตรการ QT ส่วนใหญ่จะเป็นการปล่อยให้ตราสารที่ถือครองครบกำหนดโดยไม่ซื้อใหม่ ซึ่งผลคือการดูดสภาพคล่องจำนวนนั้นออกจากระบบเศรษฐกิจ มาตรการดังกล่าวจะทำให้ราคาของสินทรัพย์ทางการเงินปรับลดลง และอัตราผลตอบแทนของตราสารระยะกลาง-ยาวซึ่งเป็นต้นทุนทางการเงินก็เพิ่มสูงขึ้น มาตรการดังกล่าวอาจส่งผลกระทบโดยตรงต่อความผันผวนของตลาดการเงินทั้งตลาดพันธบัตรและตลาดหุ้น เนื่องจากสินทรัพย์ต่าง ๆ อ่อนไหวอย่างมากต่อต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้น
แม้ไทยจะไม่ได้มีการหยิบยกมาตรการแบบ QE และ QT มาใช้ เนื่องจากโครงสร้างเศรษฐกิจที่แตกต่าง โดยภาคเอกชนไทยยังพึ่งพาการระดมทุนผ่านสถาบันการเงินเป็นหลัก ครัวเรือนและธุรกิจไทยกว่า 90% ยังกู้ยืมผ่านธนาคารพาณิชย์และไม่ได้มีการกู้ผ่านตลาดตราสารหนี้เหมือนประเทศที่พัฒนาแล้ว อย่างไรก็ดี ผลกระทบของการใช้มาตรการแบบ unconventional จากประเทศเศรษฐกิจหลักหลายแห่ง ได้ส่งผลต่อเศรษฐกิจการเงินทั่วโลก
โดยเฉพาะความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้าย อัตราแลกเปลี่ยน และราคาสินทรัพย์ต่าง ๆ ในตลาดการเงิน เราจึงต้องติดตามสถานการณ์และการดำเนินนโยบายทั้งสองอย่างต่อเนื่อง เพื่อเตรียมรับมือและปรับตัวได้อย่างมีหลักการภายใต้ภาวะปัจจุบันที่การดำเนินมาตรการ QT และการขึ้นดอกเบี้ยของประเทศเศรษฐกิจหลักได้ก่อให้เกิดความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวในระยะถัดไปนั่นเอง
Q & A ทำไมสหรัฐฯ สามารถใช้มาตรการ QE ได้
ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นค่าเงินหลักสำคัญของโลก ไม่ว่าจะเป็นบริบทของการซื้อขายแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศ หรือสกุลเงินหลักในพอร์ตเงินสำรองระหว่างประเทศของนานาชาติ ดังนั้น แม้ว่าประเทศสหรัฐอเมริกาจะพิมพ์เงินออกมาจำนวนมากแค่ไหน เงินดอลลาร์สหรัฐก็ยังคงมีความสำคัญและได้รับความเชื่อมั่นจากผู้ถือเงินอยู่ดี
อ้างอิงข้อมูลจาก
· มาตรการ QE ไม่มีที่สิ้นสุด...เงินกำลังจะไหลไปไหน? | ธนาคารแห่งประเทศไทย
· QE คืออะไร? เรื่องต้องรู้ก่อนลงทุนในตลาดหุ้นที่เปลี่ยนแปลงไป | FINNOMENA
· การทำ QE คืออะไร ? ทำไมประเทศไทย ไม่ใช้มาตรการนี้ | ลงทุนแมน
· ธนาคารกลางทำ QE แล้วดีจริงหรือ? | ธนาคารแห่งประเทศไทย
· United States Inflation Rate | Trading Economics
· What did the Fed do in response to the COVID-19 crisis? | BROOKINGS
· International Spillovers ของการดำเนินและยุติมาตรการ QE | ธนาคารแห่งประเทศไทย
· What the Fed's 'Quantitative Tightening' Plans Mean | The Washington Post
· นโยบาย QT คืออะไร ? – ทำไม Fed อาจจะใช้แก้ปัญหาเงินเฟ้อ | Money Buffalo
· Fed Starts Experiment of Letting $8.9 Trillion Portfolio Shrink | Bloomberg
· เมื่อธนาคารกลางเริ่มแตะเบรก: จาก QE สู่ QT | KKP Research
ธนาคารแห่งประเทศไทย
การธนาคาร
นโยบายการเงิน
27 บันทึก
15
26
27
15
26
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย